(ช) เมื่ออาทิตย์อุทัย ( ฮัม...)
ส่องทั่วท้องถิ่นไพร ( ฮัม...)
โลกแจ่มใส่อีกครั้ง ( ฮัม...)
(ญ) เหม่อมองนกโผผิน ( ฮัม...)
แว่วธารรินไหลหลั่ง ( ฮัม...)
ป่าลั่นดังสะท้านใจ ( ฮัม...)
(พร้อม) แดดส่องฟ้าเป็นสัญญาวันใหม่ พวกเราแจ่มใสเหมือนนกที่ออกจากรัง ต่างคนรักป่า ป่าคือความหวัง เลี้ยงชีพเรายัง ฝังวิญญาณนานไป ตื่นเถิดหนาอายนกกามันบ้าง แผ่นดินกว้างขวาง ถางคนละมือละไม้ รอยยิ้มของเมีย ชโลมฤทัย ขับเหงื่อผัวได้ ให้เราจงทำดี เสื้อผ้าขี้ริ้ว ปลิวเพราะแรงลมเป่า กลิ่นอายพวกเรา เขาคงจะเดินเมินหนีคราบไคลไหนเล่าเท่าคราบโลกีย์ เคล้าอเวจี หามีใครเมินมัน
โลกจะหมองครองน้ำตาความเศร้า แบ่งกันว่าเขาและเราเศร้าจริงใจฉัน
ป่ามีน้ำใจใสแจ่มทุกวัน รักป่าไหมนั่น เมื่อ “ป่าลั่น” ความจริง
ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติวัย ๙๐ ย่าง ๙๑ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เห็นว่างานวันเกิดท่านที่เพิ่งผ่านไป มีผู้เข้าร่วมอวยพรประมาณพันกว่าคน ขณะเดินสายกับศิลปินแห่งชาติสัญจร มีพิธีบายศรี ครูชาลีมีความสุขท่ามกลางน้องๆ ศิลปินแห่งชาติและแฟนเพลง โดยเฉพาะ ดร.กมล ทัศนาญชลี ผู้ดูแลพี่ชายที่รักและเคารพนับถืออย่างใกล้ชิด เป็นรูมเมท (ROOMMATE) ไม่ว่าจะเดินทางไปหนใด....
ที่จริงแล้ว “เรื่องเก่า...มาเล่าใหม่” นี้เป็นตอนต่อจาก “90 ปี....ชาลี อินทรวิจิตร” เนื่องจากอ่านหนังสืออยู่หลายเล่มรวมทั้งเก็บข้อมูลจากเวบต่างๆ จะเก็บไว้คนเดียวก็น่าเสียดาย สู้มาแบ่งปันความรู้ความบันเทิงกับคุณผู้อ่านดีกว่า สัปดาห์นี้จะเขียนคุยเรื่องชื่อของพี่ๆ ศิลปินแห่งชาติ ที่ ส.ท่าเกษม ได้มีโอกาสรู้จักเป็นส่วนตัว ส่วนตัว คำนี้หมายถึง ท่านทราบว่าเป็นเด็กในบ้านท่าเกษม ตอนไปดูคอนเสิร์ต “ส่งความรักกลับเมืองไทย” ที่ AMBASSADOR COLLEGE ของ MR. ARMSTRONG ในเมืองพาซาดีน่า ได้พบพูดคุยกัน ครูสุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร ตอนนั้นท่านยังไม่ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ท่านยังทักผิดว่า “คนสวยบ้านท่าเกษม” ต้องรีบปฏิเสธไปว่าไม่ใช่ พี่สาวท้องเดียวกันที่คลานออกมาก่อนต่างหากที่เป็นคนสวย ตัวเองเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด !
จะขอเริ่มจากผู้อาวุโส ถึงที่ไปที่มาของนามปากกา “รพีพร” ไม่เคยทราบมาก่อนจนได้มาอ่านพบในหนังสือ “บันเทิง-บางที” ของครูชาลีที่กรุณามอบให้พร้อมทั้งลายเซ็นที่ซาบซึ้งถึงทรวงทีเดียว ตามสไตล์การเขียนของเจ้าของบทเพลงที่พวกเรานักฟังเพลงเคลิ้มฝันไปตามเนื้อเพลงอันไพเราะจับจิตจับใจของครูชาลี ท่านเขียนว่า.... “รักยิ่งกับทุกสิ่งที่เป็นคุณสุ” ลงวันที่ ๑๕ – ๑๑ – ๒๐๐๘ อ่านแล้วก็ชื่นใจ มีความรู้สึกว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักมีเมตตา คือไม่ว่าเราจะหน้าตาอย่างไร ท่านก็รัก (ฮา!)
