สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



วัดวอชิงตันพุทธวนาราม รัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล (ต่อ)

อยู่กับเด็กๆ และครูอาสาวัดไทย เห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาแล้วรู้สึกปีติ ปลื้มใจกับพระธรรมทูตทุกวัดที่ท่านสามารถเผยแผ่พุทธศาสนา ปลูกฝังเด็กไทยหัวใจพุทธประสบความสำเร็จแบบยั่งยืนน่าชื่นใจทุกฝ่าย เด็กจะเติบโตไปสร้าง Thai Town ให้มั่นคงสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้งอกงามสืบไป

ประวัติซานฟรานธัมมาราม

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ได้เดินทางมาเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 หลังจากท่านได้กลับมาโปรดคณะลูกศิษย์ที่นี่หลายครั้ง ท่านได้ปรารภว่า ในเมืองซานฟรานซิสโกมีบุคคลผู้สนใจ และมีบารมีพร้อมในการรู้เห็นตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีวัดไทยที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองจึงเห็นสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่คณะลูกศิษย์ และประชาชนที่นี่ต่อไปโดยในลำดับแรกได้ใช้บ้านของแม่ชีศรัญญา เทียนเงิน ในเขตเมืองเซาท์ซานฟรานซิสโก เป็นสถานที่จัดอบรมปฏิบัติธรรมชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 คุณรัตติมา จินตนโรจน์ ได้ถวายบ้านเลขที่ 473 11th Ave ที่อยู่ในเขตตัวเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อให้เป็นที่ตั้งวัดชั่วคราว ดังนั้น วัดซานฟรานธัมมารามจึงได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ในปีเดียวกัน โดยมีพระเทพสารมุนี (หลวงพ่อเพชร สารธมฺโม) และหลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ เป็นประธานในการเปิดงาน แต่เนื่องจากตัวอาคารนี้ยังมีลักษณะบางประการไม่เหมาะสมกับการตั้งวัดตามความประสงค์เดิมของหลวงพ่อ คณะศิษย์จึงได้ใช้เวลาหลายปีเก็บรวบรวมทุนทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปี พ.ศ. 2551 คณะศิษย์ KPY USA นำโดยแม่ชีศรัญญา เทียนเงิน สามารถผ่อนซื้อบ้านเลขที่ 2645 Lincoln Way โดยมีคุณอาร์โนลด์ เทียนเงิน เป็นผู้ดูแลในการปรับปรุงตัวอาคารให้เหมาะสมกับการจัดตั้งเป็นวัดไทย แม้ว่าตัวอาคารและที่ดินจะมีราคาสูงถึง 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อยู่ในทำเลที่เหมาะสมและมีลักษณะถูกต้อง ตามระเบียบคณะสงฆ์ทุกประการ ดังนั้น ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 วัดซานฟรานธัมมาราม จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว และได้รับอนุญาตให้เป็นวัดตามระเบียบของคณะสงฆ์ธรรมยุตอันดับที่ 50 ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในวันนั้นตรงกับวันที่หลวงพ่อทูล ผู้ก่อตั้งวัด ได้ละสังขารที่ประเทศไทย ในปัจจุบันวัดซานฟรานธัมมารามเป็นวัดไทยเพียงวัดเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองซานฟรานซิสโก อันเป็นศูนย์รวมพุทธศาสนิกชนในเขตเบย์เอเรียที่สนใจศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามแนวคำสอนของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ


วัดซานฟรานธัมมาราม
2645 Lincoln Way, San Francisco, CA 94122 Tel. 415-753-0857 ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2545 โดย พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านค้อ

คณะสงฆ์
1. พระณัฐ ณฏฺฐปญฺโญ รักษาการเจ้าอาวาส
2. พระปลัด อาร์โนล์ด อานนฺทปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
แม่ชี
1. แม่ชีศรัญญา เทียนเงิน
2. แม่ชีอิ่ม ทองไพบูลย์

