คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เมษา-พาฝัน
ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา
ผ่านพัดมาพาให้ร้อนรน
ร้อนเหมือนลมหายใจแรงพ่น
พรายพลิ้วมนต์ของรักมา
ในฤดูร้อนก่อนเคยได้ฝัน
ฝากสัมพันธ์คำมั่นสัญญา
รักร้อนแรงแฝงลมชมหล้า
อนิจจาอ่อนใจ

*ปากคอคิ้วคางหว่างทรวงล่วงล้ำเลย
อกเอ๋ยพี่เชยชมทั่วไป
ดั่งลอยคล้อยชมวิมานฟ้าไกล
กอดกายไว้เคียงใกล้ไม่ยอมห่าง
ในฤดูร้อนแห่งคืนคิมหันต์
ใต้แสงจันทร์งามทั่วทุกทาง
รักร้อนรนหาคนคลอร่าง
ดับร้อนพลางดื่มฝัน
* (ซ้ำ)

เพลง “มนต์รักฤดูร้อน”
คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ทำนอง เพลงจีนสากล
บันทึกเสียงครั้งแรกปี พ.ศ. 2498
โดย.... สุเทพ วงศ์กำแหง



"ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา ผ่านพัดมาพาให้ร้อนรน
ร้อนเหมือนลมหายใจแรงพ่น พรายพลิ้วมนต์ของรักมา....."

บทเพลงที่ร้อนแรงด้วยประกายของไฟรักเพลงนี้ แม้จะเป็นเรื่องราวของเดือนเมษายน ที่ควรจะได้ร้องได้ฟังเฉพาะเดือนเมษายนของแต่ละปีเท่านั้น แต่เพลงนี้นักฟังแทบทุกคนมักเห็นตรงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายว่าเพลงนี้ไม่ว่าจะฟังเวลาใด แม้จะอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ ก็สามารถทำให้ผู้ฟังรู้สึกร้อนวูบวาบขึ้นมาทั่วร่างกายได้ทุกครั้ง หากไม่เชื่อก็ลองเปิดเพลงนี้แล้วตั้งใจฟังสักเที่ยวหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงวรรคทองของเพลง

"ปากคอคิ้วคางหว่างทรวงล่วงล้ำเลย อกเอ๋ยพี่เชยชมทั่วไป
ดั่งลอยคล้อยชมวิมานฟ้าไกล กอดกายไว้เคียงใกล้ไม่ยอมห่าง..."

แต่ถ้าฟังไปแล้วกี่เที่ยวๆ ก็ยังรู้สึกเฉยๆ ไม่ร้อนไม่หนาวไม่ซึ้งไม่ซ่านอะไรเสียเลย ก็เป็นอันสรุปได้เลยว่าผู้ฟังท่านนั้น...หมดไฟแล้วจริงๆ (ฮา)

"มนต์รักฤดูร้อน" พ.ศ.2497 เป็นผลงานเพลงแรกของสุดยอดกวีเพลง นามว่า ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ จากชีวิตของนักมวยและนักหนังสือพิมพ์ มาสู่เวทีกวีเอกของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ถ้ายกเว้นเรื่องเงินทองในกระเป๋าไปเสียเรื่องเดียว ก็ย่อมจะกล่าวได้ว่า กวีเพลง นามว่า ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ท่านนี้นั้นนับเป็นเอกอาไนยที่ไม่เป็นสองรองใครในพิภพทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นเพลง มนต์รักฤดูร้อน, ฟลอร์เฟื่องฟ้า, แม่สาย, ปลายโลกร้าง, ลาทีปากน้ำ, ปีศาจวสันต์, ฟ้าแดง และ โศกาโศกี เป็นต้น

ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ เกิด 30 กันยายน พ.ศ.2464 จบมัธยมปลายสายภาษาจากเทพศิรินทร์ ผ่านงานหลายอย่างเคยชกมวยบนเวทีอาชีพ และเคยเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ก่อนจะก้าวเข้ามาสู่เวทีเพลงอย่างเต็มตัว

ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ล้มป่วยด้วยอาการมะเร็งหลอดอาหารอยู่สามเดือน ก็สิ้นชีวิตเมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2525 ฝากไว้แต่ภาษากวีเพลงอันรุ่มร้อนและอ่อนหวานยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

"ลมฤดูร้อนแห่งคืนคิมหันต์ ใต้แสงจันทร์งามทั่วทุกทาง
รักร้อนรนหาคนคลอร่าง ดับร้อนพลางดื่มฝัน..."

