สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี
จดหมายจากศิษย์ถึงครู
กราบเรียน อาจารย์ประภาศรีที่เคารพ

หนูวิลาวัลย์ คัดทะจันทร์ ผู้ประสานงานครูอาสาภาคฤดูร้อน วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ค่ะ จากที่โรงเรียนภาคฤดูร้อนวัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2556 นั้น ตอนนี้โรงเรียนภาคฤดูร้อนมีนักเรียนทั้งหมด 33 คน ซึ่งตั้งแต่เปิดทำการสอน มีนักเรียนมาสมัครอย่างต่อเนื่องค่ะ ทำให้จำนวนนักเรียนยังไม่คงที่ค่ะ ซึ่งได้แจ้งทางโครงการฯ ผอ.พงษ์ลดาไปว่ามีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 40 คนค่ะ

และปีนี้มีนักเรียนกลับเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และจะกลับมาอีกทีช่วงประมาณสิงหาคม ซึ่งในเดือนสิงหาคมนั้นจะมีการจัดกิจกรรม กีฬาสีสัมพันธ์ในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม และวันรับสัมฤทธิบัตรในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556 ค่ะ

ขออนุญาตแนะนำครูอาสาภาคฤดูร้อน วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ มีทั้งหมด 3 คน

1. นางมาลินี เกิดสมบูรณ์ หรือ ครูน้อย ภูมิลำเนาจังหวัดปราจีนบุรี จบปริญญาตรีสาขาการประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (บางแสน)

รับราชการครูมา 25 ปี ปัจจุบันเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนวัดเกาะแดง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีประสบการณ์ในการสอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 โดยการจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ใช้สื่อ เกม เพลง ผ่านกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน ความสามารถพิเศษด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทย สามารถสอนรำวงมาตรฐาน รำกลองยาว รำเซิ้ง ขลุ่ย ความสามารถด้านอาหารไทย การสอนทำอาหารไทย คาว-หวาน ความสามารถด้านกีฬา วอลเลย์บอล และความสามารถด้านการประดิษฐ์ ได้แก่ การพับกระดาษ งานประดิษฐ์จากผ้า ริบบิ้นและใบตอง

2. นางสาวกมลวรรณ คะเรรัมย์ หรือ ครูป้อม ภูมิลำเนาจังหวัดบุรีรัมย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสังคมศึกษา ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มีประสบการณ์ในการสอน 18 ปี ปัจจุบันรับราชการ ตำแหน่งครูชำนาญการ ระดับ คศ. 2 ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระบุรี

สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ความสามารถด้านการสอน ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการละเล่นพื้นบ้าน การทำสื่อการสอน ศิลปะ งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีสู่ขวัญ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ การผลิตสื่อการเรียนการสอนจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การประกอบอาหารคาว-หวานไทย การจัดการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของไทย การประกอบพิธีการทางศาสนา สามารถจัดโต๊ะหมู่บูชา อาราธนาศีล อาราธนาธรรม อาราธนาพระปริตร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีไทย

3. นางสาววิลาวัลย์ คัดทะจันทร์ หรือ ครูวิ ภูมิลำเนาจังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ความสามารถด้านการสอน การจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมการพับกระดาษ สีน้ำ การร้อยลูกปัด การผลิตสื่อการเรียนการสอนจากธรรมชาติและวัสดุในท้องถิ่นสำหรับเด็กปฐมวัย กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เกม เพลง คำคล้องจอง กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทย การเล่านิทานและการผลิตหุ่นมือประกอบการเล่านิทาน กิจกรรมพลศึกษา กิจกรรมการประกอบอาหารไทย ขนมไทย

จึงขออนุญาตแนะนำครูอาสาภาคฤดูร้อน วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ในเบื้องต้นเท่านี้ค่ะ


ด้วยความเคารพอย่างสูง
วิลาวัลย์ คัดทะจันทร์
ครูอาสาภาคฤดูร้อน วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์

คุณวิลาวัลย์

ได้รับรายงานฉบับแรกแล้ว เป็นการแนะนำตนเองและเพื่อนๆ ครูก็เลยส่งต่อไปยังชุมชนไทย เพื่อจะได้ฝากศิษย์ทุกคนไว้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ ชาวไทย ชาววัดพุทธานุสรณ์ วัดนี้เป็นวัดที่สร้าง ปิยมิตรชิดใกล้ดุจพี่น้องผองเพื่อน คบกันมาจนคุ้นเคยราวญาติสนิทก็มี เป็นเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน จนเลิกถามแล้วว่าใครเป็นใคร สืบความไปยิ่งขยายขอบเขต แค่บอกกันคำเดียวว่ารู้จัก เป็นเพื่อนกัน ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างสุขสมบูรณ์พูนผล

คุณอยู่ที่นั่นมาเดือนหนึ่งเต็มๆ ช่วยเล่าถึงทักษะชีวิตที่ดำเนินไป มีจุดไหนที่เปิดวิสัยทัศน์ จากชีวิตดั้งเดิมเพิ่งจะได้มาพบมาเห็น ตรงไหนที่รู้สึกดี อบอุ่น เป็นประสบการณ์ตรงที่มีค่า หาที่ไหนไม่ได้ นอกจากที่คุณได้มาพบเช่นนี้ ตรงไหนที่ได้ใช้สิ่งที่อบรมมาตอนก่อนไปบ้าง เมื่อมาพบสถานการณ์จริง ได้ใช้ประโยชน์ หรือเรื่อยๆ ไม่มีอะไรพิเศษ หรือใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ รอวันที่จะได้กลับบ้าน คิดถึงบ้าน หรือมีคนที่คิดถึงเหลือเกินรออยู่ เป็นเรื่องปกติธรรมดา ย่อมเป็นเช่นนั้นเอง

