เกร็ดรักรอยหงส์ ตอนที่ 2

ต่อจากฉบับที่แล้ว

ท้ายความตอนที่แล้ว

หนึ่งชั่วโมงต่อมา ณ บริเวณสนามหญ้าสีเขียวขจีด้านข้างอาคารต้อนรับก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แต่งตัวสวยงามที่ทยอยกันเข้ามาจับจองที่นั่งจากโต๊ะที่อยู่ใต้ร่มผ้าใบหลากสีที่จัดไว้เป็นซุ้มละสิบที่นั่ง เพื่อเข้ารับประทานอาหารเย็นและชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมืองของชุมชนมอญ ในรีสอร์ทบนเนื้อที่สามสิบไร่ไม่ไกลจากตัวเมืองของอำเภอสังขละบุรี

-------------------------------

แสงจันทร์ทอแสงนวลอร่ามทาบไปยังบนเวทีซึ่งมีนักดนตรีชายล้วนนั่งประจำที่อยู่หน้าเครื่องดนตรีที่แต่ละคนถนัด โดยมีสตรีเพียงหนึ่งนางที่นั่งอยู่กลางเวที ไมโครโฟนตัวเล็กที่ตั้งอยู่ข้างหน้าของเธอทำให้เดาได้ไม่ยากว่าเธอคงจะเป็นนักร้องประจำวง

นักท่องเที่ยวที่มีทั้งชาวยุโรปผิวขาวและชาวเอเซียลุกขึ้นไปยังซุ้มอาหารทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศให้เริ่มตักอาหารได้ อาหารเย็นนั้นประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิหุงร้อนๆ แกงส้มมะตาด ยำผักบอนกับกุ้งสด ขนมจีนที่มีกระเทียมสีเหลืองอร่ามคลุกกับสับปะรด เป็นอาหารที่มัคคุเทศน์อธิบายให้ลูกทัวร์ฟังว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของรีสอร์ทนี้ และแถมให้ด้วยทอดมันหน่อกะลากับปลาช่อนเผาตัวใหญ่หลายสิบตัวเรียงรายส่งกลิ่นตะไคร้ที่รายรอบตัวปลาหอมน่ากิน

บางคนเห็นว่ามีคนต่อแถวตักอาหารยาวนักก็เลยยังไม่ไปยืนเข้าแถว กลับเดินมาชะโงกดูชิ้นดนตรีที่ตนสนใจแทนที่จะไปยืนเข้าแถวรอคิวตักอาหาร

เครื่องดนตรีที่มีผู้สนใจเดินเข้ามาดูมากที่สุดไม่พ้นจะเข้ ซึ่งต่างพากันซักถามนักดนตรีชายที่นั่งประจำที่อยู่ตรงเครื่องชิ้นนี้ก็ได้รับคำตอบว่า

“เป็นเครื่องดีดเรียกจะเข้ หรือกุยาม ประเดี๋ยวท่านก็จะได้รับคำอธิบายจากโฆษกครับ...”

และก็เป็นจริงดั่งที่นักดนตรีได้บอกนักท่องเที่ยวเพราะเมื่อได้เวลาการแสดง โฆษกสาวในชุดซิ่นแดงเสื้อลูกไม้สีขาวมีสะใบสีฟ้าสดคล้องคอ บ่งบอกถึงความเป็นคนในท้องถิ่น ก็ขึ้นมาประกาศบนเวทีด้วยภาษาอังกฤษคล่องแคล่วใจความว่า

“ขอต้อนรับทุกท่านสู่การแสดงศิลปะฟ้อนรำที่ขึ้นชื่อของรีสอร์ทของเรานะคะ ชุดแรกเป็นการแสดงร้องรำแบบโบราณเหมือนการแสดงละครโอปาร่า เล่าเรื่องราวของหญิงชายที่กำลังอยู่ในความรัก และโดนพรากจากกัน ชุดที่สองเป็นการบรรเลงเพลงโชว์ฆ้องมอญ และชุดที่สามเป็นการแสดงฟ้อนรำของหนุ่มสาว ในทำนองดนตรีสนุกๆ นิยมแสดงในโอกาสเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ค่ะ”

