สมาคมเกษตรฯ ,สมาคมจุฬาฯ ,สมาคมธรรมศาสตร์ , สมาคมพยาบาล 4 สถาบัน ร่วมกับ สถานกงสุลไทย ลอสแองเจลิส ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดงานไว้อาลัย บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม แด่ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย และ บรมครูผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน
จึงใคร่ขอเรียนเชิญ สมาคมฯ ,ชมรมต่างๆ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน เข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ณ วัดไทยลอสแองเจลีส โดยท่านกงสุลใหญ่ นายธานี แสงรัตน์ กล่าวเปิดงานเวลา 17.15 น. มีนิทรรศการสดุดี และ เผยแพร่ผลงานของท่านด้วย ต่อด้วยพิธีการสวดพระอภิธรรม เริ่มตั้งแต่ เวลา 19.00 น.
ศ.ระพี สาคริก ถึงแก่กรรม เมื่อเช้าวันที่ 17 ก.พ. 61 เป็นการสูญเสียปรมาจารย์คนสำคัญของเมืองไทย ด้านกล้วยไม้ไทย
ศาสตราจารย์ สาคริก เกิดที่วรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯมหานคร เป็นบุตรชายคนโตของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) และคุณแม่สนิท ภมรสูตร เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ใบ จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2486) ซึ่งเปิดสอนระดับเตรียมมหาวิทยาลัยที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (แม่โจ้รุ่น 7)
โดยศึกษาในคณะเกษตร ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้เลือกศึกษาด้านกสิกรรมและสัตวบาลสาขาปฐพีวิทยาระดับปริญญาตรีและได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ พ.ศ. 2490
ผลงานการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ ขยายพันธุ์ ตลอดจนด้านธุรกิจส่งออก ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชนะนันท์ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย แม้จะเกษียณอายุราชการนานแล้วก็ตาม ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็ยังได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก สมรสกับคุณกัลยา มนตรีวัตร (บุตรีขุนพิชัยมนตรี หัวหน้าเสรีไทยสายกาญจนบุรี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) มีบุตร-ธิดา 4 คน เป็น ชาย 3 คน ได้แก่ นายรวิวรรณ สาคริก นายพีระพงศ์ สาคริก นายวงษ์ระวี สาคริก และนางสาวมาลีกันยา สาคริก
ด้วยความรักและความสนใจในเรื่องกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก จึงได้พยายามศึกษาค้นคว้าพัฒนาจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมกล้วยไม้บางเขน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และออกรายการโทรทัศน์ช่อง 4 ทุกวันเสาร์ และได้นำผลงานของประเทศไทยไปแสดงในงานชุมชนกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 5 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับสมาชิกขยายปรับเปลี่ยนงานสมาคม จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2514 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้เป็นประธานจัดการประชุมกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 9 ที่ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2520
พ.ศ.2502 ได้รับประกาศนียบัตร AWARD OF HONOUR จากองค์การกล้วยไม้แห่งชาติของประเทศออสเตรเลียในการประชุมกล้วยไม้โลก
พ.ศ.2520 สมาคมกล้วยไม้เอเชียอาคเนย์แห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศยกย่องเกียรติคุณ โดยมอบรางวัลเหรียญทองให้ในฐานที่มีบริการทางวิชาการแก่โลกในด้านกล้วยไม้ดีเด่นมาเป็นเวลายาวนาน
พ.ศ. 2521 สมาคมกล้วยไม้อเมริกัน (American Orchid Society) ในฐานะที่เป็นประธานจัดงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 ได้ด้วยผลสำเร็จที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
พ.ศ.2523 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดจากสมเด็จพระจักรพรรดิ (The Sacret Class of The Rising Sun) โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีฟูกุ
พ.ศ.2529 ได้รับรางวัลเหรียญทอง Veitch Memorial Gold Medal Award จากสมาคมพืชศาสตร์ประเทศอังกฤษ (RHS) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศอังกฤษมอบให้แก่บุคคลในด้านวิชาการพืชศาสตร์
พ.ศ.2527 ปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันเทคโนโยลีการเกษตรแม่โจ้ สาขาวิชาพืชศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2527
ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นกรรมการกิตติศักดิ์ขององค์การกล้วยไม้โลก
ความสำเร็จที่เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก คือการค้นคว้าวิจัยเรื่องกล้วยไม้อย่างจริงจัง นำเอาวิธีขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการปรับปรุงพันธุ์ของกล้วยไม้ไทยเป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติ
นอกจากนี้ท่านเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (วันที่ 24 พฤษภาคม 2522 - วันที่ 3 มีนาคม 2523)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วันที่ 13 พฤษภาคม 2518- วันที่ 16 กันยายน 2522) เป็นต้น