วัดซานฟรานธัมมาราม ร่วมกับโครงการการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการโรงเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ภาคฤดูร้อน ประจำปีพ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 3 มิถุนายน – 17 สิงหาคม โดยมีกิจกรรมมอบสัมฤทธิบัตรในวันที่ 17 สิงหาคม

ครูอาสาสมัคร
ครูอนงค์ จิตรมณี (ครูน้ำอ้อย)
การศึกษา
ปริญญาโท : ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาตรี : ศึกษาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
หน้าที่ : ครูสอนภาษาไทย และดนตรีไทย

ครูจินดานุวรรธน์ บำรุงเจริญ (ครูชาย)
การศึกษา
ปริญญาโท : ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปริญญาตรี : ศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปริญญาตรี : ศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หน้าที่ : ครูสอนภาษาไทย และดนตรีไทย

รู้สึกประทับใจกับการต้อนรับและการดูแลที่ดีจากสมาชิกวัดซานฟรานธัมมารามทุกท่าน และในฐานะที่ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูอาสาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อมอบความรู้ สานสร้างความเป็นไทย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียน ซึ่งเล็งเห็นว่า วัดไทยที่อยู่ในต่างประเทศนั้น เป็นสถานที่พักพิงทางจิตใจ รวบรวมกลุ่มคนชาวไทยและน้อมนำให้ทุกคนมีแนวทางปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร และการที่มีโรงเรียนวัดขึ้นนั้นก็สำคัญ เด็กๆ ได้มาฟัง พูด อ่าน เขียนเรียนภาษาไทย ได้มาเล่น มาร้องเพลง ฝึกรำ ฝึกดนตรีไทย ทำให้เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมไทยในตัวเด็กไม่มากก็น้อย

....ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้ ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา
ซึ่งผลิตดอกออกผลแต่ต้นมา รวมเรียกว่าวรรณคดีไทย
อนึ่งศิลป์งามเด่นเป็นของชาติ เช่นปราสาทปรางค์ทองอันผ่องใส
อีกดนตรีรำร่ายลวดลายไทย อวดโลกได้ไทยแท้อย่างแน่นอน
และอย่าลืมจิตใจแบบไทยแท้ เชื่อพ่อแม่ฟังธรรมคำสั่งสอน
กำเนิดธรรมจริยาเป็นอาภรณ์ ประชากรโลกเห็นเราเป็นไทย...

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณหลวงพี่ณัฐ หลวงพี่อนันต์ แม่ชีอิ่ม แม่ชีโย และสมาชิกชาวเด็กวัดซานฟรานธัมมารามทุกท่านที่มอบความรู้และประสบการณ์ชีวิตในครั้งนี้ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


ครูศวิตา ไล้ทอง (ครูติ๊งตั่ง)
การศึกษา
ปริญญาตรี : วิทยาศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้าที่ : ครูสอนภาษาไทย และนาฏศิลป์

ขอบคุณจากใจ ครูอาสารุ่นที่ 3
ครูอนงค์ จิตรมณี (ครูน้ำอ้อย)

ขอบคุณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยสานฝันผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ได้มีโอกาสทำหน้าที่ครู อาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ขอบคุณ สายการบิน Korean Airline ที่พาข้าพเจ้ามาถึงจุดหมายปลายทาง โดยสวัสดิภาพ

ขอบคุณ หลวงพี่ณัฐ ที่คอยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ทุกปัญหาตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าได้อยู่ที่นี่ และขอบคุณทางวัดซานฟรานธัมมาราม ที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้มาทำหน้าที่ ครูอาสาสอนเด็กๆ ที่นี่ค่ะ

ขอบคุณ หลวงพี่เนะ ที่ให้ความรู้ในเรื่องธรรมะ การทำอาหาร การเรียนภาษาอังกฤษ ฯลฯ

ขอบคุณ ขอบคุณแม่ชีโย แม่ชีอิ่ม ที่ความรัก ความเมตตา และสอนให้ข้าพเจ้ารู้จักการมองที่ใจของตัวเองมากขึ้น

