10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับ ยูเรเนียน

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติการใช้วิชาโหราศาสตร์มาอย่างยาวนาน จนพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบของ “โหราศาสตร์ไทย” อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติเลยทีเดียว คนไทยโดยส่วนใหญ่จึงคุ้นชินกับระบบของโหราศาสตร์ไทยเสียมากกว่า หากเมื่อต้องกล่าวถึง โหราศาสตร์สากล (Classical Astrology)และ โหราศาสตร์ยูเรเนียน (Uranian Astrology) คนไทยจึงมีมุมมองไปในทางที่ว่า “คล้าย ๆ กันไปหมด” ซึ่งในบทความนี้ จะนำพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบางแง่มุมของโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยเฉพาะ 10 เรื่อง ที่คน(ไทย) มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับโหราศาสตร์ยูเรเนียน ส่วนจะมีเรื่องไหนบ้าง เชิญทรรศนากันได้เลย


1 ยูเรเนียน กับ โหราศาสตร์สากล ?

หากถามว่า ยูเรเนียน คือ โหราศาสตร์สากล ใช่หรือไม่ ? คำตอบก็คงเป็นทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” ในเวลาเดียวกัน

จริง ๆ แล้ว วิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียน ก็มีรากฐานมาจากวิชาโหราศาสตร์สากลนั่นแหละ ซึ่งถูกคิดค้นโดย ปรมาจารย์ทางโหราศาสตร์ นามว่า อัลเฟรด วิตเตอร์ (Alfred Witte) ซึ่งพัฒนาแนวทางจากโหราศาสตร์สากลดั้งเดิมที่ขณะนั้น มีวิธีการที่ซับซ้อนและแยกย่อยมากเกินความจำเป็น ให้มีกรรมวิธีในการหาคำตอบที่ ชัดเจน ตรงประเด็น และ ไม่เยิ่นเย้อ โดยการตัดบางเทคนิกที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้แต่แก่นที่เป็นหัวใจหลัก ๆ ของโหราศาสตร์สากลดั้งเดิม (จริง ๆ สภาพของแวดวงโหราศาสตร์ในยุโรปขณะนั้น ก็คล้าย ๆ กับโหราศาสตร์ไทยในตอนนี้ ที่มีแนวทางของหลายสำนัก หลายอาจารย์ จนบางครั้งขัดแย้งกัน)

นอกจากนี้ ท่านอัลเฟรด วิตเตอร์ ยังได้คิดค้นเทคนิกเฉพาะตัวคือ “พระเคราะห์สนธิ” (Planetary Pictures) โดยอาศัยความรู้เชิงมุมทางคณิตศาสตร์ เทียบกับวงกลมของเส้นระวิมรรค (วงกลมจักรราศีที่เราใช้ดูดวงนั่นเอง) สร้างเป็นสมการดาวเข้ารูป พร้อมคำแปลที่เกิดจากการสนธิความหมายตามปัจจัยทางโหราศาสตร์เข้าด้วยกัน ให้นึกภาพตามอย่างง่าย ๆ ก็คือ เหมือนพจนานุกรมแปลภาษาดาว เป็นภาษาคนนั่นเอง และนอกจากนี้ ยังได้คิดค้นจานหมุน 360 องศา ที่ช่วยทำหน้าที่วัดมุมดาว และ หาศูนย์รังสี (Mid Point) กับ จุดอิทธิพล (Sensitive Point) รวมถึงการใช้เรือนชะตาจากจุดเจ้าชะตาทั้ง 5 (ซึ่งในทางปฏิบัติ สามารถตั้งเรือนชะตาได้จากดาวทุกดวง) และ พัฒนาดวงโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) ในการพยากรณ์จรช่วงอายุขัย รวมถึงคำนวณตำแหน่งดาวทิพย์ (Trans Neptunian ตัวย่อ TNP) เพื่อใช้ขยายความเพิ่มเติมในการพยากรณ์ที่จำเพาะเจาะจงมากกว่าดาวเคราะห์หลัก

