ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ตอนที่ 9 อภัยทาน

เมื่อพูดถึงการให้ทานคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการบริจาคสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น หรือเป็นการทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ เช่นการทำบุญตักบาตร การทอดผ้าป่า ทอดกฐิน การบริจาคเงินสร้างวัดวาอาราม เป็นต้น แต่การให้ทานไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. อามิสทาน คือการให้ทานที่เป็นวัตถุ เช่น ข้าว ปลา อาหาร เงิน ทอง สิ่งของเครื่องใช้ ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม การให้ทานชนิดนี้ เป็นการสละสิ่งของนอกกาย

2. ทานที่ไม่ใช่ อามิสทาน คือ ทานที่ไม่ใช่วัตถุ ซึ่งแบ่งย่อยออกมาเป็น

- ธรรมทาน คือการให้สติ ให้ธรรมะ ชี้ทางสว่าง เพื่อการหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด

- วิทยาทาน คือการให้ความรู้ในทางโลก

- อภัยทาน คือ คือการยกโทษให้กับผู้อื่น ไม่จองเวร อาฆาต พยาบาท

ในบทนี้จะกล่าวถึงการให้อภัยทาน ซึ่งเป็นการให้ทานที่ทำได้ยากที่สุด

การให้อภัยทาน มี 2 ความหมาย คือ ความหมายในแง่ของการป้องกันความขัดแย้งและความหมายในแง่ของการแก้ไขข้อขัดแย้ง

ความหมายในแง่ของการป้องกันความขัดแย้ง คือ การให้ความไม่มีภัยแก่ผู้อื่น เมื่อคนหรือสัตว์อยู่ใกล้ผู้มีอภัยทานนี้จะไม่รู้สึกกลัวว่าจะถูกทำร้าย ถูกเบียนเบียดทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ถูกแย่งชิงทรัพย์สิน หากสังเกตให้ดีในวัดส่วนใหญ่จะมีป้าย “เขตอภัยทาน” ปักไว้ เพื่อให้เป็นเขตที่ปลอดภัย ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ความหมายในแง่ของการแก้ไขข้อขัดแย้ง คือ การสละอารมณ์โกรธให้เป็นทาน คือการยกโทษให้ ไม่จองเวร อาฆาต พยาบาท สละอารมณ์เหล่านี้ให้ขาดออกจากใจ อภัยทานเป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินทอง หรือวัตถุ แต่เป็นการให้ที่ทำได้ยาก เป็นแรงอาฆาต พยาบาทที่ผูกมัดทั้งสองฝ่ายเอาไว้จนข้ามภพข้ามชาติหรือเรียกกันตาม ๆ กันมาว่า เจ้ากรรมนายเวร

อารมณ์โกรธ เกลียด เคียดแค้น อาฆาต พยาบาทเป็นไฟเผาพลาญดวงจิต เพราะคนที่เราคิดจะฆ่า คิดจะทำร้าย คิดจะแก้แค้น เขาไม่ได้รับการทรมานเลย เขาอยู่ดีมีสุข แต่ตัวเราเองนั่นแหละที่ลุกเป็นไฟ หาความสุขไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

เมื่ออารมณ์โกรธ เคียดแค้น อาฆาต พยาบาท เผาผลาญตัวเรามากกว่าคนที่เราโกรธ การให้อภัยทานจึงเป็นการให้ที่ผู้มีผลต่อผู้ให้มากกว่าผู้รับ ผู้รับอาจจะไม่ทราบหรือไม่ให้ความสำคัญใด ๆ เลย แต่ผู้ให้จะเป็นผู้ได้รับกลับมาเต็ม ๆ ผู้ให้จะมีจิตใจที่ผ่องใส เบิกบาน

อภัยทานครอบคลุมทั้งหลักธรรมทั้งหมด 3 หมวด

การให้อภัยทานเป็นการให้ทานที่ไม่ใช่อามิสทาน ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมทาน

หมวดศีล เพราะการให้อภัยเป็นการไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หมวดภาวนา เพราะการที่จะให้อภัยใครสักคนนั้น จะต้องผ่านการคิด ทบทวน ไตร่ตรองดีแล้วก่อนที่จะให้อภัยได้ ขณะให้อภัยจิตใจก็เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม ซึ่งเป็นการเจริญพรหมวิหารธรรม

ลองคิดดูว่า หากมีใครมาทำร้ายเราจนแสนสาหัส เช่น พรากชีวิตพ่อแม่อันเป็นที่รักของเรา ข่มขืนเราหรือคนที่เรารัก เบียดเบียนเราจนไม่มีที่ยืนในสังคม แน่นอนว่า ความโกรธ ความเคียดแค้น ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าคน ๆ นั้นจะลูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม อารมณ์โกรธของเราก็ไม่ได้หายไปไหน ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงไหนก็ตาม บางคนก็พยายามที่จะแก้แค้นเอาคืนให้ได้ไม่ว่าวันใดก็วันนึงและหากคน ๆ นั้นได้รับความเดือดร้อนขึ้นมา จิตใจของเราก็จะรู้สึกสะใจกับความทุกข์ร้อนของเขาในทันที การคิดจะยื่นมือไปช่วยเหลือน่ะหรือ ไม่มีทาง หรือหากจำเป็นต้องช่วยก็เป็นการช่วยอย่างไม่เต็มใจ การจะเข้าไปสอนธรรมะแก่เขาน่ะหรือ ฝันไปเถอะ

แต่หากเราไตร่ตรองดูแล้วและให้อภัยแก่เขา ช่วยเหลือเขาอย่างเต็มใจ สอนธรรมะ แก่เขา ชี้ทางสว่างให้เขาได้อย่างสนิทใจ หากเราทำได้แบบนี้ แน่นอนว่า จิตใจของเราย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวเอาไว้ว่า “ใครเป็นผู้ให้อภัยทานประจำใจ คนนั้นเป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว”


k.koch