คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





เด็กไคเซอร์...คืนสู่เหย้า

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากการมีไขมัน ไปอุดตันในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลง และยังอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดหัวใจกะทันหัน การตรวจวินิจฉัยความรุนแรงของการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ที่แม่นยำที่สุดคือ การฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ข้อบ่งชี้ของการฉีดสี คือ คนไข้ที่มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแสดงว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคนไข้ที่คลื่นไฟฟ้าผิดปกติเมื่อออกกำลังกาย คนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การตรวจเส้นเลือดหัวใจด้วยวิธีการอื่น เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 64 ภาพ คุณภาพของภาพของเส้นเลือดหัวใจยังไม่ดีพอ และไม่ชัดเจนเท่าการฉีดสีผ่านเข้าเส้นเลือดหัวใจ

หากท่านมีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งเหมือนกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เรียกว่า Angina pectoris แพทย์จะให้ท่านวิ่งสายพานก่อน หากผลวิ่งสายพานสงสัยว่าจะตีบมากแพทย์จะแนะนำให้ท่านฉีดสี

การตรวจรังสีหลอดเลือด (Angiogram) เป็นหัตถการทางรังสีวิทยาเพื่อการแสดงภาพของหลอดเลือดสำหรับการวินิจฉัยโรคต่างๆ ของหลอดเลือดโดยรังสีแพทย์ เพื่อค้นหาพยาธิสภาพต่างๆ ของหลอดเลือด เช่น การอุดตัน การตีบ หลอดเลือดโป่งพอง หรือความผิดปกติอื่นๆ ภาพทางรังสีที่ได้จะช่วยในการวินิจฉัยและกำหนดแนวทางในการรักษาแก่ผู้ป่วย

ประโยชน์ของขดลวดขยายหลอดเลือด Stent

A Stent คือขดลวดเล็กๆเมื่อขยายหลอดเลือดเสร็จแพทย์จะใส่ขดลวดเล็กๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำ ขดลวดมีด้วยกันกลายชนิดการเลือกใช้ก็ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ หลังใส่ขดลวดจะต้องกินยาละลายลิ่มเลือดสักระยะหนึ่ง

- ใส่สายเข้าหลอดเลือดแดงไปถึงหลอดเลือด Coronary ในบริเวณที่ตีบ

- หลังจากนั้นจะบอลลูนเพื่อให้หลอดเลือดขยาย

- และจะใส่ขดลวดกันหลอดเลือดตีบ

ข้อดีของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด

- โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตํ่ากว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบ

- ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น (๑-๒ วัน) และกลับไปสู่ชีวิตปกติได้เร็วกว่า

- สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง ในกรณีที่หลอดเลือดตีบแคบลงอีกในอนาคต

ใช้เพียงแค่ยาชาฉีดเท่านั้น และอาจให้ยาคลายเครียด เนื่องจากขณะขยายหลอดเลือดแพทย์จะต้องได้รับความร่วมมือ เช่น ไอ พลิกตัว หรือหายใจแรงๆ

ขณะขยายหลอดเลือดจะไม่เจ็บแต่จะแน่นหน้าอกเมื่อแพทย์ฉีดลมเข้าใน balloon หลังขยายอาจจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ หลังจากขยายหลอดเลือดอาจจะมีอาการปวดแผลแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวด

หลังจากการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยใส่ขดลวดเล็กๆ (Stent) ผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ในห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้ภายในวันที่ทำหรืออาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ๑-๒ วัน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องนอนราบอยู่นิ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง และต้องกดบริเวณที่ถอดสายสวนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออก

ปีนี้ครอบครัวเราฉลอง “วันพ่อ” ก่อนใครเพื่อน เรียกว่าพอย่างเข้าเดือนมิถุนายน ทางเราก็ฉลองแล้ว ทั้งๆ ที่วันพ่อ FATHER’S DAY ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ของเดือนนี้ ขอถือโอกาสอวยพรมาด้วย Happy Father's Day “คุณพ่อ” เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงเป็นธรรมดาที่มีภาระความรับผิดชอบสูง ทำงานหาเงินมาดูแลในทุกๆ ด้านให้ความสุขสำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะมีธุระยุ่งเพียงใดก็ต้องรักตัวเองนอกเหนือจากรักครอบครัว หมั่นดูแลรักษาสุขภาพ มีอะไรผิดปกติกับร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าไม่หายโดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวกับหัวใจ ควรหาแพทย์เช็คร่างกาย ถ้าเป็นน้อยก็จะรักษาง่ายขึ้น และเสียเงินน้อยลง !