เดิมทีนั้น ท่านอัลเฟรด วิตเตอร์ ไม่ได้ตั้งชื่อว่า “โหราศาสตร์ยูเรเนียน” ด้วยซ้ำไป ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะแยกออกมาเป็นศาสตร์การพยากรณ์แขนงใหม่ เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโหราศาสตร์สากลดั้งเดิม แต่ปรับบางส่วนให้เหมาะสมกับกาลยุคสมัยมากขึ้น โรงเรียนสอนโหราศาสตร์ของท่านใช้ชื่อว่า “โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก” (Hamburg School of Astrology) จนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 วิชาโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก ได้เข้าไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา โดย ฮานส์ นิกเกอร์แมน (Hans Niggerman) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ยูเรเนียน” เพื่อความง่ายต่อการทำการตลาด (เรื่องของการสื่อสารแบรนด์นั่นแหละ) จนกลายเป็นชื่อติดหูมาจนถึงทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่าง โหราศาสตร์สากล และ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยหลัก ๆ ก็คือ

• เรื่องของ ดาวทิพย์ทั้ง 8 ซึ่งโหราศาสตร์สากลไม่มี

• จานหมุน 360 องศา ซึ่งปกติแผ่น Chart ดวงของโหราศาสตร์สากล ไม่จำเป็นต้องหมุนได้รอบทิศเพราะเน้นใช้เรือนชะตาลัคนาแบบ พลาซิดุส (Placidus House System) เป็นหลัก

• ดวงชะตาโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) ในขณะที่โหราศาสตร์สากลใช้ดวง Progress

• ปรัชญามุมสะท้อน เรือนสะท้อน และ ดาวสะท้อน (A+B-C จริง ๆ ก็คือ C สะท้อนแกน A/B)

• สูตรพระเคราะห์สนธิ และ สูตรเรือนชะตาสนธิ (ซึ่งถ้าเข้าใจปรัชญาแล้วจะพบว่า หลักการผสมเหมือน ๆ กัน)

**ปัจจุบัน โหราศาสตร์สากลบางสำนัก เริ่มมีการใช่กลุ่มดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) จึงทำให้บางท่านจำสับสนกับ ดาวทิพย์ทั้ง 8 ของยูเรเนียน และเข้าใจว่าเป็นโหราศาสตร์ประเภทเดียวกัน


2 โค้งสุริยยาตร์ กับ คัมภีร์สุริยยาตร์ ?

คำว่า “คัมภีร์สุริยยาตร์” คนไทยมักจะคุ้นหู หรือเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะเป็นสูตรคำนวณปฏิทินดาวระบบหนึ่งที่นิยมใช้กันแพร่หลายในวิชาโหรศาสตร์ไทย แต่คำว่า โค้งสุริยาตร์ หรือ Solar Arc ใน โหราศาสตร์ยูเรเนียน จริง ๆ แล้วนั้น…

ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย !!! ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ คัมภีร์สุริยยาตร์ของโหราศาสตร์ไทยแม้แต่น้อย จริง ๆ เหตุผลของการตั้งชื่อมันก็มาจากรากศัพท์ภาษา สุริยะ+ยาตรา มันไปตรงกับคำว่า Solar+Arc(Direction) ซึ่งมีนัยะถึงค่าองศาของอาทิตย์ที่เดินหน้าไปเรื่อย ๆ ทุกปี แค่นั้นเอง !!! และ อ. พลตรีประยูร พลอารีย์ (ปรมาจารย์ยูเรเนียนชาวไทยคนแรก ที่ไปเรียนที่เยอรมัน) เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วแปลหนังสือพระเคราะห์สนธิ ให้เป็นภาษาไทย จึงต้องศัพท์นิยาม Solar Arc เป็นภาษาไทยเสียใหม่ จึงเลือกคำว่า สุริยยาตร์ เพราะท่านเป็นคนไทยที่อยู่ในแวดวงโหร คุ้นเคยกับศัพท์คำนี้อยู่แล้ว (และ โค้งสุริยยาตร์ ยังไงก็ไพเราะกว่า โค้งอาทิตย์)

