สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี
กวีศรีแอล.เอ.
รัศมี (กองพระทราย) จงเจริญ
ชื่อบทประพันธ์ : “คีตกวี” โดย รัศมี จงเจริญ

มโหรีกล่อมอารมณ์ให้ชมชื่น
ยามค่ำคืนทอดถอนอาวรณ์ถวิล
“ดอกไม้ไพร” “ดอกไม้ร่วง” พวงระริน
“นกขมิ้น” เหลืองอ่อนมาจรไกล
“พญาโศก” โศกใจใครจะเหมือน
เมื่อดาวเลื่อนเดือนลับเหลี่ยมไศล
“อกทะเล” โอ้ทะเลเห่กล่อมใคร
หวาน “คำหวาน” สะท้านใจในลีลา
ยาม “ลมพัดชายเขา” พอเศร้าหาย
“วิหคเหิน” บินรายไปชายป่า
เมื่อ “อาทิตย์ชิงดวง” ห้วงเมฆา
สนธยาหม่นไหม้ใจร้าวราน
“ลาวดวงเดือน” เอื้อนคลอซอสามสาย
ลำนำพลิ้วพรมพรายเสนาะหวาน
ราวกล่อมโลกให้กมลชนชื่นบาน
เคลิบเคลิ้มปานอยู่สวรรค์ชั้นอำไพ


วันนี้ค้นกล่องมหาสมบัติที่บ้านลูกในแมรี่แลนด์ พบหนังสือพิมพ์ไทยแอล.เอ. ฉบับเก่าๆ ที่เก็บบ้างไม่เก็บบ้างตามแนวเรื่องที่อยากจะรวบรวมเข้าเล่มในอนาคต

คอลัมน์สารพันวรรณาให้ชื่อตอนนี้ไว้ว่า

“กวีวัจน์ รัศมี จงเจริญ”

เขียนลงพิมพ์เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ที่ว่าเวลาผ่านไปเหมือนติดปีกบิน ถ้าบินไปแล้วบินกลับมาคงจะดี แต่รัศมี บินไปแล้วไปลับ ไปพร้อมกับความรัก ความอาลัย คิดถึง ของผู้เป็นที่รักและรักเธอทั้งหลาย ซึ่งมีมากมายรวมทั้งผู้เขียนคอลัมน์นี้ด้วย

รัศมี เป็นนักกลอนที่อ่อนหวาน เป็นคนเก่งที่ไม่อวดเก่ง เป็นคนที่มีความสุข คนที่พบเห็นเธอก็มีความสุข สุขที่เห็นคนสวย คนดีมีน้ำใจ เป็นนักคิด นักฝัน และเป็นนักเขียนที่ใช้คำเรียกได้เต็มปาก เต็มคำและเต็มใจว่า กวี ซึ่งแปลว่าผู้รู้เชี่ยวชาญในศิลปะ การประพันธ์ประกอบด้วยสุตกวี จินตกวี อรรถกวี และปฏิภาณกวีใช้ในการประพันธ์บทกลอน และลักษณะคำประพันธ์ตามตำราฉันทลักษณ์

มาอยู่ในสหรัฐเอมริกา จะชื่นชมคนไทยไกลบ้านที่นำความรู้ความสามารถด้านนี้แสดงออกทางสื่อหนังสือพิมพ์ให้คนอื่นได้อ่าน ถึงบางบทบางตอนของบางคนจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ดีกว่าแต่งไว้ แล้วอ่านคนเดียว เขียนออกมาแล้วมีคนติ ต้องใจกล้ารับฟัง กล้าเขียนยังกล้าส่งโรงพิมพ์ แล้วทำไมจะไม่กล้ารับฟังคำวิจารณ์ที่เปี่ยมด้วยความหวังดี เพียงแต่คนเป็น “ครู” จะมีศิลปะการสอน สอนแล้วศิษย์น้อมรับ รู้สึกเป็นพระคุณ

