คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



จาก “เรือนพระสุรภี” พระราชวังสนามจันทร์... สู่ “ตึกนารีสโมสร” ทำเนียบรัฐบาล (ตอนแรก)
อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์  ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย  กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู   เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เปนหมา
เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา   ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ
เพื่อนเปนมิตร์ชิดกูอยู่เนืองนิตย์   จะหามิตร์เหมือนเจ้าที่ไหนได้
ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล   กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง
ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน   จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง
ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง   ถึงยามนอน ๆ ข้างไม่ห่างไกล
อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษสุจริต   จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้
แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ   กูมองดูรู้ได้ในดวงตา
โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หลัด ๆ   เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า
กูเผลอ ๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา   เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง
อันความตายเปนธรรมดาโลก   กูอยากตัดความโศกกระมลหมอง
นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง   เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี
เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน   เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี
เป็นคนจริงฤๅจะปราศซึ่งปรานี   นี่รากษสอัปปรีปราศเมตตา
มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย   แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์
จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา   ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน
เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ   ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น
ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น   ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์
ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่   กูก็รักเพื่อนนี้เปนปฐม
ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม   ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก
ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้   รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก
แต่รูปนี้ไว้เปนพยานรัก   ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี
เพื่อนเปนเยี่ยงอย่างมิตร์สนิทยิ่ง   ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่
แม้คนใดเปนได้อย่างเพื่อนนี้   ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย

ย่าเหล (พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๕๖) เป็นสุนัขพันทางที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ทรงเลี้ยงและโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังถูกลอบยิงตาย รัชกาลที่ ๖ ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพ และสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัยแก่ย่าเหลด้วย

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ห่างจากวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา พระราชวังสนามจันทร์เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ไม่ใช่พระราชมรดกที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระบรมชนกนารถ ร.๕ พระองค์ทรงเก็บทุนในสมัยทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่พระยุพราชและทุนอื่น ๆ พระราชวังสนามจันทร์สร้างบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต หลังจากพระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งเป็น วิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง

พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน ๔ ปี โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลป์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำจันทร์ หรือ สระบัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เทวาลัยคเณศร์ ขึ้น ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ สำหรับประดิษฐาน พระพิฆเนศวร ซึ่งนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ และเมื่อมองจาก พระที่นั่งพิมานปฐม จะเห็น องค์พระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์ และ พระที่นั่งพิมานปฐม อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน

เรือนไม้สำหรับข้าราชบริพารภายในพระราชวังสนามจันทร์ มีดังนี้

๑.เรือนพระกรรติเกยะ ๒.เรือนพระนนทิการ ๓.เรือนพระนนทิเสน ๔.เรือนสุภรักษ์ ๕.เรือนชาวที่ ๖.เรือนทับเจริญ ๗.เรือนพระธรณี ๘.เรือนพระสุรภี ๙.เรือนพระกรรมสักขี ๑๐.เรือนพระอัศวิน ๑๑.เรือนพระธเนศวร ๑๒.เรือนคฤหบดี ๑๓.เรือนพระเอกทันต์ ๑๔.เรือนราชมนู ๑๕.เรือนชานเล็ก ๑๖.เรือนคลังแสง ๑๗.เรือนที่พักพระตำรวจหลวง

คำว่า “พระสุรภี” เป็นชื่อของพระชายาองค์หนึ่งของ พระกศยปเทพบิดร มีพระโอรสกับ องค์พระเทพบิดร คือ พระอิศวร หรือ พระศิวะ ดังนั้นเจ้าของเรือนจึงต้องเป็นหญิงที่มีความสำคัญ และได้รับมอบหมายภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงตลอดรัชสมัยของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ นอกจากนี้คำว่า “สุรภี” ยังหมายถึง เครื่องหอม ดังนั้น เรือนพระสุรภี จึงเป็นเรือนที่พักของ คุณท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี หรือ หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำว่า “สรรพาหารพิจาริณี” หากแยกคำก็จะพบว่ามีความหมายที่สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งของผู้อยู่อาศัยในเรือน ซึ่งเป็นตำแหน่งของ คุณท้าวว่าการห้องวิเสท

หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ ถือเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญมากในรัชสมัย เพราะในรัชสมัยของ รัชกาลที่ ๖ ผู้ใกล้ชิดพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นชาย หากแต่ด้วย คุณท้าวอินทรสุริยา เป็นถึงพี่สาวแท้ของ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) และ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ก็ด้วยความที่ทั้ง ๓ เป็นบุตรของ พระนมทัด พระนมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้มีความสนิทเป็นปฐม และเป็นที่ไว้พระราชหฤทัยมอบหมายภารกิจงานสำคัญของชาติบ้านเมือง

ม.ล.เชื้อ พึ่งบุญ (คุณท้าวอินทรสุริยาฯ) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจใน บ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล) และ ท่านเจ้าคุณรามฯ ตั้งศพพี่สาวของท่านที่ ตึกพระขรรค์ (ตึกนารีสโมสร) ก่อนนำไปรับพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาส หลังจากนั้นจึงใช้เป็นสถานที่พักตัวละครและสถานที่แต่งตัวละคร

วันจันทร์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ ทาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคลในการบูรณะ เรือนพระกรรมสักขี และ เรือนพระสุรภี วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันของกองแผนงานวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย ในส่วนของมหาวิทยาลัยศิลปากร กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ให้ความอนุเคราะห์งบประมาณ ๑๑ ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ และเทคโนโลยีการก่อสร้างในสมัย รัชกาลที่ ๖ เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘

คอลัมน์ คุยกันวันเสาร์ ในสัปดาห์นี้เขียนคุยถึง เรือนพระสุรภี ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนไม้ของข้าราชบริพารในพระราชวังสนามจันทร์ เนื่องจาก ส.ท่าเกษม เคยเขียนถึงท่านเจ้าของเรือนไม้หลังงามนี้เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว ตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๙ และหัวหน้าคสช. เข้าทำเนียบรัฐบาล เรื่องราวจะเกี่ยวโยงกันอย่างไรระหว่าง เรือนพระสุรภี และ ตึกนารีสโมสร ที่พนักงานผู้ดูแลรักษาตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมยุทธโยธาทหารบกที่เข้าปฏิบัติงานซ่อมแซมบูรณะ ต่างประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ แบบ ไม่เชื่ออย่าลบลู่ เห็นทีจะต้องยกยอดไปคุยต่อในเสาร์หน้าเนื่องจากเนื้อที่จำกัด กรุณาติดตามถ้าคุณผู้อ่านสนใจในเรื่องราวเก่าๆหาอ่านได้ยาก...รับรองไม่ผิดหวัง !

หมายเหตุ ภาพต่างๆและข้อความทั้งหลายมาจากวิกิพีเดีย, 3 thai.com ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย อาจารย์โอภาส วงษ์ทวีทรัพย์, reurnthai.com, news.mthai.com ขอขอบคุณ


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑ เมษายน ๒๕๖๐