“ราชสกุล” เป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลวงศ์ใน พระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2455 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น โดยบัญญัติไว้ว่าผู้ที่สืบเชื้อสายทางบิดามาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันให้ใช้ "นามสกุล" เดียวกัน ทำให้คนไทยทุกคนมีนามสกุลใช้และทำให้ทราบว่าใครเป็นพี่น้องหรือสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดโดย ผู้สืบเชื้อสายจากราชสกุล เรียกว่า ราชนิกุล และสกุลอันสืบเนื่องมาจาก กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) นั้น เรียกว่า บวรราชสกุล
“ราชินิกุล” หมายถึงสกุลที่เป็นพระญาติของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่าย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (นับทางพระมารดา)
“ราชตระกูล” หมายถึงสกุลที่มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยมีการสืบสายจาก สมเด็จพระเชษฐภคินี พระอนุชา และ พระขนิษฐา ผู้เป็นพระโอรสและพระธิดาใน สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับสายพระพี่พระน้องนี้ บางครั้งก็เรียกกันว่า ราชตระกูลสายพระปฐมวงศ์ หรือ พระปฐมบรมราชวงศ์
ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ มี ๘ ราชสกุล
๑) ฉัตรกุล
๒) ดวงจักร
๓) ดารากร
๔) ทัพพะกุล
๕) พึ่งบุญ
๖) สุทัศน์
๗) สุริยกุล
๘) อินทรางกูร
สัปดาห์ที่แล้วได้รับข่าวสำคัญที่ปลื้มปิติและตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งจากครอบครัวทางเมืองไทยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชนิกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระกุศลถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.๙ หลังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (๕๐ วัน)
เนื่องจากบิดาของพวกเราได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่านมาตลอด เมื่อพ้นจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีแล้ว เจ้าพระยารามราฆพ คงเป็นข้าราชการบำนาญและเป็นที่ปรึกษาราชการในพระราชสำนักจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และใน พ.ศ. ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสำนักพระราชวังและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยารามราฆพ รับราชการในหน้าที่ สมุหพระราชวัง และ ประธานกรรมการพระราชสำนัก ซึ่งท่านก็ได้ถวายงานเรื่อยมาจนถึงแก่อสัญกรรม ทำให้พวกเราได้เข้าเฝ้า รับเสด็จฯ ถวายการแสดงหน้าพระที่นั่งตั้งแต่เด็ก ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบ้านให้พำนัก ที่ถนนเจริญนคร ฝั่งธนบุรี บิดาขนานนามบ้านนี้ว่า "บ้านพระขรรค์ชัยศรี" และพำนักอยู่ ณ ที่นี้จนถึงบั้นปลายของชีวิต ครอบครัวเรามีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ เช่นเดียวกับพสกนิกรที่เดินทางกันมาสักการะพระบรมศพทั่วสารทิศทั้งในและนอกประเทศ เพื่อถวายความจงรักภักดีและความอาลัย
อดีต ร.ม.ต. ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีติพงศ์ พึ่งบุญฯ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ด้านเศรษฐศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการติดต่อสำนักพระราชวังและได้รับแจ้งมาว่าทางเรามีโควต้า ๕๐ คน ส่วนวันเวลาจากวันที่ ๗ ธ.ค. เลื่อนเป็นวันที่ ๘ ธ.ค. ในการเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระกุศลพระบรมศพร่วมกับราชสกุล-ราชนิกุลอื่นๆ
มีรายงานข่าวว่าที่เต็นท์อาหารพระราชทานของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ เยื้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยรวมอยู่ภายในศูนย์อาหารบริการประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน ประกอบด้วย มื้อเช้าเวลา ๐๗.๐๐ น. ข้าวต้มไก่ทรงเครื่อง ๑,๕๐๐ ถ้วย กาแฟสดบาเรสต้า ๒,๐๐๐ ขวด นมหนองโพ ๒,๐๐๐ กล่อง มื้อกลางวันเวลา ๑๑.๐๐ น. ข้าวหน้าหมูนุ่ม-ไก่นุ่ม ๑,๕๐๐ ถ้วย แกงเขียวหวานผัดแห้ง ๑,๐๐๐ จาน ข้าวไก่กรอบคาราเกะ ๑,๕๐๐ จาน
มื้อบ่ายเวลา ๑๖.๐๐น. ขนมไทย ๑,๐๐๐ กล่อง ข้าวเหนียวหมู-ไก่ ๑,๐๐๐ ถุง เฉาก๊วยชากังราว ๑,๐๐๐ ถุง มื้อเย็นเวลา ๑๘.๐๐ น. กระเพาะปลา ๓,๐๐๐ จาน ขณะเดียวกันมีน้ำดื่มสมุนไพร ๗๐๐ ลิตร และน้ำดื่มจิตรลดาให้บริการประชาชนตลอดทั้งวัน
หมายเหตุ ที่มาของรูปและข่าว จาก น.ส.พ ออนไลน์ ไทยรัฐ ข่าวสด คมชัดลึก วิกิพีเดีย