สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



ครูอาสาโครงการจุฬาฯ มาแล้ว

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดฉากโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ตามการริเริ่มของพระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมครูอาสาสมัครวัดไทยในท้องถิ่นจากหลายรัฐ ที่วัดธัมมาราม ชิคาโก โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมังกโร) เป็นหลักสำคัญในการจัดการโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2528

กลุ่มบุกเบิก ที่โครงการจะจารึกเป็นการไหว้ครูไว้ทุกครั้งคือ ศ.กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศ.ประภาศรี สีหอำไพ รศ.ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา โดยในปีแรกได้ทำวิจัยสร้างหลักสูตร มีผู้วิจัยเพิ่มคือ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี คณะครูผู้สอนมีเพิ่มมาอีก 2 คน คือ รศ.ดร.สิริพัชร เจษฎาวิโรจน์ (ปีที่มาปฏิบัติงานยังใช้ชื่อเดิมว่า อ.สาหร่าย แตงนาวา) และ อ.วรวรรณ ทวีศิลป์ สองคนหลังนี้มาจากหน่วยราชการ กรุงเทพมหานคร

วัดรุ่นบุกเบิกที่เป็น “ต้นตระกูล” ของโครงการ เรียงตามลำดับได้แก่ วัดไทยลอสแองเจลิส วัดธัมมาราม ชิคาโก วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก เจ้าอาวาสพระเทพกิตติโสภณ (สมบูรณ์ สัมปุณโณ) อดีตประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา วัดมงคลรัตนาราม เบอร์กเลย์ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพโมลี (ดร.สุพจน์ ชูติปาโล) ซึ่งมีวัดในเครือถึง 6 วัด ในปีเดียวกันได้ไปเปิดโครงการที่วัดพุทธานุสรณ์ พระวิเทศธรรมกวี วัดพุทธธรรม ชิคาโก วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พระเดชพระคุณ พระวิเทศธรรมรังษี (หลวงตาชี) วัดมงคลรัตนาราม แทมป้า ฟลอริดา วัดธรรมคุณาราม ยูทาห์ วัดพุทธวราราม เดนเวอร์ วัดพระศรีรัตนาราม มิสซูรี วัดพุทธดัลลัส เหล่านี้เป็นกลุ่มบุกเบิกที่ผู้เขียนและคณะนำโดยปูชนียาจารย์ทั้งสองท่านข้างต้นได้ไปบุกเบิกกันมา ผู้เขียนเองติดลมบนทำวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาสำนึกความเป็นไทย ของนักเรียนโรงเรียนวัดไทยในสหรัฐอเมริกา” ด้วยทุนโครงการวิจัยเงินทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลิงฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมา รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคนปัจจุบัน ได้ขอทุนบริษัทซีเมนส์ ประเทศเยอรมันนีไปศึกษาชีวิตคนไทยในนครเบอร์ลิน ผู้เขียนได้ประสานงานติดต่อชุมชนไทยผ่าน คุณธวัชชัย ทวีศรี กงสุลใหญ่ นครเบอร์ลิน ลูกศิษย์ “หลวงเตี่ย” พาคณะ นำโดย ศ.กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล และ ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ พร้อมเชิญศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บัณฑสันต์ นายกสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และนิมนต์พระธรรมดิลก (พระมหาระแบบ วัดบวรนิเวศวิหาร) เป็นที่ปรึกษาเดินทางไปเป็นเกียรติแก่ชุมชนไทยในปารีสและเบอร์ลิน

หลักสูตรที่ปรับปรุงแบบผสมผสานเป็นหลักสูตรบูรณาการที่ถ้าสามารถจัดรูปแบบการหมุนเวียน ไม่ให้วนเพื่อเวียนหัว แต่ม้วนเป็นเกลียวที่งดงาม เป็นรูปแบบที่อบรมครู เรียนรู้ได้ และสามารถหยุดหัวข้อหมุนต่อไปยังหัวข้อต่อไปอย่างเพิ่มพูนปัญญาไม่ใช่เรียนซ้ำซ้อน แต่เรียนเพื่อซึมซับรับรู้เกียรติภูมิ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์สมบูรณ์แบบ คณะผู้จัดทำมีที่ปรึกษาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาจากหลักสูตรชุดบุกเบิกนั่นเอง

หลักสูตรภาคฤดูร้อนเป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่สามารถยืดให้ยาวได้ในท้องถิ่นดังการประกวดคำขวัญ “กรุงเทพมหานคร” ในประเทศไทย บทที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคือบทชนะเลิศที่ว่า


กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง
วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย

ถ้าโรงเรียนสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองสำหรับเด็กไทยในต่างแดน ตั้งอยู่บนแกนเดียวกัน การประเมินคุณภาพจะทำให้สามารถปรับให้เข้ากับท้องถิ่นได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานไทย โดยไม่ต้องแข่งขันกันเพื่อความเป็นเลิศ แต่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยพลังนำธรรมจักร (คณะสงฆ์พระธรรมทูต) พลังรักสายเลือดไทย (ผู้ปกครอง ชุมชน กรรมการวัด) พลังน้ำใจครูอาสา (ครูอาสาในท้องถิ่น ครูอาสาจากประเทศไทย) ซึ่งกลุ่มพลังสุดท้ายสำคัญมากเป็นเป้าหมายที่พลังเบื้องต้นทั้งสามต้องก้าวไปให้ถึง คือ พลังศรัทธาชุมชนไทย ซึ่งหมายถึงเป้าหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย คือ จร ถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชน สุขาย แปลว่า ภิกษุทั้งหลายพึงท่องเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังอบรมครูอาสา เป็นปีที่ 30 รศ.ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา และ ผศ.ดร.กมลพร บัณฑิตยานนท์ เกษียณอายุราชการ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศของศูนย์คนปัจจุบันคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงษ์ลดา ธรรมพิทักษ์กุล สายตรงวิชาดนตรี เป็นผู้ทุ่มเทอุทิศไม่ต่างจากรุ่นเก่า สืบสายจิตอาสาเป็นบุคคลเพื่อผู้อื่น อย่างเข้มแข็งน่าชื่นชม

ความเข้มข้นในการหาครูอาสาสมัคร กว่าจะพร้อมถึงจุดปัจจุบัน เรียกว่าใช้ประวัติดั้งเดิมในจุดเด่นที่รุ่นเก่าทำไว้ คละไปกับความเป็นธรรมดาของกลุ่มชนลักษณะโลกธรรม ทัพครูอาสาในวันนี้ จึงพร้อมที่จะป้องมือโห่สามรา คัดเลือกคณะครูเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสอนภาษาไทยและวัฒธรรมไทยโดยตรง เข้าค่ายกิจกรรมเป็นเวลา 1 เดือน ปีนี้ใช้สถานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้ารับการอบรมพักที่หอพักนิสิต จัดกิจกรรมที่วัดนาคปรกในการปฏิบัติธรรม ซึ่งพระครูวรกิตติโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาคปรก และศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุลนำคณะอาจารย์ฝึกปฏิบัติธรรม การปฐมนิเทศเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 รองศาสตราจารย์ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน พระราชธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลอสแองเจลิส กล่าวสัมโมทนียกถา ปูชนียาจารย์กล่าวให้โอวาท ได้แก่ ศ.กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล และ ศ.ประภาศรี สีหอำไพ

คุณสมบัติของคณะครูที่เข้าร่วมการอบรมหลักสูตร เพื่อรับเกียรติบัตรของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คือศิษย์เก่าหรือศิษย์ปัจจุบันสาขาการศึกษาปฐมวัย สาขาประถมศึกษา สาขามัธยมศึกษา วิชาเฉพาะศิลปะ ดนตรีหรือนาฏศิลป์ศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทของคณะครุศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หรือเป็นครูผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรี สาขาการศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ภาษาไทย สังคมศึกษา พลศึกษา ศิลปะ ดนตรี นาฎศิลป์ ที่ปฏิบัติการสอนเท่านั้น ไม่รวมศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ สังกัดหน่วยราชการที่ศูนย์ส่งเสริมการสอนฯ ขอความร่วมมือไป ได้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร โดยได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต้นสังกัด

ครูประจำการ 1 ปี โครงการพิจารณาวิชาเอกภาษาไทย ดนตรี และนาฏศิลป์เป็นอันดับแรก สถาบันที่ส่งบุคลากรเข้าร่วมมีทั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนะศิลป์ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับชาติ เป็นการคัดเลือกครูที่เข้มข้น ทำให้หาผู้สมัครได้ค่อนข้างยาก มีคุณสมบัติคือนับถือศาสนาพุทธ อายุไม่เกิน 55 ปี ครูประจำการต้องอายุไม่เกิน 26 ปี มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่ายกายและจิตใจ ไม่มีโรคประจำตัวที่มีภาวะต้องให้แพทย์ดูแลประจำ ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ มีความประพฤติเรียบร้อย มีความรับผิดชอบในการทำงาน มีความเสียสละ อดทน อดกลั้น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความหนักแน่นมั่นคง สามารถเป็นผู้นำ หรือผู้ตามที่ดี มีวุฒิภาวะสมวัย สามารถปรับตัวให้เผชิญปัญหาตามสภาพการณ์ที่พบในต่างประเทศ

