สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี
รำพึงความหลัง สู่ความหวังปัจจุบัน

ฉบับนี้เป็นตอน “จับฉ่าย” จับผสมกลมกลืนก่อนจะหมดเวลารับต้นฉบับ เวลามีแต่เร็วราวติดจรวด เมื่อวานนี้เด็กไทยในออสเตรเลียมาในโครงการเยือนแผ่นดินแม่ เหมือนโครงการในสหรัฐอเมริกา พอดีที่คณะครุศาสตร์จุฬาฯ มีงานสถาปนาคณะครุศาสตร์ 56 ปี กลุ่มครู ผู้ปกครองและนักเรียนจากออสเตรเลีย มาร่วมกิจกรรม รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้พบ ดร.ทรงศรี ตั้งแต่เคยไปนิเทศคณะครูรุ่นต้นๆ โครงการ นานแล้วไม่ได้พบกัน เด็กที่มาโตเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว มีเยาว์ซึ่งผู้ปกครองมาด้วยพูดไทยกันเก่ง ร้องเพลงฉันเป็นคนไทย เพลงอมตะ 30 ปีแล้ว แถมเพลง “โรงเรียนวัดพุทธรังสี” เพลงนี้เกิดขึ้นตอนไปนิเทศ เขาพาไปนั่งเรือชมอ่าว ก็เลยแต่งเพลงเนื้อร้องว่า


โรงเรียนวัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ รัศมีดุจดาว
สุขสมนั่งเรือชมอ่าว จิงโจ้ยั่วเย้าลูกเคล้าคลอเคลีย
ฉันใดลูกไทยยึดมั่น ผูกสายสัมพันธ์อย่าให้สูญเสีย
เด็กไทยในออสเตรเลีย อย่าทำให้เสียชื่อไทยสยาม
ภาษาประเพณีดีงาม (ซ้ำ) ฝึกฝนเพื่อความเป็นไทยเถิดเอย


น่าขำที่แต่งแล้วแต่งเลย ทำนองก็คิดเอง คำร้องก็ออกมาเอง แล้วก็ร้องเลย แล้วก็ลืมเอง ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ไปที่นั่นอีก ไปกับทัวร์ซิดนีย์โดยไปดูงานกับคณะครุศาสตร์ไม่กี่วันก็ไปนิวซีแลนด์ต่อ

โครงการสอนภาษาไทย เอาไปพิมพ์ โดยไม่รู้ว่าใครแต่ง เพิ่งจะเห็นเองก็เลยรู้แล้ว และเด็กๆ ที่มาก็ทำท่ายินดีที่มาเห็นคนแต่งในวัยชรา

ประสบการณ์ตรงการเป็นครูสอน ล้ำค่าเหลือเกินสำหรับผู้เขียน ฉบับนี้จึงขอพุ่งตรงจุดหมายปลายทางของครูอาสา ได้ผ่านชีวิตที่อยู่ในความทรงจำเรื่องแล้วเรื่องเล่า ตอนนี้ครูของเรามาพบประสบการณ์ที่คงจะได้จดจำเหมือนกัน จึงขอนำเสนอเป็นฉากๆ ไป เริ่มด้วยแนะนำครู รำพึงความหลัง สู่ความหวังปัจจุบัน ดังเรื่องราวต่อไปนี้

ลายมือของคุณชนิต สายประดิษฐ์ มี 2 แผ่น ดังการถอดความลงพิมพ์ในคอลัมน์ สารพันวรรณนา หนังสือพิมพ์ไทยแอล.เอ. ผู้เขียนคอลัมน์ เขียนตามเพื่อชัดเจนจากฉบับถ่ายเอกสารไว้ ส่วนฉบับจริงรักษาไว้ตามต้นฉบับ





285 E 24th St.
Upland ก.ย. 2529
เรียน อาจารย์ประภาศรี ที่นับถือ

เราดีใจกันมากที่ได้รับข่าวจากอาจารย์และรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ๆ กันนี่เอง ความจริงไกลกันไม่น้อย ประจวบเหมาะกับบุญศรีและสุรภินจะเดินทางไปประชุมหมอในวันพรุ่งนี้ เราก็ดีใจที่ทั้งสองคนจะได้ไปพบอาจารย์แทนเราทั้งบ้าน ดิฉันปรารถนาให้เขาทั้งสองมีเวลาทันพาอาจารย์ดูมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ถ้าเราอยู่ใกล้ คงจะได้พาอาจารย์ไปเที่ยวที่อื่นๆ และมาบ้านเราบ้าง

ดิฉันยังจำได้ว่า วันหนึ่งขณะอาจารย์สอนเรื่องวันแม่ เด็กนักเรียนคนหนึ่งพูดว่า “ครูก็เป็นแม่ของหนูนี่ค่ะ” ดิฉันสะดุดใจ ที่เด็กมีความรู้สึกผูกพันในครูอู๊ดอย่างสูงด้วยความสนิทสนม ระหว่างที่ดิฉันได้ดูการสอนและได้สังเกตดูอย่างใกล้ชิด ก็รู้สึกว่าได้ข้อคิดและประโยชน์หลายอย่าง ดิฉันได้ถ่ายทอดให้เพื่อนครูที่สอนร่วมกันที่ Calpoly และได้รับบางอย่างมาจนย่อใช้ให้เหมาะสมกับการสอนเพียงสัปดาห์ละครั้งของเราด้วยแล้ว

ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งของนักเรียนที่มาเรียนภาษาไทยที่ Calpoly สนใจในการส่งลูกหลานไปเรียนไปสอบที่วัดไทยแบบเรา แต่ยังเป็นห่วงข้อที่ว่าถ้าเด็กไปเยือนไทยตามโครงการรักเมืองไทยด้วย เด็กก็จะขาดเรียนเป็นระยะยาว และระยะนั้นน่าจะได้ใช้เป็นเวลาสอนหรือช่วยเด็กอย่างกระชั้นชิด

ดิฉันยินดีมากที่อาจารย์ได้มาทำหน้าที่ทางการเปรียบเทียบศาสนา (เป็น Exchange Professor ของ San Jose State University) เป็นวิชาที่มีค่ายิ่งต่อชีวิตและจิตใจ ในปีหน้าหรือโอกาสใดที่อาจารย์มีเวลาว่าง ถ้ากรุณาพูดในที่ประชุมโพธิธรรมสมาคมบ้าง ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง เราประชุมกันทุกวันเสาร์ต้นเดือนค่ะ ยังเป็นสมาคมกลุ่มน้อยๆ อยู่ แต่สมาชิกก็มีความตั้งใจที่จะศึกษาแก่นแท้ของพุทธศาสนาและนำมาปฏิบัติ

ขอให้อาจารย์ทำหน้าที่ได้ดียิ่งสมความปรารถนาและมีความสุขนะคะ


ด้วยความนับถือและระลึกถึงความเป็นกันเองของอาจารย์

ลงนาม ชนิต สายประดิษฐ์

ป.ล. รสากลับจากรับสัมฤทธิบัตร ก็ลงมือเล่นเปียนโนเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ที่ทิ้งไประยะหนึ่ง และหัดแต่งโน๊ตเพลง “บัวบูชา” ด้วยค่ะ

ลงนาม ชนิต

หมายเหตุ เพลงบัวบูชา ประพันธ์โดยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล

คุณแม่ชนิต สายประดิษฐ์ เป็นภริยาของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เป็นบิดามารดาของนายแพทย์บุญศรี และแพทย์หญิงสุรภิน ธนะโสภณ ผู้เขียนได้พบกับท่านเมื่อไปสอนเด็ก วัดไทยลอสแองเจลิส ปีแรกของโครงการคือ พ.ศ. 2527 ทำหน้าที่เบ็ดเสร็จตั้งแต่เป็นครู เป็นผู้ประสานงาน เป็นอุบาสิกา เป็นภารโรงเก็บกวาดห้องเรียน เตรียมการสอนดึกดื่นค่อนคืน เพราะเป็นรุ่นแรก

ผู้เขียนเรียนมาทางสาขามัธยมศึกษา จึงได้สอนห้องที่เด็กโตกว่าห้องอื่นๆ รสา ธนะโสภณ เด็กสาวสวยน่ารัก กิริยาสุภาพเรียบร้อยพูดภาษาไทยได้ มีคุณยายมาด้วย ท่านขออนุญาตเข้าห้องเรียนกับหลานด้วยเพราะบ้านอยู่ไกล ไม่สามารถนั่งรถไปกลับเช้า-เย็น ได้ จึงขออยู่ที่วัดทั้งวัน และท่านก็อยู่ในห้องเรียนตลอด บางทีก็ช่วยดูแลเด็กไปด้วย เป็นบุญของครูที่มีผู้ช่วยอาสา มีหรือจะปฏิเสธ

ตอนเย็น คุณหมอก็มารับยายหลานทั้งสอง จนเราคุ้นเคยกันเหมือนรู้จักกันมานาน เวลาสอนถึงคำคล้องจอง ให้เด็กๆ สังเกตเสียงสัมผัสง่ายๆ เช่น ต่อชื่อกันเล่น รสา ยาจิต... บางทีก็ให้ฟังเรื่องในวรรณคดีสำหรับเด็ก ตอนสุดสาครในพระอภัยมณี แล้วให้อาสาออกมาแสดง นักเรียนแย่งกันเป็นนางเหงือก เพราะออกเสียงเงือกไม่เป็น เด็กผู้ชายอยากเป็นสุดสาครขี่ม้านิลมังกร แต่ไม่มีใครเป็นผู้อาสาแสดงเป็นชีเปลือย ตัวภาษาเด็กๆ ได้เรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งครูท้องถิ่นสอนมาแล้ว ก็ทำให้เข้าใจภาษามีพื้นฐานดีพอใช้ บางวันก็ต้องไปสอนกลุ่มเด็กเล็ก หมุนเวียนไปตามโอกาส ก็เลยต้องร้องเพลง นี่คือผม นี่คือหน้าผาก เรียกว่าใช้วิชาชีพครูไปตั้งแต่ครูอนุบาลไปจนถึงประถม มัธยม อุดมศึกษา ใช้ชีวิตคุ้มค่าคำว่า “ครู” จนคณะครุศาสตร์แต่งตั้งให้เป็นปูชนียาจารย์ฟังดูขลัง แต่พวกเราเรียกกันเองว่าเป็นปู

เสียดายที่ “หลวงเตี่ย” พระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) ท่านจากไปเร็วกว่าที่ควร ถ้าท่านยังอยู่ และเห็นความเจริญเติบโตของชุมชนไทย ของพวกเราทุกคนที่ได้รับความเมตตาจากท่าน คงจะปีติในผลแห่งความคิดริเริ่มของท่าน ขอกราบน้อมรำลึกพระเดชพระคุณ ณ ตรงนี้