ฟื้นความหลัง กระยาสารท วันสารทไทย

สวัสดีครับแฟนานุแฟนที่รัก ลำนำชีวิตฉบับนี้ผมขอฟื้นความหลังด้วยเรื่องวันสารทไทย สืบเนื่องมาจากได้รับข่าวบุญจากทางวัดว่าได้จัดงานทำบุญ วันสารทไทยในเดือนนี้ อุแม่เจ้า !! ทำให้ปิ๊งไอเดีย..ฟื้นความจำเมื่อวัยละอ่อน มาเล่าสู่กันฟัง

พระยาอนุมานราชธน (เสฐียร โกเศศ) ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “สารท” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ฤดู” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ออทั่ม” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บ เกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น

ประเพณีวันสารทไทยตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ทางจันทรคติของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 การทำบุญวันสารทก็เพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มี บิดามารดาปู่ย่าตายาย เป็นต้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที ประเพณีวันสารทในแต่ละภาคมีชื่อเรียกต่างกัน

ภาคกลาง สารทไทย

ภาคเหนือ ตานก๋วยสลาก หรือทานสลากภัตร

ภาคอีสาน บุญข้าวสาก หรือบุญข้าวประดับดิน

ภาคใต้ งานบุญเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต

แม้จะมีชื่อต่างกันแต่มีวัตถุประสงค์และความหมายเดียวกัน คือการอุทิศกุผลบุญให้เปตชน (ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว)

ผมจะกล่าวถึงประเพณีวันสารทภาคกลาง ที่พูดอย่างนี้อย่าว่าเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะผมเป็นเด็กที่เติบโตในครอบครัวชนบทภาคกลางย่อมคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีภาคกลางมากว่า ผมจำได้ว่าเมื่อใกล้ถึงวันสารทไทย พ่อผมจะตัดกล้วยไข่กะว่าให้กล้วยสุกพอดีกับวันสารท ส่วนแม่ผมก็จะสาละวนเตรียมกวนกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมที่นิยมทำกันในวันสารท ถือว่าเป็นพระเอกของงาน เครื่องปรุงที่ต้องตระเตรียมก็คือ ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วลิสง งา น้ำตาล กะทิ และแบะแซคืซึ่งหาซื้อได้ในท้องตลาด ผมถามแม่ว่าทำไมต้องใส่แบะแซ แม่ตอบว่า เพราะกันน้ำตาลตกทราย แบะแซจะทำให้เนื้อขนมเกาะติดกันเหนียวนุ่ม ผมก็จำมาตั้งแต่นั้น

เผื่อจะมีคำถาม ก็ขอตอบเลยครับ แบะแซคือ Glucose Syrup หรือกลูโคสก้อน เป็นสารโมเลกุล (โพลีแซคคาไรด์ ย่อยจากแป้งด้วยกรดจนมีสายสั้นลง แต่ไม่ถึงกับเป็นน้ำตาล)

การกวนกระยาสารทเป็นงานใหญ่ ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ ถ้าทำกันในครอบครัว พี่น้องลูกหลานต้องช่วยกันทำ ตั้งแต่ขูดมะพร้าวคั้นกะทิ ตั้งกระทะใบบัวใบใหญ่กลางลานบ้าน ถ้าไม่มีเตาใหญ่ ต้องขุดเตาดินมีปล่องออกข้างๆ สองปล่องสำหรับใส่ฟืน และระบายควัน หรือไม่ต้องหาก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ขนาดเท่ากันสามก้อนมาวางเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อทำเป็นเตาวางกระทะ จากนั้นก็เคี่ยวกะทิและน้ำตาลให้เข้ากันชิมรสชาติให้หวานมันพอดีเติมแบะแซ พอน้ำตาลเหนียวได้ที่ก็ใส่ข้าวเม่า (ที่คั่วพอหอม) ข้าวตอก ถั่วลิสง ถ้าบ้านเราสมัยนั้นมี Almond, pine nut ใส่ด้วยก็คงไม่น่าจะผิดสูตร คงจะเพิ่มรสชาติความอร่อยอีกไม่น้อย

