ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต ตอนที่ 4 วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนา เมื่อเอ่ยถึงคำ ๆ นี้ขึ้นมา คงจะมีหลาย ๆ คนเมินหน้าหนี หรือรีบพลิกหนังสือพิมพ์ไปหน้าอื่นทันที เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า คำ ๆ นี้ หรือการกระทำแบบนี้ไม่เหมาะกับเราอย่างแน่นอน เราเป็นแค่สามัญชนคนเดินดินธรรมดา ๆ ยังมีภาระหน้าที่ มีลูก มีหลาน มีสามี/ภรรยาที่ต้องเลี้ยงดูและต้องปรนนิบัติ การวิปัสสนาจึงเป็นของสูงสมควรแก่การบูชา มันเป็นสมบัติของสงฆ์ เป็นสิ่งที่พระสงฆ์เขาทำกัน หากคนธรรมดาจะวิปัสสนาก็จะต้องละทิ้งทางโลก นุ่งขาวห่มขาว ถวายตนอยู่ในวัดกับพระกับเณรโน่นแน่ะ อย่าเอามาพูดเป็นเล่นเดี๋ยวจะเป็นบาป

หากคุณคิดแบบนี้แล้วล่ะก็ ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิดถนัดและไม่ต้องตกใจว่าผิดอยู่คนเดียวดอกนะ เพราะคนส่วนใหญ่ก็คิดกันแบบนี้ จึงเมินเฉยกับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงแต่จะมุ่งไปที่การทำบุญ สร้างวัดวาอาราม สร้างพระพุทธรูปกันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพียงแต่ว่าวัดวาอารามนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทุกหัวระแหง เกินความพอดี วัดบางวัดก็แทบร้างเพราะไม่มีพระสงฆ์มาจำพรรษา เนื่องจากมีวัดตัวเลือกที่ดีกว่ามากมาย

อีกทั้งการสร้างวัดไม่ว่าจะเป็นการสร้างใหม่ หรือการต่อเติมอาคารภายในวัดก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก คนมีเงินก็สามารถควักเงินจำนวนเยอะ ๆ เพื่อแข่งกันสร้างวัดที่ใหญ่ที่สุด ที่สวยที่สุด เพื่อหวังสะสมบุญบารมี แต่ท่านทั้งหลายลืมคิดไปว่า วัดเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์มาบำเพ็ญเพียร เพื่อละทางโลก เพื่อละกิเลส ไม่ใช่เพิ่มกิเลสให้กับพระ ส่วนคนจนก็น้อยเนื้อต่ำใจ เนื่องจากไม่มีเงินไม่มีทองเพื่อบริจาคครั้งละมาก ๆ ก็จะกลัวไปว่าตายไปก็จะไม่ได้ไปสวรรค์ นิพพานเหมือนกับคนอื่น ๆ เมื่อคนส่วนใหญ่คิดกันแบบนี้ คำว่าวิปัสสนา จึงเป็นอะไรที่ไกลเกินที่จะเอื้อมได้ถึงจริง ๆ

การสระสมบุญบารมีนั้นสามารถทำได้หลายทาง การทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ ผลบุญที่ได้ก็ไม่เท่ากัน ทั้งการทำบุญทำทาน ตักบาตร สร้างวัด สร้างกุฏิพระ สร้างพระประธานซึ่งผู้กระทำก็จะได้รับผลบุญที่จำนวนมากอย่างที่หวังเอาไว้ แต่ยังไม่หมดเท่านั้นยังมีการทำบุญที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่จะได้รับผลบุญมากกว่าการทำบุญประเภทอื่น ๆ อย่างประมาณค่าไม่ได้ นั่นคือ การถือศีล การทำสมาธิและวิปัสสนา นั่นเอง

ในบทนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะการทำวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ บรรลุธรรม รู้แจ้งโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและนำเอาการทำวิปัสสนากรรมฐานมาเผยแผ่ต่อสาวกของพระองค์ พระอรหันต์ในประเทศไทยก็นำเอาการทำวิปัสสนากรรมฐานนี้มาเป็นเครื่องพิจารณาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และถ่ายทอดประสบการณ์แก่พุทธศาสนิกชนมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียนขออธิบายคำว่า วิปัสสนาให้เข้าใจง่ายที่สุด ใช้ภาษาบ้าน ๆ ที่สุด เพื่อให้สามัญชนคนธรรมดาได้เข้าใจได้ง่าย คำว่าวิปัสสนาจึงหมายถึง การคิด พิจารณา วิเคราะห์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อย่างละเอียด รอบคอบ จนเกิดปัญญาหรือเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง จนต้องร้อง อ๋อ! มันคืออย่างนี้นี่เอง ทำไมมันเข้าใจอะไรได้ง่ายขนาดนี้ หรือจะเรียกว่า รู้แจ้งในธรรมก็ได้

ทีนี้ในการวิปัสสนานั้นทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่เลือกหัวข้อที่เราต้องการพิจารณาขึ้นมาสักหนึ่งข้อ เช่น หัวข้อกฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติเป็นกฎของทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตบนโลกนี้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่กฎไตรลักษณ์นี้ครอบคลุมค่อนข้างกว้าง เราจึงจำเป็นต้องแยกย่อยออกมาทีละจุด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจทีละเล็กละน้อย แต่เข้าใจได้อย่างถ่องแท้

กฎไตรลักษณ์แยกย่อยออกมาเป็น 3 ประการ คือ

อนิจจัง (ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง)

ทุกขัง (ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์)

อนัตตา (ทุกสิ่งอย่างไม่มีตัวไม่มีตน)

ในบทนี้ขอเลือกหัวข้ออนิจจังขึ้นมาพิจารณา คำว่าอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ที่ไม่เที่ยงเป็นเพราะไม่มีอะไรแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งอยู่ และดับสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่จะเลี่ยงอนิจจังได้เลย

มาถึงการเริ่มวิปัสสนา ในการวิปัสสนานั้นไม่มีรูปแบบตายตัวอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นทั้งสถานที่หรือเวลา เพราะการวิปัสสนาจะทำได้ดีเมื่อเราได้เห็นสิ่งนั้นด้วยตาเปล่าและนำมาคิดพิจารณา หรืออาจจะประสบกับอารมณ์เหล่านั้นและนำมาพิจารณาในทันที เช่น

ขณะกำลังรดน้ำต้นไม้ เราเห็นดอกไม้ดอกหนึ่งกำลังบานสะพรั่ง (ดอกไม้ดอกนั้นเกิดขึ้นแล้ว) วันรุ่งขึ้นดอกไม้ก็ยังเบ่งบานท้าทายฝูงผึ้งและแมลงต่าง ๆ (ตั้งอยู่) 2-3 วันต่อมา ดอกไม้ดอกนั้นก็เหี่ยวเฉาร่วงโรยไป (ดอกไม้นั้นก็ดับสลาย)

คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง (เกิดขึ้น) เราใช้ประโยชน์ของมัน (ตั้งอยู่) 3 ปีต่อมาก็พังไม่สามารถใช้งานได้อีก (คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นก็ดับสลาย)

ปากกาด้ามหนึ่ง (เกิดขึ้น) เราใช้ประโยชน์ของมัน (ตั้งอยู่) หมดน้ำหมึกหรือหัก (ปากกาด้ามนั้นดับสลาย)

บ้านหลังหนึ่ง (เกิดขึ้น) เป็นที่พักอาศัยให้คนหลายรุ่น (ตั้งอยู่) บ้านเก่าจนผุใช้งานไม่ได้ (บ้านหลังนั้นก็ดับสลาย)

กล้วยลูกนึง (เกิดขึ้น) เติบโตและสุกงอม (ตั้งอยู่) เด็กน้อยกินกล้วย (กล้วยนั้นดับสลาย)

รองเท้าคู่หนึ่ง (เกิดขึ้น) เราได้ใช้ประโยชน์จากมัน (ตั้งอยู่) รองเท้าขาด (ดับสลาย)

หนังสือเล่มหนึ่ง (เกิดขึ้น) เราได้อ่านหนังสือ (ตั้งอยู่) หนังสือขาด (ดับสลาย)

น้ำแก้วหนึ่ง (เกิดขึ้น) เราถือไว้ในมือ (ตั้งอยู่) เราดื่มจนหมดแก้ว (ดับสลาย)

