สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



เล่าเรื่องราวชาวจามจุรี

คุณธำรง วัฒนะคีรี นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งแคลิฟอร์เนีย บอกกับผู้เขียนว่า มาอยู่สหรัฐอเมริกาใช้ชีวิตทำงาน อยู่ในสังคมอเมริกันมากกว่าสังคมไทย มีภริยาก็เป็นชาวอเมริกัน แต่ขณะนี้แม้จะยังมีงานมากมาย เขาก็ยังสามารถเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แห่งแคลิฟอร์เนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียนจะได้รับทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมอย่างต่อเนื่องจากคุณประสมศรี สถาปัตยานนท์ นิสิตเก่าของคณะครุศาสตร์สมัยที่ภาควิชาพยาบาลยังอยู่ในสังกัด และตั้งแต่สมัยที่ผู้เขียนได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร สมาคมนี้ได้กรุณาจัดแสดงความยินดีให้ที่ไทยแลนด์พลาซ่า เช่นเดียวกับคณะสงฆ์วัดไทยลอสแองเจลิสจัดให้ที่วัดไทย ควันหลงจากงานวันนั้น มีนิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์คนหนึ่งมาร่วมงาน คือคุณสมศักดิ์ กูรมะโรหิต แล้วชวนผู้เขียนไปชมไร่ของเขาที่เฟรสโน่ บัณฑิตนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชนอยู่กับผักผลไม้นานาชนิด คุมคนงานในไร่ และอย่าได้ชี้ชวนอะไร คุณสมศักดิ์จะจอดรถลงไปเก็บมาให้ จัดลงกล่องนำไปให้วัดพุทธานุสรณ์เป็นที่ประทับใจของเพื่อนๆ ผู้เขียน นี่แหละน้ำใจน้องพี่สีชมพู ว่าแต่ไร่ที่เม็กซิโกเมื่อไรจะชวนไป แต่สงสัยจะไปไม่ไหวแล้ว

ความผูกพันของสาถาบันมีความเป็นมาจากประวัติความซาบซึ้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า

ขอขอบคุณคุณพิสุทธิอาภรณ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ สมเด็จพระปิยมหาราช ดังต่อไปนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม ทรงพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” คำว่าจุฬาลงกรณ์นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึงพระเกี้ยว ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฏหรือยอดชฎา พระองค์ทรงมีพระนามที่สมเด็จพระชนกนาถเรียกขานโดยเฉพาะว่า “พ่อใหญ่” และทรงมีพระนามที่ประชาชนได้ถวายแด่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ประชาชนรักยิ่งนักว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีของพระมหากษัตริย์โดยครบถ้วนและบริสุทธิ์ทุกประการ สมที่ทวยราษฎร์เคารพสักการะเสมอด้วยพระพุทธเจ้าถึงกับถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” พระองค์ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู เบญจศก ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสแห่งพระบาทสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมพร้อมกัน ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันติวงศ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในปี พ.ศ. 2411 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา เจ้านายเสนาบดีผู้ใหญ่ร่วมด้วยคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ได้ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหมดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อจะได้ช่วยราชการ แบ่งเบาพระราชภารกิจหน้าที่ปกครองบ้านเมืองไปจนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ 20 พรรษา

นี่คือที่มาของพระสมัญญา สมเด็จพระปิยมหาราช ต่างจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยใช้ว่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอยู่นาน จนนักประวัติศาสตร์ค้านว่าเป็นวิสามานยนาม พระนามเดิมของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จะต้องมีการันต์ด้วย

ผลงานเด่นของสมาคมนี้เห็นเป็นรูปธรรมคือการสร้างพระบรมรูปสองรัชกาลของพระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้แล้วหนึ่งรัชกาล คือรัชกาลที่ 5