ชีวิตการเป็นครู มีตารางสอน มีวันหยุด มีงาน งานและงาน งานของตนเอง ต้องเตรียมการสอน ระยะยาว ระยะสั้น ต้องสร้างหรือสอนตามหลักสูตร ต้องประเมินผลการเรียนและการสอน ทั้งโดย ตนเองและคนอื่นๆ ในสังคมรอบตัว คุณจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และทั้งศิลป์ ใช้ทั้งสิ่งที่เห็นเป็นจริงและ จินตนาการ งานครูเป็นศิลปวิทยา ศาสตร์ที่ลึกซึ้งไม่ตายตัว แตกต่างและเหมือน บางทีครูก็งงๆ จับต้นชนปลายไม่ค่อยจะถูก ชีพดำรงอยู่ได้ก็เพราะคำว่า “รัก” คำเดียวที่หล่อเลี้ยงเป็นกำลังใจให้ยืนหยัด และทระนง

จำนวนลูกศิษย์ของเราก็เป็นไปตามช่วงชีวิตของขุมชน บางช่วง บางเมืองที่ไปจัดการสอน เด็กโตกันยกกลุ่ม ที่ต้วมเตี้ยมตามกันมาก็ยังไม่เติบใหญ่พอที่จะเริ่มเข้าโรงเรียน บางแห่งพ่อแม่มีลูก โตคน เล็กคน คนโตเข้าห้องเรียน คนเล็กยังเดินต้วมเตี้ยม ยืนดูดนิ้วมือ ดูดหัวนมยางขวดนมจ๊วบๆ แล้วไม่กี่ปีต่อมาทั้งสองคนก็เรียนจบจากวัดไทย

ปีนี้ครูเกือบเสียภาพลักษณ์ที่พูดไม่ออกตอนพูดถึงหลวงเตี่ย ท่านรักชุมชนวัดไทยลอสแองเจลิส คำว่าลอสแอนเจลิส ราชบัณฑิตบัญญัตืให้ใช้ แอน แต่ชื่อวัดไทยลอสแองเจลิส เป็นวิสามานยนาม ชื่อเฉพาะ วัดไทยลอสแองเจลิส ภาพของหลวงเตี่ยกับชุมชนไทยที่ครูได้พบ ได้เห็น ได้ตระหนัก จึงกอปรด้วยคุณงามความดี เป็นภาพหมู่ชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเด็กไทยให้คงความเป็นสายเลือดไทย ภาษาถ่อมตนหน่อยก็ว่าไม่มากก็น้อย แต่ภาพที่ครูเห็นนั้น “มหาศาล” และไม่มีวันลดลง

ทุกคนที่ได้ปวารณาตนรับใช้งานสร้างเด็กไทยของท่าน ไม่มีใครตกต่ำเลยสักคน ไม่ว่าจะเป็น ท่านอาจารย์อำไพ สุจริตกุล ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ และรุ่นต่อๆ มา ที่ไม่ออกชื่อไม่ได้ คือ ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา ฯลฯ ทุกคนก้าวไปอย่างมั่นคงองอาจ ไม่หวาดหวั่น แข็งแกร่งด้วยกำแพงหัวใจที่มั่นคงตรงไปสู่จุดหมายเพื่อความเจริญของเด็กไทยที่พระสงฆ์ ผู้ปกครอง พี่น้องชาวไทยช่วยกันปั้นแต่ง สืบมาถึงผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการสอนฯ คนใหม่คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ลดา ธรรมพิทักษ์กุล

ครูเขียนมายาวแบบสารพันวรรณนา เขียนไปได้ทุกเรื่อง อ่านแล้ว จงก้าวหน้าเดินไปในสิ่ง ที่คนเป็น “ครู” ควรจะเดินไปสู่จุดหมาย คุณจะได้รับประสบการณ์ตรงที่ล้ำค่าและจะอยู่ในความทรงจำของคุณตลอดไป ส่วนใดที่สมปรารถนา ขอจงปีติสุข สิ่งใดที่พลั้งพลาด มนุษย์และสัตว์มีล้มลุกคลุกคลานเป็นเรื่องปกติ มันเป็นเช่นนั้นเอง พิจารณาตามความเห็นชอบ จะได้คำตอบให้ก้าวต่อไป ร้องเพลง ขออย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอแม้จะร้องไห้ จงลุกขึ้นสู้ไป เพื่อจุดหมายของเรา

สุดท้ายนี้ ครูมีจดหมายล้ำค่าฉบับหนึ่ง เก็บรักษาไว้นานแล้ว ผู้เขียนคือคุณแม่ชนิต สายประดิษฐ์ ภริยาของ “ศรีบูรพ” กุหลาบ สายประดิษฐ์ บิดามารดาของ นายแพทย์บุญศรีและแพทย์หญิงสุรภิณ ธนโสภณ จดหมายนี้คือรางวัลชีวิตของครูที่เห็นแจ้งแล้วว่าเป็นครูใครๆ ก็เป็นได้ แต่เป็นครูอย่างที่เป็น เกิดอีกกี่ชาติก็อยากเป็นครูแบบนี้แล