พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ ๑ ใน สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยโรคพระวักกะ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี ล้นเกล้าฯ ร.๖ ได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ทรงพระราช อัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง
ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ — ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ในปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ มีว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม "
พระองค์เสด็จพระราชสมภพตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ( สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) กับ หม่อมสังวาลย์ ตะละภัฏ ( ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และทรงเป็น พระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
นับแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระอาการพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตลอดมา แต่พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕:๕๒ น. สิริพระชนมายุ ๘๘ ปี ๓๑๓ วัน
ข้อความต่อไปนี้เป็นหนังสือรายงานพระอาการของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นายแพทย์ฝรั่งถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร แปลโดย กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ
ข้าพเจ้าผู้มีนามท้ายหนังสือนี้มีความเห็นว่าจำเปนจะต้องบอกแก่ท่านเสนาบดีทั้งหลายว่า ในเวลาบัดนี้มีพระอาการเห็นชัดว่าพระบังคนเบาเปนพิษ
“การที่เปนเช่นนี้เปนผลแห่งพระโรคพระวักกะพิการอันเรื้อรัง, ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปนมาแล้วประมาณ ๕ ปี
“พระอาการที่หนักลงบัดนี้ เปนด้วยพระโรคภายในพระอุทร ซึ่งมีมาหลายวันแล้ว
“การทำนายพระโรคต่อไปเห็นว่าเปนที่น่ากลัวอย่างยิ่ง, และถ้าการที่พระบังคนเบาคั่งนี้ไม่ทุเลาลงโดยฉับพลัน, เปนที่น่ากลัวอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าคงจะหมดพระสติ”
เมื่อได้ทราบความตามรายงานหมอฉบับนี้แล้ว ฉันรู้สึกใจคอเหมือนถูกใครเอามือล้วงเข้าไปบีบหัวใจ, เพราะรู้สึกความสิ้นปัญญาและสิ้นหวังเสียแล้ว ในตอนเช้าวันที่ ๒๒ นั้น หมอฝรั่งยังพูดอยู่ว่า ถ้าแม้มีพระบังคนเบามาเสียได้ก็จะทุเลา หมอได้ถวายพระโอสถขับพระบังคนเบาเรื่อยๆ อยู่, เมื่อเห็นว่าทรงกลืนลำบากก็ได้ฉีดถวายทุก ๒ ชั่วโมง ครั้นเมื่อเที่ยงแล้วหมอจึ่งได้เห็นพร้อมกันว่าควรเปลี่ยนเปนถวายยาดิจิตาลีน (Digitalin), เปนยาเร่งพระโลหิตให้เดิรแรง เพื่อช่วยพระหทัยให้บีบอยู่ ในตอนบ่ายหมอบอกว่าหมดหนทางที่จะแก้ไขเยียวยาเสียแล้ว, พระอาการมีแต่ซุดลง, พระสติค่อยคลายลงทุกที. ตรัสได้เปนท่อนๆ ไม่ต่อกัน ในเวลาบ่ายฉันกับเจ้านายผู้ใหญ่ได้ตกลงกันให้ตาม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เข้าไป เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีนายแพทย์ไทยรักษาอยู่ด้วย