ขอบคุณ ครูชาย ที่อยู่เป็นเพื่อนกันไม่ว่ายามทุกข์ และยามสุข

ขอบคุณ คุณกิและน้องถิง ที่อาสามารับพี่อ้อยและพี่ชายที่สนามบินซานฟรานซิสโก ถึงแม้ว่าจะเป็นการรอคอยที่ยาวนานก็ตาม

ขอบคุณ คุณเอมี่, ครูโอ๊ต ที่ช่วยหาผ้าห่มและเสื้อกันหนาวมาให้ค่ะ

ขอบคุณ ครูบอล, ครูแม็ค ครูอาสารุ่นที่ 29 ที่คอยให้คำแนะนำตลอดในช่วงเวลาที่เราได้อยู่ด้วยกัน

ขอบคุณ น้าหน่อย, คุณนิชา และเด็กวัดทุกๆ คนที่ให้การต้อนรับอันแสนอบอุ่น คอยห่วงใย และมอบความสุขให้กับข้าพเจ้าตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าได้อยู่เมืองซานฟรานซิสโก (ชอบมากกิน เที่ยว ตลอดเลยค่ะ)

ขอบคุณ แม่วิ, ป้าวัน, พี่ณัฐ, ป้าเกษร และอาม่าคิ้ม ที่มอบความรัก ความรู้และคำแนะนำต่างๆ เรื่องการทำอาหารไทย

ขอบคุณ ญาติธรรมทุกคนที่มอบรอยยิ้มอันสดใส ให้ทุกครั้งที่เราได้มีโอกาสเจอกันที่วัดซานฟรานธัมมาราม

ขอบคุณ มิตรภาพอันแสนอบอุ่นที่ผู้ปกครองมอบให้คุณครูค่ะ

ขอบคุณ เด็กนักเรียนทุกคนที่ให้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ขอบคุณ น้องติ๊งตั่ง ที่อยู่เคียงข้างกันเสมอค่ะ

สุดท้าย ขอบคุณ กำลังใจจากพ่อ แม่ พี่ น้อง และลูกชายอันเป็นที่รักยิ่งที่อนุญาตให้คุณแม่ได้มาทำหน้าที่อันเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวจิตรมณี

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้จะอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าตลอดไป


สารจากหัวหน้าคณะสงฆ์ วัดซานฟรานธัมมาราม
โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย
พระณัฐ ณฏฐปญฺโญ

เป็นวัดไทยที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย วัดซานฟรานธัมมาราม ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีหลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ อดีตเจ้าอาวาส วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2545 เหตุที่หลวงพ่อทูลได้ดำริให้มีการสร้างวัดไทยที่เมืองนี้ ก็เพราะเมืองซานฟรานซิสโกเป็นเมืองใหญ่ และมีคนไทยเดินทางมาเรียนหนังสือ ทำงาน และพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนไทยที่นี่มักจะอยู่ห่างไกลจากครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ และศาสนา ทำให้ขาดที่พึ่งทางใจ และโอกาสในการเรียนรู้ขนมธรรมเนียมประเพณีไทย

ด้วยเหตุนี้ วัดซานฟรานธัมมารามจึงได้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้เป็นหลักที่พึ่งทางใจสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย และคนท้องถิ่นผู้มีความสนใจ รวมถึงเป็นศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เพื่อปลูกฝังขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ให้แก่ลูกหลานชาวไทยที่ได้เกิดและพักอาศัยอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโกและเมืองใกล้เคียง

ในปีพุทธศักราช 2554 วัดซานฟรานธัมมาราม ได้ร่วมมือกัลศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนภาษาไทย ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย ในภาคฤดูร้อน ประจำปี เป็นครั้งแรก โดยได้เชิญคณะครูอาสาจากศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย มาปฏิบัติการที่วัด ภาคการศึกษาละ 2 คน การเรียนการสอนประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี มีลูกหลานชาวไทยและคนท้องถิ่นสนใจสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก หลังจากจบการศึกษาในแต่ละภาคเรียน นักเรียนมีการพัฒนาทางด้านทักษะการพูดและเขียนอ่านภาษาไทย และมีความสามารถและความชำนาญในการเล่นดนตรีไทยมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน


สารจากคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะครุศาสตร์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 หลังจากแยกแผนกวิชาครุศาสตร์ซึ่งสังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น ออกมาเป็น คณะครุศาสตร์ โดยมีอาจารย์พูนทรัพย์ ไกรยง (ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้นเป็นคณบดีท่านแรก และในปี พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนจากแผนกวิชา เป็นภาควิชา สาขาวิชา และศูนย์ต่างๆ รวมทั้งได้ริเริ่มโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2527 ตามที่พระเทพโสภณ (หลวงเตี่ย) ประธานกรรมการวัดไทยใน ลอสแองเจลิส (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตร อดีตรองเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราช วรมหาวิหาร) ได้ขอความร่วมมือมายังคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยจัดการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นทางวัดไทยลอสแองเจลิสเปิดโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาและภาษาไทยในวันอาทิตย์อยู่แล้ว แต่เพื่อให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง พระเทพโสภณ จึงดำริให้เปิดสอนภาคฤดูร้อนขึ้น ความดังปรากฎในสัมโมทนียกถาของหลวงเตี่ย เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยตั้งแต่แรกเริ่มของวัดไทยลอสแองเจลิส

ศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ – ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นปีที่ 30 โดยมีปูชนียาจารย์ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทั้งผู้ก่อตั้งให้ความดูแลช่วยเหลือ แนะนำมาตลอดได้แก่ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ศาสตราจารย์ กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศาสตราจารย์ ประภาศรี สีหอำไพ และรองศาสตราจารย์ ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยฯ จัดว่าเป็นหน่วยงานที่จัดงานด้านการศึกษามาโดยเฉพาะ และได้จัดครูอาสาไปสอน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นโครงการที่ได้สื่อสารสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะครุศาสตร์ กับวัดไทยลอสแองเจลิส และวัดไทยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสืบสาน และสืบทอดต่อเจตนารมณ์ทางด้านคุณค่า ภาษา ศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม และประเพณีไทยให้กับเยาวชนไทยโดยตรงในการศึกษา การเรียนรู้ การเข้าร่วมอบรมกิจกรรมต่างๆ ที่ครูอาสาสมัครจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวแทนในการเผยแผ่การสอน การถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ที่สร้างสรรค์อย่างมีคุณค่าและจรรโลงจิตใจให้กับเยาวชนไทยในต่างแดนและภูมิใจในความเป็นไทย อนึ่ง การเดินทางมาสอนของครูอาสาสมัคร ก็จะได้รับประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่าทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากท้องถิ่นสู่ชุมชนทั้งของไทยและในต่างแดน และจะทำให้โครงการสอนภาษาไทยนี้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับต่อสังคมในประเทศและต่างประเทศต่อไปในอนาคตข้างหน้า

ในโอกาสนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยในสากลโลก คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง อำนวยพรแด่ทุกท่านจงได้รับความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ความก้าวหน้าตลอดไป และขอให้โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกา ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการต่อไปด้วยชื่อเสียง ความเจริญงอกงาม ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นในจตุรพิตรธรรมด้วยประการทั้งปวง


รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง
คณะบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


คำปราศรัย ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ
ที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมการสอนภาษาไทยฯ
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์นิเทศก์

นมัสการ พระอาจารย์ณัฐ ญฐปัญฺโญ และพระอนันท์ อนนฺทปญฺโญ

การเรียน แม่ชีศรัญญา เทียนเงิน แม่ชีอิ่ม ทองไพบูลย์ และท่านผู้อาวุโสชุมชนไทย

สวัสดีพี่น้องชาวไทย ชาวอเมริกัน เอเชียน และชาวโลก

ในยุคเปิดประตูสู่อาเซียน ทั้งทางสังคมวัฒนธรรม ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในภูมิภาคพระพุทธศาสนาสองประทีปวิถีพุทธ วิถีไทย แม้อยู่ไกลวิสัยทัศน์ก็แจ่มกระจ่างด้วยปัญญา พลังสำคัญที่เป็น “จิ๊กซอ” ของกรอบเดียวกัน จะขาดส่วนใดมิได้ ได้แก่ พลังนำพระธรรมจักร คือพระธรรมทูต พลังรัก สายเลือดไทย ได้แก่ คณะกรรมการวัด ผู้ปกครอง ชุมชน พุทธศาสนิกชน และ ไทย-อเมริกันทั่วไป กับบุคคลสำคัญที่สุดคือเด็กที่สืบสายเลือดความเป็นไทย เป็นคลื่นลูกที่สาม พลังต่อไปคือพลังน้ำใจครูอาสา

