สัปดาห์นี้ไม่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะเขียนอะไรคุยกับคุณผู้อ่านดี วันเวลาบ่งบอกให้เสร็จเพราะวันอาทิตย์นี้ตรงกับวันพ่อของชาวอเมริกันคือวันที่ 16 มิถุนายน ขอเวลานอกเขียนถึงบิดาของ ส.ท่าเกษม ถึงแม้ท่านจะถึงอสัญกรรมไปแล้วเป็นเวลา 46 ปีเต็มๆ ซึ่งก็เท่ากับเวลาที่ตัวเองพำนักพักพิงอยู่ที่นี่ ทำงานทำการ...เลี้ยงครอบครัว จากตัวคนเดียว บินเดี่ยว มาศึกษาต่อที่เมืองแอล.เอ. ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวขยายเป็น 1 โหลพอดี ไม่ขาดไม่เกิน !
เวลาผ่านไป 46 ปี ยังมีคนในวงการ น.ส.พ. นิตยสารในเมืองไทย และแอล.เอ. เขียนถึงท่านทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น สำหรับมือสมัครเล่นจะเขียนผิดๆ ถูกๆ บางรายใส่ไข่ทาสีจนเปรอะเปื้อนไปหมด จะเรียกว่าขาดจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือก็ว่าได้ เพราะไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น โดยเฉพาะในเมืองแอล.เอ. สังคมไทยวงแคบๆ เห็นกันไม่กี่คน นึกหมั่นไส้ขึ้นมาก็เขียนว่าแบบแต่งเรื่องขึ้น บางรายจะเขียนชื่อพวกเรา และเรียงลำดับสับสนไปหมด แสดงว่าไม่รู้จริง มีคอลัมนิสต์อยู่รายหนึ่งหลังจากเขียนให้ร้ายบิดาของ ส.ท่าเกษม ไปแล้ว เขียนแบบเขาเล่าว่าซึ่งต่างกับประวัติศาสตร์ เมื่อทราบความจริงได้เขียนขอโทษในคอลัมน์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีขอคารวะในความยุติธรรมและการเป็นนักเขียนตัวอย่าง คนเราพลาดกันได้นี่นา "สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" บางรายขอโทษแบบพาลๆ ทำตัวค่อนข้างเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาจิ้งจอกกับลูกแกะ ว่า ข้าแน่!
ผู้ใหญ่ทางเมืองไทยและที่อเมริกา บางท่านอยู่ในวงการขีดๆ เขียนๆ บางท่านเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย นักเขียน นักประพันธ์ที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์...เรื่องเก่าๆ คงจะสงสารที่ถูกรังแกอยู่บ่อยๆ จากนักเขียนด้วยกันที่เป็นเพศชาย มักจะให้กำลังใจและสนับสนุนให้เขียนถึงบิดาเพราะทายาทสายตรง รู้จริงของแท้ไม่ได้ฟังเขาเล่าว่า ที่จริงก็อยากจะเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่สังคมไทยระยะหลังๆ นี้มีการแบ่งสี ไม่รู้ใครเป็นใคร แบบรู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ หนังสือพิมพ์ก็เหมือนร้านอาหาร เพียงแต่เรียกผิดกัน ของเราเรียก "อาหารสมอง" มีคอลัมน์หลากหลายเลือกอ่านได้ตามใจชอบตามรสนิยม คอลัมน์ไหนไม่ถูกรสนิยมควรผ่านไป ให้ผู้ที่สนใจลิ้มรส เท่านี้ก็หมดเรื่อง ! ตัว ส.ท่าเกษมเอง เลือกอ่านแต่คอลัมน์ที่รู้จักคนเขียนเป็นส่วนตัว แต่ถ้าไม่สนใจในเรื่องนั้นก็ผ่านไป และในเวลาเดียวกัน คอลัมน์ที่ไม่รู้จักคนเขียนแต่ถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจะอ่านทันทีทันใด