ผู้สมัครที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้มาแล้ว ต้องเว้นระยะ 3 ปี จึงจะมีสิทธิ์สมัครใหม่ และสามารถเข้าร่วมโครงการได้เพียง 3 ครั้ง ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียนของคณะกรรมการศูนย์การสอนภาษาไทยและวัฒธรรมไทยในต่างประเทศคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ผู้ผ่านการคัดเลือกทุกคนต้องสามารถจ่ายค่าเดินทางไป-กลับเอง (ยกเว้นครูประจำการ 1 ปี) ต้องมุ่งหวังในการใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาปลูกฝังความเป็นไทยให้แก่เด็กไทยในต่างแดน

ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องเข้ารับการอบรมทั้งเชิงปฏิบัติการ ธรรมปฏิบัติและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของเวลาทั้งหมดที่กำหนดในโครงการ จึงจะได้รับเกียรติบัตรของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากรายละเอียดข้างบน ได้หล่อหลอมความเป็น “ครู-อาสาต่างแดนในอุดมคติ” ไว้เพียบพร้อม เท่าที่ฝ่ายดำเนินการจะสามารถปฏิบัติทุ่มเททั้งสมองและสองมือ เรียกว่า “เต็มที่” ของความตั้งใจจริง งานหนักจักชนะสรรพสิ่ง ความตั้งใจจริงคงจะเป็นเกราะป้องกันสรรพภัย เป็นผู้ให้ที่เต็มที่แล้ว ผู้อำนวยการ ผศ.พงศ์ลดา ธรรมพิทักษ์กุล อาจารย์ผู้สดใส ตอนนี้อดหลับอดนอน ตามรอยรุ่นลุงป้าน้าอา-รุ่นพี่ ตาโรยแต่ใจยังแกร่งแข็งเข้มไม่ระย่อ สงสารก็แต่คณะครูภาคฤดูร้อน ต้องจ่ายค่าเดินทางเอง ค่าอะไรต่อมิอะไรเอง เพื่อการศึกษาของลูกหลานไทยด้วยน้ำใจของความเป็น “ครูอาสา” ทุกคน


เพลง ครูอาสาจุฬาฯ มาแล้ว
คอลัมน์ สารพันวรรณนา
ผู้เขียน ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ

ที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำนอง เพลงแม่สะเรียง
(สร้อย) เกียรติภูมิจุฬาฯ พระเกี้ยวล้ำค่า จุฬาฯเพริศแพร้ว (ซ้ำ)
โครงการครูอาสา ชาวจุฬาฯมาแล้ว
ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แว่วยินดีปรีดาย
พลังนำพระธรรมจักร พลักรักสืบสายเลือดไทย
หนักแน่นพลังน้ำใจ ครูอาสาไทยต่างแดน
อบรมแบบแผนกิจกรรม
(สร้อย) หลักสูตรครูอาสา สามัคคีพร้อมหน้า จุฬาฯผูกพัน
ชุมชนไทยผอง เชิญเป็นเจ้าของร่วมกัน
ผูกมือยึดไว้ให้มั่น มาผูกสู่ขวัญพันคล้อง
น้อมคุณพระโปรดพิทักษ์ น้อมรักพ่อแม่พี่น้อง
ปกป้องคุ้มครอง ขอครูทั้งผองสุขใจ
หล่อเลี้ยงเด็กไทยพากเพียร
(สร้อย) เด็กก็มีหัวใจ รักครูคนใหม่ รีบไปโรงเรียน (ซ้ำ)
(ร้องทวนซ้ำรวม 2 จบ)

ช่วงเวลาปฏิบัติงานของคณะครู ภาคฤดูร้อน เดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน 2556 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 30 คน

ครูประจำการ 1 ปี สหรัฐอเมริกา จำนวน 40 คน

ครูอาสาวัดพุทธรังษี ประเทศออสเตรเลีย 6 คน

คณะครูทุกคนที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของศูนย์ฯ จะได้รับเกียรติบัตรของศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่อบรมคือคณะครุศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ประภาศรี สีหอำไพ เป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรการอบรมครู เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 สำหรับภาคธรรมปฏิบัติ พระครูวรกิตติโสภน และศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุลเป็นประธานและฝึกอบรมที่วัดนาคปรก


แนะนำครูอาสาประจำปี 2556 วัดพุทธาวาส ฮิวส์ตัน

ดิฉันอรสิริ ชีววิวัฒน์ ในนามครูอาสาของโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนคณะครูอาสาจากวัดพุทธาวาส เมืองฮิวส์ตัน รัฐแท็กซัส ขอแนะนำคณะครูอาสาประจำปี 2556 รุ่นที่ 30 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยครูอาสาภาคฤดูร้อนจำนวน 2 คน และครูอาสาประจำการ 1 ปี จำนวน 3 คน

