บทเพลงแห่งชีวิตของ "สุเทพ วงศ์กำแหง" (ตอนหนึ่ง)
สัมภาษณ์โดย... ประภัสสร เสวิกุล
จะคอย จะคอย จะคอย จะคอยขวัญใจ
จะช้าอย่างใดจะนานเท่าไรไม่หวั่น
จะปวดใจร้าวโศกศัลย์
จะเจ็บใจช้ำจาบัลย์พลีแล้วชีวันจะคอย
จะทน จะทน จะทน จะทนเพื่อเธอ
จะรักเสมอจะรักแต่เธอฝังรอย
เฝ้าครวญเฝ้าคิดเฝ้าคอย
เฝ้าครวญกับสายลมลอยว่าฉันยังคอยห่วงใย
เธอจ๋าเธอลืมสิ้นถึงถิ่นเคยเยือน
ลืมรักลืมเลือนห่างหาย
ก่อนนี้เคยเคียงร่วมเรียงร่วมใจ
หรือมีรักใหม่จึงได้ลืมฉัน
ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืมรักเธอ
ยังรักเสมอยังรักแต่เธอคงมั่น
ความรักความหลังผูกพัน
จะคอยตราบสูญชีวันชั่วนิจนิรันดร์จะคอย
"จะคอยขวัญใจ"
ทำนอง-คำร้อง....
"เนรัญชรา"
รายการวงวรรณกรรมในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากศิลปินแห่งชาติ ซึ่งอยู่คู่กับวงการบันเทิงมาเนิ่นนาน คือ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง พี่เทพร้องเพลงไว้อย่างมากมาย สักประมาณเท่าไหร่ครับ
สุเทพ เกือบ 5,000 เพลง กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่
คงต้องมีการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุคส์แล้วมังครับ มาถึงเรื่องงาน "คอนเสิร์ตแห่งชีวิตกับ สุเทพ วงศ์กำแหง" อยากจะเรียนถามถึงที่มาของงานนี้
สุเทพ ความจริงแล้วจะต้องทำคอนเสิร์ตทุกปีอยู่แล้ว ทีนี้เมื่อปีที่แล้วไม่ได้ทำ ก็เลยเลื่อนมาปีนี้ พอถึงปีนี้ ก็คิดได้ว่าเราเริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 นี่ก็ปี พ.ศ. 2545 แล้วมันก็ครบ 50 ปีแล้ว ก็มาคิดว่างานที่จะทำควรจะเป็นอะไร ก็มาคิดว่าครั้งหนึ่งเคยไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2500 แล้วกลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 และก็มีเพลงๆ หนึ่งที่ทำให้เกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็คือเพลง "จะคอยขวัญใจ" ซึ่งเป็นเพลงของครู "เนรัญชรา" ซึ่งมีชื่อจริงว่า สติ สติฐิต เขาแต่งเพลงนี้ให้ร้องก่อนไปญี่ปุ่น พี่ก็ร้องให้ทางทีวีช่อง 5 ตอนนั้นเป็นช่อง 7 ขาว-ดำ จำได้ว่านอนร้องอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ ร้องจบแล้วก็ไปญี่ปุ่นก็นึกไม่ถึงว่ากลับมาแล้วจะต้องมาร้องเพลงนี้ ก็มีคนมากระซิบบอกว่า เทพไปญี่ปุ่น มีคนๆ หนึ่งเขาแต่งเพลงไว้ให้ร้อง แต่ยังไม่ได้ร้องให้เขาเลย ร้องแค่ออกทีวีให้เขาครั้งเดียว ตอนนี้เขาคอยอยู่ ก็ทำให้นึกภาพออกว่าเป็นเพลงนี้ จึงได้ตั้งใจร้องอย่างดี เพราะอย่างน้อยก็เห็นคุณค่าแห่งการรอยคอย เพราะเขาคอยเราอยู่ถึง 3 ปีเขายังคอยได้ บังเอิญเพลงนี้ก็เกิดฮิตขึ้นมาทำให้กลับมาดังได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไปญี่ปุ่น ชื่อเสียงก็ซบเซาไปพักหนึ่ง
แปลว่า 3 ปีนี้ เพลงนี้ก็ยังรอพี่อยู่
สุเทพ ครับ เพราะยังไม่ได้อัดไม่ได้อะไรเลย รอพี่อยู่กลับมาแล้วจึงมาอัด ก็มาฮิตอีกครั้งหนึ่ง เพลงของ "เนรัญชรา" มีเยอะมาก แล้วก็ป้อนเข้ามาเรื่อย พวก "ลาทีความระทม" พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย" ก็ออกมาทำให้เรามีชื่อเสียงมากขึ้นทุกทีๆ เหมือนกับเราเป็นคู่บุญ พี่ก็นึกถึงว่าสิ่งที่เราไม่ควรจะลืม ก็คือ การนำเอาผลงานของครู "เนรัญชรา" มาร้องให้ฟัง ให้รู้ว่าเพลงที่เขาแต่งมันเป็นอย่างไรเพราะอย่างไร
