คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



~ วันวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระมหาธีรราชเจ้า ~ ๒๕ พฤศจิกายน
หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทยฯ

วรรคทองของ สยามานุสสติ เป็นคำโคลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๙ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ที่ ๒ ที่ประสูติแต่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ณ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังชั้นใน มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนนี ๗ พระองค์ พระอนุชาองค์สุดท้ายคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)

สมเด็จพระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียกว่า "ลูกโต" พระประยูรญาติในพระราชสำนักดำเนินรอยตามพระบรมราชอัธยาศัยเรียกพระองค์ท่านว่า "ทูลกระหม่อมโต”

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๓๒) ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฏสุริยสันตติวงษ อดิสัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมาร ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ ตามอย่างเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงตั้ง เจ้ากรมเป็นกรมขุนเทพทวาราวดี รับพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรี พระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนา โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายบังคม พระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ (บางครั้งจะเป็นผู้แทนพระองค์) ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย

ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

หลังจากทรงครองราชสมบัติได้ ๒ ปี นายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า คณะกบฎ ร.ศ. ๑๓๐ วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน ๗ คน โดยคณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์เกิดเกรงกลัวความผิดจึงเปิดเผยแผนการณ์ เมื่อความทราบถึง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ แต่ พระองค์ท่าน ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์

อีกเรื่องที่แสดงถึงน้ำพระทัยอันทรงพระเมตตาดูแลและห่วงใยข้าราชบริพารในพระองค์ท่าน ดังที่ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเขียนเล่าไว้ใน “ราชวงค์จักรี ตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖” และปรากฏอยู่ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษของ วรชาติ มีชูชน นักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ดังมีใจความดังต่อไปนี้...นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้เล่าถึงเรื่องราวคราวตามเสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ไว้ว่า “เมื่อเราไปถึงทับหลี เจ้าเมือง หุงข้างให้พวกเรากิน จะอย่างไรไม่ทราบ วันนั้นข้าวดิบเป็นเม็ดๆ ม.จ.ดิศานุวัต บอกกับผมว่า “ข้าวดิบอย่างนี้กินท้องขึ้นตาย” ผมก็ทูลท่านว่า “กินปลาเถอะท่าน มีอย่างอื่นอีกเยอะ เราอย่ากินข้าว กินกับเปล่าๆ ก็ได้” ก็เป็นเรื่องหัวเราะสนุกกันพอเรากินข้าวเสร็จแล้ว เรานั่งคุยกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมา ท่านรับสั่งถาม ท่านดิศานุวัต ว่า “กินข้าวเย็นหรือยัง ?” ท่านดิศฯ ไม่กล้าจะกราบทูลอย่างไร ก็อึกอักว่า “รับพระราชทานแล้วพะย่ะค่ะ” ท่านหันมาถามพวกเราที่นั่งอยู่ว่า “อิ่มหรือเปล่า?” พวกเราก็กราบทูลว่า “ไม่อิ่มพะย่ะค่ะเพราะข้าวมันดิบ” ท่านกริ้วแปร๊ดขึ้นมาทันที ซึ่งผมไม่เคยเห็นเลย เท่าที่เคยตามเสด็จมา หรืออยู่ที่โรงเรียน ไม่เคยเห็นท่านกริ้วอย่างนั้นเลย ทรงพระพิโรธอย่างรุนแรง รับสั่งว่า “อะไรฉันมาด้วยยังหุงข้างให้ลูกน้องฉันกินไม่เข้าอีกหรือ? เอาข้าวมาดูซิ” ท่านจับดูข้าว จับยังไงๆ มันก็แข็งเพราะมันดิบ ก็ยิ่งทรงพระพิโรธใหญ่ ก็มีคนคอยทัดทานเหมือนกัน ที่จะคอยช่วยให้ข้าหลวงฯ ไม่ให้ถูกลงโทษ ท่านรับสั่งว่า “ข้าหลวงไม่ดูแลเลย พาลูกเต้าเขามาอดข้าวอดปลา” เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ท่านกรุณามาก ท่านกราบทูลว่า “การหุงข้าวนี่อาจจะดิบได้ เพราะเขาหุงด้วยกระทะ” ก็เป็นการอธิบายให้ท่านโกรธน้อยลง

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงจัดตั้ง กองเสือป่า และทรงจัดตั้ง กองลูกเสือ กองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ด้านการฝึกสอนระบอบประชาธิปไตย ทรงทดลองตั้ง "เมืองมัง" หลังพระตำหนักจิตรลดาเดิม ทรงจัดให้เมืองมัง มีระบอบการปกครองของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ในพระราชวังดุสิต (ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง วชิรพยาบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงเปิด สถานเสาวภา เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อผลิตวัคซีนและเซรุ่ม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศใกล้เคียงอีกด้วย ทรงเปิด การประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงตั้ง กรมรถไฟหลวง และเริ่มเปิด การเดินรถไฟสายกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่ สายใต้จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง สะพานพระราม ๖ เพี่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น

ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน ๖,๔๖๔ นามสกุล

- มีการใช้ พุทธศักราช แทน รัตนโกสินทร์ศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มใช้ พุทธศักราช ในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖

- เปลี่ยนการนับเวลามาเรียกว่า นาฬิกา และนับเวลาทางราชการใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม โดยให้ถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นวันรุ่งขึ้นหรือวันใหม่ ซึ่งจากเดิมประเทศไทยนับเวลาตอนกลางวันเป็นโมง ตอนกลางคืนเป็นทุ่ม

ข้อความที่กล่าวถึงข้างบนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในช่วงระยะเวลาทรงครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ประสูติแต่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวมพระชนมพรรษาได้ ๔๕ พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ ๑๕ พรรษา แต่ รัชกาลที่ ๗ มีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของ รัชกาลที่ ๖ เป็นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน และถือว่า วันพระมหาธีรราชเจ้า ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