จากนั้นเธอก็เดินไปที่เครื่องดนตรี พลางอธิบายถึงเครื่องดนตรีที่เรียงรายอยู่บนเวทีแต่ละชิ้น

“ชิ้นแรกนะคะ บรรเลงโดยคุณครูหัวหน้าวง และเครื่องดนตรีรูปร่างแปลกชิ้นนี้มีขื่อเรียกว่าเรียกว่า “กุยาม” มีรูปร่างเป็นรางเหมือนจระเข้ทั้งตัวมีสายขึงดีดอยู่ด้านบนเรียบร้อย รูปร่างเสมือนกีตาร์ทรงหงาย”

มาถึงซอและขลุ่ยเธอก็อธิบายว่า

“ส่วนเครื่องดนตรีนี้ คือซอหรือ “โกร่ง” มีรูปร่างเหมือนไวโอลินของฝรั่งแต่ผู้เล่นจะใช้บรรเลงแบบสำเนียงเพลงของไทย ต่อมาเป็นมีผู้บรรเลง ขลุ่ยหรือ “อะโลด”

เธอเดินเล่าต่อมาถึงเครื่องดนตรีด้านขวาสุดของเวที อธิบายต่อว่า

“ส่วนดนตรีชิ้นนี้เป็นกลุ่มเครื่องจังหวะกลอง เปิงมางหรือ “ปุงตัง” ต่อมา ที่เห็นนี้ เรียกว่าฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชันทำด้วยโลหะ มีหลายรูปแบบ ที่ท่านเห็นนี้เป็นฆ้องมอญ ที่มีรูปร่างโค้งขึ้นไปทั้งสองข้างไม่วางราบกับพื้นเหมือนของไทย”

โฆษกสาวปิดท้ายคำอธิบายว่า

“นับได้ว่าคืนนี้เราจะนำวงดนตรีพื้นเมืองและนาฏศิลป์ร่วมสมัยไทย-รามัญ มาสร้างสรรค์เพื่อให้ความสำราญของทุกท่าน ขอเชิญชมบัดนี้ค่ะ”

เสียงกลองจากคอกเปิงมางประเดิมเสียง

“ตุ๊ม ตุ๊ม ตุ้ม ตุ้ม”

การแสดงเริ่มขึ้น สายตาทุกคู่มองตรงไปยังสาวนางหนึ่งในชุดเสื้อลูกไม้สีขาวและซิ่นสีแดงยาวกรอมเท้าที่กำลังนั่งอยู่หน้าไมโครโฟนตัวเล็กที่ส่งเสียงร้องเพลงด้วยท่วงทำนองอ้อยสร้อยด้วยทำนองทะแยมอญ โดยมีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยซึ่งแม้ว่าผู้เข้าชมอาจจะแปลไม่ออกแต่ก็จับจุดได้ว่าเป็นเพลงเศร้า ร่ายกลอนที่แม้จะมีวรรคตอนและความคล้องจองแตกต่างไปจากกวีนิพนธ์แบบไทยๆ เนื่องจากแปลมาจากบทร้องที่ครูเพลงแต่งไว้เป็นภาษาดั้งเดิม

นักแสดงชายหญิงออกมาร่ายรำจากเรื่องราวที่เขาทั้งคู่กำลังจะลาจากกัน ความว่าฝ่ายหญิงได้รับคำสั่งจากบิดาให้ไปในที่แห่งหนึ่ง ต้องพรากจากคนรัก แม้ชายคนรักจะมีฐานะเป็นเศรษฐี แต่เขาก็มิอาจจะช่วยนางได้ แต่เขาทั้งสองสัญญากันว่าจะจงรักภักดีกันตราบจนวันตาย และพากันไปไหว้พระพุทธรูป อธิฐานให้ได้พบและสมหวังในชาติหน้า นางร่ำให้จนสลบไปในอ้อมแขนของชายคนรัก เป็นอันจบการแสดงชุดแรก