ก็คงจะเห็นภาพและได้ยินเสียงของพี่สุเทพกันมาก แต่ภาพของครู "เนรัญชรา" คนคงจะเห็นได้น้อยมาก ครูอายุมากหรือยังครับ
สุเทพ เขาอายุเท่าพี่ครับ
แล้วพี่พบกับครูครั้งแรกเลยที่ไหนครับ
สุเทพ ความจริงเขาเป็นคนมีประวัติที่แปลก คือ แปลกที่เขาไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงมาก่อน เขาเป็นคอนโทรลเลอร์ของสถานีวิทยุทหารอากาศ ซึ่งสถานีวิทยุทหารอากาศก็อยู่ในกองดุริยางค์กองทัพอากาศ เขาไปเป็นพนักงานวิทยุอยู่ที่ประจวบฯ แล้วถูกส่งตัวมาให้มาทำงานกับสถานีวิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ และระหว่างที่เขาเดินเข้า-ออกกองทัพอากาศก็มีการซ้อมดนตรีของวงทหารอากาศ เขาฟังแล้วคงชอบใจ เกิดความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ฟังเพลง เขาก็เที่ยวไปถามเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรี พี่ใย (น.ท.ปรีชา เมตไตรย์) ว่า โน้ตเขียนยากไหม พี่ใยก็สอนให้ ก็บอกว่าโน้ตตัวนี้มีค่าเท่ากับหนึ่งจังหวะ โน้ตตัวนี้สองจังหวะ สี่จังหวะ เขาก็เรียนด้วยตัวเองและในที่สุดเขาก็เขียนโน้ตเองได้ เขาแต่งเพลงเองได้ เขาไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อ บางคนเป็นนักดนตรีบอกอะไรกัน ผมเป็นนักดนตรีแท้ๆ ผมยังเขียนโน้ตไม่ได้เลย หรือเขียนได้ก็ไม่รวดเร็วอย่างนี้ เขาก็ไม่ได้เรียนโน้ตมาก่อน แต่ทำไมเขียนได้จึงเป็นเรื่องที่แปลก เขาเริ่มต้นเขียนเพลงขึ้นมาหลายเพลง และก็ให้คนอื่นร้องบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมหรือไม่ฮิต ตัวเขาเองเขาก็ชอบร้องเพลง เขาก็พยายามที่จะร้องแต่ไปไม่ไหว ในที่สุดแล้วเขาก็เอามาให้พี่ ตอนนั้นพี่เป็นทหารอากาศและก่อนที่พี่จะลาออกจากทหารอากาศพี่บังเอิญไปเมืองจีนกับพี่สุวัฒน์ วรดิลก ในช่วงนั้น พอกลับมาทางเจ้านายก็ถามว่าคุณจะติดตะรางหรือคุณจะลาออก พี่ก็บอกว่าผมจะลาออก ก็ลาออกจากการเป็นทหาร คุณ "เนรัญชรา" เอง เขาก็เป็นทหาร เขาก็เอาเพลงมาให้ร้อง ความผูกพันมันอยู่ตรงนี้
เพลงแรกของคุณ "เนรัญชรา" ที่พี่ร้องคือเพลงอะไรครับ
สุเทพ เพลง "จะคอยขวัญใจ"
ที่กองดุริยางค์ทหารอากาศนี่มีศิลปินหลายคนที่เกิดจากที่นี่ ครูสง่า อารัมภีร ครูสุรพล สมบัติเจริญ ครูปรีชา เมตไตรย์ ครูถวัลย์ วรวิบูลย์ พี่เทพเอง และครู "เนรัญชรา" นี่ด้วย พูดถึงงาน "คอเสิร์ตแห่งชีวิตฯ" จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรครับ
สุเทพ พี่ได้รวบรวมเอาเพลงของคุณ "เนรัญชรา" ทั้งหมดที่ฮิตๆ มาวางขึ้นต้น ตรงกลางและลงท้ายให้มันสอดคล้องกัน ในที่สุดก็ได้เป็นเรื่องขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ไปรักผู้หญิง จวนจะมีความสุขด้วยกันอยู่แล้ว ก็มีแฟนเก่ามาตามเอาคืนไป ผู้ชายก็อกหัก ก็ทำเป็นคอนเซ็ปต์ตรงนี้ขึ้นมา ตั้งเอาไว้ ก็ทำได้ประมาณ 30 เพลง มีพี่ มีพี่สวลี (ผกาพันธ์) มีคุณสุวัจชัย (สุทธิมา) รวม 3 คน ที่เหลืออีก 20 เพลง ก็ให้คนอื่นที่เขาเคยร้องเพลงฮิตๆ อย่าง ธานินทร์ (อินทรเทพ) เขาร้องเพลง "จากเจ้าพระยาถึงฝั่งโขง" เอาเนื้อร้องของคุณสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ มา คุณ "เนรัญชรา" มาใส่ทำนองซึ่งเพราะมากๆ ก็อิจฉาคุณสนธิกาญจน์ ซึ่งถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะรู้ว่าเพลงของเขาดีเหลือเกิน
มีเพลงสักกี่เพลงครับ
สุเทพ 50 เพลง
