เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน CANDLELIGHT BLUES เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนอง และคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ. 2490 และใน พ.ศ. 2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย
คำร้องภาษาอังกฤษมิได้แปลมาจากคำร้องภาษาไทย หากแต่เขียนเกี่ยวกับผู้ที่สูญเสียคนรัก แต่ยังมีความคิดถึง ฝันถึงคนรัก และรอวันที่จะหวนกลับมาโดยยังคร่ำครวญถึงวันเก่าๆ
บทเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียนนี้ ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกว่ามีความไพเราะทำนองเย็นๆ จนโตขึ้นจึงรู้สึกว่าทำนองของเพลงนี้มีความเศร้าแฝงอยู่ ฟังเพียงเผินๆ ไม่ได้พิจารณาลึกซึ้งถึงคำร้อง จนอายุมากขึ้นกลายเป็นชาววัยทองจึงซาบซึ้งกับบทเพลงและทำนองที่เข้ากันอย่างดี
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า ให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ก็เช่นกันให้หมั่นทำบุญ เพื่อบุญจะได้คุ้มไปชาติหน้า
"ทำบุญทำทานกันไว้เถิดเกิดเป็นคนภายในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านไป ส.ท่าเกษมประสบกับข่าวเศร้าเป็นระยะๆ ผู้ใหญ่ในแอล.เอ. ที่รักและนับถือเป็นส่วนตัวได้จากไป เช่นคุณสะอ้าน ฑีระฆยศ คุณบันเทิง สถาปัตยานนท์ ทั้งสองท่านนี้เป็นเพื่อนรักกัน นิสิตเก่าเกษตรคนละรุ่น และคุณรัศมี จงเจริญ
ใครคนหนึ่งเคยเขียนไว้ว่า "วัยที่ขั้วมันเป็นสีน้ำตาลแก่ จวนจะหลุดจากสังคมในอีกไม่ช้านับจากนี้ไป" เสมือนเป็นคำเตือนให้พวกเราชาวสูงวัยตระหนักไว้ว่า ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า จุดหมายปลายทางวาระสุดท้ายของชีวิตจะจบลงเหมือนกันทุกๆ คน แต่มีอยู่ 2 อย่างที่สามารถเลือกการดำเนินในขั้นสุดท้ายของชีวิตได้ คือเป็นคนแก่อย่างมีคุณภาพ หรือ แก่แบบไร้คุณภาพ
คนแก่แบบมีคุณภาพคือ ทำจิตใจให้สดชื่น อย่าไปเที่ยวหมั่นไส้หรืออิจฉาริษยา นินทาว่าร้ายคนอื่น ไม่ชอบใครก็ห่างๆ เข้าไว้อย่าไปสนใจ....ต่างคนต่างอยู่ ! ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำงานอาสาสมัครดูแลหลานๆ ถ้าไม่มีหลานก็เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว นก ปลา แล้วแต่ใจชอบ บางคนชอบปลูกต้นไม้ ทำขนมแจกพรรคพวก อ่านหนังสือ ฟังเพลง เต้นรำ โอ้ย ! สิ่งที่อำนวยความสุขมีมากมายก่ายกอง ถ้าใครที่ยังขับรถได้ ยิ่งดีใหญ่ เมืองนี้ที่เที่ยวและสนามกอล์ฟเต็มไปหมด