ส.ท่าเกษม เพิ่งมีประสบการณ์ผ่านการกังวลมา จึงขออนุญาตเตือนคุณผู้อ่านซึ่งเปรียบ เสมือนเพื่อนคุย เพราะ "คุยกันวันเสาร์" โดยไม่เห็นหน้าเห็นตามาเกือบจะ ๒๐ ปีแล้วกระมัง! ประเภทหยุดๆ เขียนๆ ยิ่งอายุมากขึ้นภาระก็มากขึ้นตามตัวเพราะการขยายตัวของครอบครัว มีสมาชิกเพิ่มและสัญจรเป็นว่าเล่น... เป็นการให้รางวัลหัวหน้าครอบครัวหลังเกษียณ เมื่อทำงานหนักมาตลอด จึงสมควรที่จะพักผ่อนเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เมื่อเวลาและสุขภาพอำนวย ปกติแล้วเป็นคนแข็งแรงสุขภาพดี เดินเร็ว ทำอะไรเร็ว ไปไหนจะใช้บันไดไม่ใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อน ขึ้นทีละ ๒ ขั้น แขกที่เราพาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มักจะบ่นในความเร็ว โดยเฉพาะที่ลาสเวกัส บางครั้งเป็นครั้งแรกของแขกที่พาไป เขาจะหยุดดูโน่นดูนี่ คนของเราเดินนำหน้าลิ่ว ไม่ทราบจะรีบไปไหน ? จนต้องเตือนเป็นประจำว่า “เกษียณแล้วนะ WE ARE ON VACATION เวลาเป็นของเราทั้งหมด” (ฮา !)

แล้วที่ลาสเวกัสนี่เอง เที่ยวล่าสุดตอนปลายเดือนเมษายน ที่หัวหน้าครอบครัวสังเกตว่ามีอาการแปลกๆ เวลาหายใจลึก (ไม่ใช่ CHEST PAIN) เวลามีอาการที่อธิบายไม่ถูก เป็นเพียงแป๊บเดียวแล้วก็หาย จากลาสเวกัสเราก็ไปต่อที่ชายทะเลอีกหนึ่งอาทิตย์ คราวนี้หลานๆ มาพักด้วยเพราะทุกคนชอบทะเล ชอบว่ายน้ำในสระ มีอยู่เย็นหนึ่งเรา ๒ คนพาหลาน ๒ คนนั่งรถเข็นไปเดินสูดอากาศชายทะเล ขากลับปล่อยให้ “น้องอ้วน” อายุ ๓ ขวบลงเดิน แทนที่จะเดินกลับวิ่งอย่างเร็ว ยิ่งเรียกยิ่งวิ่ง คงคิดว่าเราเล่นด้วย ในที่สุดคุณตาต้องสาวเท้าเดินตามอย่างเร็ว ไม่กล้าวิ่งเพราะอาการดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้น ที่เป็นห่วง “น้องอ้วน” เพราะเราเดินติดถนนใหญ่ และคนพลุกพล่าน รถราก็มาก

ได้ตัว “น้องอ้วน” มาเลยจับใส่รถเข็นตามเดิม สังเกตเห็นคุณตานั่งพักที่ม้านั่ง ก้มหัวแบบเหนื่อย ถามว่าเป็นอะไร? ก็บอกไม่เป็นอะไร ! พอกลับถึงที่พักบอกกับ ส.ท่าเกษม ว่าจะเข้าไปดูทีวีในห้องนอน ยังนึกว่าคงรำคาญหลานๆ หนวกหูดูทีวีไม่รู้เรื่อง เหลือเชื่อจริงๆตลอดเวลาตั้งแต่ที่ลาสเวกัส ถึง คาร์ลสแบด ไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว เพราะดูปกติดีไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น เดินเหิรคล่องแคล่ว ขนของจากรถเข้าที่พัก จากที่พักขึ้นรถ

