คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ตำนานรัก... “บ้านนรสิงห์”(ทำเนียบรัฐบาล)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในประเทศไทย ต่างลงข่าว เรื่อง “ตึกนารีสโมสร” ในทำเนียบรัฐบาลเกิด “อาถรรพ์” เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารปิดปรับปรุงตัวตึกในวันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. ลองอ่านการพาดหัวข่าวของ น.ส.พ. แต่ละฉบับ

- ตึกนารีสโมสร เฮี้ยน! กลิ่นน้ำอบลอยคลุ้งขณะ จนท. รื้อปรับปรุง

- ขนหัวลุก! รื้อตึกนารีสโมสรไม่จุดธูปไหว้ขอขมา

- รื้อตึกนารีสโมสรจุดธูปวุ่น ขอขมา-อาถรรพ์

- กลิ่นน้ำอบคลุ้งขณะรื้อตึกนารีสโมสร จนท.ต้องจุดธูปขอขมา

- สั่งหยุด บวงสรวง – บูรณะตึกนารีสโมสร

- ปรับปรุงตึกนารีสโมสรวันนี้ราบรื่นไร้อาถรรพ์....

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา...มีผู้ใหญ่ในวงการหลายต่อหลายท่านที่สนใจประวัติศาสตร์ไทย แนะนำและสนับสนุนให้เขียนถึงเรื่องราวของบิดาและครอบครัว บางท่านถึงกับลุ้นว่าเขียนมาเถอะแล้วจะหาที่พิมพ์ให้ คงจะเห็นว่า “ส.ท่าเกษม” เกิดและเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมในอดีต ได้ใช้ชีวิตสัมผัสกับบุคคลตัวจริง เหตุการณ์จริง ไม่ใช่ “เขาเล่าว่า” ที่จริงอยากจะเขียน “ตำนานรัก...บ้านนรสิงห์” มานานแล้ว ถ้าจะเขียนต้องเขียนด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้ออกนอกกรอบ แน่นอนเรื่องที่เขียนจะต้องเป็นเรื่องที่เป็นประสบการณ์ของตัว “ส.ท่าเกษม” เอง ความรักความเมตตาความอบอุ่นที่ได้รับจากบิดามาตลอด ๒๒ ปีเต็มๆ จนถึงวินาทีสุดท้ายที่เดินทางมาศึกษาต่อที่นี่ ท่านได้กรุณาเดินออกมาส่งขึ้นรถมินิบัสบนลานเครื่องบิน ที่พา ส.ท่าเกษมไปขึ้นเครื่อง PAN AMERICAN AIRLINES เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องราวจะออกมาในรูปการณ์ของตัวเอง เหมือนเป็นการโปรโมทตัวเอง ซึ่งไม่สู้จะเหมาะสมนัก!

หลายต่อหลายครั้งได้อ่านพบเรื่องราวของบรรพบุรุษจากน.ส.พ.ที่นี่ เขียนจากความเห็นของตัวคนเขียนเอง ในทางอคติบ้าง แบบ เขาเล่าว่า บ้าง เขียนแบบ “เขาเล่าว่า" คนชอบอ่านเพราะหาความจริงไม่ได้เลย เล่ากันต่อๆ มา เหมือนการเล่น “โทรศัพท์เสีย” เป็นการเล่นที่สนุกมาก ในวัยเด็กพวกเราพี่ๆน้องๆจะนั่งเรียงกันเป็นแถวบนม้ายาวหน้า “ทับแก้ว” เรือนที่พักของบิดา ในบ้านท่าเกษมเป็นเก้าอี้ไม้สีขาวยาวมาก ขนานไปกับที่จอดรถหน้า “ทับแก้ว” คนที่นั่งหัวแถวจะกระซิบต่อให้กับคนที่นั่งติดกัน จากนั้นก็กระซิบที่หูต่อๆ ไปจนถึงคนที่นั่งอยู่หางแถว จากนั้นแต่ละคนจะบอกคำที่ตัวได้ยิน ตอนนั้นสนุกมาก “ขำกลิ้ง” แต่ละคำไม่ได้เหมือนกันเลย สรุปแล้ว คำกระซิบจากคนแรกถึงคนสุดท้าย กลายเป็นคนละคำไปเลย !

“โทรศัพท์เสีย” เป็นการเล่นที่สนุกหัวเราะจนน้ำตาเล็ด แต่ เขาเล่าว่า นี้ไม่สนุกเป็นเรื่องเศร้าเพราะเป็นการใส่ร้ายป้ายสี อาจถึงน้ำตาร่วงได้กับความใจโหดของมนุษย์เดินดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์วันที่ ๑๑ พ.ย. พ.ศ. ๒๔ ๕๑ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๘ ปี งบประมาณ ๑๒ ล้านบาท เขาเล่าว่า ท่านเจ้าคุณรามฯ ขโมยหินอ่อนมาสร้างบ้าน “นรสิงห์” โธ่เอ่ย ! ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เพิ่งมีอายุเพียง ๑๘ ปี ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใด อีกทั้งตามประวัติศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) องคมนตรี-สมุหราชองครักษ์ และสมุหพระราชมนเฑียร (๒๔๙๐-๒๕๑๐) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทราภูมิพลอดุลยเดช

ชื่อ “บ้านนรสิงห์” ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชื่อพระราชทาน หรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ อันเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิม เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้าตึกไกรสร (ตึกไทยคู่ฟ้า) ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด

พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์และเปลี่ยนชื่อบ้านนรสิงห์เป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และ ทำเนียบรัฐบาล ตามลำดับ พร้อมกันนั้น ได้ย้ายที่ทำการสำนักนายกรัฐมนตรี จากวังสวนกุหลาบ เข้ามาด้วย

ตึกนารีสโมสร ตึกหลังนี้อยู่หลังตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งสร้างในสมัยเดียวกัน เป็นตึกชั้นเดียวตั้งอยู่ต้นทางคูน้ำ ค่อนไปด้านทิศใต้คูน้ำดังกล่าวปลูกบัวสายสีแดง จึงเรียกกันว่า "สระบัว" ลักษณะสถาปัตยกรรมของตึกเป็นแบบตะวันตก ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิมอยู่มีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย ห้องโถงทางด้านสระบัวเดิมเป็นศาลาท่าน้ำ ไม่มีผนัง แต่ได้มากั้นเป็นห้องทำงานของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในสมัย พลเอก พลเรือเอกเจ้าพระยารามราฆพตั้งชื่อตึกนี้ว่า "ตึกพระขรรค์" คงจะถือเอานิมิตว่าท่านเคยเป็นมหาดเล็กผู้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่ตั้งศพพี่สาว คือ ท้าวอินทรสุริยา (ม.ล.เชื้อ พึ่งบุญ) หลังจากนำไปรับพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิริทราวาสแล้ว ท่านจึงใช้เป็นสถานที่พักตัวละครและสถานที่แต่งตัวละคร

เมื่อสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนชื่อ "ตึกพระขรรค์" เป็น "ตึกนารีสโมสร" ให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ใช้เป็นสถานที่ประชุมและดำเนินกิจกรรมในส่วนที่ท่านผู้หญิงรับผิดชอบอยู่ และในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ใช้ตึกนี้ บริหารงานสำคัญ ๆ เสมอ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกบริหาร" สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นสำนักงานแถลงข่าวของรัฐบาลมาแล้วหลายสมัย

ตึกแสงอาทิตย์ (ตึกที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลข สาขาทำเนียบรัฐบาล) ตึกหลังนี้เป็นตึกที่สร้างในสมัยเดียวกันกับตึกพึ่งบุญ เดิมเป็นห้องบันไดใช้ประโยชน์เป็นทางขึ้น-ลงไปยังตึกอื่น ๆได้ ตั้งอยู่ติดกับตึกนารีสโมสร ทางด้านใต้ ปัจจุบันทางเชื่อมได้ถูกตัดออกไปแล้ว

ตึกพึ่งบุญและตึกอื่น ๆในกลุ่มเดียวกันถูกรื้อถอนและ สร้างตึกบัญชาการหลังใหม่แทนที่ ขณะนี้ยังมีร่องรอยของทางเชื่อมที่ถูกตัดตอนให้เป็นกันสาดอยู่เหนือประตูทางเข้าที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขให้เห็นอยู่

เหตุที่ท่านเจ้าของบ้านตั้งชื่อตึกหลังนี้ว่า "ตึกแสงอาทิตย์" ก็เห็นจะเป็นด้วยท่านเกิดวันอาทิตย์ เมื่อท่านเป็นนายกองเสือป่า เคยใช้ธงประจำตัวเป็นพื้นสีแดง และมีรูปเทวดาเชิญพระขรรค์ปรากฏอยู่บนผืนธงนั่นเอง

ได้ฤกษ์ปิดปรับปรุงตึกนารีสโมสร

วันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี(สลน.) ได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหารเข้าขนย้ายสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆโดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ ออกจากตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ไปเก็บไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถนนพิษณุโลก เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดพื้นที่ปรับปรุงตึกนารีสโมสรภายใต้แผนบูรณะใหญ่ทำเนียบฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมยุทธโยธาทหารบกจะเริ่มเข้าปฏิบัติงานเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตึกนารีสโมสรถูกใช้งานเป็นศูนย์แถลงข่าว และห้องทำงานของโฆษกและรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มานานหลายยุค และภายหลังการปรับปรุงตึกนารีสโมสรจะถูกใช้งานเป็นเรือนรับรองแขกของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา ส่วนศูนย์แถลงข่าวจะย้ายไปอยู่ที่ตึกบัญชาการ ๒ และในช่วงที่ปรับปรุงยังไม่เสร็จจะใช้ตึกสันติไมตรีเป็นสถานที่แถลงข่าวชั่วคราว ไปก่อน

เสาร์นี้ ส.ท่าเกษม ได้นำเรื่องราวประวัติย่อๆ ของบ้าน “นรสิงห์” และที่มาที่ไปของตึก “นารีสโมสร” มาลงให้คุณผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยอ่านก่อน เป็นการโหมโรง สัปดาห์หน้าจะเขียนคุยเรื่อง “น้ำอบไทย” ของ “ท่านเจ้าคุณรามฯ ” เจ้าของบ้านนรสิงห์ หรือทำเนียบรัฐบาล กรุณาติดตาม !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