8 เรือนชะตาเท่า หรือ เรือนชะตาไม่เท่า ?

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านใดสนใจการเข้าอบรมสมถกรรมฐานเพื่อเปิดประตูบารมีในชาติที่ก่อนให้แปลงเป็นเงินในชาตินี้และอบรมการจัดฮวงจุ้ยเบื้องต้นด้วยตนเอง เชิญครับที่อาคารของผม มีหลายสถานที่ รับแค่ 12 ท่านต่อหนึ่งชั้นเรียนเท่านั้นครับ ฟรีไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมถึงท่านที่เจ็บป่วยด้านสุขภาพโดยเฉพาะเส้นเอ็นหรือกระดูก เดินไม่สะดวก เชิญติดต่อมาครับ

หากแอดไลน์ไม่ได้ก็เซฟเบอร์ผม ไลน์จะขึ้นเองหรือโทรหรืออีเมล์มาได้ รีบหน่อยครับ มีโควต้าจำกัดจริง (818)399-5757, Line: stevefengshui Email: stevefengshui@gmail.com

มาว่ากันต่อครับใน 10 เรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ ศาสตร์ยูเรเนี่ยน ภาคจบ


8 เรือนชะตาเท่า หรือ เรือนชะตาไม่เท่า ?

อัลเฟรด วิตเตอร์ ได้ให้เหตุผลของระบบเรือนชะตาเท่า (Equal House System) ในโหราศาสตร์ยูเรเนียนว่า ง่ามมุมของจักรราศี (มุมฮาร์โมนิคที่ 12) มีคุณสมบัติโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เรือนชะตาที่ใช้จึงไม่จำเป็นต้องไปแบ่งให้มันไม่เท่ากัน เพราะ “ปรัชญาของจักรราศี” ก็เทียบได้กับ “ปรัชญาของเรือนชะตา” อยู่แล้วนั่นเอง เช่น “เรือนที่ 1” มีคุณสมบัติบางส่วนเทียบได้กับ “ราศีเมษ” หรือ “เรือนที่ 4” มีคุณสมบัติบางส่วนเทียบได้กับ “ราศีกรกฎ” เป็นต้น

ซึ่งในยุคสมัยนั้น (หรือแม้กระทั่งตอนนี้) วิชาโหราศาสตร์สากลนิยมใช้เรือนชะตาแบบ “พลาซิดุส” (Placidus House System) แต่ปัญหาบางอย่างของเรือนชะตาพลาซิดุสก็คือ เมื่อนำระบบเรือนชะตานี้ไปใช้ในประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมาก ๆ จะส่งผลให้บางเรือนชะตานั้น มีค่าองศาที่กว้าง หรือแคบมากเกินไป


รูปตัวอย่างเรือนชะตา Placidus จะเห็นว่า เรือนที่ 1 กับ 7 นั้นแคบมาก แต่ที่เรือนที่ 5 และ 11 ก็กว้างมากเป็นพิเศษ

และผลจากการใช้เรือนชะตาแบบ พลาซิดุส นั่นก็คือ ในหนึ่งเรือนชะตา สามารถคาบเกี่ยวกันได้ถึงสองราศี ทำให้นักโหราศาสตร์ชาวไทยมีความสับสนอยู่บ้าง เพราะโหราศาสตร์ไทยในบ้านเราจะใช้เรือนชะตาซ้อนราศี (Whole-Sign House System) โดยการนับ “ราศี” ที่ ลัคนาสถิตย์อยู่เป็น “เรือนชะตาที่ 1”


แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เรือนชะตาเท่า (Equal House System) ของยูเรเนียนจะเหมือนกับของโหราศาสตร์ไทยแต่อย่างใด (แม้จะเรือนละ 30 องศาเท่ากัน) เรือนชะตาเท่าของยูเรเนียน จะเริ่มนับจากจุดที่ใช้ตั้งต้นของเรือนชะตา (เช่น จุดเจ้าชะตา หรือ ดาวเคราะห์) และ นับไป 30 องศา เท่า ๆ กันในการแบ่งเรือน ผลก็คือ ยังมีความคาบเกี่ยวกันถึง 2 ราศี ในเรือนชะตาเดียวกัน คล้ายกับแบบเรือนชะตาพลาซิดุส แต่ความพิเศษของเรือนชะตาเท่าแบบยูเรเนียน นั่นก็คือ ทำให้ลัคนาไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนที่ 1 หรือ เมอริเดียน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนที่ 10 เสมอไป (ขึ้นอยู่กับเรือนชะตาที่เลือกใช้)


กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย อยู่บนเส้นละติจูดที่ 13 องศาเหนือกว่า ๆ ทำให้ความห่างระหว่างเมอริเดียน และ ลัคนา อยู่ราว ๆ 90 องศา (บวกลบนิดหน่อย) เวลาที่ตั้งเรือนชะตาเมอริเดียน จุดลัคนา จึงมีโอกาศอยู่ในเรือนที่ 1 หรือ เรือนที่ 12 ซึ่งโดยมาก คนที่จุดลัคนาอยู่ในเรือนที่ 12 มักอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างต้องการความเป็นส่วนตัว หรือมีลักษณะเก็บตัว ที่บ้านมักไม่ค่อยมีคนไปมาหาสู่ เมื่อเทียบกับคนที่มีจุดลัคนา อยู่เรือนที่ 1 เป็นต้น (กรรมวิธีการอ่านแบบนี้ ไม่สามารถทำได้โดยใช้เรือนชะตาพลาซิดุส)

ข้อสงสัยอีกบางประการของผู้เริ่มต้นศึกษายูเรเนียนใหม่ ๆ ก็คือ เรือนชะตาเมอริเดียนในบางโปรแกรม ไม่ใช่เรือนเท่า !? ข้อนี้ผู้เขียนคาดว่าเป็นอิทธิพลแนวคิดของเรือนชะตาเมอริเดียนแบบดั้งเดิมของ เดวิด โคป (David Cope) นักโหราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ในช่วงศตวรรษที่ 19

ขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก ได้ให้เหตุผลว่า เรือนชะตาเมอริเดียนนี้เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง เพราะฉะนั้น โครงสร้างของเรือนชะตา จึงต้องเป็นเรือนเท่าบนเส้นศูนย์สูตรฟ้า คือการหา ไรต์แอสเซนชัน บวกไปอีก 2 ชั่วโมง ต่อ 1 เรือนชะตา (อยู่ในขั้นตอนการหาพิกัดเมอริเดียน RAMC : Right Ascension of theMedium Coeli) ก่อนจะพิกัดองศาลงมาบนจานคำนวณ (ด้วยตารางเรือนชะตา Table of Houses) ส่วนเรือนชะตาอื่น ๆ ให้ใช้เป็นเรือนแบบเท่าปกติ

แต่ผลต่างของความไม่เท่ากันเรื่ององศานี้ อยู่เพียงราว ๆ 3 องศาเท่านั้น ซึ่งหากต้องใช้เรือนชะตาเมอริเดียนแบบที่ว่านี้ จะทำให้การหมุนจาน 360 องศา ลำบากมากขึ้น ในทางปฏิบัติจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันนัก (สำหรับโหรยูเรเนียนที่ชอบหมุนจาน) และ บางสำนักที่เน้นสอนพระเคราะห์สนธิ ก็ไม่ได้มีปัญหากับความไม่เท่ากันของเรือนชะตาเมอริเดียน (เพราะไม่ได้ใช้)

**ในส่วนของเรือนชะตาเมอริเดียนแบบไม่เท่า ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า (ส่วนตัวนะ ส่วนตัวมาก) ดูย้อนแย้งกับปรัชญาพื้นฐานของ อัลเฟรด วิตเตอร์ ที่พยายามทำให้ ระบบระเบียบ กรรมวิธีทุกอย่างดูเรียบง่ายภายใต้ปรัชญามุมฮาร์โมนิค และถ้าในทางปฏิบัติเมื่อต้องทำเช่นนั้นจริง ทำไมวิตเตอร์จึงสร้างจาน 360 องศาขึ้นมา ? ทำไมไม่แยกระบบจานเรือนชะตาเมอริเดียนออกมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำได้ไม่ยาก ? ผู้เขียนจึงนิยมใช้เรือนชะตาเมอริเดียนแบบเท่า ตามจานหมุน 360 องศามากกว่า ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ผู้อ่านช่วยกันศึกษาค้นคว้า วิจัยกันต่อไป


9 พระเคราะห์สนธิ แม่นกว่า เรือนชะตา ?