อย่าทำตัวเป็นคนแก่ไร้คุณภาพเลย บาปกรรมเปล่าๆ ใส่ร้ายป้ายสีจับกลุ่มเม้าส์กระจายทำลายชื่อเสียงคนอื่น สังคมแอล.เอ. แคบจะตายเห็นๆ กันอยู่แค่นี้ ถ้าชอบจับกลุ่มชอบคุย ส.ท่าเกษม ว่าคุยแบบสร้างสรรค์ดีกว่า มาช่วยกันป้องกันประเทศชาติบ้านเมืองเรา ช่วยกันออกความเห็นทำอย่างไรถึงจะกำจัดพวงโกงกิน เอาเปรียบประชาชนคนไทยตาดำๆ ให้หมดสิ้นไป หรือพวกที่ชอบเอาเปรียบคนไทยด้วยกันในเมืองนี้ หลอกบ้าง ขี้โกงบ้าง อ่านพบบ่อยๆ ในหนังสือพิมพ์ไทยท้องถิ่นที่นี่
การที่เราไปหมั่นไส้ใครคนหนึ่งเป็นเพราะเราไปให้ความสนใจเขา บางทีก็เลยเถิดไปถึงอิจฉาริษยาเพราะนึกว่าเขาดีกว่าเรา อาจจะคิดไปเองก็ได้ เขาอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด คนเราต้องมีศักดิ์ศรี อย่าไปลดตัวเราต่ำกว่าเขา ส.ท่าเกษมอ่านพบบทสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ที่รักและนับถือคนหนึ่ง ท่านให้สัมภาษณ์นิตยสาร "แพรว" ดังนี้ ".......... ถ้ายืนอยู่ตรงนี้มองดูที่สูง คุณก็ต่ำกว่า ในทางกลับกันหากมองต่ำ คุณก็สูงกว่า แล้วจะเลือกมองอะไร อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ยึดทางสายกลาง"
ระยะนี้คนแอล.เอ. จากพวกเราไปเหมือนใบไม้ร่วง ส่วนใหญ่จะมีอายุเกิน 60 กันไปแล้ว เลยทำให้นึกถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ "แสงเทียน" แปลกใจที่ว่าไปพักผ่อนตามหัวเมืองทีไรจะได้ข่าวเศร้าคนรู้จักเสียชีวิต รู้จัก คำนี้บางครั้งอาจจะรู้จักแค่ชื่อทราบว่าเป็นใคร แต่ไม่รู้จักตัว มีอยู่ครั้งหนึ่งโทรศัพท์เข้าสำนักงานไทยแอล.เอ. เพื่อจะเตือนว่าไม่มีคอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์" เพราะอยู่หัวเมือง เลยถือโอกาสถามน้องที่กองบรรณาธิการว่ามีข่าวอะไรบ้างไหม ? ผู้รับสายดูออกจะงงๆ เลยกระอ้อมกระแอ้มบอกไปว่าจะตกข่าวอยู่เสมอเวลามีผู้เสียชีวิต เพราะเวลาพักผ่อนจะไม่มีเวลาเข้าเน็ท (INTERNET) เนื่องจากมีกิจกรรมหลายอย่างและไปนาน 7-10 วัน
ตอนคุณสรรชัย โกรานนท์ เสียชีวิตกำลังเวเคเชิ่นพอดี เลยคิดว่าตอนไปเที่ยว PALM SPRINGS จะแวะไปทำบุญที่สถานปฏิบัติธรรมบ้านป่านาบุญ เพราะสะดวกอยู่ไม่ไกลจากที่พัก ขับรถไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และทราบว่ามีอัฐิของคุณสรรชัยอยู่ที่นั่น จึงได้โทรศัพท์ไปกราบเรียนพระอาจารย์ชลินทร์ว่า จะไปทำบุญในวันพฤหัสฯ ที่ 24 พฤษภาคม ตอนบ่าย 4 โมง ในช่วงที่ความร้อนค่อยบรรเทาลงบ้าง ดูข่าวทางโทรทัศน์พยากรณ์ไว้ว่าจะมีลมพัดแรงมาก ต้องยอมรับว่าพยากรณ์อากาศกรมอุตุฯ เมืองนี้แม่นจริงๆ
