สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี
โรงเรียนไทย หัวใจพุทธ

มาเริ่มบรรเลงเรื่องราวที่ร่อนเร่ไปขั้วโลก ได้เห็นวัด โรงเรียนสอนเด็กไทยในสหรัฐอเมริกา พบชุมชนไทยหลายกลุ่มตามวัดไทย ได้เห็นความงอกงามของเด็กและเยาวชนสายเลือดไทย เป็นความงดงามในชีวิตเหมือนเห็นเมล็ดข้าวแตกรวงเป็นทุ่งรวงทองด้วยน้ำมือของพี่น้องเผ่าไทยที่ร่วมฝ่าฟันปลูกปั้นกันมา เปี่ยมด้วยคุณค่าแห่งน้ำใจ น้ำอดน้ำทนของสายเลือดรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆ ไป

เหนือสิ่งทั้งมวลคือความเรืองรองส่องแสงธรรมของพระพุทธศาสนาแจ่มกระจ่างดวงประทีปทั้งวัดวาอาราม การศึกษาของเด็กและเยาวชนสายเลือดไทย โครงการเยือนถิ่นแผ่นดินแม่ รวมพลังนำพระธรรมจักร พลังรักสายเลือดไทย พลังน้ำใจครูอาสาสมัคร ที่ส่งผลในชาตินี้ไม่ต้องรอนานถึงชาติหน้า เป็นความรู้สึกที่ขออนุโมทนาบุญไปกับทุกฝ่ายที่ส่งมือกันมาร่วมกันทำจนสำเร็จถึงเพียงนี้ เปรียบเสียงเพลง มีทั้งศิลปินเดี่ยวศิลปินรวมวงบรรเลงร่วมตามความถนัดไม่ว่ากัน

เปิดฉากใต้ฟากฟ้าพญานกอินทรี จุดหมายคือซานฟรานซิสโก ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้มาประเมินผลการเรียนการสอนของครูอาสาที่ผ่านการอบรมมาเป็นเดือน ส่วนใหญ่วิธีสอนชำนาญกันอยู่แล้ว การอบรมจึงเป็นการหลอมรวมศิลปินเดี่ยวทั้งหลาย ให้บรรเลงเข้าวงเป็นคณะศิลปินกลุ่มเดียวกัน คนฟังจะได้สำราญรื่นรมย์ คณะครูมีทั้งมาประจำการ 1 ปี และเป็นครูภาคฤดูร้อน

ผู้มาให้การอบรมก่อนมาปฏิบัติงานจริงคือพระธรรมทูตของวัดที่เปิดสอน รุ่นพี่ครูอาสาที่เคยมา ผู้แทนชุมชนไทย อาจารย์นิเทศก์ ฯลฯ ส่วนวิธีสอน แต่ละคนต่างผ่านการเรียนรู้จากสถาบันต่างๆ สามารถมาสอนภาษาไทย วัฒนธรรมไทย บ้างก็รวมอยู่ในคนเดียวกัน คือสอนได้หมดทั้งสะกด อ่านเขียนเรียนหนังสือ ร้องรำทำเพลง ขิม ระนาด โปงลาง ฟ้อนรำ ซ้ำสวย หล่อ อีกต่างหาก ปีนี้ผู้อำนวยการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ลดา ธรรมพิทักษ์กุล เป็นศิลปินสายตรง ทุ่มอุทิศตนเต็มที่ไม่แพ้รุ่นพี่ทั้งหลาย

วัดแรกที่ไปถึงคือวัดพุทธานุสรณ์ คุ้นเคยเหมือนได้กลับบ้านเก่าชาวบ้าน Silicon Valley บรรยากาศปลื้มปรีดาพุทธานุสรณ์ขจรนาม ร่มอารามมวลไม้งามหลากพันธุ์ คือมีหลายประเภททั้งพันธุ์ล้มลุก ยืนต้น หลากพรรณ คือหลายชนิด เช่นกุหลาบสีต่างๆ