ชุมชนไทยรวมกลุ่มกันได้ด้วยเมตตาธรรม คำสอนของพระปิยวาจาโดยทางสายกลาง คือเสียงสวรรค์ ปลอบใจกัน ให้กำลังใจกัน ที่สำคัญคือมีความจริงใจไม่เสแสร้ง ประเภทแต่งผิด แล้วชมต่อหน้าว่าลับหลังก็ไม่ใช่มิตรแท้ ยกเว้นแต่ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกว่าผิดตรงไหน ถูกตรงไหน ก็อ่านไปเรื่อยและผิดกันไปเรื่อย อย่างนี้กวีก็ไม่ผลิบานในชุมชนรุ่นต่อไปก็ไม่น่าจะดีอีก แล้วจะทำอย่างไรกันดี ก็น่าเห็นใจกวีตัวจริงเสียงจริง มีจิตใจที่ดีงาม อยากพิทักษ์รักษาศิลปะคำประพันธ์ที่ถูกต้องให้คงอยู่ชั่วลูกหลานเพราะชนชาติไทยเป็นชาตินักกลอน เชิญเปิดสอนวิชาการประพันธ์ที่วัดไทย น่าจะมีผู้สนใจเรียนไม่น้อยเลย ทั้งผู้ใหญ่และนักเรียนวัดไทย เปิด “ลานกวี” ให้รู้เรื่องกันไปข้างหนึ่ง อย่างนี้จะดีไหม น่าจะดีนะพี่น้อง

เขียนถึงตรงนี้ ขอออกนอกเรื่อง (ตามเคย) ไปเยี่ยมครูอาสาจากจุฬาฯ ได้อ่านวารสารธรรมปทีป ออกสู่สายตามาตั้งแต่ 10 กว่าปีแล้ว เก่ามาก มีกลอนเรื่อง ตีนกับตา อ่านแล้วก็ขำดี น่าจะเหมาะกับสังคมไทยปัจจุบัน ไม่บอกชื่อผู้ประพันธ์เลยไม่รู้ว่าใครแต่ง มีว่าอย่างนี้


ตีนกับตาอยู่กันมาแสนผาสุก จะนั่งลุกยืนเดินเพลินหนักหนา
มาวันหนึ่งตีนทะลึ่งเอ่ยปรัชญา ว่ามีคุณแต่ตาเสียจริงจริง
ตีนช่วยพาตามไปที่ต่างต่าง ตาจึงได้ชมนางและสรรพสิ่ง
เพราะฉะนั้นดวงตาจงประวิง ว่าตีนนี้เป็นสิ่งควรบูชา
ตาได้ฟังตีนคุยโม้ก็หมั่นไส้ จึงร้องบอกออกไปด้วยโทสา
ว่าที่ตีนเดินเหินได้ก็เพราะตา ดูบรรดาเศษแก้วหนามไม่ตำตีน
เพราะฉะนั้นตาจึงสำคัญว่า ตีนไม่ควรจะมาคิดดูหมิ่น
สรุปว่าตามีค่าสูงกว่าตีน ทั่วธานินทร์ตีนไปได้ก็เพราะตา
ตีนได้ฟังให้คั่งแค้นแสนจะโกรธ เร่งกระโดดออกไปใกล้หน้าผา
เพราะอวดดีคุยเบ่งเก่งกว่าตา ดวงชีวาจะดับไปไม่รู้เลย
ตาเห็นตีนทำเก่งเร่งกระโดด ก็พิโรธแกล้งระงับหลับตาเฉย
ตีนพาตาถลาล้มทั้งก้มเงย ตกผาเลยมรณาทั้งตาตีน

จบ อ่านแล้วขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทั้งตาทั้งตีน

กลับมาคิดถึงรัศมีต่อ สมัยเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นน้องๆ ที่เด่นดังเป็นนักกลอนก็มี นภาลัย ฤกษ์ชนะ อำพล สุวรรณธาดา เล่นกลอนสดกันไปมา นภาลัยก็เลยกลายเป็น นภาลัย สุวรรณธาดา รัศมี กองพระพราย (ต่อมาจงเจริญ) ขยายไปร่วมกับคณะอื่นๆ มีชมรมวรรณศิลป์ไปเล่นลับแลกกลอนสดสถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหมกัน ขยายไปถึงนักกลอนธรรมศาสตร์ เห็นหน้ากันมาดังๆ ทั้งนั้นอีกเหมือนกัน มีรุ่นพี่คือ ประยอม ซองทอง คณะอักษรศาสตร์ กับบรรดาที่หายใจเป็นกลอน ทำเป็นอกหักทุกวัน เพราะเขียนอะไรก็ไม่ซึ้ง เหมือนเขียนถึงความรัก เขียนไปลมๆ แล้งๆ ตัวจริงมีแต่พ่อรอรับทุกวัน แล้วหนุ่มที่ไหนจะได้มาใกล้

