ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต 6 ธรรมะกับชีวิต (คู่)

งานเลี้ยงฉลองการแต่งงานของคู่บ่าวสาว ได้จัดขึ้นอย่างหรูหรา แขกรับเชิญมีทั้งญาติมิตรและคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมที่ถูกเชิญมาร่วมสังสรรค์กันอย่างมีความสุข เหมือนกับการฉลองความสำเร็จบางอย่าง แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่างานแต่งงานนั้นไม่ได้ฉลองความสำเร็จแต่อย่างใดแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ของหนุ่มสาวเท่านั้น การใช้ชีวิตคู่ในแต่ละคู่นั้นก็แต่ละคนก็ต่างกันไป ไม่มีใครรับประกันได้ว่า คนสองคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนใหญ่มักจะมีความทุกข์ปะปนอยู่กับความสุขนั้นด้วย

เมื่อคนสองคนอาสาที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน อาสาที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน มีทายาทด้วยกัน เมื่ออาสาที่จะลงเรือลำเดียวด้วยกันแล้ว ก็จะต้องมีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน ต้องช่วยกันพายเรือออกไปให้ถึงฝั่ง แต่เมื่อพายเรือออกไปอยู่กลางลำน้ำ เจออุปสรรค ความเห็นแก่ตัวของคนจึงเกิดขึ้น ความเดือนร้อนก็จะตามมา เมื่อใครคนใดคนหนึ่งทนไม่ไหวต้องกระโดดออกจากเรือ ว่ายน้ำหนีไปคนเดียว คนที่ต้องทุกข์ทรมานนั้นไม่ใช่สามีหรือภรรยา แต่เป็นทายาทน้อย ๆ ของทั้งสองนั่นเอง

เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตคู่ให้ยืนยาวนั้นชายหญิงจึงต้องมีหลักธรรมประจำใจ เพื่อที่จะครองคู่กันได้ยืนยาว พระพุทธเจ้าจึงมีหลักธรรมของฆราวาสเอาไว้ 4 ข้อ คือ

1. สัจจะ แปลว่า การมีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน

2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต รักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลด ละกิเลสและรักษาสัจจะ

3. ขันติ แปลว่า อดทน อดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเลส

4. จาคะ แปลว่า เสียสละ

ธรรมะข้อที่ 1 สัจจะ หากใครมีธรรมข้อนี้ก็จะมีแต่คนนับหน้าถือตา มีคนเชื่อถือ การมีสัจจะให้กับคู่ชีวิตจะทำให้ชีวิตคู่ยืนยาว เพราะเมื่อตกลงปลงใจแต่งงานกันแล้ว เป็นการประกาศให้โลกได้รับรู้ว่าคนสองคนจะต้องสื่อสัตย์ต่อกันโดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ หากคนใดคนหนึ่งขาดสัจจะ มีปัญหาอื่น ๆ ก็จะตามมา เช่น เมื่อมีอาการหวาดระแวงต่อคู่กัน มีความน้อยเนื้อต่ำใจ มีความโกรธ พอมีปัญหาอื่นเข้ามาในชีวิตแม้แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ด้วยอาการหวาดระแวงแฝง ความโกรธแฝงอยู่แล้ว ทำให้ระเบิดออกมากับปัญหาแค่เล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น ทำให้ปัญหาเริ่มใหญ่ขึ้น ๆ การขาดสัจจะจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกร้าว

อานิสงค์ที่ได้จากการมีสัจจะ คือการปลูกฝังนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว เป็นคนหนักแน่น มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เนื่องจากมีคนเคารพยกย่อง ยำเกรง ได้รับความไว้ใจจากเพื่อนร่วมงานและลูกค้า

ธรรมะข้อที่ 2 ทมะ คือการรู้จักข่มจิต เพื่อรักษาใจตนเอง เพื่อรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับคู่ชีวิต ในปัจจุบันนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี ซึ่งมีสื่อต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดกิเลสในทุกรูปแบบสามารถเข้าถึงได้ง่ายดายแค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส เรียกได้ว่าไม่มียุคไหนที่จะมีสื่อมากระตุ้นกิเลสได้ง่ายดายเท่ายุคนี้นั้นไม่มี และจะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน ในอนาคตจะต้องมีอะไรที่ง่ายดายกว่านี้อีกมาก การมีทมะประจำใจ จะช่วยหล่อหลอมให้เรารู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง รักเดียวใจเดียว

อานิสงค์ที่ได้จากการมีทมะ คือ ปลูกฝังนิสัยการพัฒนาตนเอง รู้จักบังคับตนเอง ยับยั้งชั่งใจได้ มีปัญญาเป็นเลิศ

ธรรมะข้อที่ 3ขันติ คือความอดทนอดกลั้น อดกลั้นในทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างที่จะนำพาครอบครัวไปสู่จุดจบ ขันติจึงเป็นการรักษาใจตน ป้องกันใจตนไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ไม่พึงปรารถนา มีความหนักแน่น ไม่หวั่นไหว แต่ในการใช้ชีวิตคู่นั้นแน่นอนว่าจะต้องมีอะไรที่เกิดขึ้นและมารบกวนจิตใจ แต่การมีขันติจะช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปได้ การมีขันติในที่นี้คือจะต้องมี :-

1. ความอดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้ เช่น ยอมเลิกเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติดทั้งปวง เมื่อลด ละ เลิก ได้แล้วประโยชน์ที่ได้รับก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

- มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น มีเวลาเล่นกับลูกมากขึ้น มีเวลาพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เที่ยวสวนสาธารณะ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้อย่างสมวัย