พระวิเทศธรรมกวี คนรุ่นบุกเบิกคุ้นเคย เรียกท่านมหาประเสริฐ ตอนนี้เป็นท่านเจ้าคุณ ดำรงตำแหน่งรองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา นับเป็นพระธรรมทูตไทยที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมพลังศรัทธาทั้งชุมชนไทยด้วยกัน และสัมพันธ์อันดีกับชาวอเมริกันในท้องถิ่นโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา อาจารย์และนักศึกษาไทย เช่น มหาวิทยาลัย Stanford, San Jose State มาร่วมกิจกรรมในเทศกาลไทยอยู่เสมอ แสดงถึงความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพระธรรมทูตไทยในต่างแดนเด่นชัด

ระยะที่ไปซานฟรานซิสโก มีงานสำคัญคือ Queen’s Gala Night งานราตรีเฉลิมพระเกียรติ จัดโดย สมาคมไทยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ นายกสมาคมชื่อ วัลลภ คชินทร ผู้ประพันธ์บท “มหาราชินี อาศิรวาท” ตอนหนึ่งดังนี้....

“ทรงครองทศธรรม ยิ่งด้วยน้ำพระเมตตา
รักห่วงปวงประชา ดุจมารดารักบุตรตน
ไพร่ฟ้ามิใคร่สุข พระแม่ทุกข์ก็ยอมทน
ย่ำบาททุกแห่งหน ขอราษฎร์พ้นจากทุกข์ภัย”

กงสุลมังกร ประทุมแก้ว รองกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส กล่างปราศรัยเปิดงาน ประธานจัดงานคือ วีระชัย จงรุ่งโรจน์เจริญ วงดนตรีไทยจากศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดมงคลรัตนาราม เบอร์กเลย์ รำถวายพระพรจากศูนย์เดียวกัน จากนั้นเพลินเพลงกับวงอธิป ปิ่นโมรา และ ดุจฤดี วงศ์ทองศรี คนหลังนี้ได้พบปะสนทนากันครั้งแรก เธอบอกว่าเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 26 รุ่นน้องของเพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์หลายรุ่น เธอร้องเพลงไพเราะมาก ทราบว่าเป็นนักแปล กำลังช่วยวัดพุทธานุสรณ์แปลธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ


คำขวัญวันแม่ประจำปี 2556 คือคำขวัญพระราชทาน ดังนี้


มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น
ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา
อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา
อยู่ที่คอยขัดเกลาแต่เบามือ

สะท้อนหัวใจของพ่อแม่ซึ่งมีความเป็น “กัลยาณมิตร” ในฐานะ “ครู” ของลูก คำสอนของพ่อแม่เป็นสิ่งแรกที่ลูกได้เรียนรู้ตามช่วงวัยของชีวิต สอนอย่างไรใช้ความรักความเมตตาฝังปลูก ปั้นหล่อลอออ่อน จนหล่อเหลากลมกลึงขัดเกลาจนงามเงา เป็นครูใครๆ ก็เป็นได้ คำติเพื่อก่อกับ ติแบบฆ่าให้ตายคามือนั้นต่างกัน คำสอนแบบมีเมตตาคือเตือนตัวแต่ตัวตนไม่ก่นประจานไปสามบ้านแปดบ้าน ประเภทตีหน้าเสาธง แบบนี้ไม่ใช่มือครู ทั้งที่อาจปรารถนาดีแต่ไม่เข้าถึงหัวใจผู้ที่จะเรียนรู้เลย

ที่งานคืนนั้นมีการบรรเลงเครื่องสายของศูนย์วัฒนธรรมไทย วัดมงคลรัตนาราม (มีนักดนตรีจากวัดพุทธานุสรณ์ ไปร่วมด้วยสองคน) มีการจำหน่ายบัตรการกุศลเพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิเด็กโสสะ เคยเขียนถึงมูลนิธินี้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตามข้อมูลที่คุณหญิงโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ น้องสาวของศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงษ์ ณ อุยธยา ให้มา

