กี่ฝัน..กี่ความหวัง
กี่ครั้ง..ที่ใจต้องทน
ล้ม..แล้วลุก. คลุกคลานกี่หน
จะทน ก้าวไป...
กี่ร้อน..กี่เหน็บหนาว
อยากเป็นดาว ลอยบนฟ้าไกล
ทุกข์ ถม ทับ น้ำตาท่วมใจ
จะไป ให้ถึงปลายทาง
ยัง มีทาง ถ้าหากไม่ยอมแพ้
จะไม่ท้อแท้ สู้มัน ทุกอย่าง
ทุ่มเทใจ และกายฝ่าฟัน
กว่าจะถึงวันที่เราเคยฝัน
เหนื่อยล้า..เหงื่อหยดไหล
ไม่เป็นไร..ใจยังแข็งแกร่ง
(ซ้ำ) จะขอเป็นดาว..วับวาว..ส่องแสง
พุ่งแรง บนฟ้า งดงาม
คอลัมน์สำหรับสัปดาห์นี้สืบเนื่องมาจากการที่ได้อ่านหนังสือ “จามจุรีในแดนไกล” ที่ระลึก ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับจาก คุณมุ้ย อรุณี สุวรรณสาร (คณะวิทยาศาสตร์) ที่ช่วยเมลมาให้จากเมืองแถวๆ แซนดิเอโก้ ต้องขอชมคณะผู้จัดทำหนังสือ รูปเล่มกะทัดรัดสีชมพูสุดสวย ที่สำคัญคือบรรจุเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์ของนิสิตเก่าจุฬาฯ จากหลายคณะช่วยกันเขียนเล่าชีวิตในอเมริกา มีทุกรสหลากหลายกันไปแล้วแต่อาชีพของแต่ละท่าน แต่มีเส้นหมายปลายทางเดียวกันคือการประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน น่าอ่านมากทีเดียว ส.ท่าเกษม พลอยได้รับความรู้เพิ่มเติมและความเพลิดเพลิน ไม่ทราบว่ามีที่ห้องสมุดของวัดไทยหรือเปล่า จากการที่พลิกอ่านจากหน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย จึงได้พบงานเขียนของ ดร.ศิรินันท์ ปลอดเปลี่ยว จะขอเรียกเธอสั้นๆว่า “ครูหนึ่ง” เธอเขียนไว้ ๒ เรื่องด้วยกันคือ “สาวสองภาค” และ “ยักษ์วัดไทย L.A.”
เสาร์นี้จะคุยถึงเรื่อง ยักษ์วัดไทยฯ เพราะพวกเราชาวแอล.เอ. และเมืองใกล้เคียงต่างไปทำบุญร่วมงานต่างๆ ที่ทางวัดจัดขึ้นอยู่บ่อยๆ เวลาขึ้นบันไดด้านหน้าของโบสถ์ไปกราบพระ หรือแม้จะเพียงเดินผ่านไปแถวๆนั้น เราจะเห็นรูปปั้นยักษ์ ๒ ตน มีกี่คนนักเชียวที่ทราบประวัติ อ่านแล้วเลยทราบว่า คุณหนึ่ง หรือ ครูหนึ่ง เป็นหนึ่งในทีมงานของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงคมนาคม ให้รับผิดชอบในการจัดสร้าง ทศกัณฐ์ และ สหัสเดชะ (หนึ่งในงานวิจิตรศิลป์จากประเทศไทย) ไปประดับตรงทางเข้าด้านหน้าของศาลาไทย THAILAND PAVILION งาน EXPO’86 จัดขึ้นที่เมือง VANCOUVER ประเทศ CANADA เป็นการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี มี ๕๒ ประเทศจากทั่วโลก รวมทั้งภาครัฐ องค์กรและบริษัทใหญ่อีก ๔๐ แห่ง มาร่วมในงานนี้ ต่างแสดงกิจกรรมและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ
ตอนนั้น คุณหนึ่ง กำลังศึกษาอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิชาเอกประติมากรรม ขึ้นชั้นปีที่ ๔ จำเป็นต้องมีชั่วโมงการฝึกงาน และเขียนหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์พร้อมกันไป เธอจึงไปเป็นนิสิตฝึกงานที่ โรงหล่อพนมวัน ที่มีโครงการสร้างยักษ์ ๒ ตนนี้ ร่วมกับ รณชัย ศิลากร นิสิตอีกคนซึ่งมีวิชาเอกประติมากรรมเช่นกันและคนงานอีก ๕ คน ภายใต้การดูแลของ อ.จินตรัตน์ และ อ.ตระการ พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นอาจารย์ของ ครูหนึ่ง