สังคมไทยในชุมชนโรงเรียนวัดไทยรัฐต่างๆ ที่ไปจัดการเรียนการสอนมีลักษณะเคลื่อนไหวในแต่ละรัฐต่างช่วงเวลากัน บางรัฐมีเด็กมาเรียนมากแล้วค่อยๆ ลดลง บางแห่งมาเรียนน้อยแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามเสียงเล่าลือจากการสอนที่สนุกสนานของครูอาสา

ครูที่มาสอนมีพื้นฐานการศึกษาสูง ทั้งยังต้องผ่านการอบรมร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางการสอนตามหลักสูตรซึ่งปรับปรุงมาเป็นฉบับของสภาการศึกษาร่วมกัน 3 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งทั้ง 3 สถาบันได้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันทั้งในกรุงเทพฯ และ “บ้านอัมพวา” จึงเป็นหลักสูตรใหม่ที่มาจากการรวมน้ำใจครูอาสาทั้งเก่าและใหม่ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตรนี้ สภาการศึกษาได้เชิญ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจริต เพียรชอบ และศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ เป็นที่ปรึกษา

ด้วยเหตุนี้ เสียงจากครูท้องถิ่นโรงเรียนวัดไทยก็ดี ผู้ปกครองก็ดี เมื่อบอกว่าใช้หลักสูตรใหม่ ก็บอกว่าหลักสูตรเก่าก็ดีอยู่แล้ว เด็กที่มาเรียน เดี๋ยวนี้จบมหาวิทยาลัย ใช้ความรู้ภาษาไทยตั้งแต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา จบมาเป็นบัณฑิต ใช้ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมนำไปประยุกต์ได้จริงทั้งสิ้น

ยุคสมัยย่อมแตกต่าง การศึกษาก็ต้องประยุกต์ให้เหมาะสมสอดคล้องด้วย ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันของรัฐ มิฉะนั้นจะมีลักษณะเป็นโรงเรียนกวดวิชาของภาคเอกชน จัดสอนเป็นส่วนตัวให้เด็กได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมเอง

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นคำปราศรัยที่เตรียมไว้แต่ไม่ได้ใช้ เพราะเด็กที่มาเรียนที่วัดซานฟรานธัมมาราม มีตัวเล็กตัวน้อยอยู่ 8 คน เป็นน้องของรุ่นพี่ก็มี ผู้ปกครองเอามาสมัครนึกว่าเป็นระดับปฐมวัย สงสัยจะเริ่มนับตั้งแต่ตอนคลอด จึงยังเด็กมาก กว่าอาจารย์นิเทศก์จะมาถึงโรงเรียน หนูน้อยก็เป็นนักเรียนไปเรียบร้อยแล้ว สงสัยปีหน้า น่าจะให้สอบเข้า สอยสัมภาษณ์แถมด้วย หรือผู้ปกครองมาส่งผิดที่ คือข้าม Day Care มาเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ กลุ้มใจแทนครู

