คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





“อาลัยรัก” ....ณ ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค
ฉันรักเธอ รักเธอด้วยความไหวหวั่น
ว่าสักวัน ฉันคงถูกทอดทิ้ง
มินานเท่าไร แล้วเธอก็ไปจากฉันจริงจริง
เธอทอดทิ้ง ให้อาลัยอยู่กับความรัก
แม้มีปีก โผบินได้เหมือนนก
อกจะต้อง ธนูเจ็บปวดนัก
ฉันจะบิน มาตายตรงหน้าตัก
ให้ยอดรัก เช็ดเลือดและน้ำตา

ในเย็นวันหนึ่งของฤดูหนาว เป็นช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะลาลับฟ้า ส.ท่าเกษม ชอบที่จะไปเดินแถว SEA WALL ของเมืองที่มีชื่อว่าคาร์ลสแบด เย็นวันนั้นดูจะแปลกไปกว่าทุกๆ ครั้ง สะดุดตากับนกตัวน้อยที่ยืนสงบนิ่งอยู่บนหาดอย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย ปกติจะเห็นนกบินกลับรังเป็นฝูงๆ เรียงกันเป็นระเบียบ บ้างก็เหนือท้องทะเล บ้างก็บนฝั่งเหนือหาดทราย

อยากทราบจังว่าเจ้านกที่น่ารักน่าสงสารตัวนั้นกำลังคิดอะไรอยู่ในสมองน้อยๆ ดูลักษณะของลำตัวและหัวที่ประกอบด้วยดวงตาใสกลมคู่นั้นแล้ว รู้สึกเศร้าแทน สายตาที่นิ่งมองไปสู่ท้องทะเลเบื้องหน้าเหมือนรออะไรอยู่... อยากรู้ “นก” มีหัวใจเหมือนมนุษย์ไหม ? หัวใจที่เจ็บปวดเมื่อถูกทอดทิ้งอย่างไม่เหลียวแล

ส.ท่าเกษม แอบมองและถ่ายรูปอยู่ห่างๆ กลัวว่าจะไปรบกวนโลกส่วนตัวของเจ้านกน้อยที่น่าทะนุถนอมตัวนั้น ทั้งๆ ที่ใจอยากจะโอบอุ้มมาไว้ในอ้อมแขน

เพลง “อาลัยรัก” นี้ ครูชาลี อินทรวิจิตร ได้รับความบันดาลใจจากบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” ของ ศรีบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ( ๒๔๔๘-๒๕๑๗ ) นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ชื่อดังผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย

คนในวงการบันเทิงรุ่นเก่า ต่างก็ทราบถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างเพื่อนรักทั้งสอง คือ ครูชาลี และ สุวัฒน์ วรดิลก ตั้งแต่สมัยทำงานร่วมกันใน คณะละครศิวารมณ์ ครูชาลีเล่าว่า สุวัฒน์ เป็นผู้จุดประกายให้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากนักร้องหน้าม่านสลับฉากละครเวทีมาเป็นนักเขียน สุวัฒน์ แนะนำหนังสือ “สงครามชีวิต” โดยส่งมาให้อ่าน “เฮ้ย หง่า (ชื่อเก่า) ลองอ่านหนังสือเล่มนี้หน่อย” ครูชาลีประทับใจตอนที่ ระพินทร์ พระเอกของเรื่อง เขียนจดหมายถึง “เพลิน” สาวที่ตนรักและหมายปองว่า “...ถ้าฉันเป็นนก ฉันคงจะบินติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง แม้ว่า เมื่อบินไปในระหว่างทาง ตัวฉันจะต้องถูกธนู ฉันก็จะอุตส่าห์พยุงกายบินไปตกตรงหน้าตักเธอ และเมื่อยอดรักได้เช็ดเลือดและน้ำตาให้ฉันสักครั้งหนึ่ง ฉันก็จะหลับตาตายด้วยความเป็นสุข....”

ครูชาลี เขียนไว้ใน “บูชาครู บูชาคำ” ตอนหนึ่งมีว่า...บังเอิญ ปรีชา บุญยเกียรติ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผมก็เลยถือโอกาสแต่งเพลงนี้ให้ ชรินทร์ นันทนาคร ร้องไว้อาลัย ปรีชา ในละครเพลงที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์คู่กับ สวลี ผกาพันธุ์

วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคมนี้ วันที่ น.ส.พ. ไทยแอล.เอ. วางแผงหนังสือมี ชรินทร์อินคอนเสิร์ต ที่ไทยแลนด์พลาซ่ากลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง คราวนี้มาพบกับแฟนเพลงชาวไทยในแอล.เอ. และเมืองใกล้เคียงเพื่อร่วมถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่องค์พระประมุขของประเทศไทย

เชื่อว่า “อาลัยรัก”คงเป็นเพลงหนึ่งในจำนวนเพลงรักในอดีตที่คุณชรินทร์จะนำมาขับร้อง รวมทั้งเล่าเรื่องราวของแต่ละเพลง ให้ความอภิรมย์แก่แฟนๆ เพลงพันธุ์แท้เป็นเวลา ๓ ชั่วโมงเต็ม น่าสนใจทีเดียว !

หมายเหตุ ขอขอบคุณ เมนทอร์ (MENTOR) ทางด้านงานเขียน ที่กรุณามอบหนังสือ “ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากลลูกกรุง” ของ คีตา พญาไท ให้ ส.ท่าเกษม เพื่อเก็บเอาไว้ในการเขียนเกี่ยวกับ “เพลง”


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๕ ธันวาคม ๒๕๕๘