คุณแม่ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมมองดูลูกหลานช่วยกันจ้ำช่วยกันพาย กวนขนมด้วยสายตาที่ชื่นชมยินดีเปี่ยมด้วยความสุข พวกเราก็สนุกสนานไม่เหน็ดเหนื่อย พ่อไปหาไม้ไผ่ลำเล็กๆ มาทำเป็นพาย ลูกหลานห้าหกคนยืนล้อมผลัดกันคนกระทะ คนละมือคนละไม้ ไม่นานกระยาสารทก็ได้ที่ ผมก็เอาเศษที่ติดปลายไม้พายเข้าปากชิม อุแม่เอ๋ย !! รสชาติหวานมันเหนียวนุ่มชุ่มลิ้น ใช้ได้ๆ แล้วครับแม่ เอ้า !! ลองชิมกันดู ไม่ต้องเตือนกันเป็นรอบสอง ทุกคนทำตามอย่างว่าง่าย แม่ก็จะบอกให้เอากระด้งหรือถาดใบใหญ่ๆ ที่เตรียมไว้ ตักกระยาสารทในกระทะลงไป เอาขวดน้ำปลาที่แกะตรากระดาษออกแล้วล้างให้สะอาด มากดๆ คลึงๆ ให้ทั่วเป็นแผ่นบางๆ ขนาดพอเหมาะ โรยงาดำลงไป เอาขวดกดไล้แผ่วๆ อีกครั้ง ทิ้งไว้สักครู่พอเนื้อกระยาสารทเย็นได้ที่ ก็ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่พอกัดกินสักสองสามคำ แม่จะทำอย่างประณีตบรรจง เก็บใส่ถุงพลาสติกหรือใส่กล่องเก็บไว้อย่าให้อากาศเข้าได้ ถ้าเจอความชื้นแล้วจะไม่กรอบ หมดความอร่อย แบ่งส่วนหนึ่งเอาไว้ทำบุญ ส่วนที่เหลือตามขอบถาดหรือขอบกระด้งเป็นเศษ แม่ก็จะแจกจ่ายให้กินกัน พ่อก็จะแซวว่า.. “ช่างทอหูก นุ่งผ้าขี้ปะ” ทำนองว่าคนทอผ้า แต่ต้องใส่ผ้าขาดปุปะ แม่ก็จะบอกว่า ของทำบุญต้องคัดสรรให้ดีๆ จะได้ผลานิสงส์มากๆ ทุกคนก็จะสาธุๆ ดีแล้วเจ้าข้า

ที่บ้านจะกวนกระยาสารทครั้งละสองสามกระทะ นอกจากจะเก็บไว้กินแล้วก็จะต้องมีแจกจ่ายให้ญาติมิตรและเพื่อนบ้าน และเช่นเดียวกันเพื่อนบ้านที่ทำกระยาสารท ก็จำนำมาแจกจ่ายให้กินกัน เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ไม่มีการเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่าอร่อยกว่ากัน ส่วนที่บ้านผมนั้นจะมีพิเศษกว่าที่อื่น เราจะแจกกล้วยไข่เป็นเครื่องเคียงไปกับกระยาสารท เพราะเรามีสวนกล้วยเอง นี้คือน้ำใจเป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านนอก ซึ่งซื้อหาไม่ได้ ผมกลับไปเที่ยวบ้านนอกเดี๋ยวนี้หาแทบไม่เจอแล้ว เพราะสังคมชนบทเจริญเทียบเท่าสังคมเมือง คนทิ้งวัฒนธรรมมาเห่อมือถือ เห่อไอแพท กระยาสารทขนมที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน กลายเป็นขนมอุตสาหกรรมผลิตกันในโรงงาน แพ๊คขายกันตลอดทั้งปี กินได้อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง แต่สิ่งที่ขาดไปคือกลิ่นอายของวัฒนธรรมอันดีงามของถิ่นฐานชนบทไทย กัดกระยาสารทของแม่คำหนึ่ง ไม่ใช่จะได้แต่เพียงความอร่อยของกระยาสารท แต่ได้รสชาติที่อบอวลไปด้วยความรักความสามัคคี ของเหล่าพี่น้องและมวลมิตร

พอถึงฤดูสารท ผมก็จะคิดถึงจังหวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือตอนใต้คือจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีคำขวัญว่า กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ หนึ่งในคำขวัญคือกล้วยไข่ กล้วยไข่ปลูกที่ไหนก็สู้กำแพงเพชรไม่ได้ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจมีมูลค่าซื้อขายและส่งออกระดับร้อยล้าน ไม่ธรรมดา เมื่อดังขนาดนี้แน่นอนครับ ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีประกวดกล้วยไข่ ประกวดเทพีสาวงามกล้วยไข่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษารายได้เอาไว้เลี้ยงชาวกำแพงเพชรให้ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา และเดี๋ยวนี้ได้รวมเอาวันสารทไทยเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา จึงได้จัดงาน วันสารทไทยกล้วยไข่กำแพงเพชร เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่ง สนับสนุนส่งเสริมโดย ททท. ก็ควรไปเที่ยวกันอยู่ระหว่างปลายเดือนกันยายน ได้กินกระยาสารทกับกล้วยไข่ ได้ชมโฉมธิดากล้วยไข่ ก็เกินคุ้ม

กระยาสารทขนมพื้นบ้านราคาถูก อุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารมีวิตามินและโปรตีน ได้กล้วยไข่เป็นเครื่องเคียง ก็เหมือนขนมจีนคู่น้ำยา หรือเจ้าเงาะคู่รจนาปานนั้น อร่อยโลดถึงไหนถึงกัน ตามตำนานในนิราศเดือนของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ก็กล่าวถึงกระยาสารทกับกล้วยไข่เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ถึงเดือนสิบเห็นกันในวันสารท ได้อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านพร้อมหน้าสาธารณะ
เจ้างามชมห่มสีชุลีนบ แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะ
หยิบข้าวของกระยาสารทอังคาสพระ ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือนฯ


คิดว่า..วันหนึ่งผมคงมีโอกาสฟื้นความหลังให้ทางวัดเชิญชวน จัดงานรวมพลกวนกระยาสารท เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านของไทยเอาไว้ เหมือนงานกวนข้าวทิพย์ ข้าวมธุปายาส เรื่องกระยาสารทนี้ ผมยังจำรสมือของคุณแม่ผมได้ดี จะจัดให้เต็มสูตร รับรองว่า เชลล์ต้องบินมาชิมแน่นอน ครับผม !