หากจะว่ากันตามตรงแล้ว ดวงโค้งสุริยาตร์ จะใกล้เคียงกับดวงโปรเกรส (Progression) ของโหราศาสตร์สากลมากกว่า และหากจะให้แยกย่อยลงไปในชนิดของดวงโปรเกรส อีกล่ะก็… ดวงโค้งสุริยยาตร์ วิธีการคำนวณจะเหมือนกับดวง Secondary Progression เพียงแต่เอาค่าองศา Progression ไปบวกกับดาวทุกดวง เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกติดปาก เช่น ดาวบวกโค้ง (ดาว V1) หรือ ดาวลบโค้ง (V2) บ้างก็เรียกว่า โค้งอาทิตย์ หรือ โค้งอายุ เพราะค่าองศาของ Solar Arc จะเพิ่มตามจำนวนอายุของเจ้าชะตาเอง โดยเฉลี่ยปีละ 1 องศา

** 1 ปี = 1 องศา นั้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ย ในการคำนวณจริงจะขึ้นอยู่กับค่าการโคจรของอาทิตย์ หรือ Daily Motion ณ ห้วงเวลาเกิดของแต่ละคน

อนึ่ง ทฤษฎีดวงโค้ง หรือ ดวงโปรเกรส เกิดจากสมมติฐานที่ว่า ทำไมดาวจรดวงเดียวกัน เมื่อโคจรมาทำมุมเดิม ในดวงชะตาเดิม แต่กลับให้ผลต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ? เทียบได้กับโหราศาสตร์ไทยก็คงจะเป็นวิชาทักษาจร


3 สายนะ นิรายนะ ดาวยก ดาวย้าย ?

เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่สร้างควมสับสนงุนงง โดยเฉพาะหมอดู(มือใหม่) และ คนที่มาดูดวง ในเรื่องการนับ ราศี ก็ต้องพูดเผื่อไปถึงความเข้าใจผิดของคนทั่วไป ที่มักเข้าใจว่า ฉันเป็นคนราศีนั้น ราศีนี้ พอมาดูกับอีกศาสตร์นึงแล้วบอกว่าไม่ใช่ พาลให้อคติกันไปเปล่า ๆ

เพราะโหราศาสตร์ไทย จะใช้ปฏิทินจักรราศีนิรายนะ (Sideral) ในขณะที่ฝั่งโหราศาสตร์สากล และ ยูเรเนียน จะใช้ปฏิทินจักรราศีสายนะ (Tropical) อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า มาจากคนละแนวคิด แต่จะไม่ขออธิบายที่มาในบทความนี้ (เพราะสามารถเสิร์ชหาอ่านได้ทั่วไป) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ปฏิทินทั้งสองระบบมีค่าองศาที่เหลื่อมกันอยู่ (ค่าอายนางศ์ : Precession) ประมาณ 24 องศา

ภาพจาก http://www.vijayajyoti.com

เมื่อปฏิทินที่ใช้ต่างกัน องศาต่างกัน วันที่ดาวยก ดาวย้ายราศีก็ไม่ตรงกัน ตรงส่วนนี้ โหรยูเรเนียน ไม่มีปัญหาในการวางตัวเท่าไหร่ เพราะเราไม่ค่อยมีประเพณีดาวยก ดาวย้าย แบบทางโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งผมเคยถามโหราจารย์รุ่นเก่า ๆ ก็เพิ่งบอกว่าจะมียุคนี้นี่แหละ ที่ไหว้รับดาวย้ายราศี (สมัยก่อน มีแค่สวดพระเคราะห์เสวยอายุ พระเคราะห์แทรก) ทางฝั่งยูเรเนียน จะใช้แค่ปรากฏการณ์ อาทิตย์ ย้ายเข้าราศีทวาร ที่ใช้เป็นจุดอ่านดวงสงกรานต์ เท่านั้น (จุดฤดูกาลทั้ง 4)

เพราะฉะนั้น เมื่อคุยกันเรื่องดาวในราศีนั้น ลัคนาราศีนี้ ควรถามเฉพาะเจาะจงไปเลยว่าใช้ปฏิทินระบบใด ใช้โหราศาสตร์แขนงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… การสนทนากับลูกค้าที่มาดูดวง หากไม่เหนื่อยที่จะต้องอธิบายนัก แนะนำว่าเลี่ยงศัพท์โหร จำพวก ลัคนา ราศีไปเลยจะดีกว่า

เพราะมันเหมือนทำงานร้านกาแฟ แล้วเจอลูกค้าสั่งเอสเพรซโซ่ใส่นม… ก็ชงให้เค้าไป


4 ธาตุดาว ?

