คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





~ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ~

ลาแล้วจามจุรี   ที่เตือนใจ
เสียดายที่จากไป   เคยอยู่ใกล้ ทุกสมัยมั่น เจ้าเอยเคยชิดติดพัน   ต้องมาโศกศัลย์เศร้าใจ นับแต่วันนี้ต่อไป   ลับลาจะห่างไกล เหมือนดังจะขาดใจ   คร่ำครวญหวนไห้ ก็ไม่คืนมา...


เนื่องจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็กครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นักเรียนมหาดเล็กแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก ซึ่งมีอินทรธนูเป็นสีบานเย็นอันเป็นสีของกรมมหาดเล็ก สีบานเย็น จึงเป็นสีประจำสถาบัน ต่อมาเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรก ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพิจารณาสีที่จะใช้ในการแข่งขัน ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตและนายกสโมสรนิสิตฯ ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือ พระปรมาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคารและโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ เห็นสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล มหาวิทยาลัยจึงใช้ สีชมพูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยตลอดมา

ชาวจุฬาฯ ยึดถือ จามจุรี นี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักเรียกกันว่า จามจุรีสีชมพู หรือ จามจุรีศรีจุฬาฯ เมื่อถึงวันงานประเพณีต้อนรับน้องใหม่ทุก ๆ ปี นิสิตรุ่นพี่จะนำใบหรือกิ่งจามจุรีเล็ก ๆ มาผูกริบบิ้นสีชมพูคล้องคอให้นิสิตใหม่ เพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาณาจักรแห่ง จามจุรีสีชมพู


สาส์นจากนายก

ผมมีข่าวที่น่ายินดีที่จะแจ้งให้พวกเราทุกท่านทราบว่า ทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตอบรับให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์แห่งแคลิฟอร์เนียของเรา ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ โดยมีศักดิ์และสิทธิในการใช้ชื่อ “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์” และใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกันได้ นับว่าสมาคมฯ ของเราเป็นสมาคมแรกในเหล่าสมาคมนิสิตเก่าจุฬา (ทั้งในและนอกประเทศ) ที่ได้รับเข้าอยู่ในเครือข่ายนี้ ดังนั้นผมรู้สึกยินดีและดีใจเป็นที่สุดที่เราได้รับเกียรติอันนี้ ผมขอขอบคุณชาวจุฬาฯที่รักทุกคน ที่ให้เกียรติ ให้ความไว้วางใจโดยให้ผมเป็นตัวแทนของสมาคมจุฬาฯแห่งแคลิฟอร์เนีย ผมยินดีและตั้งใจที่จะดำเนินงานของสมาคมให้เจริญก้าวหน้าสืบไป เพื่อให้สมาคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียว ช่วยเหลือพวกเราและสังคมไทยที่นี่ ผมจะยึดมั่นอยู่ใน SOTUS (Seniority, Orders, Tradition, Unity and Spirit) ซึ่งพวกเราได้ยึดถือกันตั้งแต่ก้าวแรกในรั้วจามจุรี เพื่อพวกเราและจุฬาฯ ของเรา สวัสดีครับ...น.พ. สุเทพ จรูญรัตน์


เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส.ท่าเกษม ได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ น.พ.สุเทพ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (๒๕๔๗-๒๕๔๘) และภรรยา พ.ญ.วีณา จรูญรัตน์ ในงานเลี้ยงส่งบุคคลในวงการที่เดินทางกลับไปใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างถาวร เลยได้รับความรู้เกี่ยวกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในตอนที่สำคัญ จึงได้นำ สาส์นจากนายก ในปีดังกล่าวมาลงในคอลัมน์นี้ เพื่อเราจะได้ทราบที่ไปที่มาของ “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯแห่งแคลิฟอร์เนีย” คุณหมอสุเทพ เรียนเตรียมแพทย์จุฬาฯ แล้วมาจบแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วน คุณหมอวีณา จบเตรียมแพทย์และแพทย์ศาสตร์จากจุฬาฯ

ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๐๔ หลังจากที่ คุณหมอสุเทพ เข้ารับตำแหน่งอันมีเกียรติ ท่านอธิการบดี ศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ส่งจดหมายมาขอความร่วมมือจากนิสิตเก่าทุกท่านให้บริจาคเงินแก่มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสจุฬาฯสถาปนาครบ ๘๕ ปี จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของ คุณหมอสุเทพ นายกสมาคมฯ ที่จะเร่งระดมทุนในเวลาที่จำกัด ตามที่ท่านอธิการฯอยากได้สัก ๑๐,๐๐๐ เหรียญยูเอส จากนั้น คุณหมอสุเทพ จึงเดินทางกลับไปเมืองไทยเพื่อเข้าเฝ้าถวายเงินแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามคำขอร้องของ ศ.ดร.ธัชชัยฯ ทางมหาวิทยาลัยให้เกียรติแก่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แคลิฟอร์เนียเป็นอย่างมาก เชิญให้ คุณหมอฯ ร่วมนั่งโต๊ะเสวย และเมื่อกลับมาแคลิฟอร์เนียจึงได้ทำเรื่องเสนอขอให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯทางนี้ เข้าอยู่ในเครือข่ายของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ทางประเทศไทย และในปีเดียวกันนั้น ก็ได้รับจดหมายตอบรับลงวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๔๗ จาก ดร. อดิศัย โพธารามิก นายกสมาคมฯ ดังที่กล่าวไว้ใน “สาส์นจากนายก”

