วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนา กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย วันจักรี ปีนี้วันพฤหัสบดีที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ จึงขออัญเชิญพระราชประวัติเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและพระราชกรณียกิจย่อๆมาลง เป็นการถวายบังคมสักการะน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของ พระเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๔ พระองค์ (ร.๑ – ร.๔) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมสักการะ โดยเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปีละครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และ พระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น
ในสมัย รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ – ร.๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของ รัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจาก พุทธปรางค์ปราสาท เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่าเป็น “วันจักรี”
พ.ศ. ๒๓๒๕ เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ แห่ง ราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา พระราชกรณียกิจประการแรกที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้ง กรุงรัตนโกสินทร์ เป็น ราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแทน กรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจาก กรุงธนบุรี ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถขยายได้เนื่องจากติด วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ส่วนทางฝั่ง กรุงรัตนโกสินทร์ นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวงและอัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนาม พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หรือเรียกอย่างสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร" การสร้างราชธานีใหม่นี้ใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้สร้างสิ่งต่าง ๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ คลอง ถนน และสะพานต่าง ๆ หลายแห่ง
พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัย สุโขทัย และ อยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด ๗ ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ"
ทางด้านกฏหมาย พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดฯให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง ๓ ฉบับ ประทับตรา ราชสีห์ คชสีห์ และ บัวแก้ว ไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง ทางด้านศาสนา โปรดเกล้าฯให้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับหลวง พ.ศ. ๒๓๓๑ และให้ช่างจารพระไตรปิฎกที่สังคายนาแล้ว ลงใบลานด้วยอักษรขอมตกแต่งคำภีร์ ลงรักปิดทองทึบตลอด เป็นฉบับหลวงเรียกว่า ฉบับทองทึบ(ฉบับทองใหญ่)ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆเป็นอันมาก
ด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับคืนดี อีกวาระหนึ่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมสิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๕๔ พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจัดให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
หมายเหตุุ ขอขอบคุณสำหรับพระฉายาลักษณ์และข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, kapok.com, dmc.tv, today.line.me