สวัสดีครับแฟนานุแฟน คอลัมน์ลำนำชีวิต ท่านได้ติดตามข้อเขียนของผมในไทยแอลเอมาหลายตอนแล้ว ขอขอบคุณทางกอง บ.ก.ไทยแอลเอที่ให้โอกาส และผมก็จะพยายามหาเรื่องที่มีสาระประโยชน์มาเสนอท่านอย่างต่อเนื่อง มิให้ขาดหาย
เพิ่งจะเข้าพรรษามาได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ผมมีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเขียนมานานแล้ว คิดว่าเขียนตอนนี้..แหละ ถูกกาลเทศะ เข้ากับฤดูกาล คือเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา ต้องบอกด้วยว่า..พระพุทธศาสนา ถกเถียงกันเหลือเกิน เอาชนะกัน อย่างนี้ถูก อย่างนั้นผิด เอ้า..ก่อนจะว่าใครถูกใครผิด ต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า..พิธีกรรมคืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ?
พระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า พระรัตนตรัย (รวมทั้งศาสนสถานคือ โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ศาลา กุฏีสงฆ์) ขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เป็นพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าคือผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองซึ่งอริยสัจจธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ พระธรรมคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์คือสาวกผู้ประพฤติปฎิบัติชอบ เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสให้พระภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศาสดา อันนี้เป็นที่ทราบกันดีไม่ต้องอรรถาธิบาย
เปรียบว่า พระพุทธศาสนา เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็ประกอบไปด้วย เปลือก กระพี้ และแก่น เปลือกคือพิธีกรรม ที่หุ้มห่อเอากระพี้คือพระวินัย และแก่นไม้ก็คือพระธรรม จะว่าเปลือกหรือกระพี้ไม่สำคัญ ย่อมเป็นไปไม่ได้ องค์ประกอบของต้นไม้ต้องมีครบทั้งสามอย่างคือ เปลือก กระพี้ และแก่น ความเป็นต้นไม้จึงดำรงอยู่ได้ฉันใด พิธีกรรมทางศาสนาก็รักษากระพี้และแก่นธรรมเอาได้ฉันนั้น สรุปแล้วคือ พิธีกรรมคือการปูพื้นฐานให้เราเข้าถึงพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนคนพายเรือเพื่อข้ามโอฆะสงสาร ถึงฝั่งคือพระนิพพาน เมื่อถึงฝั่งแล้วก็จอดเรือไว้ที่ท่าน้ำ มิได้แบกหามเรือไปด้วย เรือคือพาหนะที่อาศัยเดินทางเท่านั้น
พิธีกรรมพุทธศาสนา หมายถึง แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆ ที่พึงปฏิบัติทางพระศาสนา แยกไว้เป็น ๔ หมวด คือ กุศลพิธี, บุญพิธี, ทานพิธี และปกิณณกพิธี เรียกอีกอย่างว่า ศาสนพิธี ถ้าจะพูดทั้ง ๔ หมวด นี้ก็จะยาวเกินไป ท่านที่ต้องการความรู้เพิ่มเติม ค้นคว้าหาได้ง่ายๆ จากกูเกิล วิกิพีเดีย มีทุกอย่างที่ต้องการ แต่วันนี้ผมจะพูดถึงปัญหาที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น การจุดธูปเทียน การกราบการไหว้พระ เป็นต้น
ผู้เขียนเองมักได้รู้ได้ยินเรื่องที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาอยู่เป็นประจำ พูดก็พูดเถอะ เพราะว่าเราไม่แม่นทางวิชาการ รู้แบบงูๆ ปลาๆ รู้แบบเถรส่องบาตร ไม่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง จึงต้องมาถกเถียงกันและพระบางรูปในยุคนี้ สอนกันแนวใหม่ มีการสอนว่า พิธีกรรมไม่มีในสมัยพุทธองค์ พระอรรถกถาจารย์ พระฏีกาจารย์ นักปราชญ์บัณฑิตรุ่นหลังมาเขียนแต่งขึ้นภายหลัง ก็พอฟังได้ไม่ผิด แต่ไม่ถูกเสียทั้งหมด (อย่างน้อยการเข้าถึงไตรสรณาคม การบวชแบบทุติยกรรมอุปสัมปทา และญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ก็เป็นพิธีกรรม มีในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่) ท่านจะแสดงแต่แก่นธรรม พาคนไปนิพพานทางลัด โดยไม่ต้องอาศัยพิธีกรรม ใช่ครับ..ไม่ต้องรับศีลห้าจากพระ ก็มีศีลได้ ไม่ต้องกราบไหว้พระก็เข้าถึงพระรัตนไตรได้ คืออะไรๆ ก็อยู่ที่ใจ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง
พิธีบางอย่างก็ยืดเยื้อเสียเวลา การทำบุญบางแห่งชาวบ้านสวดมากกว่าพระเสียอีก พระเห็นโยมสวดนานแล้ว ท่านก็เกรงว่าสวดเยอะๆ อีกก็จะไม่ทันฉันเพล ท่านจึงสวดถวายพรพระ อิติปิโส ฯลฯ พาหุง มหาการุณิโก ภวตุสัพพทาฯ ยถาวารี วะหน ฉันหลายคน (องค์) ยถาคนเดียว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ
แต่สำหรับผมแล้ว แบบแผนระเบียบปฏิบัติเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ดุจดังร้อยมาลาหลากสีให้งดงาม เพิ่มความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ ขอให้ทำให้ถูกจริงๆ อย่าสักกะว่าทำ หรือทำตามๆ กันมา ทำพร่ำเพรื่อยืดเยื้อเสียเวลา แทนที่จะเกิดศรัทธาก็ทำให้เบื่อหน่าย เหมือนเห็นยาขม
ชาวพุทธเรามีเรื่องถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เช่น การจุดธูปเทียน ที่ถูกต้องควรจุดอะไรก่อน บางคนบอกว่าต้องจุดธูปก่อน บางคนบอกว่าต้องจุดเทียนก่อน และการจุดธูปเทียนควรจุดข้างไหนก่อน ขวาหรือซ้าย บางคนบอกว่าจุดซ้ายมือก่อน บางคนก็ว่าจุดขวามือก่อน อย่างไหนถึงจะถูกต้องกันแน่ ท่านผู้เฒ่าหัวใจสะออน เคยเป็นมรรคนายกวัดมาก่อน ช่วยแสดงนอกธรรมาสน์หน่อยเถอะ
อันนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตก เหมือนกับปัญหาที่ว่า ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไข่ ถ้าถือเอาขนาดนี้มันก็เป็นปัญหาละครับ สำหรับผมนั้น จุดเทียนก่อนก็ดี เพราะจะได้จุดธูปง่ายขึ้น และถ้าคิดว่าการจุดเทียนก่อน เป็นการข้ามหน้าข้ามตาพระพุทธเจ้า ไม่เคารพพระองค์ ก็คิดเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์เองก็ให้ความเคารพต่อพระธรรมเช่นกัน จะจุดข้างไหนก่อนดี จุดข้างไหนก็ได้ ไม่ว่ากัน จุดให้ติดก็แล้วกัน เป็นใช้ได้ เป็นไงตอบแบบกำปั้นทุบดิน ฮาฮาฮา (ทุบตรงไหนก็ถูกไม่มีผิด) ถ้าถือเคร่งครัดไปก็จะเป็นการงมงาย ไม่ได้สาระจากพิธีกรรม ควรเอาเจตนาในขณะนั้นว่า เรารำลึกถึงพระรัตนตรัย อันเป็นวัตถุประสงค์ของชาวพุทธจะดีกว่า
หมดเรื่องจุดธูปเทียนก็มีอีกแล้วครับพี่น้อง เรื่องการกราบพระ กราบแบบไหนจึงจะถูกต้อง กราบเอามือซ้ายลงก่อน หรือเอามือขวาลงก่อน กลุ้มละครับท่าน สมัยก่อนบวช ผมก็กราบประหลกๆ กราบไม่เป็นเหมือนกัน พ่อกับแม่พาไปฝากตัวเป็นนาค ฝึกขานนาคก่อนบวช หลวงพ่อที่วัดฝึกเข้มทุกวัน สอนกราบให้ถูกต้อง ท่านเกรงว่าจะอายพระอุปัชฌาย์ว่าสอนนาคไม่เป็น ท่านสอนให้ผมกราบ นั่งท่าเทพบุตร เริ่มจากนั่งคุกเข่าประณมมือ เรียกว่ากระพุ่มอัญชลีไว้ระหว่างอก ก้มกราบลงพร้อมกัน ศอกทั้งสองจรดหัวเข่า และก้มศีรษะหน้าผากจรดกับหว่างมือทั้งสอง อย่างนี้เรียกว่า การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ประกอบด้วยองค์ห้าคือ ฝ่ามือทั้งสอง ศอกทั้งสองชนเข่า และหน้าผาก ส่วนผู้หญิงก็นั่งท่าเทพธิดา คุกเข่าพับส้นเท้า อย่างอื่นก็เหมือนกัน ลองทำดู ประณีตงดงามมากครับ
พูดเรื่องนี้แล้วก็มีเรื่องต้องนินทากันนิดหน่อยพอหอมปากหอมคอ บางคนกราบพระโดยเฉพาะโยมสีกานะครับ กราบแบบประหยัดพลังงาน คือกระพุ่มมือกราบลงไปครั้งเดียวกางมือแผลบๆ สามครั้งจบ โดยไม่ก้มครั้งที่สองที่สาม ลองนึกดูซิจำได้ไหมว่าเคยทำอย่างนี้หรือเปล่า บางคนหนักกว่านี้ เดินเข้าเขตอาวาสเข้าโบสถ์หรือขึ้นกุฏิพระแล้วถอดรองเท้าแล้วหิ้วไป พอเจอพระ แม่เจ้าประคุณเอ๊ย ไม่ทราบหรือว่าลืมกันแน่..นมัสการเจ้าค่ะท่าน อุแม่เจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธัมโม สังโฆ พระท่านก็เจริญพรแบบไม่ถือสา โยมอาตมาไม่รับหรอกส้นสูงนะ เกรงว่าใส่แล้วจะล้มน่ะ.. ไม่ต้องรีบครับ ท่านรอรับอัญชลีจากโยมอยู่แล้ว วางรองเท้าให้เรียบร้อยก่อน เจอลูกเล่นอย่างนี้ พระบางรูปท่านก็เจริญพรไม่ออก เขินไปเลย ทีหลังอย่าทำ ทีหลังอย่าทำ แทนที่จะเป็นมงคล กลายเป็นอัปมงคลเสียเลย ฮาฮาฮา