ขอขอบคุณ คุณมุ้ย อรุณี เป็นอย่างยิ่งที่ส่งหนังสือ “จามจุรีในแดนไกลฯ” มาให้จากเมืองคาร์ลสแบด เธอเคยทำงานให้กับ FEDERAL LAB บริษัทใหญ่ข้ามชาติและตำแหน่งสุดท้ายทำงานให้กับรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็น LAB MANAGER @ SCRIPPS ANALYTICAL FACILITY น่าภูมิใจที่เธอใช้วิชาความรู้ที่ศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์มาใช้เกือบ ๑๐๐ % คุณมุ้ย อยู่ไกลแต่เข้าเวบฯ ของน.ส.พ.ไทยแอล.เอ. อ่านคอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์” เราเริ่มติดต่อกันในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ หนังสือ “จามจุรีในแดนไกลฯ” เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากเขียนโดยนิสิตเก่าจุฬาฯ ที่นี่จากคณะต่างๆ เขียนจากประสบการณ์ของแต่ละท่านถึงชีวิตการงานและครอบครัว มีหลายเรื่องหลายรส ได้เห็นชื่อที่คุ้นๆสายตาอยู่หลายชื่อ รวมทั้ง ดร.ศิรินันท์ บุตรสาวของ ร.ศ.อัปษรศรี ปลอดเปลี่ยว อดีตรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งท่านกรุณาให้กำลังใจคอลัมน์ คุยกันวันเสาร์ มาเป็นเวลานาน คุณหมอสุเทพ กรุณาตักเตือนเมื่อเห็นความผิดพลาด เช่นคำว่า “นิสิต” จะใช้กับมหาวิทยาลัยที่มีหอพักอยู่ภายใน ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหอพักจะเรียกผู้เรียนว่า “นักศึกษา”

อีกท่านหนึ่งที่จะขอกล่าวถึงคือ พ.ญ.สุวรรณี วิทยพูม (นายกสมาคมฯ ๒๕๔๙-๒๕๕๐)ไม่ได้รู้จักท่านเป็นส่วนตัวเคยแต่สวัสดีคุณหมอ ๒-๓ ครั้ง คุณหมอเกษียณแล้วแต่ยังทำกิจอาสาตรวจและฉีดยาให้ฟรี รู้สึกปลื้มและดีใจไปด้วยที่คุณหมอใจดีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นิสิตเก่าจุฬาฯ อีกท่านที่ไม่เคยลืมความเมตตาที่ได้รับในด้านการเขียนหนังสือ คือ ศ.ประภาศรี สีหอำไพ ภรรยาของ ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งแผนกอิสระ สื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ (คณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ ปัจจุบัน) พี่อู๊ด หรือ ศ.ประภาศรี อดีตครูอาสาวัดไทยลอสแองเจลิสรุ่นแรก พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านติดตามและสนับสนุนงานเขียนของ ส.ท่าเกษม ตั้งแต่ยังพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ส่วน คุณณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ แห่งคลังหนังสือดอกหญ้า เป็นผู้เลื่อนตำแหน่งให้ ส.ท่าเกษม จากนักเขียนมือสมัครเล่นเป็นนักเขียนมืออาชีพไม่เคยลืมแม้นเวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ ๑๕ ปี ขอขอบคุณอีกครั้งเป็นอย่างที่สุด และขอแสดงความยินดีมายัง คุณณรง์ศักดิ์ ที่ได้เลื่อนตำแหน่งเช่นกันเป็น AMERICAN CITIZEN !

คุณปาริชาต ภรรยาเอกอัครราชทูตไทย เจษฎา กตเวทิน ประจำประเทศโอมาน คุณแต้ จบรัฐศาสตร์เกียรตินิยม เป็นศิษย์เก่า “ทำเนียบรัฐบาล” ได้พบครั้งแรกที่แอลเอและนึกชื่นชมในกริยามารยาท การพูดจา การวางตัวเหมาะสมกับตำแหน่งศรีภรรยาของท่านกงสุลใหญ่ และนี่คือความผูกพันความประทับใจที่ ส.ท่าเกษม ได้รับจาก น้ำใจน้องพี่สีชมพู ในแคลิฟอร์เนีย

หมายเหตุ ถึงแม้ตัวผู้เขียนเรื่องราวจุฬาฯจะอยู่นอกรั้วจามจุรี แต่ก็มีความเกี่ยวโยงพอประมาณ นอกจากบิดาที่เข้าเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ยังมีญาติพี่น้องเป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เชาวน์ชาญบุรุษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ พิมพ์ชนก ลูกสาว ปริญญาตรีและโท คณะอักษรศาสตร์ อนงค์ในวัฒนา เกียรตินิยมอันดับ ๒ คณะรัฐศาสตร์ ชวลิต สุวัติกุล (เขย) คณะสถาปัตย์ฯ และ ลูกชาย ตรีบุญ สุวัติกุล คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี วิศวกรรม เปรมฤทัย (สะใภ้) คณะอักษรศาสตร์ รายล่าสุดเพิ่งรับปริญญาเมื่อปีที่แล้ว ภวินท์ รักตะกนิษฐ (รุ่นหลานย่า) คณะรัฐศาสตร์ รุ่น ๖๕ (สุดท้ายขอขอบคุณวิกิพีเดียและเวบไซท์ของจุฬาฯ)


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๕ สิงหาคม ๒๕๖๐