พระเวชยันตราชรถ สร้างในรัชสมัย รัชกาลที่ ๑ ราวปี พ.ศ. ๒๓๓๘ คราวเดียวกับ พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถทรงบุษบก มีความกว้าง ๔.๘๕ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สูง ๑๑.๒๐ เมตร หนัก ๑๒.๒๕ ตัน สำหรับใช้เป็นราชรถสำรองในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และเป็นราชรถทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูง
เมื่อแรกเริ่ม พระเวชยันตราชรถ ได้ใช้เป็นรถพระที่นั่งรองในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ มีศักดิ์เป็นชั้นที่ ๒ รองจาก พระมหาพิชัยราชรถ ต่อมาได้ใช้ทรงพระโกศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งทรง พระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน พ.ศ. ๒๓๔๒ หลังจากนั้นจึงได้ใช้ราชรถองค์นี้เป็นราชรถรองในงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา จนถึงงานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ต่อมา พระมหาพิชัยราชรถ ชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้มีการใช้ พระเวชยันตราชรถ เป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามราชประเพณี ทั้งนี้ พระเวชยันตราชรถ ได้อัญเชิญออกใช้ในราชการครั้งล่าสุดเมื่อคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
สำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นั้น เดิมจะได้เชิญพระศพขึ้นทรง พระเวชยันตราชรถ ตามพระอิสริยยศ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพด้วย พระมหาพิชัยราชรถ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี พระเวชยันตราชรถ จึงไม่ได้อัญเชิญออกมาใช้งาน
การเชิญ ๓๙ พระโกศพระบรมศพและพระศพ
พ.ศ. ๒๓๔๒ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
พ.ศ. ๒๓๕๒ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าแจ่ม กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
พ.ศ. ๒๓๖๗ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
พ.ศ. ๒๓๙๑ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์
พ.ศ. ๒๔๐๗ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
พ.ศ. ๒๔๒๓ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี
พ.ศ. ๒๔๒๓ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
พ.ศ. ๒๔๒๕ เชิญพระโกศพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณิกาแก้ว กรมขุนขัตติยกัลยา
พ.ศ. ๒๔๒๕ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
พ.ศ. ๒๔๓๐ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
พ.ศ. ๒๔๓๐ เชิญพระโกศพระศพ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
พ.ศ. ๒๔๓๑ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
พ.ศ. ๒๔๓๑ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
พ.ศ. ๒๔๓๑ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
พ.ศ. ๒๔๓๓ เชิญพระโกศพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา
พ.ศ. ๒๔๔๑ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
พ.ศ. ๒๔๔๒ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
พ.ศ. ๒๔๔๓ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
พ.ศ. ๒๔๔๕ เชิญพระโกศพระศพ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
พ.ศ. ๒๔๔๘ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
พ.ศ. ๒๔๕๒ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล สรรพสกนธ์กัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
พ.ศ. ๒๔๖๓ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
พ.ศ. ๒๔๖๔ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
พ.ศ. ๒๔๖๕ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
พ.ศ. ๒๔๖๖ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
พ.ศ. ๒๔๖๘ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
พ.ศ. ๒๔๖๙ เชิญพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
พ.ศ. ๒๔๗๑ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
พ.ศ. ๒๔๗๒ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พ.ศ. ๒๔๗๒ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พ.ศ. ๒๔๗๓ เชิญพระโกศพระศพ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดดา
พ.ศ. ๒๔๗๕ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์
พ.ศ. ๒๔๗๘ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
พ.ศ. ๒๔๘๔ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
พ.ศ. ๒๔๙๓ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พ.ศ. ๒๔๙๓ เชิญพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
พ.ศ. ๒๔๙๓ เชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พ.ศ. ๒๔๙๙ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
พ.ศ. ๒๕๒๘ เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
ข้อความข้างบนนี้เป็นเรื่องราวที่เขียนต่อจาก “พระมหาพิชัยราชรถ” เมื่อวันเสาร์ ๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าระหว่างราชรถ ๒ องค์นี้ ใช้ในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์จาก รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ยกเว้น รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ได้อัญเชิญพระราชประวัติเพียงบางตอนมาลง เพราะจุดประสงค์ครั้งนี้เป็นการเขียนถึง พระมหาพิชัยราชรถ และ พระเวชยันตราชรถ ซึ่งทั้ง ๒ องค์นี้มีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์ไทย ในการเชิญพระโกศพระบรมศพและพระศพหลายต่อหลายครั้ง จนต้องมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เนื่องจากสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๘ เป็นระยะเวลาอันยาวนานถึง ๒๒๒ ปี
หลังจากที่ รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (นับศักราชแบบเก่า) และยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. ๒๔๘๐ ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แพทย์ได้ถวายการรรักษาจนทรงมีพระอาการเป็นปกติ ต่อมาพระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ ๔๘ พรรษา
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วันซึ่งตามปกติจะอนุญาตเพียงวันเดียว เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาพุทธเพราะไม่มีพระภิกษุ รวมทั้งไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นที่พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารตามราชประเพณี โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
หมายเหตุ ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย พระราชพิธีพระบรมศพ สำหรับ ๒ คอลัมน์นี้