สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



รณรงค์เพื่ออัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทย

ผลการลงนามในปฏิญญาเซยู ประเทศฟิลิปปินส์ ประกาศจัดตั้งสมาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 ของผู้นำ 10 ประเทศ ว่าด้วยความร่วมมือ 3 ด้านคือประชาคมการเมืองและความมั่นคง (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASCC) เปิดโลกไร้พรมแดนในบริบทใหม่สู่โลกยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ การปรับเปลี่ยนมีความจำเป็นยิ่งที่ต้องเข้าใจในอัตลักษณ์ของภาษา มองลึกถึงที่มาของภาษาในภูมิภาคเอเซีย

ภาษาที่ใช้กันเป็นหลักในภูมิภาคนี้คือภาษาที่มาจากอินเดีย มาโดยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการค้าขายสินค้า ภาษาที่ใช้กันมากคือภาษามอญและขอม ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-17ท่ามกลางอำนาจของอาณาจักรขอม กัมพูชาและพุกามเป็นภาษาพม่าและไตตามยา เกิดการประสมทางวัฒนธรรม เป็นพัฒนาการทางสังคมของชนชาติ อาณาจักรขอมครองอำนาจยิ่งใหญ่ คำว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติที่แท้จริง แต่แสดงถึงลักษณะวัฒนธรรมตามพัฒนาการทางสังคมของชนชาติในบริเวณ ละโว้ อยุธยา พม่า มอญ ไทยล้านนา

จิตร ภูมิศักดิ์ ศึกษาข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม นำเสนอว่าชนชาติในบริเวณละโว้ – อยุธยา ไม่ว่าจะเป็นพม่า มอญ ไทยล้านนา เป็นเหมารวมเรียกว่า “ขอม” ทั้งสิ้น

ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนา พุทธศตวรรษที่ 20-21ว่าการสร้างเมืองหริภุญชัยของฤาษีวาสุเทพและเชิญพระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครองครั้งเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นการรวมชุมชนแคว้นสิบสองผู้ไท หรือสิบสองจุไท และสิบสองปันนามาจนสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น พญามังรายเป็นผู้เปลี่ยนแปลงฐานของชุมชนครั้งใหญ่ มีคำว่า “ขุน” เป็นหัวหน้า คำว่า “มัง” มาจากภาษาฯ มอญ-พม่า ฐานะเดียวกับ “ขุน” ในมังรายศาสตร์ กำหนดแรงงานทั้งหมดเป็นไพร่ ถูกควบคุมโดย นายสิบ นายห้าสิบ นายร้อย เจ้าพัน เจ้าหมื่น เจ้าแสน แบ่งที่ดินเป็นพันนา ตั้งลาวโคตรวงศ์ของพญามังราย ชนชาติไทยมี 2 พวก คือ ไทยใหญ่ ไทยน้อย ภาษามีลักษณะเป็นภาษาคำโดด (Monosyllabic Language) แบ่งภาคประธาน กริยา กรรม เป็นต้น

ต่อมาวัฒนธรรมจากอินเดียที่ค้าขายมาทางชวา มลายู รับเอา ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ตัวอักษรที่อินเดียรับมาจากพินีเซียน เขียนจากซ้ายไปขวา แบ่งพยัญชนะวรรคตามฐานที่เกิด ใช้จารึกบนแผ่นศิลาและโลหะเป็นอักษรที่มีอายุมากกว่าและน้อยกว่าอักษรสุโขทัย

ตรรกะความเท่าเทียมเสมอภาค มีหลายภาคส่วน ถ้าสับสนปนกันไป โดยใช้เกณฑ์ ความเท่าเทียมกันแบบไร้ระดับสูงต่ำ ดำขาว เสมือนโลกนี้มีแต่ที่ราบ ไม่มีที่ลุ่มที่ดอน ขอบเขินเนินเขา เหมือนนิ้วมือ ถ้าสั้นยาวเท่ากันหมด คงดูแปลก ความแตกต่างจึงต้องเป็นไปตามธรรมชาติ

ภาษาไทยก็เช่นกัน ภาษากับวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติเนื้อเดียวกันมีภาษาเสียง ภาษาพูด ภาษาเขียนลายลักษณ์อักษร มีคำสุภาพ ราชาศัพท์ ซึ่งมิได้ใช้เฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น ใช้ในครอบครัว ในทุกสถานที่เพื่อสร้างมนุษย์เป็นคนที่สมบูรณ์

“ศรีบูรพา” กล่าวว่า ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น

โรงเรียนต่างๆ ย่อมตื่นตัวที่จะพัฒนานักเรียนเต็มศักยภาพตามมาตรฐานสากล สร้างความเป็นเลิศเชิงคุณภาพความรู้บนพื้นฐานของความดี ตามคำขวัญ ความรู้คู่คุณธรรม ในปี พ.ศ. 2558 สังคมไทยจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ มีการแข่งขันสูงในระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง การเปิดเสรีทางการค้า การพัฒนาการจัดการศึกษานานาชาติตามทฤษฎีพัฒนศึกษาศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับคุณภาพด้านภาษาที่กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาเซียนที่จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้สามารถถ่ายโอนนักศึกษาตามการตกลงร่วมกันได้

