เรื่องอ่านเล่น กินรำทำเพลง The Series

บันทึกช่วงนี้ ...ใครๆ ก็อยู่บ้าน …อยู่บ้าน เพื่อชาติ เพื่อสังคม เพื่อครอบครัว และเพื่อตัวเอง ห่างเหิน ว่างเว้นงานเขียนให้กับหังสือพิมพ์ไทยแอลเอ มาเป็นปี ขาดแรงบันดาลใจ ด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในหลายๆ ประการนั้นมีประการหนึ่งก็คือตั้งแต่สูญเสียน้องชายลูกของคุณอา นาม วิรัช โรจนปัญญา ไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว บอกตามตรงว่าถือว่าขาดผู้สนับสนับสนุนและให้กำลังใจคนสำคัญ คนที่ทำให้ผู้เขียนมีที่ยืนในบรรณพิภพ แต่ในวันนี้หวลกลับมาเขียนอีกครั้ง เพราะว่ายังมีน้องคนสำคัญในกองบรรณาธิการคอยติดตามขอให้เขียนและให้กำลังใจมาตลอด ขอบคุณ “คุณนิด” ที่ปลุกจิตวิญญาณนักเขียนขึ้นมาอีกครั้ง

กลับมาคราวนี้ ก็ขอเขียนแบบสนุกๆ กับความสุขเรื่องราวที่ผ่านมากับเพื่อนๆ โดยจะนำเสนอในรูปไดอารี่ แทนที่จะเป็นบันทึกจากเบย์แอเรีย ก็จะเป็นประมาณนิยายคอมมาดี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า

กินรำทำเพลง The Series

เฮฮา สมวัย ไกลบ้าน

วันนี้ไม่เขียนบทความ ไม่เขียนอะไรซีเรียส ขอบันทึกเรื่องฮาๆ สนุกๆ กับเพื่อนๆ ประเภทคอมมาดี้ ดรามาเคล้าด้วยรักโรแมนติกหวิดมีเรื่อง !!


บทนำ

กิน รำ ทำ เพลง เป็นบันทึกสนุกๆ ถึงเรื่องราวที่ผ่านมากับก๊วนเพื่อนๆ วัยเดียวกันบ้างต่างวัยบ้าง ที่บุญพาวาสนาส่งให้ได้มารู้จักกัน ณ ดินแดนแคว้นแคลิฟอร์เนีย ตัวละครมีจริง เริ่มจากไม่กี่คนที่ดึงเข้ามาอยู่ในไลน์ด้วยชื่อไลน์ที่ข้าพเจ้าตั้งว่า กิน รำ ทำ เพลง สมาชิกมีแบ็คกราวนด์ครบองค์ประกอบของไตเติ้ล มีสมาชิกที่จะมาเป็นตัวละคร หลากหลายอุปนิสัย หลากอุดมการณ์ และทุกเรื่องจะเกี่ยวพันกับกินรำทำเพลงทั้งนั้น ตามมานะคะ แอ่น แอ้น..


ตอนที่ ๑ พบกันในซานฟราน

อเมริกาเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ใครๆ ก็ใคร่ไปยล ไปเรียน ไปขุดทอง ...ช่วงสงครามเวียดนามนั้นถนนสาย กรุงเทพฯ-ซานฟรานฯ จะคราค่ำไปด้วยนักศึกษา นักแสวงหาชีวิตใหม่ อเมริกาสมัยประธานาธิบดีจอห์นสัน คนไทยรุ่นแรกพากันเข้าซานฟราน พร้อมกับเพลงในหัวใจตอนนั้น If you’re going to San Francisco, be sure to wear some flowers in your hair...บลา บลา บลา ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น

ฉันไปอเมริกาเป็นหนที่สองหลังจากที่ได้รับทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของเอเอฟเอส รุ่นแรก ในปีที่ ปธ.เคเนดี้เป็นประธานาธิบดี เมื่อกลับไปเรียนซ้ำชั้นที่เตรียมอุดมพญาไท รุ่นที่ ๒๕ เข้าเรียนนิเทศศาสตร์จุฬาฯจบอนุปริญญา แล้วทำงานที่เอเอฟเอสยูซิสอยู่พักหนึ่ง ได้เป็นผู้ดูแลพานักเรียนเอเอฟเอสรุ่นที่ ๕ มาส่งที่อเมริกา คราวนี้ก็เป็นสาวใจแตก โดดสิคะ ซานฟรานสวยงาม มีเพื่อนอยู่ก็เลยใช้ชีวิตอยากจะขุดทองกับเขาบ้าง ทั้งๆ ที่มันก็ไม่มีจริง อยู่เบย์แอเรียตั้งแต่อายุยี่สิบห้า จนบัดนี้เจ็ดสิบปลายๆ แล้ว ก็ยังอยู่ ได้พบรัก สร้างครอบครัว พบเพื่อน มีเพื่อนฝูงที่น่ารักรอบตัว เพื่อนที่ว่านี้ก็ต่างอายุกัน ฉันคงจะแก่สุดมั้ง แต่ว่าอายุเป็นแต่เพียงตัวเลข หัวใจยี่สิบห้าค่า..เรื่องราวสนุกๆ ในอเมริกานั้นอยู่ที่การใช้ชีวิตเอ็นจอยกับเพื่อนๆ น้องๆ ตั้งแต่แรกเริ่มก้าวสู่ซานฟราน จนปัจจุบัน ใครจะไปคิดว่าพวกเราจะต้องไปใช้ชีวิตอันยาวนานอยู่อเมริกา ใครบ้างในก๊วน...อยากทราบตามมา...

