สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



วัดวอชิงตันพุทธวนาราม รัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล (ต่อ)

ขอใช้พื้นที่คอลัมน์ “สารพันวรรณนา” เปิดให้วัดวอชิงตันพุทธวนารามได้ออกข่าวสารสู่สายตาชาวไทยพุทธบ้าง เพราะเพิ่งเข้าร่วมจัดโครงการกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นปีแรก คณะสงฆ์มีดังนี้

1. พระวิบูลธรรมวิเทศ (2529-2556) เจ้าอาวาส

2. พระครูปลัดเผด็จศักดิ์ (2533-2556)

3. พระมหาชัยนาท กิตติปุณโญ

4. พระมหาชัยวัฒน์ มุนิรํโส

5. พระมหาอักษร จนฺทปญฺโญ

6. พระอำพันธ์ จกฺกธมฺโม

7. พระมาหชมภู ญาณวโร

คณะผู้ร่วมก่อตั้ง เกิดขึ้นเพราะชุมชนไทยมีความต้องการจะมีวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวพุทธ เกิดความศรัทธาเพราะคนไทยเราห่างวัดไม่ได้ แต่ก่อนมีสมาคมไทยมีคนไทยอยู่ไม่มาก เมื่อตั้งวัดขึ้น กลุ่มคนไทยก็มารวมกันที่วัด วัดแรกคือวัดวอชิงตันพุทธวนาราม วัดอตัมยาทาราม วัดวิชแลนด์ และวัดพุทธากูร ต่อมามีวัดพระธรรมกาย วัดวอชิงตันนี้จึงเป็นวัดที่ชุมชนเรียกว่า “วัดใหญ่” เริ่มแรก ปี พ.ศ. 2524 เป็นวัดไทยฝ่ายธรรมยุต

การบริหารวัดประกอบด้วยคณะกรรมการวัด พระสงฆ์ 2 รูปแรกที่จำพรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2525 คือ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโว จากสำนักสงฆ์ถ้ำสีแก้ว กุดบทสกลนครและพระครูนันทปัญญากรณี วัดบูรพาราม สุรินทร์

คณะกรรมการบริหารเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2526 ประธานคือ สมศักดิ์ มหกฤติยาธร ได้จัดซื้อที่ดิน 7.1 เอเคอร์ (17 ไร่) เลขที่ 4401 South 360th Street, Auburn, WA 08001 อยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร มีป่าไม้ล้อมรอบ มีสระน้ำ มีถนนผ่าน ห่างจากสนามบิน 15 ไมล์ ห่างจากดาวน์ทาวน์ 26 ไมล์ อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองทาโคม่ากับซีแอตเทิล

คณะกรรมการได้รับความร่วมมือจากศรัทธาชาวไทยพุทธ รวมทั้งชุมชนชาวลาว เขมร เวียดนามและอเมริกัน ในนามกรรมการพุทธสมาคมไทยแห่งรัฐวอชิงตัน นิมนต์พระสงฆ์ไทยชุดแรกจากเมืองไทย คือ พระวิมลศีลาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระประภัสสรมุนี ร้อยเอ็ด พระครูอาทรธรรมานุศาสน์ (พระมหาสมัย ธัมมาสโย) ต่อมาคือพระอมรมุนี จากวัดราชผาติการาม ซึ่งได้มาประจำอยู่วัดพุทธบูชา แอตแลนต้า จอร์เจีย และอีกคณะหนึ่งคือพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ (พระโพธิธรรมาจารย์เถระ) พระครูนันทปัญญาภรณ์ วัดบูรพาราม สุรินทร์ เดินทางมาดูกิจการพระพุทธศาสนา มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ชั่วคราว ต่อมาได้ตั้งเป็นวัดชื่อว่า “Washington Buddhawanaram” เพื่อตรงกับภาษาไทยว่า “วัดวอชิงตันพุทธวนาราม” มงคลนามประทานจากเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระอมรมุนีได้นำสร้างวัดบนที่ดินใหม่ ซึ่งนอกจากคณะกรรมการบริหารวัดแล้ว ยังมีพุทธศาสนิกชนร่วมด้วยอีกมากเช่น ณรงค์ สูตรสุคนธ์ อารักษ์ สุวรรณฤทธิ์ กมล เยสุวรรณ ประสิทธิ ชิณคำ จำลอง แซมสัน อ๊อด สิริสิน ฯลฯ

ปี พ.ศ. 2528 – 2534 ธนายุทธ สุตัณตวบูลย์ (เก้ง) เป็นสถาปนิกออกแบบศาลาทรงไทยจตุรมุข 2 ชั้นโดยไม่คิดค่าออกแบบ มีภริยาคือ วรนุช เป็นผู้ดำเนินการสำคัญตลอดการสร้าง มีชาวพุทธสมทบบริจาคจนเสร็จสมบูรณ์ปี พ.ศ. 2535 ใช้เงินประมาณ 96 ล้านบาท มีบริเวณสวยงามกว้างขวาง เงียบสงบ มีที่จอดรถได้ประมาณ 150 คัน เมื่อพระอมรมุนีมรณภาพ พระอาจารย์บุญเลี้ยง ปุญญรักขิโต ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระวิบูลธรรมวิเทศ เป็นเจ้าอาวาสปัจจุบัน มาจากวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร วัดวอชิงตันพุทธวนารามนี้ นิยมเรียกกันว่า “วัดใหญ่” ได้เริ่มเข้าโครงการเปิดสอนภาษาไทย ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นปีแรกใน พ.ศ. 2556 นี้ มีครูมาสอนภาคฤดูร้อนจากเมืองไทยคือ สุพัตรา สมานประธาน และอาทิตยา จันทร์สองสี อาจารย์นิเทศก์ คือ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ เป็นผู้มอบสัมฤทธิบัตร นักเรียนรุ่นแรกของวัดนี้

นับว่าวัดวอชิงตันพุทธวนารามเป็นวัดที่ประสบความสำเร็จในการเปิดสอนเยาวชนไทยโดยมีพลังศรัทธาจากชุมชนที่เข้มแข็ง มีพุทธศาสนิกชนเช่น วิชัย-ปิยะมน เลขะกุล จูลี่ Honeck ฯลฯ ล้วนเป็นศิษย์ของท่านเจ้าอาวาสในกิจกรรมทุกอย่างในวัด รวมทั้งสาธุชนที่มาช่วยกันเปิดโรงทานในงานเทศน์มหาชาติ ทำให้เห็นการทำกิจกรรมหลากหลายในวัด โดยมีท่านเจ้าอาวาสเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทั้งมวล นับว่าเป็นวัดที่ประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนของเยาวชนไทยทั้งจากฝีมือของครูของโครงการ และครูในท้องถิ่นที่มาร่วมด้วยช่วยกันอย่างดียิ่ง