ข้อความข้างบนนี้มาจากคอลัมน์ "สาระน่ารู้" ของ น.ส.พ. ไทยโพสต์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ "มนต์รักในฤดูร้อน" 41 องศาถึงเวลารักร้อน ยิ่งกว่าโลกร้อน โดย "สิงห์สุวรรณ" คอลัมน์นี้รู้สึกว่าจะมีผู้เขียนหลายท่าน ไม่ได้เป็นคอลัมน์ของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ คิดว่านามปากกา "สิงห์สุวรรณ" คงจะเป็นของนักแต่งเพลงรุ่นครูชื่อเต็มๆ ว่า สมพจน์ สิงห์สุวรรณ ฟังดูจากหัวข้อ ".......ถึงเวลารักร้อน ยิ่งกว่าโลกร้อน" นักเขียนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่นักแต่งเพลงคงไม่ใช้สำนวนเช่นนี้ อีกทั้ง ส.ท่าเกษม เป็นแฟนติดตามผลงานของท่านมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีโอกาสได้ฟังรายการเพลงของวิทยุศึกษา ทั้ง ดนตรีกานต์ และ มุมความสุข ยังแปลกใจว่าทำไมไม่คุ้นกับชื่อท่านมาก่อน ปกติจะรู้จักครูเพลงทั้งหลายและเคยเขียนถึงในคอลัมน์ อาจจะเป็นเพราะมาที่แอล.เอ. ตั้งแต่ยังอายุน้อย

คุณสมพจน์ฉลองวันเกิดครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2011 โดยจัดคอนเสิร์ต บ้านปลอดบุหรี่ 70 ปี แสดงว่าท่านต่อต้านการสูบบุหรี่ ซึ่งนับว่าช่วยรักษาสุขภาพของคนไทยด้วยเสียงเพลง เท่าที่ทราบผลงานที่แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง มีเพลง รักและคิดถึง สายัณห์รัญจวน ตะวันตกดิน อยากกอดเธอตลอดเวลา และ สวาทเธอ รู้สึกจะเป็นเพลงคู่ เพลงโปรดในผลงานของท่านที่ ส.ท่าเกษม ชื่นชอบคือเพลง รักและคิดถึง กับเพลง ตะวันตกดิน

ขอฝากอำนวยพรย้อนหลังแด่คุณสมพจน์ สิงห์สุวรรณ ผู้ซึ่งเป็นห่วงสุขภาพของชาวไทย และยังชโลมหัวใจชาวไทยด้วยบทเพลงรักอมตะที่ไพเราะเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณมา ณ ที่นี่ ไม่ทราบปีนี้ท่านฉลองวันเกิดเมื่อเดือนที่แล้วอย่างไร เพราะไม่สามารถฟังสถานีวิทยุศึกษาทางอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นปีนี้

ที่จริงท่านเขียนยาวน่าอ่านได้สาระเป็นความรู้ แต่ ส.ท่าเกษม นำมาลงเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพลง "มนต์รักฤดูร้อน", เมษา-พาฝัน ในสัปดาห์นี้เกี่ยวโยงมาจาก เมษา-หรรษา ที่เขียนลงเมื่อเสาร์ที่ 6 เมษายน คุณผู้อ่านที่พลาดไปสามารถคลิกอ่านได้ใน WEBSITE ของ น.ส.พ. ไทยแอล.เอ. (www.thailanewspaper.com)

ตามสไตล์ของ ส.ท่าเกษม มักจะมีเพลงที่ประทับใจมาลงประกอบข้อเขียน หรือบางครั้งจะมีข้อเขียนประกอบบทเพลง ขึ้นอยู่กับอารมณ์และเหตุการณ์ เมื่อเขียนถึงเดือนเมษายน จึงคิดหาเพลงที่เกี่ยวกับชื่อของหัวข้อ ดังที่เรียนคุณผู้อ่านไปว่า อยากจะนำเพลง "มนต์ฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา" มาลงแต่หาเนื้อเพลงและยูทูบไม่พบเลยต้องใช้เพลง "APRIL LOVE" โดย แพท บูน มาลงแทน

ซึ่งก็หน้าแตกโดยไม่รู้ตัว แต่โชคดีมีคนช่วยเย็บให้เลยหายหน้าแตก ปกติ ส.ท่าเกษม จะเขียนคอลัมน์คืนวันพุธเช่นขณะนี้ พอรุ่งขึ้นจะประสานงานกับ WEBMASTER ในวันพฤหัสฯเป็นอันหมดหน้าที่ สัปดาห์ที่แล้วพอส่งต้นฉบับเรียบร้อย วันรุ่งขึ้นได้รับเนื้อเพลงจาก อาจารย์สุวพร (จุ่น) อนันต์ เป็นทั้งนิสิตเก่าและอดีตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โอ๊ย ! เรื่องยาว....เล่าสั้นๆ กับใครเขาก็ไม่เป็นเสียด้วย ตอนเป็นลูกศิษย์ของ ทมยันตี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ) แผนกอักษรศาสตร์คะแนนวิชาย่อความจะต่ำมาก ส่วนเรียงความกลับได้คะแนนดี !

