ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 8 ธันวาคม 2561

สหรัฐฯ-จีนระงับขึ้นภาษีนำเข้า 90 วัน…การค้าโลกผ่อนคลายความตึงเครียดในระยะสั้น แต่ผลกระทบต่อส่งออกไทยยังคงอยู่

จากการประชุมนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนติน่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้ตกลงระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของแต่ละฝ่ายเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากการประชุม เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า โดยทรัมป์ตกลงที่จะเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 นี้ออกไปอีก 60 วัน เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2562 ในขณะที่จีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมจำนวนมากจากสหรัฐฯ เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังให้คำมั่นที่จะเริ่มเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องการบังคับการส่งผ่านเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การบุกรุกและขโมยทางไซเบอร์

การตกลงครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกันมากขึ้นและอาจมีการตกลงที่จะยุติสงครามการค้าในอนาคต ซึ่งช่วยคลี่คลายความตึงเครียดของการค้าโลกอย่างน้อยในระยะสั้นและส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่การเจรจาจะไม่สำเร็จภายใน 90 วัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้น อีกทั้ง การแก้ไขเรื่องการบังคับบริษัทสหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ผลิตจีนและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อนและไม่น่าสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่สหรัฐฯ จะยังคงขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการณ์ผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่กรอบเดิม โดยมีมูลค่า 3,100-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6-0.9 ของ GDP ไทย อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมในมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯ เคยข่มขู่ไว้ก่อนหน้า ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลักทุกชนิดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่จีนมีท่าทีที่จะประนีประนอมและทำตามที่สหรัฐฯ ต้องการมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าโลก และส่งผลให้ผลกระทบต่อการส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะจำกัดอยู่ในกรอบล่างที่ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