ถนนสายหนึ่ง (เกิดขึ้น) เราได้ใช้ประโยชน์จากมัน (ตั้งอยู่) น้ำท่วมพัดพาถนนนั้นขาดหายไป (ดับสลาย)

ใบไม้ใบหนึ่ง (เกิดขึ้น) เขียวขจีอยู่บนต้น (ตั้งอยู่) ร่วงหล่นลงมา (ดับสลาย)

การมองเห็นและคิดตามความเปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านี้เรียกว่าการวิปัสสนา เมื่อเราเห็นสิ่งใดเกิดขึ้น ก็ระลึกถึงการเกิดของสิ่งนั้น เมื่อเราเห็นสิ่งใดที่ตั้งอยู่สามารถใช้งานตามหน้าที่ของมัน ก็ให้เราคิดตามว่ามันตั้งอยู่ เมื่อเราเห็นสิ่งใดที่ดับสลายลงก็ระลึกว่า อ้อ ของสิ่งนี้แสดงกฎไตรลักษณ์ในหัวข้ออนิจจังได้ครบถ้วนแล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมไว้แล้วจริง ๆ ทำให้การวิปัสสนาในขณะที่เรามองเห็นตามตัวอย่างนี้สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ากำลังขับรถ กำลังเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ทำงานนอกบ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ก็สามารถคิดพิจารณากฎไตรลักษณ์ได้ทั้งสิ้น

นอกจากการพิจารณาในสิ่งที่มองเห็นแล้วเรายังสามารถพิจารณาในสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้อีกด้วย เช่น

อารมณ์โกรธของเรา เกิดขึ้น มันตั้งอยู่สักพัก ไม่นานอารมณ์โกรธนั้นก็ดับสลายหายไป

ความสุข เกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ได้ขณะนึง ไม่นานมันก็จางหายหายไป

ความทุกข์ เกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ได้ขณะนึง ไม่นานความทุกข์นั้นก็หายไป

ความหิว เกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ได้ขณะนึง เมื่อเรากินอาหารเข้าไปความหิวนั้นก็หายไป

ความอิ่ม เกิดขึ้น อิ่มอยู่ได้สักพัก ไม่นานก็เริ่มหิวอีก แสดงว่าความอิ่มนั้นหายไปแล้ว

อาการปวด เกิดขึ้น มันก็ปวดอยู่สักระยะนึง ไม่นานมันก็จางหายไป

ยศถาบรรดาศักดิ์ เกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ ไม่ช้าไม่นานก็มีคนใหม่เข้ามาแทนที่

ปัญหา เกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ไม่นาน สุดท้ายก็คลี่คลายได้

การวิปัสสนาตามดูกฎไตรลักษณ์เหล่านี้ทำได้ไม่ยาก ไม่ได้เสียเวลาการใช้ชีวิตของเราแม้แต่วินาทีเดียว เพราะเราสามารถทำอย่างอื่นควบคู่ไปได้ แต่ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร หมั่นระลึกถึงกฎเหล่านี้ การกระทำลักษณะนี้จะช่วยให้เรามีสมาธิ มีสติในการใช้ชีวิต เพราะการคิด พิจารณาหรือการวิปัสสนานี้ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดที่ดีที่อยู่ในศีลในธรรม ไม่ทำให้เราเสียเวลาไปกับความคิดฟุ้งซ่าน หรือคิดร้าย ติฉิน นินทาผู้อื่นซึ่งไม่ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจเลย

การตามดูอารมณ์และพิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตนี้เป็นการพิจารณาวิปัสสนาที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราได้เห็นการเกิด ดับ ณ ขณะนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่จินตนาการ จิตของเราจะสัมผัสได้และหยั่งรากลึกลงทำให้ได้รับคำตอบในสิ่งที่ต้องการหาคำตอบ เกิดปัญญาในทางธรรมที่สามารถนำพาดวงจิตดวงน้อย ๆ ของเราให้หลุดพ้นจากเขาวงกตบนโลกมนุษย์ใบนี้ สู่ความว่างเปล่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีการ เกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้การวิปัสสนาจึงเป็นกรรมฐานขั้นสูงสูดเป็นธรรมขั้นสูงที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะปฏิบัติได้