ศีลอุโบสถ ของเก่าที่เรา (เกือบ) ลืม

สวัสดีครับแฟนานุแฟน “ลำนำชีวิต” ผมได้เสนอเรื่องพิธีกรรมทางศาสนามาสองสัปดาห์แล้ว ฉบับนี้จะอัพเกรดท่านผู้อ่านจากเรื่องบุญพิธีขั้นพื้นฐาน มาเป็นเข้าวัดรักษาศีลปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นบุญอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ที่นิยมทำกันในช่วงเข้าพรรษาเรียกว่า อุโบสถศีล หลายท่านคงจะบอกกว่า มันจะยากเย็นอะไรล่ะ..ผู้เฒ่าเอ๋ย ก็นิมนต์หลวงพ่อท่านไปให้ศีลเราในโบสถ์ เท่านี้ก็ได้ชื่อว่า อุโบสถศีลแล้ว ฮาฮา.. ขำไม่ออกครับ จั๊งซี่..มันต้องถอน จั๊งซี่..มันต้องถอน !!

สมัยเด็กๆ ผมตามคุณยายเข้าวัดทุกวันพระในเทศกาลเข้าพรรษา คุณยายไปถือศีลอุโบสถ ผมก็อยู่เป็นลูกศิษย์พระนอนศาลาวัด และได้อาศัยกินขนมหวานที่ชอบที่ถูกใจ การที่เห็นแก่กินตามประสาเด็ก ได้ซึมซับเอาศีลธรรมไว้ในตนตั้งแต่นั้นมา

คำว่า ศีลอุโบสถ ต่างจากคำว่า อุโบสถ หรือ โบสถ์ อันเป็นศาสนสถานที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธปฏิมากร) ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นเขตพุทธาวาส แต่ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกา ทั่วไป มิใช่ สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระอนาคามี

โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลตั้งแต่เช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า “ปกติอุโบสถ” และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า “ปฏิชาครอุโบสถ” ปฏิชาครอุโบสถ คือเริ่มสมาทานศีลและรักษาอุโบสถศีลตั้งวันขึ้น/แรม 7 ค่ำ 8 ค่ำ และกลับบ้านเช้าวัน 9 ค่ำ อุโบสถศีลก็คือศีลแปดนั่นเอง แต่การสมาทานขอศีลต่างกัน ถ้าขอสมาทานศีล 8 เวลาจะเลิกจะต้องขอลา(สิกขา) จากพระและรีบศีล 5 แทน และไม่จำเป็นต้องเป็นวันพระ วันไหนๆ ก็ถือได้ แต่ศีลอุโบสถมีแค่วันหนึ่งคืนหนึ่งช่วงวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ รุ่งขึ้นอีกวันก็หมดไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องบอกคืน (ลาสิก) และถ้าไม่มีโอกาสไปวัด เราก็ตั้งเจตนาวิรัติที่บ้านก็ได้ และตั้งใจปฏิบัติตามข้อห้าม ไหว้พระสวดทำสมาธิที่บ้าน บอกลูกหลานอย่าได้ส่งเสียงรบกวน หรือเรียกกินข้าวเย็น (เด็กหัวโจกบางคนทะลึ่งๆ มันก็จะล้อเลียนว่า ข้าวร้อนๆ ครับยาย ไม่ใช่ข้าวเย็น ไม่ผิดศีล หุหุ ) ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง เจตนาเช่นนี้ก็จัดว่าเป็น “ศีล”ได้เหมือนกัน พอถึงวันพระ อุบาสกอุบาสิกาก็นุ่งขาวห่มขาวมีศรัทธาไปวัดแต่เช้า ไหว้พระสวดมนต์และขอสมาทาน อุโบสถศีลจากพระโดยเปล่งวาว่า..

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ (ว่า 3 ครั้ง) (กรณี ว่าคนเดียวให้เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง ,ยาจามะ เป็น ยาจามิ)

ว่านะโม 3 จบตามพระ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (ทุติยัมปิ แม้ครั้งที่ 2 ตติยัมปิ แม้ครั้งที่ 3) และสมาทานศีล 8 กับพระโดยว่าตาม

1. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการฆ่าสัตว์

2. อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้

3. อะพัรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ (ผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ใกล้กันไม่ได้ แต่ศีล 5 อยู่ใกล้กันได้)

4. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

5. สุราเมรยมัชฺชะปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

6. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงวันใหม่)

7. นัจฺจะคีตวาทิตวิสูกทัสฺสนา มาลาคันฺธวิเลปนธารณะมัณฺฑนวิภูสนัฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม

8. อุจฺจาสะยะนะมหาสยะนา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ : เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี

(พระนำ) อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิข้าพเจ้าสมาทานอุโบสถที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ดังได้สมทานมาแล้วนี้ จะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทำลาย วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ณ เวลานี้

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ อัชเชกัง รัตตินทิวัง อุโปสะถะวะเสนะ สาธุกัง รักขิตัพพานิ (รับว่า... อามะภันเต) (รับว่า... สาธุ)

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีลกับศีล 8

1. อุโบสถศีล กับ ศีล 8 มีข้อห้าม 8 ข้อเหมือนกัน

2. คำอาราธนา (ขอศีล) แตกต่างกัน

3. อุโบสถศีล มีวันพระเป็นแดนเกิด สมาทานรักษาได้เฉพาะ วันพระเท่านั้น ส่วนศีล 8 สมาทานรักษาได้ทุกวัน