เอาจริง ๆ ต้องพูดว่า นี่ก็เป็นอีกความเข้าใจผิด (รองลงมาจากเรื่องปฏิทิน) ของโหราศาสตร์ไทย เมื่อต้องสื่อสารกับ โหราศาสตร์สากล หรือ ยูเรเนียนกันเลยทีเดียว ในเรื่องของธาตุดาว

โดยปกติแล้ว ธาตุของดาวเคราะห์ ระหว่างโหราศาสตร์สากล และ ยูเรเนียน นั้นเหมือนกันอยู่แล้ว ซึ่งมาจากปรัชญาของธาตุราศี คุณะ และ ฤดูกาล ซึ่งเกิดจากการผสมกันของ 4 คุณสมบัติหลัก คือ ร้อน (Hot), เย็น (Cold), เปียก (Wet), แห้ง (Dry)

ในขณะที่ธาตุดาวของโหราศาสตร์ไทย มาจากวิชาทักษา ยกตัวอย่างเช่น จันทร์ ทางโหราศาสตร์ไทยจัดเป็นธาตุดิน เมื่อมองในตารางทักษา(คู่ธาตุ) ก็จะเห็นว่าอยู่ตรงข้ามกับ พฤหัส ซึ่งก็จัดว่าเป็นธาตุดิน อาทิตย์ธาตุไฟ ก็อยู่ตรงข้ามกับ เสาร์ ธาตุไฟเช่นกัน

แต่พอมาทางฝั่งโหราศาสตร์สากล จันทร์ จัดเป็นธาตุน้ำ เพราะให้คุณสมบัติของธาตุน้ำที่ชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะในเรื่องของอารมณ์ ความอ่อนไหว น้ำขึ้น น้ำลง ฯลฯ และเป็นเกษตรของราศีกรกฎ ธาตุน้ำ

ดาวเสาร์ ธาตุดิน ให้คุณสมบัติที่ แข็ง มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เชื่องช้า แต่คงที่ ตามคุณสมบัติของราศีมกร ธาตุดิน

จริง ๆแล้ว ปรัชญาการจัดลำดับธาตุดาว ทางฝั่งโหราศาสตร์สากล หรือ ยูเรเนียน (เพราะรากฐานเดียวกัน) จะสอดคล้องกับการจัดตำแหน่งเกษตรของดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติของราศีใกล้เคียงกัน เช่น อังคาร ธาตุไฟ มีคุณสมบัติของความร้อน กระตือรือร้น การต่อสู้ อาการบวมอักเสบ บาดแผล ซึ่งที่กล่าวมา ก็เป็นคุณสมบัติของธาตุไฟ ตามราศีเมษอยู่แล้ว แต่ อังคาร ก็ครองเกษตรที่ราศีพิจิกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นธาตุน้ำ แต่เป็น สถิระราศี (ธาตุน้ำระดับกลาง) ความร้อนแรงทางพฤติกรรมของพิจิก จึงอาจจะสู้เมษไม่ได้ พิจิก จึงแสดงออกไปในทาง ความมั่นใจ และ สม่ำเสมอ อุทิศตน เสียสละ มากกว่าเมื่อเทียบกับ เมษ ที่โผงผาง ระเบิดออกมาในตูมเดียว

ในทางปฏิบัติเพื่อการพยากรณ์ ยูเรเนียน ไม่ได้อาศัยธาตุของดาว ในการพยากรณ์ จะเน้นก็ตรงธาตุของราศีมากกว่า ธาตุดาวเ ป็นเรื่องที่ใช้ทำความเข้าใจปรัชญา และ ความหมายในการแปลดาวเท่านั้น ว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร

เพราะฉะนั้น ถ้าโหรทั้งสองฝั่งคุยกัน และไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน จะทำให้สื่อสารกันผิดอยู่บ่อย ๆ (เพราะ ธาตุดาวคนละแบบ) ทั้งที่จริง ๆ ก็ไม่มีฝั่งไหนผิด เพราะตำราสอนมาแบบนั้น


5 จะเรียนยูเรเนียน ต้องเก่งคณิตศาสตร์ ?

การที่วิชายูเรเนียน มีเทคนิกเฉพาะคือ สมการดาวจากคัมภีร์พระเคราะห์สนธิ ทำให้บางครั้งต้องมีการขึ้นรูปเป็นสมการต่าง ๆ นานา เช่น ยูเรนัส+อาพอลลอน-อาทิตย์ (อาจดูไม่คุ้นตาแน่ ๆ สำหรับโหรไทย) หรือบางทีก็ขี้เกียจพิมพ์ ขี้เกียจเขียน จึงใช้ตัวย่อเช่น UR+AP-SO และด้วยศัพท์แสงทางดาราศาสตร์บางคำ เช่น จุดเมอริเดียน หรือ ดาวทิพย์ต่าง ๆ นานา (ที่เป็นชื่อภาษาอังกฤษซะหมด) จนผู้ฟังเข้าใจไปเองว่าเป็นศัพท์ชั้นสูง เลยทำให้ภาพลักษณ์ของวิชายูเรเนียน ดูเข้าถึงได้ยาก พอ ๆ กับหนังอาร์ตเมืองคานส์

ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกเลยว่า ยูเรเนียน ไม่ได้ใช้อะไรมากมายนอกจาก บวก ลบ คูณ หาร ธรรมดา ๆ และ ในความเป็นจริงก็ไม่เคยมีใครห้ามใช้เครื่องคิดเลข จริงมั้ย ? คุณไม่จำเป็นต้องได้เกรด 4 วิชาคณิตศาสตร์อะไรขนาดนั้น ถ้าไม่ได้คิดจะเขียนโปรแกรม หรือ คำนวณปฏิทินใช้เอง

ที่ยากหน่อยสำหรับยูเรนเนียน ก็เพียงแค่ปัจจัยที่ใช้มันอาจจะเยอะไปหน่อยเมื่อเทียบกับวิชาโหราศาสตร์สายอื่น ๆ เพียงแค่ จุดเจ้าชะตา 5 จุด พร้อมดาวเคราะห์ 8 ดวง แถมด้วยดาวทิพยอีก 8 ดวง รวม ๆ แล้วก็ 21 ปัจจัยในแต่ละชั้นดวง ซึ่งในทางปฏิบัติ วิชายูเรเนียนจะใช้ดวงถึง 3 ชั้น ที่แตกต่างกันในการพยากรณ์จร นั่นก็คือ

1. ดวงกำเนิด (Radix ใช้ตัวย่อคือ r)

2. ดวงโค้งสุริยยาตร์ (V1,V2 ใช้ตัวย่อคือ v)

3. ดวงจร (transit ใช้ตัวย่อคือ t)

(Radix, V1 และ Transit)

ยกตัวอย่างเช่น เขียนเป็นสมการ ASt/NOt = JUt = MCv = URr+APr-SOr

(คนไม่เข้าใจจึงนึกว่าเขียนสูตรฟิสิกส์ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่นะ กิ๊ฟ !!!) แต่เมื่อเราใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ถอดคำแปลทีละปัจจัยก็จะได้ว่า ลัคนาจร/ราหูจร = พฤหัสจร = เมอริเดียนโค้ง = ยูเรนัสกำเนิด+อาพอลลอนกำเนิด-อาทิตย์กำเนิด

การติดต่อกับผู้อื่น = โชค ความสำเร็จ = สถานภาพ หรือ ตัวตน = นักโหราศาสตร์