สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



น้ำใจน้องพี่สีชมพู
ผู้เขียน : ประภาศรี สีหอำไพ
ภาพประกอบ : ดร.อโนชา ยิ้มสิริวัฒนะ
บรรยายประมวลภาพ : ศุภศรี แก้วจินดา

การรวมน้ำใจกันสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย ก้าวไกลไปสู่การบำเพ็ญตนสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ “ทั่วราชอาณาจักร มีเราเป็นหลักในแต่ละส่วน ชาวจุฬาฯจึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ” เหมือนในบทเพลงที่ร้องร่วมกัน ผนึก “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” เป็นหนึ่งเดียวกันในเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานทำนองเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มด้วยพระราชปณิธานและโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนราชกุมารสำหรับเจ้าฟ้าในพระบรมมหาราชวังของรัชกาลที่ 5 และด้วยพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยความกตัญญูของรัชกาลที่ 6 ทรงสืบสานพัฒนาการสู่การเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พระราชทานพระนามไว้เป็นพระบรมราชานุสรณ์ถวายสมเด็จพระราชบิดา อีกทั้งโปรดเกล้าอัญเชิญตราพระราชสัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 คือตราพระเกี้ยวให้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เจิดจรัสรัศมีฉายส่องครรลองจากสถานศึกษาสู่การพัฒนาชาติและประชาชนไทย ขอทูนขอเทิดพระนามไททั้งสองพระองค์ไว้นิรันดร

ผู้เขียนได้ไปร่วมงานน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องในวันปิยมหาราชในแมรี่แลนด์ น้ำใจน้องพี่สีชมพูที่มาร่วมงานของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคพื้นมิดแอตแลนติก บังเกิดความปีติที่ได้เห็นการรวมน้ำใจน้องพี่สีชมพูตั้งแต่ปีแรกที่ชุมชนไทยที่นี่เริ่มก่อตั้ง นำโดยองค์ประธานกิตติมศักดิ์ หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย จากกลุ่มแรกขยายเป็นกลุ่มใหญ่วันนี้ หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์ ก็เป็นผู้นำที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง จากนั้นได้สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย นายกสมาคมนิสิตเก่า คุณเจษฎา สีวาลี ปี 2004 คุณวิภา เมฆยารัชนานนท์ ปี 2007 คุณกรีฑา อภิบุญโญภาส ปี 2009 ดอกเตอร์วนิดา วนานต์ ปี 2011 มีผลงานในการสนับสนุนโครงการสงเคราะห์เด็กยากจนในชนบทและโครงการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ ตลอดมา นายกสมาคมฯ ปัจจุบันคือ นายแพทย์ไพบูลย์ สุริย์จามร เป็นนายกฯ ภาคแอตแลนติกตอนกลางในสูจิบัตร แสดงว่ามีตอนเหนือตอนใต้ บ้างก็ไปเมืองไทยไม่ได้มาร่วมงานเพราะติดภารกิจสำคัญเช่นไปประชุมกลุ่มแพทย์ไทยเป็นต้น สมกับเนื้อเพลงหนึ่งที่เกริ่นไว้ในในตอนต้น เปลี่ยนเป็น “นอกราชอาณาจักร มีเราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน” ก็ได้ มีเรื่องพรรณนาสมชื่อคอลัมน์ “สารพันวรรณนา” อีกมาก แต่ภาพในคืนวันงาน ถ้าเก็บไว้นานจะจืดหมดจึงต้องขออภัยนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ คุณธำรง วัฒนคีรี ผู้เข้มแข็ง กรุณาให้ข้อมูลที่สำคัญยิ่งใหญ่เสียจนเขียนไม่ถูก เขียนแล้วเขียนอีกกว่าจะผ่านแต่ละบรรทัด ชื่นใจที่มีผู้ช่วยทั้งน้ำใจน้องพี่สีชมพูและสีธงชาติไทย จึงขอเวลารวบรวมเป็นฉบับหน้าโดยขอความร่วมมือจากคุณธำรง ช่วยสรุปเรื่องการสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 องค์สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนสำเร็จ คาดว่าคงจะดำเนินการต่อไปในการสร้างพระบมรูปรัชกาลที่ 6 เพราะพระผู้ทรงสถาปนามี สองพระองค์ จากพระราชปณิธานและโปรดเกล้าฯ ตั้งโรงเรียนราชกุมารไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ผู้ล่วงลับนำระดมทุนบริจาคสร้างพระบรมรูปสองรัชกาล ประดิษฐานไว้หน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตเก่าไปเมืองไทยควรพาครอบครัวไปถวายบังคมสักการะ บอกลูกหลานว่าพ่อแม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสองพระองค์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจึงมาถึงวันนี้ได้ ขอตราพระเกี้ยวยั่งยืนยง อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน

อนึ่ง ฉบับที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับความประทับใจงานเฉลิมพระเกียรติงาน 50 ปี เถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนานมาแล้วนั้น คุณกิ่งกาญจน์ สมิตามร แจ้งว่า ผู้จัดคือ ชาววัด พุทธานุสรณ์ เริ่มจากมติของบอร์ด พระวิเทศธรรมกวี เจ้าอาวาสให้จัดยิ่งใหญ่สมพระเกียรติที่ City Hall San Francisco ส่วนสมาคมไทยฯ สมัยคุณชัยวัฒน์ ศิริญาณ เป็นผู้ให้ความสนับสนุนอย่างดี แต่ไม่ได้เป็นผู้จัด ชาววัดพุทธานุสรณ์ ช่วยกันทุกภาคส่วนจนสำเร็จงดงาม ประทับใจมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ฝึกซ้อมโดย คุณสบสภาพ พงษ์กันทา การติดต่อขอใช้ City Hall เป็นผลงานของ คุณมงคล มหาวงศ์ตระกูล