กฎไตรลักษณ์ เป็นความเป็นจริงตามธรรมชาติที่พระพุทธเจ้ามองเห็น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ
อนิจจัง (ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง)
ทุกขัง (ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์)
อนัตตา (ทุกสิ่งอย่างไม่มีตัวไม่มีตน)
ในบทที่แล้วได้อธิบายคำว่า อนิจจังไปแล้ว อนิจจัง คือความไม่เที่ยงของทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งอยู่ และดับสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่จะเลี่ยงอนิจจังได้เลย
รถยนต์ (เกิดขึ้น) เราใช้ประโยชน์ของมัน (ตั้งอยู่) เมื่อเครื่องยนต์หมดสภาพ (รถยนต์คันนั้นก็ดับสลาย)
ทุกขัง เป็นกฎข้อที่ 2 ของกฎไตรลักษณ์ ทุกขังคือทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นทุกข์ ในเมื่อไม่มีอะไรเที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิด ขึ้น ตั้งอยู่และดับไป การที่นำจิตไปผูกมัดกับสิ่งนั้น ๆ ทำให้เราเป็นทุกข์ ถึงแม้ในส่วนที่เราเรียกว่ามีความสุขมันก็มีความทุกข์แฝงอยู่เช่นกัน เช่น
เราซื้อรถยนต์คันใหม่มา 1 คัน เราใช้ขับไปนั่นไปนี่ด้วยความภูมิใจ วันหนึ่งรถเกิดพังขึ้นมา ไม่ว่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้เราสูญเสียรถยนต์คันนั้น เราก็เกิดความทุกข์ ถึงแม้รถยนต์คันนั้นจะไม่พังเสียหายทั้งหมด แต่มีแค่รอยขูดข่วนเราก็เป็นทุกข์
มีเงินทองก็กลัวมีคนมาขโมยก็เป็นทุกข์
ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์
ไม่ได้ในสิ่งที่หวังก็เป็นทุกข์
มียศถาบรรดาศักดิ์ก็มีสุข แต่ก็กลัวคนอื่นจะเข้ามาแทนที่ก็เป็นทุกข์
มีลูกก็ห่วงลูก ก็เป็นทุกข์ สูญเสียพ่อแม่ไปก็เป็นทุกข์
ความรักระหว่างเพศตรงข้าม หากต้องเลิกรากันก็เป็นทุกข์ ตายจากกันก็เป็นทุกข์
เจ็บป่วยก็เป็นทุกข์
นอนไม่หลับก็เป็นทุกข์
หิวก็เป็นทุกข์
กินอาหารมากเกินไปก็เป็นทุกข์
อากาศร้อนก็เป็นทุกข์
อากาศหนาวก็เป็นทุกข์
การรอคอยก็เป็นทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหากเราเอาจิตไปผูกมัดกับมัน เราก็จะมีทุกข์ไม่มีความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าก็ตาม ในวันหนึ่ง ๆ นั้นคนเรามีความทุกข์แทรกเข้ามานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์คนไหนในโลกนี้ การเข้าใจกฎไตรลักษณ์อย่างถ่องแท้ จึงเป็นวิธีที่ทำให้เราเห็นทุกข์นั้นแค่เพียงมองผ่านและเข้าใจอย่างมีปัญญา
กฎข้อที่ 3 อนัตตา คือ ทุกสิ่งอย่างไม่มีตัวไม่มีตน คำว่าไม่มีตัวไม่มีตนในที่นี้ ทำให้หลายคนสับสน เพราะตัวเราเองเราก็รู้อยู่แล้วว่าเรามีตัวตน มีเนื้อหนังมังสา มีความรู้สึก มีสุข มีทุกข์ มีร้อน มีหนาว เราสามารถสัมผัสตัวเองและผู้อื่นได้ แต่อนัตตาในทางธรรม เป็นความจริงตามธรรมชาติที่ตัวเรานั้น ถึงแม้จะมีอยู่จริง แต่มันก็ไม่ใช่ของของเรา อ้าว! แล้วถ้าไม่ใช่ของเราแล้วมันจะเป็นของใครล่ะ คำตอบก็คือ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ตัวตนของเรานั้น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงการประชุมปรุงแต่งกันชั่วคราวของของเหตุปัจจัยต่าง ๆ เท่านั้น
ร่างกายของเราถูกรวมกันด้วยธาตุ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากเราแยกร่างกายออกเป็นส่วน ๆ เราจะไม่เห็นรูปร่างกายของเราอีกเลย
ร่างกายของคนเรานั้นก่อร่างสร้างตัวขึ้นในท้องแม่ เด็กในท้องจะเติบโตขึ้นมาไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะอาหารที่แม่กินเข้าไป
แม่กินข้าว กิน ปลา กินเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เด็กน้อยจะได้รับสารอาหารเหล่านั้นจากผู้เป็นแม่ (ธาตุดิน) ทำให้เราได้มีกระดูก เนื้อหนัง ขน เล็บ
แม่ดื่มน้ำ เราก็ได้รับน้ำสะอาดจากแม่ (ธาตุน้ำ) เนื่องร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำเป็นจำนวนมาก
แม่หายใจนำอ๊อกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เราก็ได้หายใจผ่านทางแม่ (ธาตุลม)
แม่ได้รับความร้อนจากแสงแดด จากเตาผิงหรือจากเครื่องทำความร้อน ทำให้ร่างกายอบอุ่น เราก็ได้รับความอบอุ่นจากร่างกายของแม่ (ธาตุไฟ)
เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ร่างกายของเด็กน้อยสามารถหายใจเองได้ (ธาตุลม)
ร่างกายได้รับความอบอุ่นจากภายนอกเช่นแสงแดด โดยไม่ผ่านร่างกายของแม่ (ธาตุไฟ)