พวกเราพบกันอย่างเป็นทางการผ่านวัดค่ะ วัดจริงๆ ค่ะ...ไม่ใช่วัดดวง

ก๊วนเราเริ่มคบกัน ณ วัดมงคลรัตนาราม เซาท์ซานฟราน เพื่อนคนแรก “จิ๋ว” ไม่ต้องเอ่ยชื่อจริง เธอคือคนที่คนซานฟรานรู้จักเกือบทั้งเมือง คนสวยคนใจดีคนที่ไม่ปฏิเสธใคร ใครชวนไปไหนไปหมด คนนี้ยังอยู่ในก๊วนปัจจุบัน ช่วยกันสอนรำไทยแต่แรกเริ่ม สืบสานมาจนปัจจุบัน เป็นคนที่ทำอาหารอร่อยและชอบทำให้เพื่อนๆ กินมาก บอกมาอยากกินไร “จิ๋วจัดให้”

คนต่อไป “นา” คบกันแบบน้องๆ ก่อน ต่อมาเป็นเพื่อนทั้งๆ ที่อายุห่างกันตั้งเก้าปี คุณนาชอบฟังเพลงทุกรูปแบบ แต่หัวใจอยู่ที่ขลุ่ยไทย ปัจจุบันเป่าขลุ่ยโซโล่ได้ไพเราะจับใจเพื่อน เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มดนตรี แต่โดยสายอาชีพเธอเป็น Loan Officer ของแบ้งค์

ต่อมาคือ “แพร่มแพ้ม” เป็นคนสวยและเป็นที่รักของทุกคน แพ้ม คนนี้อายุเธอก็ห่างจากเราแปดปี เป็นนักดนตรีไทยโดยสายเลือด สมัยยังไม่มีเรียนดนตรี แพร่มแพร้มจะดีดจะเข้ให้เรารำ เธอมีความสามารถในด้านดนตรีทุกประเภท แต่ที่ชอบมากคือเครื่องสายทุกชนิดแถมด้วยพิณอิสาน เล่นได้เท่มาก นอกจากดนตรีเป็นงานอดิเรกแล้ว สายอาชีพแพร่มแพร้มเคยทำงานให้กับไฟแนนซ์เชียลชื่อดังของอเมริกา ก่อนเออรี่รีไทร์

ต่อไป “หนูตุ๊กตา” เรื่องกิน ใครหาอาหารอร่อยๆ แถวนี้ตาจัดให้ ส่วนเรื่องทำคือเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตของมิตรรัก เพลงก็ชอบร้อง และร้องได้เพราะขนาดว่ามีเครื่องคาราโอเกะชนิดเลิศที่ใครๆ ก็อยากไปร่วมแจม หนูตุ๊กตานี้ว่าไปแล้วเป็นรุ่นเด็กสุดของกลุ่ม เด็กขนาดไหนหรือคะ ก็เด็กขนาดฉันและสามีเห็นมาตั้งแต่ยังสาวจนทีหลังเราเป็นผู้ปูที่นอนงานวิาห์ให้เธอนั่นแหละ

วันทนา “ต๋อยต๋อย” เรื่องกิน ทำอาหารอร่อย ทำ (ที่ปรึกษาฝ่ายการเดินทาง และการเสาะหารายการลดแลกแจกแถมให้เพื่อนๆ) และทำสวนเป็นกิจวัตร สวนสวยงามเลื่องชื่อ...คนนี้ฉันก็เห็นตั้งแต่วัยสาวอายุน้อยกว่าเรา จนบัดนี้เท่าเทียม คือถือตำแหน่งคุณยายเหมือนกับฉันแล้วนะ...ต๋อยต๋อยเพิ่งย้ายไปไกลพวกนิดหนึ่ง...อยู่โน่น ซาคราเมนโต้..แต่ด้วยระบบไฮเท็คของทุกวันนี้เหมือนต๋อยต๋อยยังอยู่ใกล้ๆ เราที่ฟรีมอนต์นี้

