ตอนปีชง กรรม ภาคจบ กลไกแห่งกรรมม

เมื่อเราได้ศึกษาในกลไกแห่งกรรมจนพอจะเข้าใจแล้วว่า อำนาจแห่งกรรมสามารถจะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การก่อเกิดภพชาติของคนเราได้ ถ้ากรรมดีให้ผลก็แล้วไป แต่ถ้าวิบากกรรมให้ผลที่ไม่ดีต่อเราแล้ว เราจะมีหนทางใดในการเบี่ยงเบนวิบากกรรมที่ไม่ดีออกไปให้พ้นตนได้

นั่นก็คือเราต้องรู้เหตุเบื้องต้นเสียก่อนว่า เรากำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยอาศัยสิ่งที่เราเรียกว่า “ลางบอกเหตุ” หรือสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า เพื่อจะได้หาหนทางหรือกุศโลบายที่แยบยลในการที่จะเข้าไปแก้ไขสิ่งที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นลางบอกเหตุดังกล่าวจึงพออนุมานให้เป็นหนทางในการสังเกตุและพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

เจ็บป่วยผิดปกติ แม้จะหาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแผนโบราณแล้วก็ตาม อาการดังกล่าวก็ยังไม่ดีขึ้น หรือแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุความผิดปกติได้ นอกจากจ่ายยาให้กินเท่านั้น เช่น เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บไหล่ ปวดในช่องท้อง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เนื้องอก เป็นต้น ถึงแม้กรรมจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ธาตุขันธ์ความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ แต่บางส่วนก็เป็นไปตามวิบากกรรม

จิตใจผิดปกติ แม้จะหาจิตแพทย์หรือบำบัดในโรงพยาบาลก็ยังไม่ดีขึ้น เช่น ปวดศรีษะรุนแรง เบลอ พูดจาเพ้อเจ้อ

ชีวิตวุ่นวายผิดปกติ มีปัญหาในเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน-การค้า เครียดผิดปกติ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ

1. วิสัยของพระพุทธเจ้า

2. ความคิดเรื่องการสร้างโลก

3. วิสัยของผู้มีฤทธิ์

4. กฏแห่งกรรม

คำว่า “ อจินไตย ” แปลว่า ไม่ควรคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คิด ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้ใช้ปัญญา ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้คิดด้วยหลักของตรรกศาสตร์ เนื่องจากการคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบอนุมาน คือ คาดคะเน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เพราะอาศัยพื้นฐานความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายนอกที่เป็นประสาทสัมผัส คือ ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น

แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวในโลกนี้เป็นความจริง ทั้งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส และที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส เช่น เรื่องราวในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ และ กฎแห่งกรรม ที่เป็นความจริงที่ไม่อาจสามารถพิสูจน์ได้เพียงประสาทสัมผัสเท่านั้น แต่จะต้องมีความรู้ที่นอกเหนือพิเศษจากประสาทสัมผัสธรรมดา คือ อภิญญาด้วย จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ คำว่า “อภิญญา” แปลว่า ความรู้ยิ่งยวด มี 6 อย่างด้วยกันคือ อิทธิวิธี ทิพยโสต เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพพจักขุ และอาสวักขยญาณ

ดังนั้นแม้ว่า “กรรม” จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือธาตุขันธ์ในความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องอดทนและต้องเข้าใจว่า”สัตย์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะงอมืองอเท้ารอรับ “ชะตากรรม” แต่เพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นคนสิ้นคิดไม่หาหนทางแก้ไขชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านก็คงเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์อันประเสริฐเสียแล้ว ดังนั้นถึงแม้จะมองไม่เห็นทางก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมจำนนต่อกรรมนั้นเอาง่าย ๆ เราจะต้องพยายามหาหนทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ วิธีการเบื้องต้นง่าย ๆ ก็คือ การสร้างกรรมใหม่เพื่อเบี่ยงเบนกรรมเก่าที่กำลังให้ผลให้อ่อนตัวลงไป

ถ้าวันหนึ่งวันใดชีวิตของเราต้องผกผันตกต่ำ ด้อยโอกาสในวาสนาบารมี จะได้ไม่เกิดท้อใจ จนย่อหย่อนในการดำเนินชีวิต ปล่อยชีวิตให้ระหกระเหินตกต่ำโดยไม่คิดสู้ ยิ่งมีวิบากกรรมมากทุกข์ทรมานมาก ก็ยิ่งต้องดิ้นรนให้มาก หาทางสร้างคุณงามความดีชดเชยให้แก่เจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้น เพราะถ้าเป็นกรรมที่เบาบางก็อาจหายไปได้ ถ้าเป็นกรรมหนักก็จะบรรเทาเบาบางลงไป


