คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขา วรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๔
If I could save time in a bottle
The first thing that I'd like to do
Is to save every day 'til eternity passes away
Just to spend them with you

If I could make days last forever
If words could make wishes come true
I'd save every day like a treasure and then
Again, I would spend them with you

But there never seems to be enough time
To do the things you want to do once you find them
I've looked around enough to know
That you're the one I want to go through time with

If I had a box just for wishes
And dreams that had never come true
The box would be empty except for the memory
Of how they were answered by you

But there never seems to be enough time
To do the things you want to do once you find them
I've looked around enough to know
That you're the one I want to go through time with



"TIME IN A BOTTLE" by....JIM CROCE
#1 Song on U.S. Chart in 1973

นวนิยาย "เวลาในขวดแก้ว" ฉบับครบรอบ 25 ปี
ผู้เขียน : ประภัสสร เสวิกุล

ร่วมย้อนวันวานแห่งความทรงจำไปพร้อมกับ...เวลาในขวดแก้ว

"ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีขวดแก้ว ที่จะเก็บโมงยามที่งดงามในชีวิตของตนไว้ ไม่สำคัญหรอกครับว่า ขวดใบนั้นจะมีราคาหรือไม่มีค่าอะไร จะมีรูปร่างอย่างใด แม้กระทั่งจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงไร เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในขวดแก้วของคุณ และย่อมเป็นเรื่องพิเศษที่เกิดขึ้นกับคุณเพียงคนเดียว และเพียงครั้งเดียวในชีวิต" จากคำนำของ ประภัสสร เสวิกุล

ประภัสสร เสวิกุล อายุ ๖๕ ปี เกิดวันพฤหัส ที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๑ ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตร ร.ท.รังษี และนางศจี (สีมนัตร) เสวิกุล เป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านและเป็นที่ยอมรับในวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย ในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปี ประภัสสรได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี จำนวนมากผลงานจำนวนไม่น้อยได้รับรางวัลในระดับชาติหลายเรื่อง ได้มีผู้นำไปสร้างสรรค์ เป็นศิลปะแขนงอื่น คือ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ อีกจำนวนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

จบรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ หลักสูตรการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่น ๘ สถาบันพระปกเกล้า ศึกษาหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาศิลปศาสตร์ แขนงวิชาสารสนเทศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สมรสกับชุติมา (วรฉัตร ) เสวิกุล นักเขียนสารคดีผู้ใช้นามปากกาว่า “นิลุบล นวเรศ” มีบุตร ๒ คน คือ ชาครีย์นรทิพย์ และวรุตม์ชัย

เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒

๒๕๑๘-๒๕๒๒ ออกประจำการครั้งแรกในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

๒๕๒๒-๒๕๒๔ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ สาธารณรัฐเยอรมนี

๒๕๒๙-๒๕๓๓ เลขานุการตรี และเลื่อนเป็นเลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี

๒๕๓๖-๒๕๔๐ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์

๒๕๔๘ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี

ด้านวรรณกรรม

๒๕๒๕-๒๕๒๖ เลขาธิการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

๒๕๔๔-๒๕๔๖ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑

๒๕๔๖-๒๕๔๘ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมัยที่ ๒

รางวัลที่เคยได้รับ
เกียรติประวัติในด้านวรรณกรรม

๒๕๑๐ รางวัลชนะเลิศบทกลอนส่งเสริมสินค้าไทย ของสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

๒๕๒๐ อีกวันหนึ่งของตรัน เรื่องสั้นดีเด่น รางวัลอนุสรณ์ ว.ณ ประมวลมารค

๒๕๒๑ อีกวันหนึ่งของตรัน เรื่องสั้นดีเด่น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

๒๕๒๖ อำนาจ รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๓๐ เด็กชายมะลิวัลย์ รางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๓๒ ชี้ค รางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, รางวัลชมเชยวรรณกรรมบัวหลวง

๒๕๓๓ ครีบหัก รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น และลอดลายมังกร รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๓๔ ขอหมอนใบนั้น...ที่เธอฝันยามหนุน รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และชี้ค รางวัลชมเชยจากสำนักงาน ป.ป.ป.

