ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 6 ตุลาคม 2561

ร่าง พ.ร.บ. Digital ID ปูทางให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3762)

ร่าง พ.ร.บ. Digital ID จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เตรียมให้คณะกรรมการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเพิ่มเติม โดย ร่าง พ.ร.บ. Digital ID สร้างอำนาจให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแล 3 ส่วน: 1) ระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล 2) ระบบทำการแทน และ 3) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การร่าง พ.ร.บ. Digital ID ปูทางสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลเชิงบวกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงินการธนาคาร และสุขภาพ สำหรับบริการด้านการเงินนั้น ในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมแผนให้บริการการรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC) พ.ร.บ. Digital ID จะปูทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการเต็มรูปแบบโดยใช้ e-KYC เป็นฐานได้ ซึ่งในจุดนี้ ธนาคารพาณิชย์บางรายก็มีแผนขยายการบริการที่ใช้ e-KYC ให้ครอบคลุมประเภทบริการมากขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ อันนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคแล้ว ก็ยังจะช่วยให้สัดส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของไทย มีโอกาสเติบโตขึ้นในอนาคต (Financial Inclusion)

การที่ร่าง พ.ร.บ. Digital ID รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในทางปฏิบัตินี้ จะช่วยให้ภาครัฐประหยัดต้นทุนได้ 127 ล้านบาทในปีแรก หากหันไปดูที่ประเทศสหราชอาณาจักร รัฐบาลอังกฤษคำนวณว่า การเปลี่ยนมาใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต GOV.UK Verify เพียงอย่างเดียว ช่วยให้ทางรัฐบาลประหยัดต้นทุนได้ 36.5 ล้านปอนด์ในปีแรกที่มีการทดลองใช้[1] ซึ่งหากคำนวณด้วยอัตราการลดต้นทุนเดียวกันสำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่า การที่ภาครัฐของไทยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบ Digital ID อาจลดค่าใช้จ่ายของทางการไปได้ 127 ล้านบาทในปีแรก

แม้ประเทศไทยจะก้าวมาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น ซึ่งรวมถึง ประเด็นการส่งเสริมการใช้ระบบ Digital ID ว่า เนื่องจากไม่มีการบังคับใช้ จะให้ประชาชนหันมาใช้ระบบ Digital ID อย่างแพร่หลายจนยกระดับประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจไทยได้เช่นไร ประเด็นการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานในโครงข่าย และ ประเด็นด้าน Cyber Security เนื่องจากการที่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลในประเทศเข้ากับระบบดิจิทัลมากขึ้น มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงจากการที่ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลจะถูกขโมยผ่านการโจรกรรมทางไซเบอร์ อีกด้วย

[1] 'How digital and technology transformation saved GDP1.7bn last year' – Government Digital Service Blog 23rd October 2015:

https://gds.blog.gov.uk/2015/10/23/how-digital-and-technology-transformation-saved-1-7bn-last-year/