สวัสดีครับแฟนานุแฟนทุกท่าน หลายท่านถามว่าผมหายไปไหน เลิกเขียนหนังสือแล้วหรือ ไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ รอโอกาสอยู่แต่สัมประทานหน้ากระดาษมีจำกัด ตกลงกับพี่แมว “เพ็ญวิภา” คนละวีค แต่บางครั้งบางคราวพีแมวมีเรื่องราวต้องรายงานด่วน ผมก็งดไปชั่วคราว เป็นธรรมดาครับ ความจริง..การรอคอยก็เป็นบทพิสูจน์คุณค่าในตัวบุคคลได้ดีเหมือนกัน ขอบคุณครับที่เอาใจใส่กับผู้เฒ่าเล่าเรื่อง
วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่อง สุนทรภู่ มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์ มีผลงานด้านวรรณกรรม โคลงฉันท์กาพย์กลอนมากมาย ในวาระโอกาสวันคล้ายวันสมภพของท่าน 26 มิถุนายน ผมขอจารึกชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเพื่อเป็นเกียรติประวัติที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก (ขออนุญาตคัดบางตอนจาก วีกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาท่านสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป
ความจริงประวัติส่วนตัวของท่านและเกร็ดย่อยในชีวิตของท่านมีมากมาย เป็นบุคคลที่น่าศึกษา คงมีสักวันที่ผมจะได้ทำบันทึกมาเสนอ ทั้งในแง่สาระและบันเทิง ส่วนตัวผมเองนั้นได้อ่านวรรณคดี โคลงฉันท์ กาพย์ กลอน ของท่านถึงขนาดหลงไหลได้ปลื้ม ขอฝากตัวเป็นศิษย์ คือศิษย์ประเภท.. “ครูพัก-ลักจำ” ไม่โอกาสได้ฝากเนื้อฝากตัวกับท่าน เพราะเกิดต่างยุคสมัย ที่เรียกตัวเองว่าศิษย์ ด้วยความเทิดทูนบูชาครับผม มีอยู่ครั้งหนึ่ง สมัยที่เป็นนักเรียน พอใกล้ถึงวันสุนทรภู่ คุณครูวิชาภาษาไทยและวรรณคดี ให้แต่งกลอนส่งเข้าประกวดในหัวข้อ “สุนทรภู่ บรมกวี ศรีสยาม” ผมก็แต่งไปตามประสา จำไม่ได้แล้วว่าแต่งไว้อย่างไร ที่จำได้คือ ไม่ได้ติดรางวัลหนึ่งใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการจุดประกายชีวิต ทำให้เกิดความฝันอยากเป็นนักเลงเพลงกลอนกับเขาบ้าง ก็พยายามศึกษาหาความรู้ บทไหนที่โดนใจก็พยายามท่องจำให้ขึ้นใจ เอาไว้เป็นบทยกครูอย่างเช่น.. “อันอ้อยตาลหวานลิ้นก็สิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย” และอีกหลายบท..ในนิราศภูเขาทอง.. “ถึงบางพูดพูดดีมีศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะถูกผิดในมนุษย์เพราะพูดจา” และ “ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” บทเรียนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ สำหรับหนุ่มสาวพึงสังวรไว้ก็มี.. “ถึงเกาะเรียนเรียนรักให้หนักอก แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย ตั้งแต่ต้นจนจบถึงกบเกย มิยากเลยเรียนได้ดังใจจง แต่เรียนรักนักให้มักหน่าย รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์ ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง ทำให้หลงลมลวงน่าทรวงโทรม”
และเรื่องปฏิภาณไหวพริบก็นับเป็นเลิศ เมื่อครั้งท่านบวชเป็นพระใหม่ ไปบิณฑบาต เศรษฐีท่านหนึ่ง เตรียมสำรับคาวหวานไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน อยากจะถวายสังฆทาน จึงให้ท่านช่วยนำว่าคำถวาย ท่านยังท่องจำคำพระภาษาบาลีไม่ได้ จึงใช้ปฏิภาณ นำชื่ออาหารหวานคาวที่เห็นตรงหน้ามาผูกเป็นร้อยแก้วร้อยกรองว่า.. “อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง เจ้าช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้าวสองขัน น้ำมันครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะเทมิ” ท่านเศรษฐีชื่นอกชื่นใจและเข้าใจในการถวายสังฆทานครั้งนั้น จึงได้อนุโมทนาสาธุ ชื่นชมยินดีพระสุนทรภู่เป็นอย่างยิ่ง
และบางบทบางตอนจากเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ก็ได้นำไปดัดแปลงเล็กน้อย ได้เป็นเพลง "คำมั่นสัญญา" ประพันธ์ทำนองโดย สุรพล แสงเอก บันทึกเสียงครั้งแรกโดย ปรีชา บุญยเกียรติ มีเนื้อร้องดังนี้
