ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน ยังคงหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย
เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน ๕ บท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่มีการเขียนคำร้องก่อน แล้วทรงใส่ทำนองภายหลัง
หม่อมหลวงมณีรัตน์ สนิทวงศ์ เป็นธิดาคนสุดท้องของ พลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) และ ท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นน้องสาวร่วมมารดาเพียงท่านเดียวของ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระชนนีใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หม่อมหลวงมณีรัตน์ พระมาตุจฉาเพียงแค่ท่านเดียวใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
หม่อมหลวงมณีรัตน์ สมรสกับ นายสุรเทิน บุนนาค บุตร อำมาตย์ตรี พระพิศาลสุริยศักดิ์ ( เทิน บุนนาค ) และ นางผัน พิศาลสุริยศักดิ์ ( สกุลเดิม สินธุสาร ) มีบุตรชาย 2 คน คือ พลตรีกรีเมศร์ บุนนาค และ พันโทสุรธัช บุนนาค ท่านมีผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากมาย อาทิเช่น เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยในเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เพลินภูพิงค์ เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย แผ่นดินของเรา เตือนใจ ไร้เดือน เกาะในฝัน มาร์ชราชนาวิกโยธิน
ในงานสาธารณประโยชน์ด้านอื่น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เป็นต้นคิดและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการ สร้างสวนหลวง ร.๙ ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวาระครบ ๖๐ ชันษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ ทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมีที่พักผ่อนหย่อนใจในลักษณะอุทยานขนาดใหญ่ที่งดงามเป็นครั้งแรก
การศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์,โรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์,โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา,คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หม่อมหลวงมณีรัตน์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จึงใช้คำนำหน้า ท่านผู้หญิง
“จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง” และ “จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
เห็นข้อความ ๒ วรรคนี้บนประติมากรรมของ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ และเพิ่งทราบจากอาจารย์ว่ามาจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงส่ง” อาจารย์เห็นว่าดีเป็นข้อเตือนใจคนไทยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงได้อัญเชิญมาฉลุลงไปในประติมากรรมชิ้นนี้ด้วย รวมกับสิ่งดีงามอย่างอื่นที่พระองค์ท่านทรงทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ที่สามารถจะถ่ายทอดเอามาเป็นสัญญาลักษณ์ได้ ดร.กมลฯ ได้ความคิดมาจาก ๔๐๐๐โครงการหลวง จึงแสดงภาพของ โครงการฝนหลวง (๒๕๑๒) มูลนิธิโครงการหลวง (๒๕๑๒) โครงการแก้มลิง (๒๕๓๘) และสุดท้ายที่เพิ่มคือ พระยาช้างเผือกคู่พระบารมีรัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ทางจังหวัดกระบี่มีงบประมาณและสถานที่ติดตั้งให้แล้ว อีกทั้งยังให้ข้อมูลมาว่าพระองค์ท่านและสมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่จังหวัดกระบี่หลายครั้ง ช้างเผือกคู่พระบารมี ก็เป็นช้างจากจังหวัดกระบี่ ประติมากรรมชิ้นนี้จึงยิ่งใหญ่มาก ดร.กมล ฯ ทุ่มทั้งกายและใจ เริ่มงานจากที่นี่ประเทศสหรัฐอเมริกาและตั้งใจไปจบอย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบที่ประเทศไทย ภายใต้ฐานประติมากรรม STAINLESS STEEL จะเป็นเรื่องราวท้องถิ่นของ จ.กระบี่และ เตรียมที่ไว้ฉายภาพยนตร์โครงการพระราชดำริหมุนเวียนทั้ง ๒ ด้าน บางช่วงจะมีเสียงเพลงพระราชนิพนธ์สลับเปลี่ยนไป งานชิ้นนี้จึงมีทั้งแสงเสียงสี และภาพเคลื่อนไหว เป็นงานเทิดพระเกียรติ !
พอดีเห็นข่าวทางอินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ผู้ควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ เจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ต.สวนพริก จ.พระนครศรีอยุธยา และมูลนิธิพระคชบาล นำช้าง ๑๑ เชือก ล้วนแล้วแต่เป็นช้างที่เคยแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง เป็นช้างมงคลงางามที่มีรูปร่างลักษณะสง่า พร้อมด้วยควาญช้าง ตัวแทนปางช้างทั่วประไทยจำนวน ๒๐๐ คน และอาหารช้าง ช้างมงคล ๑๑ เชือกใส่มาในรถบรรทุก ๓ คัน มีรถอาสาสมัครกู้ภัยอยุธยานำขบวน เดินทางเข้ากรุงเทพฯและตั้งขบวนยังด้านหน้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความอาลัยและน้อมเกล้าฯสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.๙
ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ควาญช้างสาว ซึ่งได้เล่าว่าควาญช้างต่างก็เหนื่อยพอๆ กับช้าง ถ้าช้างยกขาพวกเขาก็ต้องเกร็งขาเช่นกัน นั่งอยู่บนคอช้างใช้ขาใช้เท้าบังคับช้าง คอยกำกับให้ช้างเคลื่อนไหวในท่าต่างๆ เช่น ยกเท้า หมอบกราบ คุกเข่าชูงวง แปรขบวน เมื่อเดินทางมาถึงทั้งช้างและควาญช้างได้แต่งตัวเต็มที่อย่างสวยงาม ใช้เวลาในการทำพิธีประมาณ ๒๐ นาที ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยเป็นที่ตื่นตาตื่นใจประทับใจของทุกๆคนที่ไปร่วมถวายความอาลัยในวันนั้น ช้างแต่งกายชุดคชอาภรณ์สีดำ ซึ่งเป็นลักษณะช้างศึกที่หาชมได้ยาก!
หมายเหตุ ขอขอบคุณ OK NATION, NATION TV, SUDSAPDA.COM., วิกิพีเดีย, ดร. ศิรินันท์ ปลอดเปลี่ยว เบลนยองก์