อนาคตของภาษาไทย จึงมิใช่เน้นเฉพาะคำควบกล้ำ คำสแลง คำคล้องจอง ร้อยแก้ว ร้องกรองเท่านั้น คงต้องมองลึก กว้างไกล และใส่ใจที่จะรักษาภาษาในฐานะอัตลักษณ์ของเชื้อชาติ ผนึกวัฒนธรรมถิ่นไทยกับภาษาเสียง ภาษาถ้อยคำกิริยาวาจา ภาษาท่าทาง ภาษาลายลักษณ์อักษรในฐานะมรดกของชาติไทย ไม่ใช่มรดกไทย ซึ่ง ศ.หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ย้ำว่าอย่าลืมคำว่าของไทย มิฉะนั้นจะแปลว่าคนไทยตายแล้ว

ภาษาเป็นวัฒนธรรมของเชื้อชาติ ภาษากับวัฒนธรรมจึงเป็นเนื้อหนังของกันและกัน เป็นผืนแผ่นแกนประกอบซึ่งกันและกัน ความหมายของวัฒนธรรมที่มูลศัพท์หมายถึงภูมิธรรมแห่งความเจริญงอกงาม เป็นมรดกของสังคม เป็นความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม นิติธรรม ประเพณี พิธีกรรม อุปนิสัย รวมลงในคำว่าวิถีชีวิตแบบไทย

อัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทย ทำให้ครภาษาไทยไม่ถึงกับวิตกจนเกินไปกับศิษย์รุ่นต่างๆ ว่าจะทำให้ภาษาไทยเสื่อมโทรม ผิดเพี้ยนจนยากจะแก้ไข ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา กล่าวว่า “ภาษาของเยาวชน ไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของภาษาเฉพาะสมัย ซึ่งย่อมจะสูญหายตายไปตามกาลเวลา ปัญหาอยู่ตรงการออกเสียงควบกล้ำไม่ชัดเจนของคนไทยทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเด็ก ซึ่งนับวันจะแก้ไม่ไหวหรือหมดทางแก้”

กิจกรรมที่ครภาษาอาจจัด ที่เห็นทั่วไปมีเช่น หมอภาษา การใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษา ฝึกการออกเสียง ร ล เป็นต้น ศาสตราจารย์ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้ประพันธ์บทกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ดังนี้

ตัว ร ขอเรียกร้อง ให้ไทยผองช่วยณรงค์
ต่อชีพให้ยืนยง เป็นสมบัติวัฒนธรรม
ออกเสียงเพียงรัวลิ้น ให้ได้ยินชัดถ้อยคำ
เสียง ร ล ประจำ อย่าปะปนทนไม่ไหว
ลองคิดว่าสูญ ร สุดเศร้าหนอภาษาไทย
เสียงควบ ร ทั่วไป จักพลอยหายเสียดายเหลือ
เช่นเล่นไม่เป็น เลื่อง หมึกหมด เปื้อง เสียงสั่นเคือ
คัวใหญ่ไม่มีเกือ แกงลส ป่า น่าลำคาญ
คนลักแสนภักดี พูดอย่างนี้น่าสงสาร
อาจหาว่าเป็นพาล ลักข้าวของต้องอาญา
นักลบลบเพื่อชาติ เคยองอาจหมดสง่า
นักเลียนเพียรวิชา เลยถูกหาว่าล้อเลียน
บันเทิงลื่นเลิงใจ เหมือนเดินไปลื่นวนเวียน
รณรงค์ทั้งอ่านเขียน มาเถิดผองพี่น้องไทย


(ขออภัยจำได้เท่านี้ ยังมีต่ออีกราวสองบท)

ในภูมิภาคอาเซียน ถ้าเราไม่สงวนและพิทักษ์ภาษาไทยไว้ เยาวชนรุ่นต่อไปจะพูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น แล้วภาษาไทยจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อคนไทยไม่รู้ภาษาไทย อ่านประวัติศาสตร์ไม่ออก เขียนคำกลอนที่ไพเราะไม่ได้ เห็นภาพวัด ก็ไม่รู้ที่มาที่ไปของความคิดสร้างสรรค์แห่งศิลปะ ประเพณี อีกไม่ช้าก็จะเหมือนแร่ธาตุที่ถูกหลอมรวมลงเบ้าหลอม ไม่รู้จักโคตรเหง้าเหล่ากอของบรรพชน

ยิ่งพูด ยิ่งเขียน “ยิ่งเคียด” คำว่าเคียด แปลว่า เคือง โกรธ เคียดแค้น ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กไทย พูดคำว่า เครียด ไม่เป็นก็มี จึงเจ้าคิดเจ้าแค้น แบ่งกลุ่มแบ่งพวก ขาดความสามัคคีกลมเกลียวอย่างทุกวันนี้

อัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทย ที่เห็นชัดเจน ของจำแนกตามสระพื้นฐานทางวัฒนธรรม ดังนี้

1.เอกลักษณ์ไทย บ่งอัตลักษณ์คือลักษณะของครอบครัวไทย ประเพณีสงกรานต์ การบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาได้เห็นชายผ้าเหลือง การใช้ภาษาไทยจึงแตกต่างไปตามลำดับอาวุโส ใช้คำสุภาพที่มีความลดหลั่นชั้นเชิง ตามระดับสถานภาพของบุคคล คำสุภาพ คำราชาศัพท์ ซึ่งหมายรวมกันได้จึงบ่งท่าทีอ่อนโยน อ่อนน้อม มีลักษณะของความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุล แต่ปัจจุบันมันผันแปรวัดกันที่เงินตราฐานะ มากกว่าลักษณะ “ผู้ดี” ที่ได้รับการขัดเกลาอบรมบ่มนิสัยเป็นผลผลิตที่พ่อแม่อบรมบ่มนิสัยมา ปัจจุบันสำเนียงพูดของเด็กต่อผู้ใหญ่ ไม่ได้นอบน้อม อ่อนโยน มีโฆษณาแม่เรียกลูกอย่างอ่อนโยนให้รับประทานโจ๊ก ลูกชายบอกห้วนๆ เหมือนเสียไม่ได้ว่า “ก็ได้” ห้วน สั้น ไม่เหมาะสมที่จะเป็นบทสนทนา ในขณะที่โฆษณาบางอย่างก็ทำได้ดี เราจึงควรจะไม่รับประทานอาหารที่ลูกไม่มีสัมมาคารวะนั้น แต่ทุกวันนี้ทุกคนคุ้นเคยไม่รู้สึกอะไร

2.ศักดิ์ศรีของไทย ความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย คนไทยในต่างประเทศ แม้หลายคนจะได้สัญชาติต่างประเทศแล้ว แต่ความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของคนไทยไม่เคยจาง วัดไทยจึงเกริกตระการแผ่ไปทั่วโลก ชุมชนไทยผนึกกันเป็น Thai Town มีโครงการรักเมืองไทย พาเยาวชนมาเมืองไทย เปิดวิสัยทัศน์โลกยุคไร้พรหมแดน

3.ความมั่นคงของชาติ สถานภาพของคนไทยควรมีความมั่นคง ปลอดภัยไม่ถูกทำร้ายรายวัน นักสิทธิมนุษยชนต้องพิทักษ์คุ้มครองราษฎรผู้บริสุทธิ์ ไม่ให้ถูกทำร้ายรายวันโดยไม่ต่อต้าน เป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นฝ่ายถูกกระทำ เป็นเรื่องน่าสงสารที่จะต้องคอยถามประเทศอื่นว่าใครทำ ภาษาไทยควรมีอัจฉริยลักษณ์ที่จะแสดงความมั่นคงของชาติให้สมกับมีเอกราชและสิทธิสมบูรณ์ที่จะรักษาเสถียรภาพไว้

4.วัฒนธรรมในการใช้ภาษาตามกาลเทศะและฐานะของบุคคล สมัยก่อนโรงเรียนการประชาสัมพันธ์จะเปิดอบรมพิธีกรวิทยุโทรทัศน์ ถึงการใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสม การออกเสียง คำ เช่นเสียงวรรณยุกต์ เช่น ท่านผู้ฟัง ไม่ใช่ท้านผู้ฟัง คำลักษณะนามที่กระดักกระเดิด ลงกันไม่สนิท ฟังแล้วกระดักกระเดี้ย หมายความว่าไม่มีแรง ไม่ใคร่ไหว แปลตามพจนานุกรมหน้า 24


สักวาภาษาไทยใช้สื่อสาร

สักวาภาษาไทยใช้สื่อสาร
กิริยาอาการบ่งความหมาย
รสถ้อยคำสำเนียงภาษากาย
ทั้งหญิงชายเด็กผู้ใหญ่ได้อบรม
เอกลักษณ์อักษรภาษาเขียน
ทุกบทเรียนวัฒนธรรมนำผสม
อัจฉริยลักษณ์ภาษาค่านิยม
ศัพท์สังคมอาเซียนแลกเปลี่ยนเอย

ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ

รักนวลสงวนตัว

อย่าให้ใครดูถูกลูกผู้หญิง
อย่าทอดทิ้งเกียรติสตรีรู้ดีชั่ว
คุณธรรมนำทางสร้างครอบครัว
รู้รักนวลสงวนตัวไม่มัวเมา
เป็นพ่อแม่วิงวอนสอนลูกหลาน
ครูอาจารย์อย่ากลัวว่าหัวเก่า
วอนสังคมสมควรชวนแบ่งเบา
ช่วยผู้เยาว์เสริมสร้างแบบอย่างงาม

ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