ครูอาสาภาคฤดูร้อน คนที่หนึ่ง ดร.กิตติอาภา กรณ์ใหม่ หรือ ครูติ๋ว ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภาษาไทยดีเด่นระดับชาติ อีกทั้งเป็นคณะกรรมการตัดสินการคัดกรองครูภาษาไทยประกายเพชร ทั้งนี้มีประสบการณ์ในการสอนภาษาไทยมามากกว่า 35 ปีแล้ว นอกจากนี้ท่านยังมีความสามารถในด้านการเขียนบทร้อยกรอง ร้องเพลงลูกทุ่ง-หมอลำ และเซิ้งอีสาน โดยท่านยึดคติประจำใจว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ถัดไปเป็นครูอาสาภาคฤดูร้อน คนที่ 2 ว่าที่ดร.ขจัดภัย แก่นน้อย หรือ ครูจิ๋ม ท่านเป็นคนจังหวัดปทุมธานี จบศึกษาศาสตรบัณทิต คณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ท่านมีความสามารถในการร้องเพลงไทยเดิม ไทยลูกทุ่งและมีประสบการณ์ในการเป็นผู้นำการจัดกิจกรรมนันทนาการและกีฬาสำหรับเด็ก โดยท่านยึดคติประจำใจว่า “ครูดีต้องมีเมตตา”

หลังจากพอรู้จักกับครูอาสาภาคฤดูร้อนแล้วก็มาต่อกันด้วยครูอาสาประจำการ 1 ปี คนที่หนึ่ง นายญาณวุฒิ ดวงดารา หรือ ครูแด๊ส ครูสอนนาฏศิลป์ เป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ด้วยความสามารถที่มากล้นจนทำให้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ และปัจจุบันเป็นบัณฑิตของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สาขานาฏศิลป์ไทย (โขนพระ) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันไปจัดการแสดงโขนในต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังมีความสามารถด้านการออกแบบท่ารำและจัดรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ไทยประกอบเพลงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Mc office Adobe Photoshop และรวมถึงการตัดต่อเพลงเพื่อใช้ในการแสดงต่างๆอีกด้วย โดยครูแด็ส จะยึดคติประจำใจว่า “โอกาสไม่ได้มีเสมอ ตัวเราต้องวิ่งหาโอกาส”

ต่อด้วยคนที่สอง นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ขาวเอี่ยม หรือ ครูแนน ครูสอนดนตรีไทย เป็นคนจังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกดุริยางคศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร ครูแนนเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป็นตัวแทนการจัดกิจกรรมโครงการค่ายดนตรีไทยสัญจรของทางมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย และการจัดรูปแบบวงดนตรีไทยประกอบพิธีกรรมต่างๆ และนอกจากนี้ครูแนนยังมีความสามารถในด้านการประกอบอาหารอีกด้วย โดยครูแนนจะยึด คติประจำใจที่ว่า “สู้เพื่อแม่ ฟ้าหลังฝนสวยงามเสมอ”

และมาถึงคนสุดท้าย ดิฉันเอง นางสาวอรสิริ ชีววิวัฒน์ หรือ ครูกิ๊ฟ ดิฉันเป็นคนกรุงเทพฯ มาโดยกำเนิด และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนใจเย็น มักจะชอบทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ชอบเล่นชอบพูดคุยกับพวกเขา จึงทำให้ดิฉันตัดสินใจเลือกเรียนในสายวิชาชีพครู และปัจจุบันได้เป็นบัณฑิตของคณะ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาประถมศึกษา เอกวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา ซึ่งเคยผ่านการ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม อีกทั้งยังเป็นผู้นำการจัดกิจกรรมโครงการค่ายสำหรับเด็กของทางมหาวิทยาลัย รวมถึงประสบการณ์ในการสอนพิเศษวิชาภาษาไทยมาตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 และนอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านการประดิษฐ์ของชำร่วยและการจัดทำสื่อการสอนสำหรับเด็กอีกด้วย โดยดิฉันยึดคติประจำใจที่ว่า “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และจะมีอนาคตที่สดใส”

สุดท้ายนี้ คณะของเรามีความประสงค์ที่จะนำวิชาความรู้และประสบการณ์การสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทยมาเผยแพร่และปลูกฝังให้แก่เด็กไทยในต่างแดนให้มีจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย และขอสัญญาว่าจะตั้งใจ ทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มที่ค่ะ