ครั้นเวลาบ่าย ๔ นาฬิกาเศษ เสด็จแม่ได้เสด็จลงมาจากห้องที่พระบรรทมชั้น ๓, รับสั่งบอกว่า ทูลกระหม่อมนั้นพระเนตรตั้งเสียแล้ว, จึ่งได้ตกใจกันใหญ่ พัก ๑, แต่ก็ระงับไปได้ชั่วคราว ส่วนเสด็จแม่นั้นได้ทรงพยาบาลมาตลอดอย่างดีและแขงแรงที่สุด, ทรงอดทนเปนอย่างยิ่ง, เพราะยังทรงมีความหวังอยู่ว่าจะมีหนทางที่พระอาการของทูลกระหม่อมจะกลับดีขึ้นได้อีกบ้าง, แต่ในครั้งนี้ทอดพระเนตร์เห็นว่าหมดหนทางแน่แล้ว, จึ่งเหลือที่จะทรงอดกลั้นไว้ได้อีก, ประทับลงทรงพระกรรแสงที่อัฒจันท์ด้านหลังนั้นเอง ฉันเข้าไปทูลปลอบก็ยังไม่ใคร่ทรงสงบ, จนเสด็จลุงเข้าไปทูลด้วยเสียงแน่นแฟ้น ว่ายังไม่ถึงเวลา, และจะทำให้คนตื่นกันมากไป, จึ่งเปนอันทรงกลั้นพระกรรแสงได้, และเสด็จกลับขึ้นไปข้างบน ต่อนั้นมาจนเที่ยงคืนก็ไม่มีอะไรนอกจากนั่งคอยรอฟังอยู่อย่างใจเต้นเท่านั้น นับว่าเปนวันและคืนที่ฉันรับทุกขเวทนามากที่สุดในชีวิตของฉัน
... คืนวันที่ ๒๓ นั้นฉันเหนื่อยจนเพลียไปทั้งตัว, หิวเสียจนกินข้าวไม่ลง, ต้องกินน้ำสูปและนมโคแล้วนอนทีเดียว แต่ที่ว่านอนนี้อย่าเข้าใจว่าหลับได้ง่ายๆ ที่จริงนั้นร่างกายเหนื่อยทั่วไปและเท่ากับร้องทุกข์อยู่ว่าต้องการพัก, แต่สมองมันไม่ยอมให้พัก, มัวแต่คิดอะไรต่อมิอะไรไปต่างๆ นานา จนเหลือที่จะกำหนดจดจำได้ ข้อสำคัญคือฉันนึกอยู่เรื่อยว่า เหตุใดหนอจึ่งมีคนอยากเปนพระเจ้าแผ่นดินได้? ส่วนตัวฉันเองมิได้เคยนึกอยากเปนเลย, ฉนั้นเมื่อได้เปนขึ้นจึ่งมิได้รู้สึกยินดีเลย การเปนตำแหน่งอื่นๆ ยังเคยนึกอยากเปนบ้าง, เพราะไม่ใช่ว่าต้องรอให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นตายเสียก่อน, แต่การเปนพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบสันตติวงศ์เช่นฉันนี้ ต้องเสียพ่อจึ่งจะได้เปน, จะให้ยินดีได้อย่างไร? นอกจากนี้ความรู้สึกว่าต้องรับภาระในการปกครองอยู่คนเดียวเปนภาระที่หนักกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่มีปาร์ลีย์เมนต์เปนที่ปรึกษานั้นเป็นอันมาก, เพราะถ้าทำอะไรพลาดพลั้งไปใครๆ ก็ต้องซัดฉันคนเดียวทั้งนั้น, และฉันจะซัดใครต่อไปอีกก็ไม่ได้เลย ผู้ที่นึกว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินเปนของพึงปรารถนาคงต้องเปนบุคคลชนิดที่ไม่มีความคิดลึกซึ้งอะไรเลยเปนแน่ ...
เนื่องจากวันที่ ๑๓ ของเดือนนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวันที่ ๒๓ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พสกนิกรชาวไทยทั้งในประเทศและนอกประเทศ ต่างน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขแห่งประเทศไทย ทรงงานหนักทรงดูแลเป็นห่วงเป็นใยพสกนิกรของพระองค์ท่าน จึงได้อัญเชิญนำข้อความส่วนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ของ ล้นเกล้าฯ ร.๖ มาลงเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีน้อมศิระกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
หมายเหตุ ตัวสะกดและเครื่องหมายต่างๆ ในบทพระราชนิพนธ์คงไว้เช่นเดิมจะเห็นว่าแตกต่างกับปัจจุบัน และขอขอบคุณวิกิพีเดีย