ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ตอนที่ 7 ดูกายให้เห็นจิต ดูจิตให้เห็นธรรม

คำว่า ดูกายให้เห็นจิต คือการเจริญสติเป็นหลักธรรมที่ปรากฎในสติปัฏฐาน 4 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน เป็นการสังเกตุสภาวะธรรมของร่างกาย ส่วนการดูจิตให้เห็นธรรม ก็อยู่ในสติปัฏฐาน 4 เช่นกัน เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฐฏฐาน คือการมีสติระบึกรู้จิตเป็นฐาน

ในบทนี้ของกล่าวถึงกายานุปัสสนาสติปฏิฐาน คือการดูกายให้เห็นจิต หัวข้อดูจิตให้เห็นธรรมจะขอกล่างถึงในบทต่อไป

การมีสติเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนควรมีในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้ผู้นั้นมีความสามารถในการทำงานได้ดี คิดตัดสินใจปัญหาได้อย่างชาญฉลาด

การเจริญสติสามารถทำได้ในทุกอริยบท ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง นอน เดิน ยืนหรือทุกการเคลื่อนไหว ในชีวิตประจำวันของเรา สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกใหม่และเป็นการฝึกเจริญสติจากที่บ้าน โดยที่ไม่มีครูคอยควบคุม ควรเริ่มจากการดูความเคลื่อนไหวจากจุดเล็ก ๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น เริ่มจากการดูการเคลื่อนไหวของตนเองในขณะทำงานบ้าน การดูในที่นี่ไม่ใช่การมองดูด้วยตาเปล่า แต่เป็นการรู้ว่าขณะนี้กำลังเดิน เท้ากำลังยกย่างเท้ากำลังวางลง ดูตามมือว่ามือของเรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ทดลองการดูกายในขณะกำลังล้างจาน โดยการดูความเคลื่อนไหวของมือ เปิดน้ำจากก๊อก เราก็รู้ว่าเราเอื้อมมือไปเปิดก๊อกน้ำ เอื้อมมือไปหยิบฟองน้ำก็ให้รู้ หยิบน้ำยาล้างจานก็ให้รู้ วางน้ำยาล้างจานก็ให้รู้ ใช้ฟองน้ำถูเอาสิ่งสกปรกออกก็รู้ ถูวนไปวนมาก็รู้ วางฟองน้ำลงก็รู้ ล้างจานด้วยน้ำเปล่าก็รู้ นำจานไปคว่ำก็รู้ ทำความสะอาดฟองน้ำก็รู้ ล้างมือก็รู้ ปิดน้ำก็รู้

การตามดูความเคลื่อนไหวของร่างกายนี้เรียกว่าการดูกาย ในขณะที่กำลังตามดู ตามรู้ความเคลื่อนไหวของเราอยู่นั้น หากจิตฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่นก็ให้รีบดึงกลับมาทันที ผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ๆ จะมีอาการเผลอเรอได้ง่าย เพราะในบางครั้งเราไม่อาจจะรู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่หากทุกครั้งที่เราจะล้างจานแล้วเราบังคับตัวเองให้ทำแบบนี้อีก ไม่ช้าไม่นานจิตของเราจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเมื่อถึงเวลาล้างจานเราก็จะตามดูกาย ตามรู้ความเคลื่อนไหว ผู้ฝึกจะรู้สึกแปลกใจกับจิตของตนเป็นอย่างมากที่สามารถเตือนจิตตนให้ตามดูกายของตนโดยอัตโนมัติ

เมื่อเริ่มสนุกกับการดูกายขณะล้างจานแล้วก็ให้เริ่มเพิ่มดูกายจากการทำงานอย่างอื่นต่อไป เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ดูดฝุ่น รับประทานอาหาร ฯลฯ เมื่อจิตเริ่มชินกับการดูกายอย่างที่กล่าวมานี้ ทำให้วันทั้งวันเราก็สามารถฝึกตามดูกายของเราตลอดทั้งวันได้อย่างอัตโนมัติ ตั้งแต่ตอนเช้าที่ลืมตาขึ้นมา จนหัวถึงหมอน เมื่อฝึกฝนจนชินความละเอียดของการตามรู้กายจะละเอียดยิ่งขึ้น ผู้ฝึกจะเห็นการเคลื่อนไหวของร่างกายชัดขึ้นกว่าเดิมในทุกการเคลื่อนไหว

สิ่งที่ได้จากการเจริญสติคือ ความรู้ ความเข้าใจที่เกิดจากจิตตน เรียกว่าปัญญา รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง สภาวะอย่างนี้เป็นการติดต่อกับจิตที่สูงขึ้นของตนเอง เราสามารถแยกกายออกจากจิตได้ ผู้ปฏิบัติจะรู้ว่าชีวิตมีกายและใจ แต่สองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันและไม่ผูกติดกัน อาการเจ็บป่วย กายเจ็บป่วย แต่จิตไม่ได้เจ็บด้วย เมื่อมีอาการเจ็บปวด จิตก็แค่เห็นว่าร่างกายกำลังเจ็บปวดก็จบเพียงแค่นี้ จิตจะไม่เจ็บและไม่มีความทุกข์ร่วมด้วย เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แต่จิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามด้วย จิตสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น จิตจะไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น

จิตจะเข้าว่ากฏไตรลักษลักษ์เป็นเรื่องของกาย ไม่เกี่ยวกับจิต

อนิจจัง คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นการเกิดดับของร่างกายและไม่สามารถบังคับได้

ทุกขัง เมื่อบังคับไม่ได้ก็ทำให้เกิดทุกข์

อนัตตา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงก้อนธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเท่านั้น

ปัญญาที่ได้จากการรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเองนั้นไม่มีขีดจำกัด ผู้ปฏิบัติจะมีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ ข้อสงสัยที่เคยมีมาก็รู้คำตอบได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่ยั่งยืนเพราะได้เห็นเองได้ทดลองเอง ไม่ใช่จำมาจากที่อื่น การรู้เองเห็นเองนี้เป็นการนำพาจิตของตนให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่พระนิพพานสถานที่ที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตายตลอดกาล ตลอดไป

k.koch