ยังไม่ทันจะไปพอวันพุธที่ 23 กำลังนั่งดื่มกาแฟอยู่ที่ KOFFI SHOP ร้านนี้สะกดคำว่าคอฟฟี่แปลกดี ปกติเราจะเห็นแต่คำว่า "COFFEE" พรรคพวกส่งข่าวว่าคุณไพบูลย์ เพียรวนิช (เปี๊ยก สีลม) อดีตเจ้าของและบรรณาธิการ น.ส.พ. มหาชน เสียชีวิตแล้วที่เมืองไทย
พอวันรุ่งขี้นนั่งรถไป "บ้านป่านาบุญ" ลมแรงมากดูจากใบไม้ต้นไม้ที่ลู่ตามลมบนฟรีเวย์ รถเราขนาดหนักยังรู้สึกถึงแรงลมที่กระโชก ทำให้รถสั่นสะเทือน เสียงลมแรงลอดเข้ามาในรถ ทีแรกนึกว่าปิดกระจกไม่สนิท ปกติรถจะนิ่งและเงียบไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก คราวนี้เลยต้องลดความเร็วลงจะได้ไม่ต้านลม พอเปิดประตูรถก็ปลิวตามลมไปถึงตัวกุฎิ (วัด) เลยได้กราบเรียนพระอาจารย์ฯ เรื่องคุณเปี๊ยก ซึ่งท่านรู้จักดีเพราะอดีตเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์เช่นกัน ส.ท่าเกษม เลยอนุโมทนาทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้พร้อมกันกับคุณสรรชัย นักหนังสือพิมพ์อีกคน
ครั้งหลังสุดนี้ไปอยู่ที่เมืองคนบาป (SIN CITY) ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน เพิ่งกลับมาถึงแอล.เอ. เพราะถูกเรียกตัวให้มาเลี้ยงหลานชาย 4 คน (THE FAB FOUR) ตอนอยู่ที่นั่นเป็นวันที่ 14 พฤหัสบดี มีเวลาว่างเพราะอยู่นานเลยเข้าเน็ท ตรวจอีเมลเห็นข่าวคุณต่อ เอกสิทธิ์ ศรีพิพัฒน์ เสียตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ขอถือโอกาสแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับคุณอรรคเดช ศรีพิพัฒน์ (เจ้าของและบรรณาธิการแห่ง น.ส.พ. สยามมีเดีย) และครอบครัว ศรีพิพัฒน์
VACATION กับ ส.ท่าเกษม นี้ไม่ค่อยจะถูกดวงกันตั้งแต่สมัยยังทำงานอยู่ หยุดพักร้อนทีไรส่วนมากกลับมาจะมีคนเสียชีวิต ไม่พนักงานก็ครอบครัว แต่มานึกอีกที ตึกที่ทำงานอยู่นั้น ตรงมุมถนน TEMPLE และ BEAUDRY มีพนักงานของ BANK OF AMERICA เป็นร้อยๆ อาจจะถึงพันด้วยซ้ำ จึงเป็นไปได้ไม่สู้จะแปลกใจเท่าใดนัก !
ที่น่าคิดคือตอนที่ผู้บังเกิดเกล้าเสียชีวิต ส.ท่าเกษม กำลังนั่งอยู่ในรถเดินทางไปพักผ่อนที่เมือง CARLSBAD มีโทรศัพท์เข้า ส่งข่าวมารดาเสียชีวิตที่ ร.พ. ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่เดือนกันยายนนี้ก็ครบ 90 ปีพอดี ท่านเสียชีวิตด้วยวัย 80 กว่าๆ นับว่าอายุยืนพอประมาณ เดินทางมาแอล.เอ. 2 ครั้งอยู่นานเป็นเดือน ช่วยเลี้ยงหลาน 2 คน แล้วท่านก็กลับไปอยู่ประเทศไทยกับลูกๆ และหลานๆ ใช้ชีวิตอย่างอบอุ่นจนวาระสุดท้าย ครบสูตรตามที่เราชาวพุทธได้ถูกสั่งสอนมา
"เกิด แก่ เจ็บ ตาย"