ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2 กุมภาพันธ์ 2562

สินเชื่อสุทธิ ณ สิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ตามการเร่งตัวของสินเชื่อรายย่อย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3784)

ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ธ.ค. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.18 แสนล้านบาท (1.03% MoM) ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิทั้งปี 2561 ขยายตัว 5.17% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 โดยมียอดคงค้างสินเชื่อสุทธิ 11.63 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อเดือนธ.ค. 2561 เร่งตัวขึ้นในทุกประเภท นำโดย สินเชื่อรายย่อย ขณะที่ ยอดคงค้างเงินรับฝากเดือน ธ.ค. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.36 แสนล้านบาท (1.09% MoM) มาที่ 12.58 ล้านล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับยอดคงค้างเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 ภาพรวมเงินฝากในปี 2561 เติบโตขึ้น 3.96% นำโดย เงินฝากออมทรัพย์ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคาร 14 แห่ง อยู่ที่ระดับประมาณ 3.599 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 คิดเป็นสัดส่วน 21.0% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งแม้จะลดลงเล็กน้อยจากระดับ ณ สิ้นปี 2560 ที่ 3.602 ล้านล้านบาท (สัดส่วนประมาณ 21.66% ของสินทรัพย์รวม) แต่ยังคงเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อยอดรวมเงินฝากและรายการตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมของธนาคาร (LTD+Borrowing Ratio) อยู่ที่ระดับ 87.79% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 86.60% ในปี 2560

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในปี 2562 มีโอกาสชะลอลงมาที่ 5.0% (กรอบคาดการณ์ 4.0-6.0%) โดยคาดหวังการขยายตัวของทิศทางการลงทุนภายในประเทศจะเป็นแรงหนุนต่อเนื่องให้สินเชื่อธุรกิจ ขณะที่ สินเชื่อรายย่อยอาจเติบโตชะลอลง เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน และแรงหนุนจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะน้อยลงกว่าปี 2561 ที่ผ่านมา ด้านแนวโน้มเงินฝาก+BE ในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตที่ระดับประมาณ 5.0% ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งสะท้อนภาพการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารให้สอดคล้องกับโมเมนตัมของการปล่อยสินเชื่อในภาพรวม