มีโหรบางท่านบอกว่า “ระบบพระเคราะห์สนธิ” แม่นยำกว่า “ระบบเรือนชะตา” จริง ๆ ควรจะบอกว่า ระบบพระเคราะห์สนธิ ให้ความหมายที่จำเพราะเจาะจงมากกว่าระบบเรือนชะตาต่างหาก ถ้าเปรียบทั้ง 2 ระบบนี้เป็นมีด ก็คงจะเป็นมีดที่มีไซส์ขนาดต่างกัน ใช้งานต่างกันตามแต่ละโอกาส

คุณไม่ควรเอามีดผ่าตัดไปผ่าฟักทองฉันใด ก็ไม่ควรเอามีดปังตอไปปลอกเปลือกผลไม้ฉันนั้น

ในการพยากรณ์ดวงชะตา ควรเริ่มจากมองภาพกว้าง ๆ หาโครงสร้างที่น่าสนใจจากระบบเรือนชะตาก่อน เพื่อตั้งสมมติฐาน จะได้เป็นการตัดสูตรพระเคราะห์สนธิที่ไม่จำเป็นออกไป (ลดภาระในการเจอกองทัพสมการ) เช่น การตั้งเรือนชะตาอาทิตย์ นั่นย่อมหมายถึง บุคคลเพศชายที่สำคัญต่อตัวเจ้าชะตาด้วย ยกตัวอย่างกรณีนี้ว่าดวงชะตานี้เป็นผู้หญิง เรือนชะตาอาทิตย์ ย่อมครอบคลุมไปถึง พ่อ สามี พี่ชายน้องชาย ปู่ ตา ลุง ฯลฯ แต่หลังจากที่อ่านปัจจัยคร่าว ๆ ในเรือนชะตาอาทิตย์แล้ว จึงค่อยจำเพาะเจาะจงว่าผู้ชายคนที่ว่านี้ จะเป็นใครได้บ้าง เช่น สามี(อาทิตย์/อังคาร) หรือ บิดา (โครโนส+คิวปิโด-อาทิตย์) เมื่อเจอคำตอบที่น่าสนใจจากพระเคราะห์สนธิ และมีทิศทางสอดคล้องกับระบบเรือนชะตา จึงสรุปข้อยุติเป็นคำพยากรณ์

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าใช้ระบบไหนดีกว่ากัน แม่นกว่ากัน ? มันก็ควรใช้ทั้งคู่ แต่เลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับประเภทงาน และจังหวะเวลาจะดีกว่านะ แน่นอนว่า ระบบเรือนชะตา ก็มีจุดเด่นซึ่งพระเคราะห์สนธิ ทำไม่ได้เหมือนกัน เช่น การสืบหาข้อมูลโคตรเหง้าสาแหรกทั้งตระกูล โดยอาศัยดวงกำเนิดดวงเดียว เป็นต้น เช่น พี่ของแฟน พ่อของแม่ น้องของยาย ฯลฯ และอีกสารพัด (ในความเป็นจริง แค่จะหาคนสอนระบบเรือนชะตา ณ ปัจจุบันนี้ ยังหาไม่ค่อยจะได้เลย


10 เรือนชะตาหลัก และ เรือนชะตาอนุเคราะห์

ที่จริงความหมายในระบบเรือนชะตาของยูเรเนียน ก็มาจากโหราศาสตร์สากล ซึ่งสอดคล้องกับโหราศาสตร์ทั่วโลก รวมไปถึงโหราศาสตร์ไทยด้วย (มีต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่หลัก ๆ เหมือนกัน) ซึ่งโดยปกติแล้วโหราศาสตร์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ “ลัคนา” มากที่สุด และใช้เป็นจุดตั้งต้นในการแบ่งเรือนชะตา แต่สำหรับยูเรเนียนแล้ว เรือนชะตาที่สำคัญที่สุดคือ “เรือนชะตาเมอริเดียน” เมื่อตั้งเรือนะตาเมอริเดียนแล้วยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ จึงไล่ไปยังเรือนชะตาอื่นที่สำคัญรองลงมา (เรือนชะตาอนุเคราะห์) คือ เรือนชะตาลัคนา, เรือนชะตาอาทิตย์ (หากเจ้าชะตาเป็นผู้ชาย) , เรือนชะตาจันทร์ (หากเจ้าชะตาเป็นผู้หญิง) และ เรือนชะตาราหู (ซึ่งเน้นไปที่เรื่องความสัมพันธ์ซะมากกว่า) สำหรับประเทศไทย ผลต่างค่าองศาของเรือนชะตาเมอริเดียน และ เรือนชะตาลัคนา ไม่ได้ต่างกันมากนัก (เกือบจะ 90 องศากันอยู่แล่ว) จึงอนุโลมให้อ่านแค่เรือนชะตาเมอริเดียนอย่างเดียวก็พอได้ เพื่อความรวดเร็ว