เด็กน้อยยังหาอาหารกินเองไม่ได้ก็อาศัยน้ำนมจากแม่ น้ำนม (ธาตุน้ำ) กลั่นรวมกับข้าวปลาอาหาร (ธาตุดิน) มาบำรุงร่างกายของเด็กน้อย
พอโตขึ้นเด็กน้อยก็สามารถกินอาหาร ดื่มน้ำเองได้ ทำให้ร่างกายเติบโตอย่างรวดเร็ว
ร่างกายของเด็กน้อยต้องการธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ตลอดทั้งวัน เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรง จะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปไม่ได้เลย ถ้าร่างกายขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ร่างกายจะพังลงทันที เช่น
เมื่อร่างกายขาดธาตุลม เพียงไม่กี่นาที ร่างกายก็จะหยุดทำงานทันที เช่น ขาดอากาศหายใจในขณะจมน้ำ
เมื่อร่างกายขาดธาตุไฟ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ร่างกายก็จะหยุดทำงานลงเช่นกัน เช่น เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่หนาวจัด -45 องศาหรือต่ำกว่า ร่างกายจะขาดธาตุไฟ ความร้อนในร่างกายจะลดลง ร่างกายจะปิดสวิตย์ลงภายใน 1 ชั่วโมง
เมื่อร่างกายขาดธาตุน้ำ เพียงไม่กี่วันร่างกายก็จะเสื่อมสภาพเช่นกัน
เมื่อร่างกายขาดธาตุดิน ร่างกายขาดอาหาร ไม่ช้าไม่นานร่างกายก็จะเสื่อมสภาพเช่นกัน
เมื่อร่างกายพังลง ธาตุทั้ง 4 ก็จะแตกสลายแบ่งหน้าที่กันไปสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ สัตว์และพืชอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่
ธาตุลมจะหนีไปก่อนใคร จะไม่วิ่งวนเวียนในร่างกายของเราอีกต่อไป
ธาตุไฟจะหนีออกไปในไม่ช้าหลังจากที่ธาตุลมไม่ไหลเวียนอีกแล้ว
ธาตุน้ำจะค่อย ๆ ไหลออกจากร่างกายที่ไร้วิญญาณ ส่วนหนึ่งไหลลงสู่พื้นดินให้ความชุมชื่นแก่ดิน เป็นน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ ใบหญ้า ส่วนหนึ่งระเหยขึ้นไปรวมกับน้ำจากแหล่งน้ำอื่นจนกลายเป็นเมฆและตกลงเป็นฝนให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์อีกครั้ง
เนื้อหนังมังสา เล็บ ผม กระดูกจะค่อย ๆ แตกสลายกลายเป็นดิน เป็นฝุ่นละออง เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ เมื่อต้นไม้ พืชผักออกดอก ออกผล ก็กลายเป็นอาหารแก่มนุษย์และสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่อีกรอบหนึ่ง
กล้วยลูกนึง ธาตุทั้ง 4 ในกล้วยลูกนั้น อาจจะเคยผ่านส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์และสัตว์มานับจำนวนครั้งไม่ถ้วน
น้ำสะอาดแก้วหนึ่งที่เราดื่ม อาจจะผ่านมนุษย์ สัตว์มานับจำนวนครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เนื่องจากกระบวนการแปรรูปทางธรรมชาติ ทำให้เรามองไม่เห็นว่ามันเคยเป็นอะไรมาก่อน
นี่คือเหตุผลในทางธรรมว่า ถึงแม้เราจะมีตัวมีตนที่สามารถสัมผัสและจับต้องได้กับทุกสรรพชีวิตที่อยู่ในมิติเดียวกัน บนโลกมายาแห่งเดียวกัน แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกายนี้ เราหยิบยืมทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธรรมชาติ เมื่อหมดอายุขัยหรือหมดสัญญาที่ได้ทำไว้กับธรรมชาติ เราก็ต้องใช้คืน เหมือนบ้านเช่า เราเช่าอยู่ เราดูแลบ้านเช่านั้นอย่างดีในขณะที่เราอยู่ในบ้านหลังนั้น หากมีอะไรเสียหายเราก็ซ่อมแซมเท่าที่เราจะมีกำลัง เมื่อหมดสัญญาเช่า เราก็ต้องออกจากบ้านหลังนั้น เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้น
ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน เมื่อดวงจิตดวงนี้มาสถิตย์อยู่ในร่างกายเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องบำรุงให้สมบูรณ์แข็งแรง รักษาหากมีโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อครบอายุขัยดวงจิตดวงนี้ไม่สามารถคงอยู่ในร่างนั้นได้ ต้องปล่อยให้แตกสลายคืนสู่ธรรมชาติในที่สุด
กฎไตรลักษณ์ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นกฎทางธรรมชาติเกี่ยวข้องกันอย่างกลมกลืน เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป (อนิจจัง) หากเราเอาจิตไปเกาะเอาไว้กับความไม่เที่ยงนี้ เราก็จะเกิดทุกข์ (ทุกข์) แต่ทว่าไม่ว่าสุขหรือทุกข์ เราก็อย่าไปยึดติดกับมัน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา (อนัตตา) หากคิดได้ดังนี้ เราจะไม่ยึดติดกับสิ่งใดบนโลกใบนี้ ดวงจิตที่ไม่ยึดติดจะหลุดพ้นจากเขาวงกตที่เป็นกับดักบนโลกใบนี้แล้วกลับคืนสู่จิตแท้ จิตเดิม จิตประภัสสรตลอดกาล ตลอดไป