รายได้ตรงนี้นำไปทำอะไรบ้างครับ
สุเทพ พี่มอบให้คุณ "เนรัญชรา" เพื่อจัดตั้งมูลนิธิเนรัญชรา เพราะท่านเป็นคนที่ลำบาก แต่ท่านไม่พูด
เป็นเรื่องปกติของครูเพลงไทย
สุเทพ แปลกจริงๆ พี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) ก็ไม่ค่อยพูด พี่สมาน (สมาน กาญจนะผลิน) ก็ไม่ค่อยพูด แต่จะมีคนคุยเก่งคือ คุณชาลี อินทรวิจิตร
ก็ถือว่าต้องเป็นหน้าที่ของลูกศิษย์ที่ต้องอุปการะ ขอถามต่อไปว่า ผลตอบแทนของนักร้องนี่คุ้มค่าไหมครับ
สุเทพ ผมเคยคิดเหมือนกันว่า ที่ผ่านๆ มา เราเป็นนักร้องเราถูกเจ้าของบริษัททำเทปเอาเปรียบ เอาแผ่นเสียงมาอัดลงเทป มาอัดลงซีดี และยังมีวีซีดี ซึ่งมันก็จะพัฒนาไปเรื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่เราถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่เขานำไปทำโดยไม่ได้ขออนุญาตเราเลย แล้วไม่มีอะไรตอบแทนมาให้เราด้วย
หมายถึงเขาซื้อเพลงตอนที่ทำแผ่นเสียงไปครั้งเดียวบางเจ้าบอกว่าต้นฉบับเดิม พ.ศ.2516
สุเทพ ความจริงพี่ร้องเพลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 แล้วอัดแผ่นเสียงจริงๆ ประมาณ ปี 2496 และในปี พ.ศ. 2497 เพลงฮิตก็มี "รักคุณเข้าแล้ว" เป็นเพลงที่สมาน กาญจนะผลิน และครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และที่พี่เลือกเป็นทหารอากาศก็เพราะเพลงนี้
เพลงนี้รู้สึกจะกลายเป็นเพลงนานาชาติไปแล้วครับ คงต้องคุยกับพี่ถึงเรื่องความเป็นมาในอดีต พี่สุเทพนี่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินเต็มตัว นอกจากจะร้องเพลงแล้ว ภาพยนตร์ก็แสดง
สุเทพ เป็นผลพลอยได้มั้งครับ สมัยก่อนเขามักจะคว้าเอาคนดังๆ อย่างผมนี่ร้องเพลงฮิตหน่อย เขาก็เลยมาชวนไปเล่นหนัง ผู้ใหญ่เขาเอ็นดู เล่นก็เล่น
บทสัมภาษณ์ข้างบนนี้มาจากหนังสือ "วิทยุสราญรมย์" ปีที่ 4 ฉบับที่ 15 (เมษายน-มิถุนายน 2545) นับเวลาแล้วก็ 10 ปีเต็มๆ ตัว ส.ท่าเกษม นั้นเป็นแฟนงานเขียนของ คุณประภัสสร เสวิกุล บรรณาธิการของหนังสือฉบับนี้ ติดตามอ่านนวนิยาย งานวรรณกรรมของท่านในนิตยสารสกุลไทย ตั้งแต่อยู่ประเทศไทย
นอกจากจะเป็นนักประพันธ์รุ่นครูบาอาจารย์แล้ว อาชีพประจำของท่านคือ นักการทูตซึ่งทำให้มีประสบการณ์และวัตถุดิบจากการเดินทางไปประจำยังประเทศต่างๆ
มีคุณผู้อ่านถามกันมาว่า แปรพักตร์เสียแล้วหรือ ? เห็นเขียนแต่เพลงสากล ระยะหลังนี้คอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์" ไม่เขียนถึงเพลงไทยเลย ยังเหมือนเดิมทุกประการ ! เพียงแต่มีโอกาสได้ไปดูโชว์ของนักร้องที่นิยมชมชอบสมัยอยู่เมืองไทย จึงถือโอกาสที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ (ทั้งคนร้องและคนฟัง) เดินทางไปหาความสำราญ เพราะชีวิตนั้นสั้นนัก เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็หาความสุขท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เป็นกำไรชีวิต !
นำรูป "หัวใจ" ผลงานของ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง มาลงซ้ำ หลังจากเคยลงมาแล้วในคอลัมน์ "รอวัน...ที่ใจเต็มดวง" ไม่ได้ใส่ชื่อเจ้าของภาพที่แท้จริง เลยโดนเผาจากคนที่ ส.ท่าเกษม เคยมอบสัมพันธไมตรีให้ด้วยความจริงใจ บทเรียนที่ได้รับคือ "รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ"
ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
พฤษภาคม 12 '12