แม้ว่าจะมีเรือนชะตาให้เลือกใช้ถึง 5 รูปแบบ(ในเบื้องต้น) แต่เชื่อเถอะว่า สำหรับบางคำถาม ก็ยังไม่เจอคำตอบจากเรือนทั้ง 5 ก็มี เมื่อถึงจุดนี้ สูตรเรือนชะตาจึงเริ่มเข้ามามีบทบาท เช่น คำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงิน หมุนหาเรือนที่ 2 ยังไงก็ไม่เจอดาวสักที เราอาจจะตั้งเรือนชะตาดาวศุกร์ แล้วไปเน้นอ่านเรือนที่ 2 กับ 10 เลยก็ได้ ซึ่งจะเน้นถึง ลีลาการได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือ ภาระในการหารายได้ของชีวิต

ถ้าคำถามคือ จะประสบความสำเร็จในการหารายได้อย่างไร ? อาจจะเลือกตั้งเรือนชะตาพฤหัส และ ดูในเรือนที่ 2 (หลักการผสมสูตรเรือนชะตา จะคล้าย ๆ การผสมดาวของพระเคราะห์สนธิ)

หากจะว่าไปแล้ว ปัญหาของสูตรพระเคราะห์สนธิคือ “กองทัพสมการ” ปัญหาของสูตรเรือนชะตาก็คงจะเป็น “คฤหาสน์หลังโต” 21 ปัจจัย (ไม่นับเมษ) x 12 เรือน เท่ากับบ้านที่มี 252 ห้อง !!! ที่เราไม่รู้ว่าจะเริ่มค้นหาคำตอบจากห้องไหนก่อนดี ? เพราะฉะนั้นควรจะตั้งเงื่อนไขที่ต้องการหาคำตอบทุกครั้ง ก่อนจะใช้สูตรเรือนชะตา

ถ้า 1 คำถาม สามารถหาได้จากหลายห้อง (เรือน) ก็แนะนำว่าอ่านมันทุกห้องที่เกี่ยวข้อง (เรือนไหนไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องยุ่ง) และ นำคำตอบที่ได้จากแต่ละห้อง มาเขียนเป็นประโยค ไล่เขียนไปเรื่อย ๆ แล้วค่อย ๆ อ่านสังเคราะห์รวมกันก็จะเจอคำตอบ (เหมือนเกมต่อจิ๊กซอว์) และตรวจการบ้านด้วยพระเคราะห์สนธิอีกรอบ ก็จะถือว่าแม่นยำเลยทีเดียว

ข้อเสียของนักโหราศาสตร์มือใหม่คือ “ยาวไป ไม่อ่าน” ใจร้อน ต้องการคำตอบเร็ว ๆ ต้องการสูตรสำเร็จ จึงละทิ้งเรื่องของเรือนชะตาที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง นั่นจึงทำให้พวกเขาตกเป็นทาสของสูตรพระเคราะห์สนธิ ซึ่งคิดว่ามันง่าย ตายตัวและตรงประเด็นที่สุด เมื่อพวกเขาเข้าสู่สนามรบครั้งแรกพร้อมสูตรพระเคราะห์สนธิ (ประหนึ่งว่าเป็นตำราพิชัยสงครามศักดิ์สิทธิ์ ซุนวู) แน่นอนว่าพวกเขาต้องรับมือกับกองทัพสมการ นับพันจุด !!! แล้วก็ล้มหายตายจากไปในที่สุดสำหรับแวดวงยูเรเนียน


**ตัวผู้เขียนไม่ได้ศึกษาโหราศาสตร์ไทยสาย สิบลัคนา แต่คาดว่า หลักการใช้เรือนชะตาดาวเคราะห์ น่าจะมาจากหลักแนวคิดคล้ายกัน


หลังจากทำความเข้าใจกับ 10 ข้อที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะแก้ไขความเข้าใจบางอย่างที่ผิดไปจากตัวบทวิชาของยูเรเนียนได้พอสมควร หลายท่านอาจจะกลับไปรื้อหนังสือ คัมภีร์พระเคราะห์สนธิ กลับมาอ่านใหม่อีกรอบซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะพบว่า ส่วนใหญ่เปิดไปอ่านแต่หน้าหลัง ๆ ที่เป็นสูตรดาว หน้าแรก ๆ ไม่ค่อยได้อ่านกัน จึงทำให้มองข้ามเรื่องเรือนชะตาไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเมื่อลองใช้เรือนชะตาแล้วจะพบว่า “สนุกสนาน” และเป็นประสบการณ์ต่อยอดไปศึกษาในเรื่องของวิชาโหราศาสตร์กาลชะตา (Horary) ได้เป็นอย่างดี


(จบบริบูรณ์)