“แดง-กิ่งกาญจน์” รำได้ดีแต่ไม่ค่อยอยากรำแล้ว ทำ (หน้าที่แนวหน้าหาทุนให้เพื่อนๆ และหน้าที่สำคัญช่วงโควิดปิดประเทศ คือเป็นผู้วิ่งส่งอาหารและสินค้าให้เพื่อนๆ ส ว ที่ออกจากบ้านไม่ได้ จนได้รับฉายาว่าเป็น Dang Dash แทนคำว่า “Door Dash” แดงเป็นประธานสภาวัฒนธรรมไทย ที่เพื่อนๆ ยกมือพรึบพรับให้เป็นต่อไปเรื่อยๆ เพราะใจเย็น เป็นได้ทั้งแนวรุกและแนวรับ เพราะใจเย็นมาก เป็นคนเดียวในกลุ่มที่จะฟังธรรมะก่อนนอนทุกคืน

คนสุดท้องแต่ไม่สุดท้าย “จี๊ด-ลดาวัลย์” หนูจี๊ดคนนี้มีคุณสมบัติ “กิน” ไม่รำ ทำ (อาหารและเป็นผู้กำกับเงินให้สภาฟรีมอนต์อย่างเฮียบและเหนียวแน่น แปลว่าคือผู้ได้รับความไว้วางใจในกลุ่ม) จริงๆ แล้วฉันเห็นหนูจี๊ด มาตั้งแต่เธอยังเป็นนักเรียนไฮสคูล ไม่ว่าทุกคนจะอายุห่างเหิน กันแค่ไหนไม่สำคัญ เราคบกันด้วยคุณสมบัติที่ผลัดกันชม...ไปกิน ไปรำ ไปทำเพลงด้วยกันได้ จบ นี่เป็นออริจินัลของกรุ๊ปกินรำทำเพลง แต่เมื่อฉันเกริ่นไปในเฟสบุ๊กของฉันว่า จะเขียนถึงกลุ่ม กินรำทำเพลง ก็มีเพื่อนผองน้องพี่เข้ามาคอมเม้นต์ขอร่วมแจมด้วย แน่นอนค่ะ ถ้าคุณชอบ กิน ชอบรำ ชอบ ทำเพลงละก็...มาเลยค่ะ มาร่วมกิจกรรมให้ฉันเขียนออกสื่อสนุกๆ มาร่วมส่งงานเขียนก็ได้ค่ะ ยินดียิ่ง

เริ่มงานเขียนแรกขอเล่าซี่รี่เรื่อง “กิน” ก่อนรำทำเพลงนะคะ เพราะสมาชิกมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกคน

“กิน” Episode 1

บ่ายวันนั้น วันอาทิตย์หลังงานลอยกระทงปีหนึ่ง ณ ลานวัดมีผู้คนทยอยลงจากโบสถ์เนื่องจากพิธีถวายผ้ากฐินเสร็จสิ้น โต๊ะประชาสัมพันธ์ของวัด มีกลุ่มสาวสมาชิกกินรำทำเพลงที่เห็นว่าเมื่อเสร็จภารกิจในการทำบุญแล้ว ครานี้ก็ได้เวลานัดไปดินเนอร์กันตามความเคยชินที่เมื่อรวมกลุ่มกันได้ “เราต้องพากันกิน” และเมื่อโหวตกันเรียบร้อยว่าใครว่างไปร่วมบ้างวันนี้ มีสมาชิกเพียงสี่คนที่จะไปร่วมได้ สมาชิกที่ไปมีสี่คนและเราเลือกอาหารที่เราชอบและกินได้ทั้งสี่คนคือ อาหาร “แขก” เยส...อาหารชาวภารตะ ซึ่งเรามีร้านเจ้าประจำที่ไปกินกันแล้วติดใจมากๆ อยู่ที่เมืองฟรีมอนต์ ก็เมืองที่ตั้งของวัดพุทธานุสรณ์นั้นแหละค่ะ เมืองฟรีมอนต์เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ามีชาวอินเดียและปากีสถานอาศัยอยู่มากที่สุดในเบย์แอเรีย อาหารอร่อยอย่างไร เขากินอะไรกันบ้าง โปรดติดตามฉบับหน้านะคะ ฉบับนี้อารัมภบทยาวไปหน่อยเนื้อที่หมด

ส่วนภาพประกอบคอลัมน์วันนี้ เป็นภาพสมาชิกกินรำทำเพลง และที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เป็นชาววัดในเบย์แอเรีย ซึ่งนำมาลงเผื่อว่าคนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกจะสนใจเข้ามาร่วม และให้ดิฉันได้เขียนถึงได้ค่ะ

งานเขียนในช่วงนี้ก็ขอเป็นรูปแบบสบายๆ นี้ไปก่อน จนกว่าโรคระบาดของโควิด-19 จะจางลง จึงจะเริ่มบทความที่ซีเรียสกว่านี้ล่ะค่ะ พบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