พระราชปณิธานด้านการศึกษา คือกำเนิดของโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะพัฒนาไปสู่ปวงราษฎรคือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยความกตัญญูกตเวทิตาของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีต่อพระราชบิดา จึงทรงสืบสานจนถึงวันสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ดังนั้นนิสิตเก่าจุฬาฯ นำโดย ศาสตราจารย์ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ จึงระดมทุนบริจาคสร้างพระบรมรูปสองรัชกาล ประดิษฐานเป็นเครื่องหมายแห่งความกตัญญูกตเวทิตาของชาวจุฬาฯ ทั่วราชอาณาจักร สมเนื้อเพลงที่ว่า ...ทั่วราชอาณาจักร มีเราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ ....นอกราชอาณาจักร ก็มีเราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วนก็ควรจะแสดงความกตัญญูถวายแด่รัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกัน

นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อาจารย์สวัสดิ์ จงกล เคยเล่าเรื่องความสำคัญของเสื้อครุยปริญญาพระราชทานไว้ดังนี้ ชาวจุฬาฯ ควรรับทราบไว้โดยเฉพาะว่าเสื้อครุยปริญญาพระราชทาน

ครุย หมายถึง เสื้อคลุมเกียรติยศ ใช้สวมทับเครื่องแบบเต็มยศเพื่อสวมในงานพระราชพิธีที่มีหมายกำหนดการให้สวมใส่ ให้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเสื้อครุยไว้หลายฉบับ กำหนดให้เสื้อครุยพื้นสีทอง พื้นเหลือง พี้นสีขาว จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุย พ.ศ. 2454 กำหนดเสื้อครุยข้าราชการไว้ 2 ชั้น เรียกว่าตราพระราชกำหนดเสื้อครุย พ.ศ. 2454 กำหนดเสื้อครุยข้าราชการไว้ 2 ชั้น เรียกว่าเสื้อครุยเสนามาตย์ชั้นตรี โท เอกและครุยวิทยาฐานะสำหรับมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยชั้นสูง มีใช้ครั้งแรกคือเสื้อเนติบัณฑิต

พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่าครุยพระราชทานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโดยผ้าโปร่งสีขาว ผู้มีสิทธิ์ใช้ครุยต้องเป็นผู้มีตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คนทั่วไปจะใช้ไม่ได้ ยกเว้นเจ้านายสวมในพิธีอุปสมบท แต่จะมีการประดับตกแต่งเลียนแบบครุยข้าราชการหรือผู้มีสิทธิ์สวมตามกฎหมายไม่ได้

ครุยมี 4 ประเภท คือ ครุยพระราชวงศ์ ครุยบรรดาศักดิ์ ครุยตำแหน่ง และครุยวิทยฐานะพระราชทาน อาจารย์สวัสดิ์บอกว่า ครุยของจุฬาฯ ตามพระราชกำหนดเสื้อครุยบัญฑิตจุฬาฯ พ.ศ. 2473 มี 2 แบบคือครุยวิทยฐานะกับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเป็นแบบหลักของครุยพระราชวงศ์ ต่อมา พ.ศ. 2522 มีตราพระราชบัญญัติกำหนดครุยกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับครุยคณาจารย์ มีตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญา อักษรย่อสาขาวิชา ครุยจึงแตกต่างจากเสื้อคลุมวิทยฐานะดังนี้แล ลูกหลานใครเป็นบัณฑิตจุฬาฯ มีวงดอกไม้เหมือนชาวเกาะฮาวายวันบัณฑิตรีบเอาออกเสีย

ล่าสุดเรื่องที่น่าภูมิใจที่นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แห่งแคลิฟอร์เนียส่งมาดังนี้

ในนามของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ผมขอแสดงความยินดีและความภาคภูมิใจที่ คุณวณิชย์ ธีระวณิชย์ นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ เหมืองแร่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 2516 ได้รับจดหมายจาก DEPARTMENT OF THE TREASURY, BUREAU OF ENGRAVING AND PRINTING ของสหรัฐอเมริกา ชมเชยและตอนรับความเห็นของคุณวณิชย์ ซึ่งกำลังนำไปใช้กับการพิมพ์ธนบัตร $100 ใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร ผมอยากให้พวกเราเขียนจดหมายหรือ Email ไปแสดงความยินดีกับคุณวณิชย์ที่ nick90072@yahoo.com ครับ ผมหวังว่าจะได้พบพวกเรา นิสิตเก่าจุฬาฯ ที่งานจุฬาฯ สังสรรค์ วันเสาร์ที่ 9 พ.ย. นี้ เวลา 18.00 น. ครับ ด้วยความเคารพ ลงนาม ธำรง วัฒนะคีรี