วันที่ ๕ พ.ค. กลับเข้าแอล.เอ. ได้ยินคนเจ็บพูดโทรศัพท์นัดพบคุณหมอและอธิบายอาการให้คุณพยาบาลฟัง ใจ ส.ท่าเกษม ตกไปที่ตาตุ่ม ไปพบหมอประจำตัวที่ไคเซอร์ ตรวจทุกอย่าง X-RAY ULTRASOUND E.K.G. ปกติดี เลยถูกส่งตัวไปแผนกหัวใจ พบกับ CARDIOLOGIST ซึ่งให้ทำ TREADMILL พบกับความไม่ปกติของหัวใจที่นี่เอง เลยนัดทำ ANGIOGRAM ในวันที่ ๒ มิ.ย. คิดเอาเองว่าคงไม่เป็นอะไรมาก! เพราะรอนัดทำการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจเกือบเดือน และทุกวันก็มีอาการประหลาดๆเกิดขึ้นกับหัวใจแบบมาแล้วก็ไปอย่างเร็ว

ข้อมูลที่ได้รับจากการสวนหัวใจและฉีดสีคือ ลักษณะการตีบตัน ตำแหน่ง จำนวนของหลอดเลือดที่มีปัญหา ลักษณะหลอดเลือด และการทำงานบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ข้อมูลเหล่านี้แพทย์ต้องการทราบเพื่อใช้ช่วยเลือกวิธีรักษาว่า จะเป็นการรักษาทางยา หรือการขยายหลอดเลือด หรือจะต้องผ่าตัด BY PASS การสวนหัวใจและการฉีดสีเข้าหลอดเลือด โคโรนารี (CORONARY) เป็นการวินิจฉัยโรควิธีหนึ่ง จากวิธีนี้เลยทราบว่าคนของเรามีหลอดเลือดตีบตัน ๙๕% เพียงหนึ่งเส้น ซึ่งคุณหมอได้ใส่ STENT สเท้นท์ ให้เรียบร้อยแล้ว ที่จริงกลับบ้านได้เย็นๆ ค่ำๆ วันเดียวกับที่ทำ พอดีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่คุณหมอขอเก็บตัวเอาไว้ดูอาการอย่างใกล้ชิด ๑ คืน รุ่งเช้าลูกชายที่เป็นคนพาคุณพ่อไป ร.พ. ก็เป็นคนรับคุณพ่อกลับบ้าน เมื่อก่อนคุณพ่อเป็นคนรับลูกๆ กลับบ้านหลังคลอดที่ไคเซอร์ คราวนี้กลายเป็นลูกทำหน้าที่โชเฟอร์ เป็นเรื่องขันที่ว่าลูกๆ ทั้ง ๓ เป็นห่วงคุณแม่มากกว่าคุณพ่อ ต่างรับอาสาจะมานอนเป็นเพื่อน ส่วนลูกสาวคนโตก็จะให้ไปค้างที่บ้าน สรุปแล้ว โดมินิคมาอยู่กับคุณแม่ วันอาทิตย์นี้เราคงไม่ฉลองอะไร เชื่อว่า “คุณพ่อ” คงยังปลื้มกับความรักและความห่วงใยที่ โด-เร-มี มอบให้ (ที่จริง “โด” Domonique เป็นน้องคนสุดท้อง แต่เรียก โด-เร-มี ตามโน๊ตเพลง)

ทราบไหมว่า ร.พ. ไคเซอร์เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยนักอุตสหกรรม HENRY J. KAISER และนายแพทย์ SIDNEY R. GARFIELD ปัจจุบันไคเซอร์มีอยู่ใน ๙ รัฐ และ DISTRICT OF COLUMBIA มีสมาชิก ๘.๓ ล้าน พนักงาน ๑๓๔,๐๐๐ คน แพทย์ ๑๑,๐๐๐ คน ๓๐ MEDICAL CENTERS ๔๓๑ MEDICAL OFFICES (ตัวเลขเปลี่ยนไปตามกาลเวลา )

ข้อความที่เขียนถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเรียบเรียงโดยไม่เป็นทางการ เขียนโดยประสบการณ์ในฐานะเจ้าของไข้ รายละเอียดต่างๆ คุณผู้อ่านคงต้องคุยกับนายแพทย์ผู้รักษา หรือค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ตามเว็บไซต์


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