ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 13 เมษายน 2562

การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ... ยังกดดันภาพรวมกำไรสุทธิของธ.พ. ไทยในไตรมาส 1/2562 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2977)

ผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2562 ขณะที่ คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าขายประกัน ค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา ยังเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต และไม่สามารถชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนที่หายไปได้ทัน เพราะคาดว่า ปริมาณการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็น่าจะเร่งตัวสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน

จากทิศทางดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมรับของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจหดตัวลงในกรอบประมาณ -3.0% ถึง -5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งนับเป็นการหดตัวสามไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2561 ขณะที่ กำไรสุทธิของธ.พ. ไทย (กรณีที่ไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษ อาทิ กำไรจากการขายเงินลงทุน) ในไตรมาส 1/2562 อาจพลิกกลับมาหดตัวลงประมาณ 4.0% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลจากปัจจัยเชิงฤดูกาล อาจทำให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทรงตัว หรือมีโอกาสขยับขึ้นได้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายทางการตลาด อาจลดต่ำลงในไตรมาส 1/2562 ประกอบกับมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ไปแล้วในไตรมาส 4/2561

ทั้งนี้ ผลจากฤดูกาลของการชำระคืนสินเชื่อหลายๆ ประเภท อาจทำให้ยังไม่เห็นการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อในภาพรวมมากนัก และอาจมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ชะลอลงในไตรมาส 1/2562 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ อาจขยับลงมาที่ 2.85% ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่ คาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในกรอบประมาณ 5.6-5.7% YoY ในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 ทรงตัวเมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 5.7% YoY ในไตรมาส 4/2561 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แรงหนุนเพิ่มเติมก่อนที่เกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน (มาตรการ LTV ใหม่) จะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2/2562 อาจหนุนให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงถึงประมาณ 9.0-9.5% YoY ในไตรมาส 1/2562 เร่งขึ้นจากที่เติบโต 7.8% ในไตรมาส 4/2561

ปัญหาคุณภาพหนี้ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ต้องติดตามใกล้ชิด ยังคงเป็นสินเชื่อ SMEs ซึ่งมีความเปราะบางเนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัดตลอดช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธ.พ.ไทย และสาขาธ.พ. ต่างประเทศ) มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 2.95% ในไตรมาส 1/2562 จากระดับ 2.93% ในไตรมาส 4/2561