ความตาย

บทสุดท้ายสำหรับมนุษย์ก็คือ ความตาย ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดแห่งกรรมที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกลัวว่าวันนั้นจะมาถึงตัว จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะกฏแห่งธรรมชาติเพื่อจะอยู่เหนือความตาย แต่ดูเหมือนว่าความพยายามนั้นจะไร้ผล เพราะหลักของความตายนั้นเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ

1. ถึงเวลาที่จะต้องตาย

2. ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องตาย

แต่ความจริงความตายที่เราเข้าใจก็คือการเกิดขึ้นใหม่ต่างหาก องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวแสดงถึงความตายไว้ 4 ประเภทคือ

* อยุกขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นอายุขัย

* กัมมักขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นกรรม

* อุภยักขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นอายุขัยและสิ้นกรรม

* อุปัจเฉทกมรณะ หมายถึงตายเพราะกรรมมาตัดรอน


โรคมิใช่เกิดจากกรรมเท่านั้น

ในอดีตความเชื่อของคนเรามีความแตกต่างกันไปตามลัทธิ ความเชื่อบางอย่างก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล แต่บางอย่างก็ยังไม่ถูกต้อง เช่น บางคนเชื่อว่ามนุษย์นั้นตายแล้วสูญ จึงทำอะไรก็ได้สุดแท้แต่จะพอใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เพราะคิดว่าตายแล้วก็สูญไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

แต่บางคนก็เชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ชีวิตหลังความตายยังมีสิ่งที่เร้นลับรอเราอยู่ จึงไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ปนแทรกเข้ามาในชีวิตอีกมากมาย จนกลายเป็นความเชื่อตามลัทธิที่ผิดไปจากหลักแห่งกรรมคือ

1. ปุพเพกตวาท เชื่อว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า ความจริงแล้วยังมีกรรมใหม่ที่มาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก จึงถูกเพียงบางส่วน

2. อิศวรนิรมิตวาท เชื่อว่าเทพบันดาล บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามเทพบั นดาล

3. อเหตุวาท เชื่อว่าเป็นไปตามดวง บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวว่า หากใครเห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น เกิดมาจากกรรมทั้งสิ้น ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะโรคภัยไข้เจ็บนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กรรมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ในทางพระพุทธศานาได้แบ่งกฎเกณฑ์การเจ็บป่วยไว้อย่างแยบคาย 5 ประการดังนี้

อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น ร้อนหรือหนาวเกินไป อุทกภัย วาตภัย

พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติของพืชพันธ์ หรือ พันธุกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเอดส์ ที่สามารถถ่ายทอดได้กรรมพันธ์

จิตตนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับสภาพจิตใจ หรืออุปทานความนึกคิดที่อาจปรุงแต่งจนเกินไปได้ อาจมีผลกระทบต่อภาวะร่างกาย

กรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดจากการกระทำหรือการแสดงเจตนา เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง

ธรรมนิยาม เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป


หลักของการเผชิญกรรม

ในเมื่อเรารู้จักความน่ากลัวของกรรมแล้ว ก็ควรใช้สติป้ญญาในการแก้ไขวิบากกรรมเหล่านั้นให้บรรเทาเบาบางลงไป เมื่อไม่รู้ก็หาผู้รู้ชี้แนะแนวทางให้ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงขอชี้แนะหนทางหรือแนวทางการแก้ไขวิบากกรรมดังนี้

1. สติป้ญญา ในกรณีที่กรรมดีกำลังให้ผล ก็อย่าหลงระเริงจนตกอยู่ในความประมาท หมั่นทำบุญให้ทาน รักษาศึล ภาวนา อยู่เนืองนิตย์แต่ในขณะเดียวกันเมื่อตกอยู่ในวิบากกรรม ก็อย่าท้อแท้จนสิ้นหวัง คิดมากเกินไปจนเกิดความเครียดจนกลายเป็นโรคประสาท อาจทำให้ขาดสติและป้ญญา เพ้อคลั่งอารมณ์ฉุนเฉียวจนเกินเหตุ และแก้ไขโดยวิธีที่ผิด