ยักษ์ ๒ ตนนี้มีขนาดเท่ากับยักษ์ที่วัดพระแก้ว เป็นการทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ อดหลับอดนอนกันเป็นเวลา ๕ เดือน ผลงานสำเร็จลุล่วงตามเวลาที่กำหนด กระทรวงคมนาคม มาตรวจรับงาน ทาง ร.ส.พ. ต่อกล่องขนส่งทางเรือไปประเทศแคนาดา ส่วนคณะผู้สร้างงานบินตามไปติดตั้งก่อนที่งาน EXPO’86 จะเปิดต้อนรับสาธารณะ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายจึงต้องถอดบางชิ้นส่วนของยักษ์ทั้ง ๒ ตน ออกก่อนบรรจุลังแยกออกเป็นกล่องๆ และเมื่องาน EXPO’86 จบลงในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เจ้าอาวาส ของวัดไทยลอสแองเจลิส จึงทำหนังสือขอยักษ์ทั้งคู่นี้จากรัฐบาลแคนาดา เพื่อนำมาประดับหน้าพระอุโบสถเป็นการถาวร โดยหลังจากที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้วจึงเทคอนกรีตใส่เข้าไปภายในตัวยักษ์เพียงครึ่งตัว เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงป้องกันการชำรุดเสียหายจากภัย ธรรมชาติต่างๆ อาทิ ลมพายุหรือแผ่นดินไหว
เขียนคุยเรื่องยักษ์ไปแล้ว ตั้งแต่การเดินทางออกจากประเทศไทยจนถึง มายืนตระหง่านคุ้มครองป้องกันอุโบสถวัดไทยแอลเอ ในประเทศสหรัฐฯ ทีนี้มาคุยเรื่องสาวน้อยหน้าตาน่ารัก ตากลมคมขำรับกับคิ้วเข้มได้รูป เติมความงามดูเด่นบนใบหน้า รูปร่างกระทัดรัดแบบหญิงไทยแต่เธอลุยงานเช่นผู้ชายอกสามศอก ต้องทำแม่พิมพ์ ปั้น ปีนขึ้นไปนั่งร้านเพื่อตกแต่งดิน เนื่องด้วยยักษ์มีขนาดใหญ่จึงต้องขึ้นไปบนนั่งร้านที่ประกอบด้วยแผ่นไม้เสาไม้มีระดับสูงเท่าตัวยักษ์ นอกจากนี้ยังต้องใช้วัสดุต่างๆในการทำงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำ ปูนพลาสเตอร์ ไฟเบอร์กลาส โครงเหล็ก ฯลฯ เธอต้องทำงานเคียงคู่ไปกับทีมงานอย่างอดทนจนเสร็จงาน
ครูหนึ่ง มาจากครอบครัวข้าราชการที่มีฐานะปานกลาง คุณพ่อ อภินันท์ จบจาก ม.เกษตรศาสตร์ คุณแม่ ร.ศ.อัปษรศรี จบจาก จุฬาฯ ก่อนเกษียณมีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ ม.รามคำแหง ระหว่างที่เรียนอยู่ ครูหนึ่ง เป็นนักร้องของ CU BAND และวันหนึ่งวงดนตรีได้มีโอกาสไปแสดงที่งานใหญ่ เธอจึงได้พูดคุยกับนักร้องรับเชิญชื่อดัง นัดดา (ตุ๋ม) วิยะกาญจน์ ชวนให้ไปร้องเพลงแทนที่ COCKTAIL LOUNGE ระหว่างที่ คุณตุ๋ม ไปธุระต่างประเทศ และนี่คือจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตทำให้เธอเป็นนักร้องอาชีพอย่างเต็มตัว คงจะต้องเขียนคุยต่อในสัปดาห์หน้าถึงชีวิตของ ครูหนึ่ง ที่กลายมาเป็นนักร้องและครูสอนร้องเพลงในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร !
หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือ “จามจุรีในแดนไกล” ขอขอบคุณ คฺณเก็จนภา ศิริ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะผู้จัดทำหนังสือทุกๆท่าน