รัศมี เล่าให้ฟังว่า คำประพันธ์ชิ้นแรกที่ส่งอาจารย์คืออาจารย์ที่สอนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คืออาจารย์นิรันดร์ นวมารค สอนภาษาไทย รัศมี ส่งกาพย์ยานี 11 ส่งไปดังนี้

รุ่งสางสว่างหล้า เดือนดาราพาลับแสง
เรืองรองท้องฟ้าแดง ด้วยสีแห่งแสงรวี
รวยรินกลิ่นพยอม ส่งกลิ่นหอมย้อมฤดี
หลายหลากมากมายสี สดสวยดีมีต่างพันธุ์
แผ่วแผ่วแว่วเขาคู คล้านเรียกคู่มาคูขัน
เรียบเรียงนกเคียงกัน บินผกผันผ่านเมฆา
เพลินพิศเพลินจิตชื่น เพลินใจรื่นชื่นอุรา
เพลินเพลิดเลิศโสภา ด้วยเพลินตาน่าเพลินใจ

นี่คือบทกลอนตอนเรียนชั้นมัธยมบทแรกของรัศมี กองพระทราย อาจารย์นิรันดร์ นวมารค ตรวจงานแล้วส่งกลับมาด้วยลายมือหวัดแกมบรรจงอันสวยงาม แต่งต่อกาพย์ของรัศมีว่า

กาพย์นี้ก็ดีอยู่ แต่ว่าครูงดชมไว้
จนกว่าคราต่อไป เธอจะมีวันที่มา

นี่คือความเป็นครูผู้มีอารมณ์ขัน สอนโดยไม่ต้องสอน คำประพันธ์ชิ้นแรก เดาว่าอาจารย์คงปล่อยไปก่อน ถ้าผู้เรียนเกิดความภูมิใจในการเรียนรู้ มีหรือจะไม่รุ่งโรจน์ รัศมีเขียนกำกับไว้ว่า ดังนี้

“อาจารย์นิรันดร์ นวมารค เป็นอาจารย์ด้านการประพันธ์คนแรกของดิฉัน ที่ดิฉันเคารพเทิดทูนและระลึกถึงท่านเสมอมา”

เล่าเรื่องมิตรรักนักกลอนทั้งหลาย เดี๋ยวนี้ไปสวรรค์ชั้นวรรณกวีไปก็มี ทั้งยังอยู่ดีก็มี เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หม่อมราชวงศ์อรฉัตร ซองทอง ฯลฯ

คิดถึง รัศมี กองพระทราย การพบการจากใน “กาญจนกานท์” รวมบทกวีวรรคทองร่วมสมัย จุดประกายการเขียนให้วัยรุ่นวัยเรียนทั้งหลาย ที่ง่ายที่สุดก็คือการพบการจาก อ่านแล้วอยากร้องไห้ ทั้งที่จากจนไปเกิดใหม่แล้ว เช่น บทของ ประมวล โกมารทัต “พบทำไม”

เราพบกันวันนี้ไม่มีค่า คิดถึงคำอำลาน่าร้องไห้
พอเพื่อเตือนรอยช้ำพบทำไม แต่นี้ไปขออย่าได้มาพบ

บทเดียวคงไม่หนำใจ มีอีกบทก็ของประมวล โกมารทัตอีก

เราพบกันวันสุดท้ายคล้ายความฝัน เราพบกันแล้วจำร้างต้องห่างเหิน
เสียงกระซิบ “ลา” ของเราเศร้าเหลือเกิน พบเพื่อเดินทางไปให้ไกลกัน

ขอลาไป “สะอื้น” ก่อนนะท่านผู้อ่านทั้งหลาย

เอาบทสุดท้ายอีกก็ได้ หายสะอื้นแน่ ผลงานของกรรณิการ์ หิรัญรัศมี แต่งเมื่อปี 2511

โอ้วันนี้...วันสำคัญตื้นตันนัก มิรู้จักเลือกทางอย่างไรได้
ถ้าไม่ไปพบเขาเราเสียใจ แต่ถ้าไปพบเขาเราเสียตัว !

ใครรู้จักคนแต่ง ฝากถามหน่อยว่าตกลงไปหรือไม่ไป อยากรู้มานานแล้ว

รัศมี กองพระทราย จงเจริญ จากไปนานแล้ว ท่ามกลางความรัก ความอาลัย ฝากผลงานไว้งอกงามในดินแดนแสนไกลจากบ้านเกิด คุณงามความดีที่สร้างไว้สะสมมากมายต่อสังคมไทยและต่อครอบครัวจักเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้เป็นที่รักที่รักเธอเสมอมา และตลอดไป