มันเป็นเรื่องที่แปลกจริงๆ ส.ท่าเกษมเกิดและเติบโตมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและตัวบุคคลทางด้านศิลปะ รวมทั้งบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า เมื่อโตขึ้นความสนใจจะมุ่งไปที่การบันเทิง ได้แต่ชื่นชมผลงานของพี่ๆ อยู่ห่างๆ ในเมืองไทย แต่เมื่อมาพบกันอีกทีที่แอล.เอ.กลับได้ “กระทบไหล่” กรุณาอย่าคิดว่า ส.ท่าเกษม บังอาจไปล่วงเกินหรือทำตัวเสมอพี่ๆ เพียงแต่ใช้ศัพท์ที่ทันสมัยแบบ “กระทบไหล่ดารา” เท่านั้น ! จะได้เห็นภาพที่บางครั้งได้สัมภาษณ์ ได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ได้มีโอกาสต้อนรับ พูดคุยกันแบบสบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง ร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร ถ่ายรูปเป็นว่าเล่น รูปภาพเต็มบ้าน !
ครูสุวัฒน์ วรดิลก หรือ พี่อู๊ด เขียนไว้ว่า เกิดเดือนเดียว ปีเดียวกัน อ่อนแก่กว่ากันเพียง ๘ วัน เสียดายที่พี่อู๊ดเสียชีวิตไปก่อนแล้ว มิฉะนั้นก็คงมีอายุ ๙๐ ปีเท่าครูชาลีและยังคงเป็นเพื่อนแท้ต่อกัน พบจบมัธยมศึกษา (ม.๖) ต่างก็ห่างกันไป มาพบกันอีกทีหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ร้านกาแฟใต้โรงละครนิยมไทย (เวิ้งนครเขษม) สี่แยก เอส.เอ.บี. ครูชาลีนั่งอยู่กับกระดาษดินสอ ถามไถ่ดูได้ความว่าครูชาลีอยู่ที่นี่ แต่งเพลงให้ละครทุกเรื่องที่นี่ พร้อมทั้งบอกว่า “นี่ไงนามแฝงของเรา ระพี พรธาดา” และจะร้องเพลงที่แต่งไว้ให้พี่อู๊ดฟัง แต่ถูกห้ามไว้เพราะพี่อู๊ดคิดว่าเดี๋ยวไปฟังพระเอกหรือนางเอกร้องในโรงละครก็ได้
ต่อมาในปี ๒๕๐๕ เดือนกุมภาพันธ์ พี่อู๊ดอุปสมบทที่วัดโตนด หลังสวน เมืองชุมพร เมื่อลาสิกขาบทสิ้นเดือนนั้น ครูชาลีและภรรยา (ศรินทิพย์) ขึ้นรถไฟไปรับกลับกรุงเทพฯ พบพวกพ้องขอให้เขียนนวนิยาย แต่ขอร้องให้งดใช้ชื่อจริงที่เคยใช้ เพราะ“ขยาด” คำเตือนของสันติบาล พี่อู๊ดเลยนึกถึงนามแฝงที่ครูชาลีใช้แต่งเพลงละคร จึงออกปากขอปัน “ระพี” มาบวกกับ “พร” (พรธาดา) เป็น “ระพีพร” ซึ่งครูชาลีมอบให้อย่างปิติเต็มใจ นวนิยายเรื่องแรกที่ ระพีพร แจ้งเกิดคือ “ภูตพิศวาส” ตามมาด้วยเรื่อง “ลูกทาส” และอีกหลายต่อหลายเรื่อง จน สระ “อะ” หลุดหายไป เหลือแค่ รพีพร ซึ่งกลายเป็น “มงคลนาม” สำหรับ ครูสุวัฒน์ วรดิลก จนกระทั่งบัดนี้ ถึงแม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่นามว่า “รพีพร” ยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเรา
ลัดดา (ศิลปบรรเลง) สารตายน ที่ศิลปินแห่งชาติ สวลี ผกาพันธุ์ เรียก “คุณครูลัดดา” เป็นผู้สร้าง “พี่รี่” ของพวกเราขึ้นมาสู่โลกบันเทิง และพี่รี่ก็รักเคารพ กตัญญูต่อคุณครูเสมอมา ติดต่อเยี่ยมเยียนจนท่านถึงแก่กรรม เพิ่งจะมีพิธีฌาปนกิจไปเมื่อ ๒-๓ วันนี้เอง ทุกครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์ พี่รี่มักจะกล่าวถึงคุณครูลัดดาของท่านอย่างสม่ำเสมอ มีผู้เข้าใจผิดกันมากมักจะสะกดชื่อเล่นของคุณสวลีด้วยตัว “ล.ลิง” (พี่ลี่) ที่ถูกต้องควรจะเป็น “ร.เรือ” (พี่รี่) เพราะมาจากชื่อ เชอร์รี่
เด็กหญิงเชอร์รี่ ฮอฟแมนน์ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๗๔ บิดาเป็นชาวเดนนิช มารดาเป็นไทย มีน้องสาว ๒ คน ปี พ.ศ.๒๔๙๒ สมรสกับ นายอดีศักดิ์ เศวตนันทน์ มีบุตรชาย ๑ คน หญิง ๒ คน