- ลดความขัดแย้งภายในครอบครัว เพราะการดื่มเหล้ามักจะทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์รุนแรง ทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่าย อาจถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีความขัดแย้งลักษณะนี้จะทำให้เด็กมีปมด้วย และอาจจะสร้างปัญหาให้กับสร้างคมได้

- ช่วยประหยัดเงิน แน่นอนว่าเหล้า บุหรี่ไม่ใช่ของฟรีและไม่ใช่ของถูก หากตัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปก็จะทำให้มีฐานะทางการเงินคล่องตัว มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น

การอดทนต่อความชั่วร้ายไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่มีอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภยศ สรรเสริญ ถึงแม้จะมีลาภยศ สรรเสริญมาเป็นของล่อใจ แต่หากเรามีขันติ เราไม่ยอมทำผิดต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวต้องเดือนร้อนในวันข้างหน้าได้

2. อดทนทำความดีต่อไป ถึงแม้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครสรรเสริญ เยินยอ เพราะการทำความดีนั้นเราเห็นเอง รู้เอง เรามีความสุขเอง เมื่อคนเรามีความสุขก็มักจะนำความสุขนี้มาสู่ครอบครัวเสมอ

3. อดทนรักษาใจไม่ให้เศร้าหมอง แน่นอนว่าคนสองคนเมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้ว การกระทบกระทั่วย่อมเกิดขึ้นได้ การให้อภัยจะเป็นผลดีทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะผู้ให้จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้รับหลายเท่านัก เพราะผู้ให้จะมีความสุข ผ่อนคลาย เบาสบาย เนื่องจากอารมณ์โกรธนั้นเป็นเหมือนการจุดไฟเผาตัวเอง การมีอารมณ์โกรธเสมือนการถือถ่านไฟที่กำลังลุกโชนเอาไว้ในมือและหวังจะคว้างไปหาผู้อื่น แต่คว้างยังไงถ่านไฟนั้นก็ไม่ยอมหลุดมือ คนที่ปวดแสบ ปวดร้อนจากถ่านไฟนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน คือตัวเรานั่นเอง เราหวังจะทำร้ายคนอื่นด้วยการโกรธเขาไม่ได้ เป็นการทำโทษคนอื่นที่เบาปัญญายิ่งนัก ในขณะเดียวกัน การให้อภัยเขา เราให้สิ่งดี ๆ แก่เขา เขาจะได้รับบทเรียนเหล่านั้นหรือไม่นั้นไม่ต้องไปสนใจ แต่เราผู้ให้ เราได้รับของขวัญอันมีค่ามหาศาลมาเรียบร้อยแล้ว หากเราไม่ให้อภัย อาการโกรธนั้นก็จะลุกลามเผาบ้านเผาเรือน จนต้องแยกกันคนละทิศละทาง หากต้องทนอยู่ด้วยกันก็จะมีอาการซึมเศร้า เศร้าหมอง และเป็นมีผลต่อสุขภาพจิตที่รักษาได้ยากตามมา

4. อดทนต่อความยากลำบากของครอบครัว การสร้างครอบครัวใหม่นั้นอาจจะไม่ราบรื่นเหมือนทางเดินที่โปรยด้วยดอกกุหลาบในพิธีแต่งงาน แต่เป็นดอกกุหลาบนั้นก็เต็มไปด้วยหนามแหลม การอดทนที่จะต่อสู้ไปด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน เป็นสิ่งที่ชีวิตคู่จะต้องมี

5. อดทนต่อกิเลส การตามกระแสโลก การอยากได้ อยากมี อยากเป็นเหมือนคนอื่นจะนำพามาถึงความเดือนร้อนของครอบครัวได้

อานิสงค์ของการมีขันติ คือการมีความอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรอบคอบ เป็นผู้นำได้ดี ไม่หลงผิดไปทำชั่วเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภยศและสรรเสริญ

ธรรมะข้อที่ 4 จาคะ การเสียสละ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละความสุขส่วนตัวให้ครอบครัวและผู้อื่น การเสียสละให้ผู้อื่น คือการบริจาคทาน การแบ่งปันสิ่งของเหลือใช้หรือการช่วยเหลือทั้งแรงกายและใจ การเสียสละความสุขส่วนตนให้คนในครอบครัวให้ลูกอันเป็นที่รัก คือการแบ่งเวลาจากที่เคยไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนมาเป็นการให้เวลากับลูกและคู่ครอง ใช้เวลาเหล่านั้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วยตัวเอง โดยไม่หวังให้โรงเรียนหรือครูมาคอยสอนให้ อบรมสั่งสอนลูก เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก บางครั้งเราอาจจะอยากมีเสื้อผ้าราคาแพง แต่ก็ต้องเสียสละความสุขเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นการซื้อของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการให้ลูกแทน

อานิสงค์ของการมีจาคะ คือ เป็นการสร้างอารมณ์ที่ผ่องใส มีความสุขได้ง่าย ๆ มีกัลยาณมิตรรอบตัว

การนำธรรมของฆราวาสนี้มาเป็นเสาหลักในการครองเรือนจะทำให้ชีวิตคู่อยู่ได้อย่างยั่งยืน พระพุทธเจ้าได้กล่าวท้าให้ไปถามผูู้รู้อื่นว่า

สิ่งใดในโลกที่สร้างเกียรติ และความเคารพจากผู้อื่นให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่

มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่

มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราเท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่

มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่

เมื่อพระพุทธเจ้าท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นอย่างนี้ ก็หมายความว่าพระองค์ทราบแล้วว่า ไม่มีธรรมใดที่จะทำให้ฆราวาสสร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้เท่ากับการมี สัจจะ ทมะ ขันติและจาคะอีกแล้ว