๒๕๓๗ หิมาลายัน รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๔๑ สำเภาทอง รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๔๗ พระจันทร์ทะเลทราย รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือนวนิยาย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

๒๕๔๙ หัวกระโหลกสองใบ รางวัลชมเชยเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

๒๕๕๐ รวมเรื่องสั้น "จดหมายจากชายชราตาบอด" รางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

๒๕๕๐ นวนิยายเรื่อง "ผีเสื้อและหิ่งห้อย" รางวัลชมเชย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

หนังสือที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน ๕๐๐ เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดย สมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน ได้แก่ อำนาจ เวลาในขวดแก้ว เด็กชายมะลิวัลย์ ลอดลายมังกร หิมาลายัน และสำเภาทอง

“ประภัสสร เสวิกุล” ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๔-๒๕๔๘ ด้วยเกียรติยศศักดิ์ศรีแห่งการยอมรับและไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกในวงการ

หลังจากเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาริเริ่มโครงการต่างๆ ไว้มากมาย เจตนารมณ์หนึ่งซึ่งปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด คือการจัดให้มี “รางวัลนราธิป” เกิดขึ้น เพื่อยกย่องเชิดชูนักเขียนเก่ารุ่นลายครามที่สร้างคุณานุประโยชน์อันดีงามให้ตกทอดแก่วงการเสมอมา

“ประภัสสร เสวิกุล” เผยว่า...

“บางครั้งคนรุ่นหลังมักจะลืมเลือนนักเขียนผู้อาวุโสว่าท่านได้ทำอะไรมาบ้างในอดีต เราจึงถือเกณฑ์อายุว่านักเขียนผู้ได้รับ ‘รางวัลนราธิป’ ต้องมีอายุ ๘๐ ปีขึ้นไป ทำงานเป็นบรรณาธิการหรือทำงานเขียนมายาวนาน และงานที่ทำนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประจวบกับปีนี้เป็นปีที่ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีชันษาครบ ๑๑๐ ชันษา แต่ท่านสิ้นพระชนม์แล้ว และเป็นปีที่ครบรอบ ๑๐ ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ท่านเป็นทั้งนักเขียน บรรณาธิการ นักปราชญ์ นักการทูต เป็นหลายๆ อย่างที่สังคมยอมรับและศรัทธา เราก็เลยถือโอกาสนี้ไปหารือกับธิดาของท่าน คือ หม่อมราชวงศ์วิวรรณ เศรษฐบุตร เพื่อขอประทานพระนามของท่านมาตั้งเป็นชื่อรางวัล

‘รางวัลนราธิป’ จะทำให้ทั้งวงการได้ทราบว่านักเขียน ๑๔ ท่านแรกที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นปูชนียบุคคลที่ทำงานมานาน ท่านมีชื่อเสียง และได้ทำอะไรให้แก่วงวรรณกรรมมาบ้าง และเพื่อให้ท่านได้รู้สึกว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลานนั้นยังเห็นคุณค่าของท่านอยู่ ท่านมีความหมาย มีความสำคัญต่อสังคมวงวรรณกรรม เรามิได้ปล่อยท่านไว้ตามลำพัง เพราะฉะนั้น เราจะถือเอาวันนักเขียนของทุกปี เป็นวันมอบโล่รางวัลนี้แก่นักเขียนผู้เป็นปูชนียบุคคลของวงการ

นักเขียนอาวุโสทั้ง ๑๔ ท่านที่ได้รับโล่ “รางวัลนราธิป” จากในนาม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในปีแรกนี้ มีดังนี้ ๑.กรุณา กุศลาศัย ๒.จิตต์ ไตรปิ่น (จ.ไตรปิ่น) ๓.ชนิด สายประดิษฐ์ (จูเลียต) ๔.ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ๕.พญ.โชติศรี ท่าราบ (จิ๋ว บางซื่อ,เนือง) ๖.คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ๗.ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี,นิด นรารักษ์) ๘.ประหยัด ศ.นาคะนาท (นายรำคาญ) ๙.เรืองอุไร กุศลาศัย ๑๐.ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) ๑๑.ศรี ชัยพฤกษ์ (อรชร) ๑๒.สลวย โรจนสโรช (ส.คุปตาภา) ๑๓.ม.จ.สวาสดิ์วัฒโรดม ประวิตร (ดวงดาว) ๑๔.เสาว์ บุญเสนอ (ส.บุญเสนอ)