เข้าวัดต้องไหว้ใครก่อน ต้องรู้ด้วยว่าใครเป็นใหญ่ในวัด พระประธานในโบสถ์ในวิหารซิครับ ใหญ่กว่าเจ้าอาวาส กราบพระประธานสามครั้งก่อน แล้วจึงกราบพระสงฆ์ แต่ถ้าพบพระสงฆ์ก่อนระหว่างทาง (ในวัด) ก็ยืนประณมมือไหว้สักครั้ง บางคนมีวิตกจริต เขาบอกให้ไหว้พระประธานก่อนจึงจะถูก อิฉัน.. ต้องไปกราบพระประธานก่อน จึงวิ่งย้อนมาไหว้พระสงฆ์ อย่างนี้ก็เถรตรงเกินไป พบพระสงฆ์องค์เณร ที่ไหนไหว้ก่อนเลย เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพ
สำหรับท่านที่ต้องการปฏิบัติให้ถูกต้อง จะได้ไม่เสียชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของ “ผู้เฒ่าหัวใจสะออน” เผอิญผมได้อ่านพบใน Facebook ก็เอามาฝากกัน จะได้เลิกเถียงกันเสียที
ความหมายของ ดอกไม้ ธูป เทียน ที่เราใช้บูชาพระกันทุกวันนี้ ดังนี้
-ธูป ๓ ดอก สื่อความหมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการคือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ
-เทียน ๒ เล่ม สื่อความหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้แก่ พระธรรม และ พระวินัย
-ดอกไม้ สื่อความหมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมาจากหลายตระกูล ต่างวรรณะ เชื้อชาติ ต่างชนชั้นมาอยู่ในพระธรรมวินัยเดียวกันจึงสวยงามเหมือนดอกไม้ต่างๆ
-แจกันใส่ดอกไม้ หมายถึง อารามซึ่งเป็นที่รวมแห่งบรรดาพระสงฆ์
สรุปความหมายของเทียน ธูป และดอกไม้-ธูป ๓ ดอก ที่จุดบูชานั้น หมายถึงพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ คือ
๑.พระปัญญาคุณ (ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครสอน)
๒.พระบริสุทธิคุณ (ความบริสุทธิ์หมดจดสิ้นจากราคะ โทสะ และโมหะ)
๓.พระมหากรุณาคุณ (มีเมตตาสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง)
-เทียน ๒ เล่ม หมายถึงจุดเพื่อบูชาคุณของศีลและธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา ที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยปัญญาของพระองค์เอง
๑.เทียนเล่มซ้ายมือผู้จุด หมายถึงพระวินัยคือศีลทั้งหมด
๒.เทียนเล่มขวามือผู้จุด หมายถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วทรงสั่งสอนหมู่มนุษย์ และเทวดาให้มีจิตใจอ่อนโยน
เวลาจุดเทียนต้องจุดเล่มซ้ายมือของเราก่อน เพราะหมายถึง ศีลซึ่งกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ปรกติเมื่อจะทำบุญใดๆ (ทำความดี) ก็ตามเราจะต้องรับศีลก่อนเสมอ เพราะการรับศีลคือการชำระจิตของตนให้ผ่องใส
การจุดเทียนเล่มขวามือของเรานั้น หมายถึงพระธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด และรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมิให้ตกไปทางที่ชั่ว
ดอกไม้ที่นำมาบูชาพระบนโต๊ะหมู่นั้น หมายถึงพระสงฆ์ที่ท่านออกจากบ้านเรือนมาบวชแล้วตั้งอยู่ในศีลธรรม ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์ และพระกัลยาณะ สมมติสงฆ์ เมื่อเราทราบความหมายดังนี้แล้ว จึงควรที่เราทั้งหลายมาช่วยกันรักษาและกราบไหว้ให้ถูกต้อง และสั่งสอนบุตรหลานทั้งหลายให้เขาเข้าใจในความหมายเหล่านี้ เมื่อเขาเข้าใจดีแล้ว ก็จะได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ชมรมธรรมะในสวนเบญจศิริ Cr.oknation.net และผมมีข้อคิดก่อนจากกัน จำมาจากคำสอนหลวงพ่อพุทธทาสว่า.. ไหว้พระพุทธ..อย่าถูกทองคำ ไหว้พระธรรม..อย่าถูกใบลาน ไหว้พระสงฆ์..อย่าถูกลูกหลาน พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