โครงการของเราจัดอยู่ในระบบการศึกษานอกโรงเรียนเป็นหน่วยจัดการศึกษาที่มีระเบียบการรับสมัคร วัดที่เคยจัดกันมานานจะเป็นผู้บริหารจัดการ มีประกาศรับ กำหนดอายุ เช่น วัดไทยลอสแองเจลิส ต้นตระกูลโครงการ ปีแรกที่มาสอนเองเด็กที่มาเรียนอายุอย่างน้อย 5 ปี มีน้องถือขวดนมดูดเดินไปมาก็มี ผู้ปกครอง คุณยาย คุณย่า มาดูแล ไม่ปล่อยเข้าห้องเรียน เพราะทำให้ผู้เรียนผู้สอนเสียสมาธิ ซึ่งเป็นผลไม่ดีต่อลูกของคนอื่น ปีหน้าขอฝากไว้ให้ผู้ปกครองช่วยกันดูแล ช่วยแนะนำสถานที่เลี้ยงเด็ก การเรียนการสอนจะได้ดำเนินไปด้วยดี กราบขอพ่อแม่พี่น้องสำหรับปีหน้าด้วย ปีนี้แล้วไป เพราะเด็กไม่รู้เรื่องอะไรด้วย และเราก็ไม่ได้จัดสอบเทียบของกระทรวงศึกษาธิการ

เล่าสู่กันฟังเพื่อร่วมด้วยช่วยกัน ปีนี้มาดู 3 วัดคือวัดพุทธานุสรณ์ จัดกันมานาน มีระบบระเบียบเรียบร้อย มีผู้ปกครองมาเป็นสาย คือสายถวายเพล ทำเป็นกลุ่มๆ จองวันเต็มหมด 7 วัน พระฉันไม่ไหว ซ้ำบางที (หลายที) มีกิจนิมนต์ข้างนอก เด็กๆ จึงไม่อดเลยทั้งของวาง คือตั้งไว้ให้ตักรับประทาน และของว่าง มีวันหนึ่ง เช้าอยู่วัดพุทธานุสรณ์ บ่ายไปวัดซานฟรานธัมมาราม มีลูกศิษย์สมัยไปฝึกสอนโรงเรียนสวนกุหลาบ ทราบว่า “ครู” มานิเทศ เขามาดูงานของกระทรวงพาณิชย์ แวะมาวัดไม่เจอกัน มีของฝากเป็นโดนัท 2 กล่องใหญ่ เลยกลายเป็นของว่างของเด็กๆ

ไปวัดซานฟรานธัมมาราม กราบพระสงฆ์และแม่ชี สถานที่ตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก บริเวณเป็นเขตที่สะอาด สะดวก และดูปลอดภัย ศาสนสถานเป็นอาคารหลังใหญ่สง่างาม เป็นเสมือนคฤหาสน์กลางกรุง

ที่น่าประทับใจคือความชำนาญในการสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งความรู้ทางธรรมะที่ท่านถ่ายทอดอย่างคล่องแคล่ว เจ้าอาวาสคือ พระณัฐ ณฎฐปญฺโญ อายุ 34 พรรษา 6 มาจากกรุงเทพมหานคร จบนักธรรมเอก และปริญญาเอก สังกัดเดิมคือวัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ที่วัดนี้เมื่อปี 2551 ตำแหน่งปัจจุบันคือ รักษาการเจ้าอาวาส

พระสงฆ์รูปที่ 2 คือ พระอาร์โนลต์ อานนฺทปญฺโญ อายุ 32 พรรษา 5 อยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ใช้ภาษาอังกฤษเต็มร้อย มาอยู่วัดนี้ พ.ศ. 2552 ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส

แม่ชีศรัญญา เทียนเงิน ท่านเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งวัดซานฟรานธัมมาราม โดยในลำดับแรกได้ใช้บ้านของท่านในเขตเซาท์ซานฟรานซิสโกเป็นสถานที่จัดอบรมปฏิบัติธรรมชั่วคราว ซึ่งต่อมา คุณรัตติมา จินตนโรจน์ ได้ถวายบ้านตั้งวัดชั่วคราว นอกจากนี้มีแม่ชีอิ่ม ทองไพบูลย์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และคณะครูอาสาสมัคร ประกอบด้วย ครูอนงค์ จิตรมณี ครูจินดานุวรรธน์ บำรุงเจริญสุข และครูศวิตา ไล้ทอง สำหรับครูศวิตา เพิ่งเดินทางมาจากประเทศไทย อยู่ประจำการสอน 1 ปี