ข้อความข้างบนนี้เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของชีวประวัติและผลงาน เป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาลงทั้งหมด เพราะเมื่อเปิดเวบไซท์ เพื่อเข้าไปหาข้อมูลก็ตาลาย น่าอ่าน น่าสนใจ น่าศึกษา ไปทั้งหมด ตัดสินใจไม่ถูก อ.ประภัสสร มีความสามารถในทุกๆ ทางที่เกี่ยวกับตัวอักษร เพราะมีบิดาเป็นผู้เบิกทาง อ่านหนังสือตั้งแต่อายุยังน้อย แบบที่เราเรียกกันว่า หนอนหนังสือ หรือหอสมุดเคลื่อนที่ ต้องเรียก หอสมุด เพราะห้องสมุดดูจะธรรมดาไป ! ต้องขอสารภาพว่าเขียนถึง “ศิลปินแห่งชาติ” ครั้งนี้เกร็งมาก ประการที่หนึ่ง ไม่รู้จักเป็นส่วนตัว พี่ๆ ศิลปินแห่งชาติทั้งหลายที่เคยสัมภาษณ์เป็นส่วนตัว หรือที่เคยเขียนถึงโดยมิได้สัมภาษณ์ล้วนแล้วแต่เคยพบเห็นพูดคุย แต่ละท่านให้ความเอ็นดูเป็นกันเอง ที่เห็นในรูปมี ศ.ประหยัด ดร.ถวัลย์ ดร.กมล ส่วนพี่ๆ ศิลปินแห่งชาติในด้านบันเทิงจะมอบหนังสือให้อยู่เสมอ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่มีค่า ไม่ต้องค้นหาตามเวบฯ เรียกว่าป้อนอาหารเข้าปากกันเลย เมื่อรู้จักเป็นส่วนตัวอะไรๆ ก็ง่ายขึ้น มีเรื่องเขียนถึงมาก ถึงผิดพลาดไปบ้าง ท่านก็ให้อภัยน้องคนนี้กัน !

ประการที่สอง อ.ประภัสสร เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ถึง ๒ สมัยรวม ๔ ปีเต็มๆ นอกจากเป็นนักเขียนระดับชาติแล้ว ยังเป็นนักเขียน INTER (INTERNATIONAL) ผลงานบทประพันธ์ถูกแปลออกเป็นหลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาเวียดนาม ฯลฯ

อ่านไปอ่านมาในเวบฯ ต่างๆ ไปพบเวบฯของ “แง่คิดจากคนดัง” อ่านข้อคิดของ อ.ประภัสสรแล้วถูกใจมาก (HIT MY SPOT!) เลยขอนำมาลงเป็นบางส่วน คงจะให้ข้อคิดที่ดีๆ กับคนเขียนหนังสือ โดยเฉพาะคนเขียนที่ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้เรียนรู้หรือได้รับการอบรมกันมา “จรรยาบรรณ” เป็นสิ่งสำคัญของการเขียนหนังสือ ไม่ใช่ว่ามีปากกาแล้วใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น “นักเขียนที่ดีต้องมีจรรยาบรรณ” ถ้าจะเปิดเผยหรือเปิดโปงสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ต้องเป็นการเปิดโปงเพื่อทำให้สังคมนั้นดีขึ้น ! ลองอ่านดูแง่คิดดีๆ คิดว่าคงเป็นประโยชน์กับผู้ที่อยากจะเป็นนักเขียนที่ประสบผลสำเร็จ

หากต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียน มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

ในความคิดของผม งานเขียนที่ดีต้องประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ หนึ่งคือจินตนาการ คนเราต้องมีจินตนาการที่จะเขียนอะไรออกมา ถ้าไม่มีจินตนาการ เนื้อหาก็อาจจะกลายเป็นวิชาการไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิชาการอยู่ในงานเขียนด้วย วิชาการคือข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้จินตนาการของเราไม่เลื่อนลอย สามก็คือกลวิธีการเขียนซึ่งแต่ละคนก็ต่างกันออกไป สุดท้ายคือประสบการณ์ที่เราได้พบเห็นมาทั้งสี่อย่างนี้เมื่อประกอบกันเข้าคือวิธีการเขียนในแบบของผม นอกจากนั้น ผมถือว่าความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ของนักเขียนอาจจะไม่มีคำว่าจรรยาบรรณเขียนเอาไว้ในกฎข้อบังคับของนักเขียน แต่นักเขียนต้องมีจรรยาบรรณ ต้องเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือว่าดีงามต่อสังคม โอเค คุณอาจจะเปิดเผยหรือเปิดโปงสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ แต่ต้องเป็นการเปิดโปงเพื่อทำให้สังคมนั้นดีขึ้น ศรีบูรพาเคยกล่าวเอาไว้ในทำนองว่า “คุณเป็นช่างไม้ คุณทำเก้าอี้ตัวหนึ่งออกมาแล้วไม่ดีก็ยังไม่เป็นไร เพราะไม่ดีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียน แล้วเขียนเรื่องที่ไม่ดีก็อาจทำให้คนที่อ่านเรื่องของคุณ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากมองโลกในมุมที่ผิดไปได้”

นักเขียนที่ดีต้องยกระดับคนอ่านหรือแฟนหนังสือของตัวเองให้ก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายคือการเคารพตัวเองและเคารพผู้อ่าน นั่นก็คือเขียนในสิ่งที่สมเหตุสมผลให้สาระและแง่คิดต่อผู้อ่านผมถือว่าเป็นความจำเป็นของนักเขียนที่จะต้องรับผิดชอบต่องานที่ตัวเองทำขึ้นมา โดยต้องคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนไปนั้นจะมีผลสะท้อนหรือปฏิกิริยาอย่างไรต่อสังคมบ้าง