กลับมาคุยเรื่องเพลงต่อ ที่ว่าหน้าแตกเพราะชื่อเพลงไม่มีในสารบัญเพลง ส.ท่าเกษมแต่งขึ้นมาเอง "มนต์ฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา" มิน่าถึงหาไม่พบ พอเปิดซองเห็นชื่อเพลงแล้วอายมาก ผิดแบบให้อภัยไม่ได้ ต้องกราบขออภัยคุณครูศรีสวัสดิ์ ผู้อยู่ ณ แดนสวรรค์ และขออภัยนักเพลงทุกๆ ท่านที่อ่านพบ ชื่อเพลงที่ถูกต้องควรจะเป็น "มนต์รักฤดูร้อน"

ขออนุญาตคุยเพิ่มเติมอีกสักนิดคงยังไม่เบื่อเสียก่อน เวบมาสเตอร์ผู้ใจดี เห็น ส.ท่าเกษม เขียน "มนต์ฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา" ยังช่วยเติมให้ครบครันว่า เมษายน คือ คุณต้อม ภูมรินทร์ ผู้นี้มีความรู้มีปริญญาติดตัว เห็นอะไรผิดตาจะช่วยแก้ไขให้ เพราะ ส.ท่าเกษม เคยเกริ่นๆ ให้ฟังว่าภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรง จบมาได้ก็บุญแล้วเพราะไม่ชอบเรียนหนังสือ เมื่อปี 2510 ได้ต้อนรับเพื่อนเก่าผู้คงแก่เรียนใส่แว่นตาสายตาสั้นชื่อ สุนีย์ (นิด) นามสกุล จันทรากูร เพราะแต่งงานกับคุณบรรจบ จันทรากูร ผู้ประกาศข่าวสถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม (ขาว-ดำ) นิดฟื้นความทรงจำว่าปีที่พวกเราจบมัธยม 8 ยกชั้นทั้งแผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โชคดีไปที่ ส.ท่าเกษม ไม่ได้ไปถ่วงทำเสียชื่อให้สถาบันอันเป็นที่รัก

ที่จำชื่อเพลงผิด เพราะเอาเนื้อร้องและชื่อเพลงมาผสมกัน เพลงนี้เป็นเพลงเก่งของสามีอาจารย์จุ่น นายแพทย์บุญส่ง อนันต์ ผู้เชี่ยวชาญทางโรคไต เคยฟังท่านร้องอย่างต่ำก็ 2-3 ครั้ง ....ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา ฟังดูเอ ! ลมนี่ดูจะธรรมดาไปสำหรับชื่อเพลง เลยเปลี่ยนเป็นมนต์ซะนี่ ซึ่งก็ถูกต้อง (ถูกอยู่คำเดียว) ฝากขอบคุณอาจารย์จุ่นมาด้วยที่เป็นธุระช่วยส่งเนื้อเพลงมาให้ ส.ท่าเกษม

เมื่อได้ชื่อเพลงที่ถูกต้องมาแล้ว จึงเป็นการง่ายที่จะหายูทูบและข้อมูลอื่นๆ ซึ่งก็ได้มาโดยบังเอิญ เนื่องจากคุณ "สิงห์สุวรรณ" (เรียกตามนามปากกา) เขียนถึงเพลงนี้พอดีใน น.ส.พ.ไทยโพสต์ เลยได้ความรู้ ประวัติของคุณครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นชื่อของสุภาพสตรีมาตลอด เพิ่งจะมาทราบว่าเป็นสุภาพบุรุษจากข้อเขียนของคุณสมพจน์ฯ น่าขายหน้าไหมล่ะ เขียนถึงครูเพลงและนักร้องระดับครูมาเป็นเวลา 14 ปี แต่กลับไม่ทราบประวัติของผู้ที่เราชื่นชมผลงาน ส.ท่าเกษมขอแก้ตัวโดยนำเพลง มนต์รักฤดูร้อน เวอร์เชิ่นที่ไพเราะที่สุดมาฝากคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านใน WEBSITE

เมื่อเขียนถึงเดือน "เมษายน" ความทรงจำยามเยาว์วัยก็ผลุดขึ้นมาทันทีทันใด ทุกๆ ปีของวันที่ 1 เมษายน บิดาจะเช่าทั้งโบกี้ นั่งรถไฟไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คิดถึงสถานีบางกอกน้อย, ฝั่งธนบุรี ตื่นเต้นดีใจได้ขึ้นรถไฟที่นั่น รับประทาน "ข้าวผัดรถไฟ" มีไข่ดาวโป๊ะมา 1 ฟอง ช้อนส้อมมันย่องเหมือนล้างไม่สะอาด (ไม่ว่ากัน !) ล้างปากด้วยโอเลี้ยงแก่ๆ หวานๆ ส่วนขนมไม่ต้องห่วง รถไฟจอด นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หัวหิน ซื้อกันตรงหน้าต่างรถไฟเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว ส.ท่าเกษม ไม่เคยพลาดลูกตาลอ่อนสดๆ น้ำหวาน ที่บรรจุมาในใบจากสีเขียวทำเป็นชะลอม ส่วนอาหารว่างจะเป็นไก่สีเหลืองๆ ขึงอยู่บนกรอบไม้ อร่อยสุด !!! รับประทานกันตลอดทาง พอถึงตัวเมืองประจวบฯ สถานีเกาะหลักจะอิ่มตื้อ คิดถึง.... คิดถึง....และ คิดถึง เดือนเมษายนที่ "บ้านเรา" !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
20 เมษายน 2556