ขณะที่นางร้องไห้ก็มีสิ่งแปลกยิ่งเกิดขึ้นนั่นคือ ลมพัดแรงดังซู่ ซู่ เสียงน่ากลัว ผู้ชมหันไปหาว่ามีพัดลมเป็นซาวด์เอฟเฟ็คหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ทุกคนเงียบกริบจนนักแสดงทั้งคู่ลุกขึ้นจากท่านั่งสวมกอดกันเพื่อยกมือไหว้ลาผู้ชม

จึ่งมีเสียงปรบมือดังกราวใหญ่จากผู้รับขม แม้จะฟังภาษาร้องไม่เข้าใจ แต่ทุกคนก็เดาเรื่องได้จากแผ่นพับใบเล็กที่ได้รับแจกมา นักท่องเที่ยวหญิงหลายคนมีน้ำตาคลอเบ้าเศร้าไปกับการแสดงด้วย

ดนตรีบรรเลงเปิดการแสดงชุดต่อไปด้วยเพลง “กระต่ายเต้น” ไฟสปอร์ตไลทน์สาดแสงไปที่นักดนตรีที่ตีฆ้องมอญเครื่องดนตรีที่เป็นตัวนำของทำนองเพลงนี้ และเมื่อเพลงบรรเลงจบลง ไฟสปอร์ตไลท์ก็เปลี่ยนไปจับที่คอกเปิงมางอีกครั้ง นักดนตรีที่นั่งประจำคอกเปิงมางรัวกลองรับพร้อมกับฆ้องวงเพื่อเปิดจังหวะให้นางรำจำนวนหกคนออกโรงแสดงฟ้อน

และเมื่อการแสดงฟ้อนจบลง ก็มีเสียงโฆษกประกาศเป็นภาษาอังกฤษแนะนำการแสดงชุดต่อไปว่าคือการแสดงระบำหงส์ทอง ซึ่งเป็นระบำที่แสดงถึงกำเนิดเมืองหงสาวดี เมืองหลวงในอดีตของรามัญเทศ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษส่วนใหญ่ของชุมชนที่นี่

นักดนตรีในคอกเปิงมางก็รัวกลองด้วยจังหวะรัวเร็ว นักแสดงหญิงชายหนึ่งคู่ในชุดเครื่องแต่งกายเสมือนนกหงส์สีเหลืองสด สรวมชฏาเป็นหัวของตัวหงส์ กรายออกมาพร้อมๆ กันด้วยลีลาอ่อนช้อย นักร้องสาวคนเดิมส่งอารมณ์ให้นักแสดงด้วยน้ำเสียงหวานเจื้อยแจ้ว

จะกล่าวไปถึงตำนานเมืองหงสา
ที่ชาวมอญแต่ก่อนกาลเล่า สู่กันฟัง
ว่ากาลครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ไท้
เสด็จผ่านมายังดินแดน แคว้นพุกาม
ให้บังเอิญทอดพระเนตรเห็นหงส์ทอง
เป็นตัวผู้และตัวเมียมองดู เหลืองอร่าม
สำเริงสำราญว่ายวนอยู่กลางน้ำ
ข้างๆ เป็นแผ่นดิน ที่น้อยนิด

ตัวผู้ถลาลงเกาะจำเพาะบนที่นั้น
ตัวเมียหามีที่จะเกาะจะเกี่ยวได้
นางจึงถลาลงเกาะบนหลังเจ้าตัวผู้

จึงทรงเอ่ยทำนายทายทักว่า
อันแผ่นดินที่เห็นสองหงส์ร่อน
จะได้เป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่
เป็นมหานครของชาวมอญ
นามหงสาวดี มีที่มาดั่งกล่าวเอย...

โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า