2. เจริญภาวนา การเจริญพระกรรมฐานก็เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนทำดีหนีชั่ว เพราะถ้าผู้ใดปฏิบัติจนได้ฌาณสมาบัติ ร่างกายจะหยุดทำงานชั่วคราว เป็นการแยกกายกับจิตออกจากกัน จนเป็นเหตุให้กายระงับพ้นจากวิบากกรรมไปชั่วขณะ จนผ่านพ้นช่วงวิบากกรรมไปตามวาระ อีกทั้งเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่ดี ยังให้เกิดกุศลกรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้วิบากกรรมไม่อาจให้ผลได้ในช่วงขณะนี้ ดังนั้นวัดและสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงเป็นแหล่งที่จะช่วยให้พ้นจากกรรมวิบัติที่เกิดขึ้นได้

3.การแทรกแซงกรรม คือการแก้ไขวิบากกรรมให้เบาบางลงไป โดยพิจารณาว่าอกุศลกรรมใดกำลังให้ผลเราอยู่ และควรแก้ไขโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสม เพื่อคลายกรรมนั้น เช่น การถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ บวชชีพราหมณ์ สร้างพระพุทธรูป อุทิศส่วนกุศลแก้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่กำลังให้ผลเราอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นการสร้างกุศลเป็นพิเศษในช่วงนี้ จึงเป็นการเข้าไปแทรกแซงผลของกรรม หรือขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ถ้าหากเจ้ากรรมนายเวรยอมรับก็จะคลายกรรมให้เราเอง

เนื่องจากกรรมทั้งหลายมากันต่างกรรมต่างวาระ บางครั้งก็หนัก บางครั้งก็เบา และส่งผลไม่พร้อมเพรียงกัน ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำ และความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกระทำ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

4. การคลายขันธ์ คือการปรับธาตุทั้ง 4 ในร่างกายให้เป็นปกติ ยามเมื่อเราเจริญสมาธิภาวนา เบญจขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะได้รับการผ่อนคลายระงับอยู่ในช่วงขณะหนึ่ง กรรมเล็กกรรมน้อยที่มีอยู่จะถูกขับออกจากขันธ์โดยการผ่อนคลายบางส่วนให้ แต่ก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และจะเกิดปิติสุขติดตามมา


ขุททกาปิติ คลายขันธ์ที่ระบบประสาททั้ง 5 มีอาการน้ำตาไหล ขนลุกชูชัน

ขณิกาปิติ คลายขันธ์ในเส้นประสาทภายใน รู้สึกแปลบ ๆ

โอกันตปิติ คลายขันธ์ตามเซลล์ รู้สึกซู่ซ่าแผ่ซ่านไปทั้งตัว

อุเพ็งคาปิติ คลายขันธ์ในโครงสร้าง รู้สึกตัวลอยขึ้นจากพื้น

พรรณาปิติ คลายขันธ์ตามอวัยวะต่าง ๆ รู้สึกเย็นเอิบอาบไปทั่วทั้งตัว

5. ก้าวล่วงกรรม คนเราบางคนในอดีตเคยกระทำกรรมบางอย่างที่เป็นมโนกรรม โดยมีตนเองเป็นเจ้ากรรมนายเวร คิดถึงความผิดพลาดในอดีต แล้วเกิดทุกข์ใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทุกข์อยู่คนเดียว หากเราสำนึกผิดและคิดว่าจะไม่กระทำอีก พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ใช้ การอธิษฐานจิตออกจากกรรมเอง โดยการให้สัจจะว่า จะไม่คิดทำกรรมชนิดนี้อีกต่อไป

6. การอโหสิกรรม หรือการให้อภัยทาน เป็นผลให้กรรมนั้นเป็นโมฆะกรรม หลุดพ้นจากบ่วงกรรมนั้นทันที ดังนั้นหากเจ้ากรรมนายเวรใดมาก่อนปรากฏตนต่อหน้าในขณะนั้น ก็พึงประกาศขออโหสิกรรม ให้อภัยซึ่งกันและกันถ้ายินยอมกรรมนั้นก็หลุดไป ถ้าไม่ยินยอมแม้เราซึ่งเป็นลูกกรรมจะขอแล้ว กรรมนั้นย่อมจะส่งผลต่อไป สุดแท้แต่ลักษณะกรรมที่กระทำกันมา

สาธุชนทั้งหลายก็โปรดลดละกรรม กรรมเก่ากรรมก่อนก็ผ่านไป ส่วนกรรมใหม่อย่าสร้างอีก คิดดี ทำดี จิตมีเมตตา ใช้ปัญญามากกว่าอารมณ์ ชีวิตจะแจ่มใสขึ้นอีกมากมาย

สนใจเรื่องการจัดดวง วางฮวงจุ้ยทั้งบ้านและร้านอาหาร ร้านรวง ติดต่อ อาจารย์เดช ญาณทิพย์ 818 399 5757, Line: stevefengshui,facebook: เดช ญาณทิพย์