บทที่แล้วได้กล่างถึงการเจริญสติด้วยการดูกายหรือหรือการดูความเคลื่อนไหวของร่างกายที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปฏิฐาน ไปแล้ว ในบทนี้ขอกล่าวถึง การเจริญสติที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฐฏฐาน คือการมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน หรือการดูจิตนั่นเอง
การดูกายหรือการดูจิต ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกปฏิบัติแบบไหน หากจิตถูกจริตกับการดูกายก็ให้ดูกาย หากจิตถูกจริตกับการดูจิตมากกว่าก็ให้ดูจิต หรือสามารถทำควบคู่ไปก็ได้ตามความถนัด ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่ากันขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนจะถูกจริตกับเรามากกว่ากัน
การตามดูจิต ตามดูความความคิด ตามดูความรู้สึกนั้นจะต้องตั้งใจให้เป็นกลาง ดูว่าจิตจะคิดอะไร รู้สึกยังไง ชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร เรามีหน้าที่ตามดูจิต เมื่อเกิดอาการอย่างไรแล้วให้รู้ ไม่ไปตัดสินใจว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ขอเพียงแค่ตามดูให้รู้ทันเท่านั้น การดูจิตนั้นไม่ใช่ดักดูจิต หรือจ้องดูจิตว่าคิดอย่างไร หรือรอดูจิต หากเป็นเช่นนี้ ความคิดและความรู้สึกก็จะไม่ปรากฎให้เห็น ทำให้เสียเวลาเปล่า
วิธีการดูจิตก็ไม่ยากอะไร แค่รู้สึกยังไงก็ขอให้รู้ คิดยังไงก็ขอให้รู้ว่าคิด
เดินผ่านสนามหญ้าหน้าบ้านแล้วได้กลิ่นหอมของดอกไม้ลอยมา ก็ขอให้รู้ว่าได้กลิ่นหอม รู้สึกว่าชอบก็ขอให้รู้ว่าชอบกลิ่นนี้
เดินผ่านห้องน้ำสาธารณะแล้วกลิ่นเหม็นก็ขอให้รู้ว่าได้กลิ่นเหม็น รู้สึกรังเกียจก็ขอให้รู้ว่ามีอารมณ์รังเกียจ
เห็นใครเดินมาเธอคนนั้นหุ่นดีน่ามอง จิตก็รู้สึกอิจฉาขึ้นมา ก็ขอให้รู้ทันว่ามีอารมณ์อิจฉาขึ้นมาแล้ว
ตักอาหารเข้าปาก อาหารมีรสชาติจืดชืด ก็ขอให้รู้ว่าจืดชืด หากจิตไม่ชอบขึ้นมาก็ขอให้รู้ว่าไม่ชอบ
เห็นโฆษณาสินค้าที่ถูกตาต้องใจก็ขอให้รู้ รู้สึกอยากได้ขึ้นมาก็ขอให้รู้
เห็นคนอื่นได้ดีกว่า รู้สึกอิจฉาขึ้นมาก็ขอให้รู้ว่าอิจฉา
หากกินอาหารที่มีรสอร่อยก็ขอให้รู้ว่าอร่อย รู้สึกถูกใจก็ขอให้รู้ว่าถูกใจ
ทำอาหารไม่อร่อย เมื่อมีคนในบ้านบ่นว่าอาหารไม่อร่อย
หากรู้สึกไม่พอใจก็ขอให้รู้ว่าไม่พอใจ
หากมีอารมณ์โกรธตามมาก็ขอให้รู้ว่าโกรธ ไม่จำเป็นต้องไปหยุดอารมณ์โกรธเหล่านั้น แต่เมื่อเรารู้ว่ามีอารมณ์โกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วตามดูเฉย ๆ ไม่นานความโกรธก็จะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่อรู้ว่าความโกรธหายไปแล้วก็ขอให้รู้ว่าหายไปแล้ว
เมื่อตามดูจิตและความรู้สึกอย่างนี้เรื่อย ๆ จิตก็เริ่มละเอียดขึ้น ผู้ฝึกจะเข้าใจความรู้สึกของตนเองที่ละเอียดขึ้น บางครั้งอาจจะรู้สึกแปลกใจในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีความรู้สึกแบบนี้ นั่นเป็นเพราะตัวเราเองไม่เคยอยู่กับตัวเอง มัวแต่ส่งใจ ส่งจิตออกไปนอกกาย ไปมองคนรอบข้างมากกว่าจะมองมาดูที่ตนเอง
ร่างกายกับจิตของมนุษย์นั้นดูเผิน ๆ ก็จะเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน ไปใหนไปด้วยกัน ไม่เคยทิ้งกันเลย แต่หากได้ฝึกการเจริญสติไม่ว่าจะเป็นการฝึกด้วยวิธีไหน ผู้ฝึกจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าร่างกายกับจิตนั้นใช่สิ่งเดียวกัน ไม่ได้ผูกติดกัน มันแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เวลาร่างกายเจ็บปวด จิตไม่ได้เจ็บปวดด้วย ไม่ว่าร่างกายนี้จะเจ็บปางตาย จิตดวงนี้ยังยิ้มร่าด้วยสดใส นี่คือเหตุผลที่ว่าขณะนั่งสมาธิแล้วอาการเจ็บปวดตามร่างกายจะลดลงเหมือนปลิดทิ้ง ก็เป็นเพราะว่า ร่างกายตัดขาดจากจิตนั่นเอง เมื่อสามารถแยกกายกับจิตได้แล้ว ผู้ฝึกจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าร่างกายกับจิตอยู่คนละส่วนกัน อาจะไปไหนก็ไปด้วยกันเหมือนเงาตามตัว แต่ไม่ได้ผูกติดกันอย่างถาวร แล้วเมื่อถึงตรงนี้ผู้ฝึกจะสามารถเข้าใจธรรมได้ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ปัญหาที่เคยสงสัยในเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย การเวียนว่ายตายเกิดก็ค่อย ๆ มีคำตอบมาให้อย่างอัตโนมัติ เมื่อมีทุกข์ก็จะเห็นทุกข์ แต่จะไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจกับสิ่งไม่เที่ยงบนโลกนี้
การเจริญสติเป็นการปฏิบัติธรรมที่่ง่าย สามารถฝึกได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ทุกเวลา คนรอบข้างจะไม่สามารถสังเกตได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่เป็นการรบกวนการทำงานแถมทั้งยังช่วยให้มีสมาธิในการทำกิจการงาน ตัดสินใจปัญหาได้อย่างรอบคอบและสุดท้ายผู้ฝึกก็สามารถพาดวงจิตของตนกลับคืนสู่จิตแท้ จิตเดิม จิตประภัสสรในที่สุด