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร | ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน |
แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร | ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา |
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ | พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา |
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา | เชยผกาโกสุมปทุมทอง |
แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์ | จะล่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง |
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง | เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไปฯ |
ถือว่าเป็นบทกวีวรรคทองของท่านภู่ พอนำมาปรุงรสใส่เนื้อร้องทำนองเข้าไป ทั้งเนื้อหาสาระได้ความหมายในเชิงเกี้ยวราศี เปรียบเทียบได้ไม่หยาบคาย ได้รสกวีสัมผัสนอกสัมผัสใน งดงามไพเราะรื่นรมย์ ประทับใจมาก มีผู้นำมาร้องต่ออีกหลายท่าน ยังน่าฟังและก็ไม่ยากที่จะหามาฟังอีก
หลายท่านอาจจะมองว่า สุนทรภุ่นั้นทั้งขี้เหล้าเจ้าชู้และเคยต้องโทษในฐาน เมาสุราอาระวาด ถูกไล่ออกจากบ้านเพราะไม่มีค่าเช่าให้เจ้าของบ้าน เขาไล่ท่านออกจากบ้าน ทำนองว่า ไอ้ภู่ไป ๆ ท่านก็พูดเป็นกลอนคำผวนว่า.. “ไภ่(ไพ่)ไม่ปู ภู่ไม่ปู” ถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่เสียหายของท่าน แต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ เป็นคติเตือนใจ มีอยู่ทุกเรื่องในวรรณคดี มองให้ดีมีคุณค่ามากกว่าความเสียหาย
เรื่องขี้เหล้าเมายานี้ผมว่าเป็นเอกลักษณ์หรือเป็นคุณสมบัติ์ส่วนตัวของนักเขียน(บางท่าน)อย่าง..ไม้เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ผู้ประพันธ์ “แผลเก่า” เชิด ทรงศรี เอามาสร้างหนังดังทะลุฟ้า ยาขอบ (โชติ แพร่พันธ์) ผู้ประพันธ์ “ผู้ชนะสิบทิศ” “สามก๊กฉบับวณิพก” และแม้กระทั่ง กิมย้ง ผู้ประพันธ์นิยายกำลังภายในที่เราชื่นชอบอย่าง “ฤทธิ์มีดสั้น” “เล็กเสี่ยวหงส์” เป็นต้น ท่านเหล่านี้ล้วนตาย(อย่างมีความสุข)ภายใต้เงื่อนไข โรคพิษสุราเรื้อรัง บ้านผมเขาเรียกว่าโรคตับแข็ง คือตับไม่สะออน
ไหน ๆ ก็ถึงวันสมภพของบรมกวีแห่งรัตนโกสินทร์แล้ว แม้จะล่วงเลยมาก็ไม่ควรจะเฉยชา ในฐานะศิษย์ (ครูพัก-ลักจำ) ถ้าไม่มีบทไหว้ครูก็ ดูดู๋ดูกระไรอยู่ ผมจึงคาระท่านบรมครูกลอนสุนทรภู่ ด้วยบทกวีที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน และกวีกลอนอ่อนหัดของผม และขอลาท่านไป ณ เพลานี้ ถ้าโดนใจท่าน ก็ขอคารวะให้ผมสักจอกนะขอรับ พบกันใหม่ฉบับ ถ้าไม่เกียจคร้าน ผมจะเอาเกร็ดเม็ดพรายของท่านสุนทรภู่มาเล่าสู่ฟัง แน่ะ..ทำให้อยากแล้วก็จากไป สวัสดีครับ..
ฉันเป็นศิษย์ รุ่นหลาน ของท่านภู่
อยากเรียนรู้ เพลงกลอน อักษรสาส์น
กราบท่านภู่ เป็นครูบา และอาจารย์
เพื่อสืบสาน กวีศิลป์ จินตนา
อ่านตำรา กวีกลอน สุนทรภู่
เอาตำรา มาเป็นครู สู้ฟันฝ่า
เขียนเวียนวก ตกหล่น นอกตำรา
ด้วยใจรัก จักศึกษา วิชากลอน
หัดแต่งใหม่ ใช้ไม่ได้ คำสัมผัส
แต่งติดขัด ไม่ละม้าย คล้ายท่านสอน
แต่งตอนเช้า สายบ่ายค่ำ ก่อนเข้านอน
แต่งเป็นกลอน หน้าต่าง บ้างประตู
ฉันชอบโคลง สี่สุภาพ งามซาบซึ้ง
กาพย์ยานี งามเป็นหนึ่ง สัมผัสหรู
ทั้งกลอนแปด กลอนสุภาพ กราบเป็นครู
อินทรวิเชียร อยากเรียนรู้ สู้ฝึกตน
ฉันเคยแต่ง นิราศ ยังคลาดเคลื่อน
แต่งไม่เหมือน นิราศ ประหลาดล้น
โอ้นิราศ ขาดน้อง หมองกมล
เพราะความจน จึงนิราศ ขาดงามงอน
ณ วันนี้ พอแต่งได้ ไม่อายเพื่อน
แม้นไม่เหมือน ก็ละม้าย คล้ายท่านสอน
พออ่านได้ เป็นโคลงฉันท์ แลกาพย์กลอน
มิใช่กลอน ประตู ดูเข้าที
ฉันเขียนกลอน ด้วยมุ่งหมาย ใจสมัคร
อนุรักษ์ กลอนไว้ ให้ศักดิศรี
เอาสายใจ สอดสร้อยศิลป์ จินตกวี
เขียนกลอนนี้ เพื่อสืบสาน ตำนานครู
ยี่สิบหก มิถุนา มาบรรจบ
วันสมภพ ครูกลอน สุนทรภู่
ศิษย์รุ่นหลัง ยังรำลึก นึกถึงครู
กราบท่านภู่ ครูกวี ที่ยิ่งยงฯ