ได้พบชุมชนชาวไทยในเบย์แอเรียจำนวนมากที่มีจิตเมตตามาช่วยงาน ซื้อบัตรร่วมทำบุญจุนเจือผู้ด้อยโอกาส นับว่าเป็นงานที่ได้รับผลสำเร็จ แสดงพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน ได้พบผู้เคยร่วมงานแต่เก่าก่อนของกลุ่มชุมชนรุ่นบุกเบิก สืบทอดมายังรุ่น 2-3-4 จนสังคมไทยเติบโตเป็นที่ประจักษ์ของคนไทยในประเทศไทย ตัดทิ้งคำว่า “คนไทยทิ้งแผ่นดิน” ไปได้เลย เพราะน่าจะเป็นการพูนเพิ่มทำให้แผ่นดินงอกงามสะพรั่งถึงในสหรัฐอเมริกาในสังคมโลก

ในงานเท่าที่พบกันมีเช่น คุณพี่ยุพิน แก่นจันทร์ วัยงามดูยังสดชื่นแข็งแรงดี นอกนั้นก็คุ้นหน้ากันดีพอสมควร บ้างก็ถ่ายรูปหมู่ มีช่างภาพตั้งกล้องถ่ายแบบมืออาชีพ นัยว่ารายได้มอบให้สมทบทุนมูลนิธิโสสะ มีการจำหน่ายสลากการกุศล มีรางวัลทั้งทองคำ บัตรเข้าพักโรงแรมฟรี ฯลฯ ผลปรากฎว่าผู้มีโชคดีคือสาวสวยผู้แต่งกายงามหรูคือ กิ่งกาญจน์ สมิตามร เกียว ขวัญใจ Mr.Lee Gio เจ้าของบ้านที่ผู้เขียนพักอยู่ด้วยในหน้าที่เป็นอาจารย์นิเทศก์ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้อยทองที่จับรางวัลได้ นายกสมาคมไทยฯ บอกว่าราคาเกือบสี่หมื่นบาท ผู้จับรางวัลได้บอกว่าจะเอาไปทำบุญให้วัดอีกด้วย ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งได้ยิ่งให้

ชุมชนไทยร่วมร้องเพลงถวายพระพรชัยมงคลเมื่อวงดนตรีขึ้นเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีมหาราชามหาราชินี ปิดท้ายด้วยรายการเพลงลีลาศ ออกไปยืดเส้นยืดสายกัน พอสมควรแก่เวลา นับว่าการดำเนินงานสำเร็จด้วยดีด้วยความสมัครสมานสามัคคีกันของชุมชนไทยที่มีวัดไทยในเบย์แอเรียเป็นศูนย์รวมศรัทธาสืบต่อกันมา

การศึกษาของเด็กไทยผ่านไปอีกหนึ่งปี นับเป็นปีที่ 30 ของโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ภายใต้ชื่อใหม่ว่า ศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ – ศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิถีชีวิตของเด็กไทยเข้ากับสังคมปัจจุบันถึงรุ่นหลานแล้ว สังคมไทยคงจะเป็นไปตามวิถีไทย วิถีพุทธ ในงานดังกล่าวมีการจับรางวัลเด่น คือสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาท ผลปรากฎว่า กิ่งกาญจน์ สมิตามร ได้รับรางวัลนี้ จึงขอลงภาพผู้โชคดีผู้กล่าวไว้ ทันทีที่ได้ทราบผลรับรางวัลว่า จะนำไปทำบุญต่อไป ขออนุโมทนาในน้ำใจงามนามเพราะ กิ่งกาญจน์ สมิตามร กิ่งทองใบหยกของ มร.ลี เกียว เจ้าของธุรกิจส่งออกจากเมืองไทย กล้วยไม้นานาชนิด หลายงานการกุศลที่จัดให้สังคมในราคามิตรภาพ ขณะนี้นักธุรกิจไทยในอลาสก้า ซึ่งมีกิจการค้ากล้วยไม้มานานแล้วเช่นกัน กำลังติดต่อสายงานเพิ่มพลังการทำอาชีพของคนไทยให้สดใสเติบโตยิ่งขึ้น กล้วยไม้ไทยจะครองตลาดโลกต่อไป ขออวยพรล่วงหน้า


วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ กับ การศึกษาของเด็กไทย

งานสัมฤทธิบัตรของเด็กนักเรียน ผ่านไปอีกปีหนึ่ง นับเป็น 30 ปี แห่งความสำเร็จของชุมชนไทย ในภาคฤดูร้อน มีนักเรียน 3 ห้องได้แก่ชั้นอนุบาล 15 คน ประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 จำนวน 10 คน และห้อง 4 – 6 จำนวน 13 คน รวม 38 คน

พระธรรมวิเทศธรรมกวี ผู้อำนวยการโรงเรียนภาคฤดูร้อนวัดพุทธานุสรณ์กล่าวสัมโมทนียพจน์ว่า นักเรียนนับว่ามีความสำคัญยิ่งที่ได้มาฝึกอบรมซึมซับเอาความดีและความเป็นไทยไปจากวัดตามสมควรแก่อัตภาพ ขออนุโมทนาที่ครูมาลินี เกิดสมบูรณ์ (ครูน้อย) คูรกมลวรรณ คะเรรัมย์ (ครูป้อม) ครูวิลาวัลย์ คัดทะจันทร์ (ครูวิ) เป็นบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างดี นักเรียนกำลังอยู่ในวัยเป็นตัวของตนเอง กล้าคิดกล้าถาม แต่ถ้าไม่อยากตอบอยากพูด ก็อย่ามายุ่งนะ มีบางคนผู้เขียนเรียกว่า “ศิลปินเดี่ยว” เพื่อนเขากราบพระนั่งเป็นกลุ่ม หนูจะนั่งห่างสามวากราบเดี่ยว สวดมนต์เดี่ยว ห้ามยุ่งกับหนูเป็นอันขาด วัดผลว่าหนูรู้ไหม หนูรู้ตามห้องทุกอย่าง แต่ไม่อยากยุ่งกับใคร ถ้าผู้ใหญ่ทำแบบนี้ได้ก็จะดี สงบไม่ไปจ้องจับวุ่นวายไปทุกเรื่อง

ภาคฤดูร้อนสิ้นสุด แสงแดดจ้าสาดส่อง เสียงบ่นจากผู้ปกครองว่าทำไมปีนี้เร็วจัง เหมือนเพิ่งจะเริ่มรู้จักครู เด็กๆ อยากตามครูกลับเมืองไทย บ้างก็เคยไป บ้างก็ยังไม่เคย คงเป็นเพราะเกิดความคุ้นเคย ผูกพัน เพิ่งจะ “ปราบเซียน” หันความสนใจของเด็กเข้าสู่บทเรียนชำนาญขึ้น ศิลปินเดี่ยวเข้าร่วมวงสังคมมากขึ้น และรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้กับกลุ่มใหญ่

ในอาทิตย์สุดท้าย ผู้ปกครองต่างเช้ามาพูดคุยกับครูมากขึ้น ชื่นชมแสดงความขอบคุณ ไม่รีบไปรีบกลับ เรื่องที่คุยกับครู คือเรื่องเล่าถึงโรงเรียนของเด็กๆ กลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าวันนี้เรียนอะไร เล่าเรื่องของครูให้พ่อแม่ฟัง ครูวัดพุทธานุสรณ์ วัดซานฟรานธัมมาราม และวัดซีแอตเทิลพุทธวนาราม ฟังประวัติครูมาจากจังหวัดดังของภาคอีสานคือบุรีรัมย์ จนผู้เขียนต่อท้ายให้ว่าศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยบุรีรัมย์

ในการสังเกตทั่วไป ทั้งวัดเก่าวัดใหม่ของโครงการนับเป็นผลงานของชุมชนไทยทุกภาคส่วนที่เป้าหมายพุ่งตรงไปที่เด็กไทย คลื่นลูกที่ 3 ที่ หรือ 4 เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ เคยส่งลูกมาเรียนภาคฤดูร้อน ปีนี้ส่งหลาน นับเป็นผู้ปกครองตัวอย่างที่มุ่งมั่นพัฒนาความเป็นไทยให้เชื้อชาติไทยอย่างเข้มข้นครอบครัวหนึ่ง รายละเอียดดังได้อ่านกันในคอลัมน์ของเธอแล้ว