แถลงความในใจที่อัดอั้นไว้นาน จิตใจเลยโปร่งใส ขอเริ่มเขียนคุยเรื่องของบิดา เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษา ณ โรงเรียนบพิตรพิมุข ถวายตัวในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่ออายุ 13 ปีเศษ และสมเด็จพระบรมโอรสได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยได้ยกไปรวมเข้าเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยนั้น)
สรุปแล้วท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบพิตรพิมุข และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานอนุญาตจากรัชกาลที่ 7 ให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 7 ปี
ขออัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาลงเมื่อบิดาของ ส.ท่าเกษมยังมีบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ายง
"วันนี้เป็นวันที่อายุของเจ้าครบ 21 ปี บริบูรณ์ อันเป็นที่ควรยินดีในส่วนตัว เพราะนับว่าเป็นผู้ใหญ่บริบูรณ์ตามกฎหมาย แต่นอกจากนี้ยังมีข้อที่ควรยินดีได้อีกหลายประการกล่าวแต่โดยย่อดังต่อไปนี้
ตั้งแต่เจ้ามาอยู่กับข้า รับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่เจ้ายังเป็นเด็กแทบจะไม่รู้ภาษาคน ตลอดมาจนถึงกาลวันนี้ อันเป็นวันซึ่งเจ้าได้ก้าวพ้นจากเขตอายุ ซึ่งนับว่าเป็นเด็กเริ่มย่างขึ้นบันไดขั้นแรกแห่งอายุผู้เป็นผู้ใหญ่ ข้าได้สังเกตมาตลอดแล้วเห็นว่าเจ้าเป็นผู้ที่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระเมตตายกย่องชุบเลี้ยงจริงๆ มีน้ำใจจงรักภักดี ซื่อตรงสุจริตมั่นคง มีความอุตสาหะ พากเพียรในทางที่ชอบ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากกายของตนเลย ข้าสุขก็สุขด้วย ข้าทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ทั้งหาความสอพลอไม่มีเลย ไม่เคยเห็นแสดงความริษยาในผู้หนึ่งผู้ใด ใครดีก็มักจะชมให้ข้าฟัง แต่ผู้ที่ผิดต้องได้รับโทษ หรือพลาดพลั้งอย่างใดๆ ก็ไม่เคยซ้ำเติม ทั้งมีจิตเมตตาโอบอารีต่อผู้น้อย แต่ส่วนผู้ใหญ่เจ้าก็ได้ประพฤติเป็นสัมมาคารวะต่อผู้ควรเคารพ ประพฤติตนมาโดยสม่ำเสมอเป็นที่สมควรแก่บุคคลทุกชั้น สมควรที่จะเรียกเจ้าว่าเป็นผู้ปฏิบัติมัทวสมาจารผู้ ๑ คุณสมบัติที่กล่าวมาแล้วทุกอย่างนี้ ย่อมทำให้เจ้าเป็นผู้ที่ชนทุกชั้นนิยมชมเชยว่าเป็นคนดี......." (วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ พ.ศ. ๒๔๕๔)
บิดาเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ กล่าวเฉพาะรัชกาลปัจจุบัน ท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อโอกาสอำนวยอยู่เนืองๆ และเต็มใจที่จะฉลองพระเดชพระคุณอยู่เสมอ ประกอบด้วยความจงรักภักดีและความสามารถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวัง และประธานกรรมการ พระราชวัง เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ ท่านพยายามฉลองพระเดชพระคุณด้วยวิริยะ หากไม่ถึงล้มหมอนนอนเสื่อ ท่านต้องไปฉลองพระเดชพระคุณตามหน้าที่ และเป็นเช่นนี้ตลอดชีวิต
ท่านเคยรับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน แต่งตั้งแทนพระองค์ไปในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดเกล้าฯ ให้ไปแทนพระองค์ในงานแข่งม้าชิงถ้วยพระราชทาน (ถ้วยดาบี้) ที่สนามม้าราชตฤณมัยฯ หลายครั้ง