โครงการสอนเด็กไทย คือธารน้ำใจไหลหลั่งจากจิตอันเป็นกุศลของผู้เสียสละร่วมกัน ความสำเร็จคือความสุขที่เห็นเด็กเติบโตตามวิถีไทยวิถีพุทธควบคู่ไปกับวัฒนธรรมถิ่นที่อยู่อย่างน่าชื่นใจ เป็นสายใยรักในครอบครัวที่ยื่นมือมาจับไว้ให้มั่นเพื่อโอบอุ้มลูกหลานสายเลือดไทยสู่ครรลองคลองธรรมที่สุขสมบูรณ์

เป็นงานที่ต่างทุ่มเท อุทิศตนด้วยปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง จึงสรรค์สร้างสะพานบุญให้เดินไปด้วยกัน ในวันมอบสัมฤทธิบัตร จึงมีภาพของเด็กๆ ที่ยากต่อการกล่าวคำปราศรัย จึงกลายเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนไปโดยบริยาย สามารถวัดผลการเรียนรู้ได้ว่า เด็กตั้งใจร่วมกัน กล่าวตามครูได้เสียงดังฟังชัดว่า

“กรุงเทพดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง
วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”

เด็กตัวเล็กตัวน้อย อ้อมแอ้มเออออไปด้วย แต่ก็ทำท่าทางร่วมกันไปได้ เป็นที่น่ารักน่าเอ็นดู ผู้ปกครองจ้องมองดู ก็รู้ว่าทุกคนมีความสุขด้วยกันในวันนั้น วัดไทยเป็นของเราทุกคน

ปลูกภาษา ความเป็นไทย ให้รู้สึก
ปลุกสำนึก ความเป็นไทย ให้รู้จัก
ปลื้มในนาม ความเป็นไทย ภูมิใจนัก
ประสานรัก เลือดเนื้อ เชื้อชาติไทย


ความในใจจากผู้ปกครอง

ขอขอบคุณคณะสงฆ์ โครงการของคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครูอาสาสมัครและผู้สนับสนุนโครงการนี้ทุกท่าน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในต่างแดนได้เรียน ได้ศึกษา ขนมธรรมเนียมวัฒนธรรม และภาษาไทย เพื่อสืบต่อจากบุพการี

แต่เท่าที่รู้อยู่แก่ใจ การเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย สำหรับเยาวชนส่วนใหญ่ แต่คณะครูก็ไม่ได้ย่อท้อ พยายามสร้างทั้งแรงจูงใจภายในและภายนอก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนอันอ่อนวัย อยากที่จะมาวัด และเรียนรู้สิ่งเหล่านี้

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนอยากที่จะเรียนนี่คือปัจจัยอันแรก ถ้าขาดปัจจัยแรกนี้ ปัจจัยอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา โชคดีที่ณีร่าและนิธิ มีความพอใจที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ความเพียรก็ตามมา แล้วก็เกิดปัญญา ที่สามารถจะนำไปใช้ได้

ณีร่า สามารถอ่านภาษาไทยได้ดีขึ้น แม้ว่าจะช้าหน่อยดีขึ้นกว่าสองปีที่แล้ว เช่น หลวิชัยกับคาวี คุณค่าสำหรับเด็กและเพื่อนแท้แสนรัก เป็นหนังสือภาษาไทย 3 เล่ม ที่เขาอ่านและพยายามเข้าใจในภาคฤดูร้อนนี้

นิธิ ไม่ได้เอาใจใส่หลังเลิกเรียนมากนัก แต่มีการฝึกสะกดคำระหว่างเดินทางจากบ้านไปวัดและขากลับบ้านอย่างเช่นคำว่า ธนู นิธิจะสะกดว่า ทา-นู แม้ว่าจะไม่ถูกต้องแต่เขาก็พยายามหาคำพ้องเสียง

ผมศิษย์เก่าจุฬาปี 2527 ต้องขอขอบคุณศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ เป็นอย่างยิ่ง ขอให้ท่านมีอายุมั่น ขวัญยืน สุขภาพสมบูรณ์


คุณพ่อ ณีร่า นิธิ