คุณประสมศรี สถาปัตยานนท์ กรรมการที่ปรึกษาสมาคมฯ บอกว่า “เมื่อได้รับทราบและได้เห็นจดหมายก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก พวกเราคนไทยก็คงจะปลื้มใจที่ความคิดของคนไทยมีผลตอบรับสมกับเนื้อเพลงที่ว่า (ฉบับแปลง)

“นอกราชอาณาจักร มี “เรา” เป็นหลักอยู่ แต่ละส่วน ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ พร้อมกันอภิรักษ์ พิทักษ์ให้อยู่คู่ฟ้า” ..... ร้องได้แค่นี้ นายกสมาคมจุฬาฯ ช่วยหาเพลงจุฬาฯ มาฝึกร้องกันหน่อย ไปงานจุฬาฯ มิดแอตแลนติก ฟังชาวธรรมศาสตร์ออกไปร้อง “ธรรมศาสตร์-รักกัน ๆ” ก้องอยู่เพราะดูยังกระฉับกระเฉงดีทุกคน จุฬาฯของเราไม่รู้หนุ่มสาวหายไปไหนที่มากันรุ่นก่อตั้งวัดไทย ธรรมศาสตร์รักกัน จุฬาฯก็รักธรรมศาสตร์ ปีหน้ามาใหม่นะพี่น้อง

อนึ่ง มหาวิทยาลัยได้ออกเอกสาร “ข้อเท็จจริงกรณีที่ดินจุฬาฯ เพื่อการพัฒนาการศึกษาก้าวรุดหน้าสู่นานาชาติ ความว่าที่ดินของจุฬาฯ นั้นมีพื้นที่ขนาด 1153 ไร่ ได้จัดแบ่งตามผังแม่บท 3 ส่วน คือพื้นที่การศึกษา 50% พื้นที่ส่วนราชการยืมหรือเช่าใช้ ประมาณ 20% และพื้นที่เขตพาณิชย์ 30% ซึ่งการจัดหาผลประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักได้นั้น จำเป็นต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2482 จีงมีพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ที่ดินโอนให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการพัฒนารอบด้าน รายได้ที่ได้จากการพัฒนาโครงการพื้นที่เขตพาณิชย์นั้น นำไปสนับสนุนด้านการศึกษา

-งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อช่วยตอบโจทย์สำคัญให้กับประเทศ ช่วยแก้ปัญหาสังคมทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการต่อยอดงานวิจัยสู่ภาคเอกชน และอุตสาหกรรม

-งานบริการเพื่อสังคม : ทั้งชุมชนรอบจุฬาฯ และสังคมภายนอก

-ทุนการศึกษา : ประมาณ 12,000 ทุน (450 ล้านบาท)

-พัฒนาการจัดการศึกษาและพัฒนานิสิต : สื่อการสอนเครื่องมือการเรียนการสอนและการวิจัย ด้าน ICT ด้านดนตรีและด้านกีฬา

-พัฒนาอาจารย์และบุคลากร : ส่งเสริมศักยภาพการเรียนการสอนและงานวิจัย

-ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และบำรุงสถานที่สำคัญ

ในกรณีกรมพลศึกษาและโรงเรียนปทุมวัน สังกัด กทม. ซึ่งได้เช่าพื้นที่จากจุฬาฯ นั้น ได้ผ่านการเจรจาร่วมกันจนเป็นที่เข้าใจยุติเรียบร้อยแล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อวงการศึกษาและสังคมไทย อธิการบดีคนปัจจุบันคือ ศาตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล ได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2