4. อุโบสถศีล มีอายุ 24 ชั่วโมง (วันหนึ่งคืนหนึ่ง) ส่วนศีล 8 ไม่มีกำหนดอายุในการรักษา

5. อุโบสถศีล เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน หรือเป็นศีล ของชาวบ้านผู้บริโภคกาม (กามโภคี) ส่วนศีล 8 เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ไม่ครองเรือน เช่น แม่ชี

ข้อห้ามศีลอุโบสถ ข้อ 1,2,4,5 เหมือนศีล 5 ทุกประการ ศีลข้อ 3 อะพรหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์) คือ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ จับมือถือแขนได้ แต่ห้ามเล้าโลม กอดจูบศีลยังไม่ขาด แต่ศีลด่างพร้อย

ศีลข้อ 6 วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้น จากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล) คือหลังเที่ยงจนถึงรุ่งอรุณ คือ แสงอาทิตย์ส่องเห็นลายมือ หรือแสงส่องใบไม้เป็นสีเขียวแล้ว จึงรับประทานอาหารได้

สิ่งที่รับประทานได้หลังเที่ยงวันไปแล้ว

-ยารักษาโรคทุกชนิด
-เภสัชทั้ง 5 มีเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน
-น้ำตาลทุกชนิด น้ำอัดลม
-น้ำปานะ คือน้ำผลไม้ที่คั้นแล้วกรองแล้วไม่มีกาก คั้นกรองจากผลไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม

ศีลข้อ 7 นัจจะคีตะวาทิตะวิสุกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะ มัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ)

-นัจจะคีตะวาทิตะวิสุกะทัสสะนา คือ เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรี ดูกีฬา การละเล่น ละคร โขน หนังต่างๆ

-มาลาคันธะ วิเลปะนะ ธาระณะมัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา คือ เว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ เช่นสร้อยคอประดับ สร้อยข้อมือแหวน ต่างหู ผ้าชายครุย ดอกไม้ ของหอม เครื่องทาผิวเครื่องย้อมขัดผิวให้งาม

ศีลข้อ 8 อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการนั่งหรือนอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่)

-ที่นอนสูง คือ เตียงหรือตั่งที่ขาเตียงหรือตั่งสูงเกิน 8 นิ้วพระสุคต (นิ้วของพระพุทธเจ้า) ประมาณ 10 นิ้ว 3 กระเบียด (มาตราช่างไม้ไทย 4 กระเบียดเท่ากับ 1 นิ้ว)

ศีลทุกประเภทที่บุคคลรักษาด้วยจิตศรัทธา จะด้วยการสมาทาน หรือการงดเว้นเฉพาะหน้าก็ตาม ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก เพราะศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์ สร้างความเสมอภาค และสร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ได้

ศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์แก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่นางวิสาขา ในวิสาขาสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า

“ดูก่อนวิสาขา อุโบสถประกอบด้วยองค์ 8 ประการ อันบุคคลเข้าจำแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีผลมาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก ดูก่อนวิสาขา การที่สตรี หรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ หลังจากเขาแตกกายทำลายขันธ์แล้ว พึงได้อยู่ร่วมกับชาวสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ข้อนั้นย่อมเป็นไปได้แน่นอน”

ท่านที่ตั้งใจเข้าวัดแล้วก็ควรปฏิบัติให้เคร่งครัดจริงจัง จะได้เกิดอานิสงส์ ไม่เสียเวลาเปล่า อย่าเพียงแต่ทำเป็นธรรมเนียมประเพณี หรือทำตามแฟชั่น อย่างบวชชีพราหมณ์ บวชเนกขัมมะ ในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา หรือบวชข้ามปี ช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ก่อนสมาทานศีล ก็ต้องดูกายให้สะอาด ไม่ใช่ขาวแต่เสื้อผ้า อุแม่เจ้า อุแม่เจ้า !! บางคนทาลิปสติกปากแดง เล็บมือเล็บเท้าแดง ใส่น้ำหอม ทาโลชั่น เมคอัพหน้า ใส่เครื่องประดับ สร้อยคอ แหวนเพชร ไม่ถูกต้องทั้งนั้น ต้องจัดการเอาออกก่อน และการพูดจาก็ต้องสำรวม ประเภทเมาท์กันต่อมน้ำลายแตกกระจาย ก็ใช้ไม่ได้ ต้องตั้งใจเพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง หัดทำให้เป็นนิสัย ท่านบอกว่าครั้งแรกเราต้องรักษาศีลก่อน เมื่อปฏิบัติจนเกิดความเคยชินแล้ว ศีลจะรักษาเราเอง ก็จะไม่ละเมิดศีลทางกายวาจา เวลามีอะไรมากระทบ เราจะมีสติรู้เท่าทัน นั่นแสดงว่ากายวาจาเรามีศีลคอยกำกับแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้นแก่เราในที่ทุกสถานในการทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้ หรือว่าละจากโลกนี้ไป เพราะ “ศีลและธรรม” เป็นอริยทัพย์ คือทรัพย์ภายใน


ขอให้มีความสุขทุกท่าน พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