สำหรับคนที่อยากก้าวมาสู่จุดที่ประภัสสร เสวิกุล ได้ทำสำเร็จมาแล้ว เขาต้องมีอะไรบ้าง

สำหรับผม การฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจจริงของแต่ละคนว่าอยากจะทำอะไร แล้วเขาทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขาต้องการจะทำหรือต้องการจะเป็นหรือไม่ พรสวรรค์เป็นแค่คำที่เราเรียกขึ้นมาสำหรับบางสิ่งบางอย่างซึ่งคนบางคนทำขึ้นมาเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือว่าเป็นครั้งคราวก็ตาม แต่สิ่งที่มีความสำคัญและมีค่าที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ก็คือ ความพยายามที่จะฝึกฝนตัวเองให้สามารถทำในสิ่งที่อยากเป็นและอยากทำให้ได้ และพยายามสร้างผลงานที่เป็นตัวเราให้ชัดเจนมากขึ้นให้ได้ โดยแสวงหาวิธีการทำหรือว่าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สิ่งที่เราทำนั้นสัมฤทธิผล พรแสวงจึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ ฝึกได้ และสามารถทำให้เพิ่มพูนขึ้นมาได้

มองความสำเร็จที่ผ่านมาจนถึงวันนี้อย่างไร

ผมมองความสำเร็จเป็นเหมือนกับหินย้อยที่ค่อยๆ หยดลงมาซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะกลายมาเป็นถ้ำที่สวยงาม ความสำเร็จก็เช่นกัน ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แท่งคอนกรีตที่หล่อออกมาได้เลย การจะได้มาต้องมีความอดทน มุ่งมั่น มีความรักและทุ่มเทในงานที่ตนเองรัก แล้วทำให้ดีที่สุด

อ.ประภัสสร เกษียณจากกระทรวงต่างประเทศ เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ แต่งานก็ยังล้นมือ นอกจากงานทางด้านเขียนหนังสือ รายการทางวิทยุ เดินทางร่วมกับศิลปินฯ สัญจรทั้งในและนอกประเทศ ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามสถาบันต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เมื่อเย็นนี้ ส.ท่าเกษม ส่งอีเมลไปถามคุณต๋อย ชุติมา 2-3 ข้อ เธอบอกกำลังจะไปข้างนอก รถมารับ “คุณภัสสร” ไปเป็นวิทยากรที่ สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นี่คืองานเท่าที่ทราบ ส่วนที่ไม่ทราบคงมีอีกมาก

คุณชุติมาผู้ภรรยาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี ไปไหนไปด้วยกัน ประหนึ่งเลขาฯส่วนตัว และขณะนี้เธอกำลังเขียนสารคดี (ตามถนัด) เกี่ยวกับสาวๆ อาเซียน และกล่าวถึงประเทศอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ชื่อเรื่อง “ลิปสติคกับผ้ากันเปื้อน” ลงในนิตยสาร “ขวัญเรือน” ใช้นามปากกา นิลุบล นวเรศ

ส่วน อ.ประภัสสร มี “กริชมะละกา” ในนิตยสาร “สกุลไทย” เป็นนวนิยายชุดวรรณกรรมอาเซียน คำขวัญส่งท้ายจากนักประพันธ์คนโปรดของคุณผู้อ่านคือ “ความสำเร็จต้องใช้เวลา” ทราบว่ามีแฟนๆ ที่แอล.เอ. มากเพราะขนาดพรรคพวกที่สังสรรค์กันอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ส.ท่าเกษม ก็รู้จักและชื่นชอบผลงานของ "ประภัสสร เสวิกุล"

คนเขียนเป็นแฟนรายการวิทยุ “โลกและชีวิตกับประภัสสร เสวิกุล” เพราะอยู่ทางนี้สามารถฟังทาง INTERNET ได้อย่างสะดวกสบาย นั่งทำงานดึกๆ มีเพลงโปรดทั้งนั้นเป็นเพื่อน โดยเฉพาะของ ไมเคิล บูเบล (MICHAEL BUBLE) หนุ่มชาวแคนาดาและ เอลวิส เพรสลี่ย์ ขอขอบคุณคุณชุติมาเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความร่วมมืออย่างดี และขออภัยในความผิดพลาด

สุดท้ายก่อนจากกันเสาร์นี้ “ประภัสสร เสวิกุล” นักประพันธ์ในดวงใจของคุณผู้อ่าน ฝากสวัสดีมายังแฟนๆ หนังสือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่เมืองแอล.เอ.


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