ในขณะที่ท่านป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ ตึกพยาบาลกรุงเทพฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
มรดกตกทอด ที่ตั้งเป็นหัวข้อคอลัมน์ของสัปดาห์นี้ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ตึกรามบ้านช่อง ที่ดินราคาแพง แต่กลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าของนอกกาย ส.ท่าเกษมได้รับบารมีจากท่านคุ้มครองมาตลอด ประหนึ่งว่าตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ คนที่มุ่งร้ายก็มีอันเป็นไป มีผู้ใหญ่เมตตาให้กำลังใจสนับสนุนอยู่เสมอ แม้แต่ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ ซึ่งเป็นงานอดิเรก
สิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือได้รู้จักศิษย์เก่า ร.ร. บพิตรฯ ที่แอล.เอ. ทุกคนน่ารักและมอบไมตรีจิตมิตรภาพให้ ส.ท่าเกษม อย่างจริงใจ เริ่มจาก "ป้าแอ๊ะ" วิไล ตันธนวัฒน์ เป็นชาว เขียว-ขาว รายแรกที่รู้จักที่นี่ คุณอรทัย (ติ๋ม) เดชะณรงค์ คุณไตรยา (ก้อย) โคเฮน แห่งสถานกงสุลฯ คุณมันทนา (แหวว) อัคนิฑัต คุณพัชรีวรรณ ชัยสมบูรณ์ คุณปิยะพัชร์ ศิลปี-ไวทย์ ฯลฯ นานๆ พบกันทีแต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใสคุยกันได้ บางรายพูดกันทางโทรศัพท์ไม่เคยพบเป็นส่วนตัว สำหรับคุณก้อย เธอเป็นเพื่อนกับน้องๆ ที่ ร.ร. บพิตรฯ ทราบว่าเดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัยไปแล้ว ลืมถามไปว่าทราบไหมว่าบิดาของ ส.ท่าเกษม เป็นชาวเขียว-ขาว ถึงแม้ตัวเองไม่ได้เป็นแต่ไปรับพี่ๆ น้องๆ ทุกวันและไปงานบพิตรฯ ทุกปี ! เกือบลืมไป คุณเอนก พลอยแสงงาม เจ้าของ น.ส.พ.ไทยแอล.เอ. เป็นชาวเขียว-ขาว เช่นกัน ส่วนการศึกษาของลูกๆ ท่านให้เข้าโรงเรียนเจ้านายเช่น วชิราวุธฯ และราชินี ส่วนโรงเรียนฝรั่งจะมี มาแตร์เดอี เซ็นโยเซฟฯ เซ็นฟรังฯ บางคนจบแปดไปเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ บางคนจบหกแล้วไปต่อบพิตรฯ เป็นเรื่องที่แปลกคือ หลังจากบิดาถึงแก่อสัญกรรม พี่ๆ น้องๆ ที่จบจากบพิตรฯ เข้าทำงานที่ธนาคารกุรงเทพกันทั้งนั้น
พูดถึงเรื่องบารมีคุ้มครอง คุณบุญชู โรจนเสถียร ดูแลพวกเราอย่างดี แม้นแต่ ส.ท่าเกษมอยู่ที่นี่ยังได้ทุนจากธนาคารกรุงเทพจนเรียนจบ ตอนนั้นคุณพอล สิทธิอำนวย เป็นผู้จัดการสาขานิวยอร์ค ได้รับมอบหมายให้ดูแล ส่งเช็คมาให้ ตอนมาปีแรกคุณประพีร์ โชติกะพุกกะณะ เป็นผู้ปกครองออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามีท่าน คุณพรเป็นบุตรชายของพระยาโชดึก และเป็นเพื่อนเล่นไพ่ของบิดา
มรดกชิ้นสำคัญ ที่ได้รับและเจริญรุ่งเรืองมาจนบัดนี้เห็นจะเป็นชื่อที่ท่านตั้งให้ ท่านศึกษาดูตัวอักษรที่ไม่เป็นกาลกิณี...ดูลักษณะ พวกเราจะได้รับชื่อเมื่อมีอายุครบ 1 เดือน ชื่อที่สั้นที่สุดมี 3 พยางค์ เช่น จิตอนงค์ ไกรกรีกูร ระฆุวงศ์ ความจำนงค์ ยาวที่สุดมี 7 พยางค์ ทักษิณีเขตจรดล