ครูมยุรี จันทร์เรือง ซึ่งเป็นครูสอนวิชาขับร้องที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามได้แนะนำให้รู้จักกับ ครูลัดดา สารตายน (ศิลปบรรเลง) โดยครูลัดดาชวนให้มาร้องเพลงสลับฉากละครคณะผกาวลี เพลงที่ร้องเป็นเพลงของ ครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ชื่อ “หวานรื่น” โดยร้องคู่กับวลิต สนธิรัตน์ ในรอบแรกวันแรกที่ขึ้นเวทีนั้นเอง ครูลัดดาได้ตั้งชื่อให้ว่า “สวลี” หมายถึง น้ำผึ้ง
ต่อมาละครคณะผกาวลี แสดงเรื่อง แมคเมธ ครูลัดดา สารตายน เป็นนางเอกแสดงที่ ศาลาเฉลิมไทย สวลี ได้ร้องเพลงและยังได้มีโอกาสแสดงร่วมกับครูลัดดา ด้วย
โปรแกรมต่อมาของคณะผกาวลีคือเรื่อง ความพยาบาท ซึ่งครูลัดดา ให้ สวลี แสดงเป็น นางเอก และครูได้เชิญ ส.อาสนจินดา มาเป็นพระเอก ครูลัดดาใช้เวลาฝึกสอนอย่างเข้มงวดเพื่อ “นางเอกใหม่” ให้ได้รับการ “ยอมรับ” และนามสกุล “ผกาพันธุ์” ก็เกิดขึ้น โดย สด กูรมโรหิต เป็นผู้ตั้งให้...ผกาพันธุ์ หมายถึง เผ่าพันธุ์ ของดอกไม้...(ผกา) จากชื่อจริง เชอร์รี่
ละครเรื่อง “ความพยาบาท” นี้เองที่ทำให้ นาม “สวลี ผกาพันธุ์” ได้เกิดขึ้นในโลกบันเทิง
บุคคลสุดท้ายที่จะคุยถึงในสัปดาห์นี้คือ ศิลปินแห่งชาติ ชรินทร์ นันทนาคร ผู้สร้างหนัง “เทพบุตรนักเลง” ของ “รพีพร” ครูชาลีผู้เขียนคำร้องเพลง "ป่าลั่น" พอใจกับผลงานของตัวเองมากถึงกับเขียนว่า “เพลงนี้ท่อนนำเพราะมาก ร้องโดย เพ็ญศรี และสุเทพ น้าหมานเรียบเรียงยอดเยี่ยม นานๆ ได้แต่งเพลงดีๆ อย่างนี้ก็รู้สึกโลกมีสีสันครามครันอยู่”
โปรดสังเกตผู้ที่ร่วมงานกับเพลงนี้ล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติด้วยกันทุกท่าน สำหรับส่วนตัวแล้วฟังเพลงนี้ทีไรจะรู้สึกกระฉับกระเฉงทุกครั้ง โดยเฉพาะในยามที่นอนไม่ครบ ๘ ชั่วโมงแล้วมีความจำเป็นต้องตื่น โดนใจอยู่ ๒ วรรค ....แดดส่องฟ้าเป็นสัญญาวันใหม่ และ ตื่นเถิดหนาอายนกกามันบ้าง
คุณชรินทร์ฯ มีชื่อเดิมว่า บุญมัย งามเมือง เมื่อเยาว์วัยเป็นเด็กขี้โรค แม่จึงนำไปยกให้พระตามความเชื่อในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดท่าสะตอบได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น “ชรินทร์” นานหลายปี ต่อมาได้พบกับครูไศล ไกรเลิศจึงชักชวนให้ไปร้องเพลง จนกระทั่งปี ๒๔๙๔ ได้ร้องบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกของครูไศลฯ คือ เพลง “ดวงใจในฝัน” และนี่คือ ชรินทร์ งามเมือง ที่แฟนติดกันไปทั่วประเทศด้วยแก้วเสียงที่ไม่เหมือนใคร ร้องสูงก็ไพเราะ ร้องต่ำก็ไพเราะ มีนักร้องที่ร้องแบบ “พี่ฉึ่ง” (ชื่อเล่นของชรินทร์ฯ) เพราะนำวิธีลีลาการร้องไปฝึกร้องเพียงแต่ คล้ายได้ แต่ เหมือนไม่ได้
ต่อมาชรินทร์ได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่เป็น “นันทนาคร” (แปลว่า งามเมือง) เขียนเป็นอักษรโรมันว่า NANDANAGARA
( คัดบางตอนมาจากส่วนหนึ่งของ “ชรินทร์ นันทนาคร” ช้างเท้าหน้า...โดย สุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ)
ก่อนลาคุณผู้อ่านไปในเสาร์นี้ มีคำถามอยู่ 1 ข้อให้ทายกันเล่น แต่มีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ที่ส่งคำตอบมาได้ถูกต้องเป็นรายแรก ผู้ที่อยู่ในวงการเพลงอาชีพหมดสิทธิ์เพราะคงทราบคำตอบอยู่แล้ว
“ศุภชัย ชื่นประโยชน์” เป็นนามแฝงของใครก่อนที่จะกลายเป็นนักร้องดังมีชื่อเสียง ตอบทางอีเมลจะสะดวกที่สุด ส.ท่าเกษมจะได้ติดต่อกลับพร้อมทั้งรางวัล....โชคดีทุกๆ คน !