คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ขอต้อนรับอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล และ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู....สู่เมืองนางฟ้า
บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์ น้องเอย...เจ้าไม่เคยเห็น
ไม้ไร่หลายพันธ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าน ไหลมาฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจอกโครมจอกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม
น้ำใสไหลจนดู หมู่มัสยา กี่เหล่าหลายว่ายมา ก็เห็นโฉม น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น
ยินปักษาซ้องเสียง เพียงประโคม เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง
หูเราฟังมันร้องดังกระโต้งฮง มันดังก้อก ก้อก ก้อกก้อก กระโต้งฮง

เพลงเขมรไทรโยค เป็นเพลงไทยเดิม พระนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2431

คณะนักร้องประสานเสียงคณะนี้ เป็นคณะนักร้องประสานเสียงประเภทร้องโดยไม่มีดนตรีบรรเลงประกอบ (A CAPPELLA) ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2543 มี อ.ดุษฎี พนมยงค์ เป็นผู้อำนวยการคณะและ น.พ.กิตติพร ตันตะรุ่งโรจน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอำนวยเพลง ไกวัล กุลวัฒโนทัย ผู้ประพันธ์และอำนวยเพลง อ.สุดา พนมยงค์ ที่ปรีกษาฝ่ายวิชาการ MR.RAMON LIJAUCO JR. วิทยากรผู้ช่วย

สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาวิชาเอกการขับร้องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีผลงานการแสดงในวาระต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ

คณะนักร้องฯ บุกเบิกและสร้างมิติใหม่ ในการนำผลงานเพลงไทยผสมผสานกับรูปแบบการขับร้องประสานเสียงแบบตะวันตก ภาระหน้าที่สำคัญของคณะนักร้องคือการเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อน ทางปัญญา และการพัฒนาเพื่อสิ่งที่งดงามโดยไม่หลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย

และเพลง "เขมรไทรโยค" ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ เพลงอันไพเราะที่คณะนักร้องฯ ได้นำมาสร้างมิติใหม่ เช่น พุทธทาสจักไม่ตาย คนนำทาง เสเลมา ยอยศพระลอ และรำวงเมดเล่ย์ รวมทั้งเพลงสากล

คณะนักร้องฯ ได้รับเกียรติจากองค์กร UNESCO ให้ไปเปิดการแสดงดนตรีในวันที่ 18 พ.ค. 2553 ณ UNESCO Auditorium ที่กรุงปารีส ในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งยังได้รับเชิญให้ไปเปิดการแสดงยังเมืองต่างๆ ในสหพันธรัฐเยอรมันอีก 3 เมือง เรียกว่า "คอนเสิร์ตในงานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย"

นอกจากผลงานในประเทศ ต่างประเทศ ยังมีผลงานทางโทรทัศน์ ผลงานที่ถูกตีพิมพ์ลงในสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสาร LIPS น.ส.พ.ไทยรัฐ น.ส.พ.เดลินิวส์ นิตยสารคู่สร้าง-คู่สม ฯลฯ

ระหว่างวันที่ 8-14 กรกฎาคมนี้ คณะนักร้องฯเป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขัน THE WORLD CHOIR GAMES 2012 ที่เมือง CINCINNATI รัฐ OHIO ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เขียนอยู่นี้เป็นคืนวันพุธที่ 11 จึงยังไม่ทราบผล แต่ก็ขอเอาใจช่วยอย่างเต็มหัวใจ จะได้รับรางวัลอะไรก็ไม่สำคัญเท่าทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทย เผยศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ความสามารถให้คนทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยและคนไทยดีขึ้น

หลังจากเสร็จการแข่งขัน อ.ดุษฎี (ครูดุษ ของลูกศิษย์) หรือ "พี่ดุษ" ของ ส.ท่าเกษมจะนำคณะนักร้องฯ มาเยี่ยมเยียนชาวไทยที่เมืองนางฟ้า นครลอสแอนเจลิสในธีม "A JOURNEY TO HARMONY" มีชุด "มโนราห์" เป็นไฮไลท์ เพียงแต่ได้ยินชื่อ "มโนราห์" ก็เป็นหลักประกันความเพลินตาเพลินใจเสียแล้ว โดยเฉพาะแสดงโดย คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ที่มีความสามารถสูง อย่าได้พลาดเชียว ! เป็นทั้งอาหารตา อาหารใจ และทางโสตให้รื่นหูอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 15 จะแสดงที่ SCHOENBERG HALL, U.C.L.A. เวลา 7.30 PM (1 ทุ่มครึ่ง) บัตรราคา 20 เหรียญ สำหรับนักเรียนต้องแสดง ไอ.ดี. ตอนซื้อบัตรเข้าดู เสียเพียง 10 เหรียญเท่านั้น ดูรายละเอียดได้จากรูปในคอลัมน์ ภาพที่มีรูปนางมโนราห์ เขียนไว้ว่า "A JOURNEY TO HARMONY" หรือจะโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ (310) 825-2101

ถ้าพลาดหรือไม่สะดวกในวันอาทิตย์ ผอ.นงเยาว์ วรานนท์ แห่งศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานจัดที่ห้องอาหารจินดา ชั้นบนของไทยแลนด์พลาซ่า ในไทยทาวน์ วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ เวลา 2 ทุ่มตรง บัตรราคา 20 เหรียญ กรุณาจองได้ที่ คุณลออ รัศมี (323) 661-2011 และ ไทยแลนด์พลาซ่า (323) 993-9000 ขอแนะนำว่าถ้าอยากรับประทานอาหารค่ำอร่อยๆ (พิสูจน์มาแล้ว !) กรุณาไปก่อนเวลา จะได้ดูการแสดงที่มีคุณค่าอย่างเต็มหูเต็มตาไม่มีใครรบกวน ซึ่งหาดูได้ยากเพราะค่าใช้จ่ายสูง มีสมาชิก 45 ชีวิต

เขียนคุยมาตั้งนานยังไม่ได้แนะนำบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ให้คุณผู้อ่านได้รับทราบ เชิญอ่านประวัติและผลงานของ อ.ดุษฎีฯ พอเป็นสังเขป


ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล เป็นนักดนตรีแนวคลาสสิก เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาขับร้องคลาสสิกในประเทศไทย มีผลงานผลิตครู อาจารย์ และนักร้องคลาสสิกที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู และยังเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ


ประวัติ
ดุษฎี บุญทัศนกุล เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ที่ "บ้านพูนศุข" ป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีคนที่ 5 ในจำนวน 6 คน ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ณ ป้อมเพชร์) สมรสกับนายชาญ บุญทัศนกุล เมื่อ พ.ศ. 2518

การศึกษา
เริ่มเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์และชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จากนั้นไปศึกษาต่อยังกรุงปักกิ่ง จนจบการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกขับร้อง วิชาโทเปียโน ณ สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง (Beijing Central Conservatory of Music) เมื่อ พ.ศ. 2508 ต่อมาได้เรียนเพิ่มเติมที่ราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน (Royal College of Music, London) พ.ศ. 2517

การทำงาน
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง ดุษฎี บุญทัศนกุล ได้ตามไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2513 เริ่มอาชีพเป็นครูสอนเปียโนประจำสถาบันดนตรีของรัฐที่เมืองก็อง (Caen) และได้ไปเรียนวิชาดนตรีเพิ่มเติมที่ Royal College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2518 โดยเริ่มต้นสอนดนตรีเป็นการส่วนตัวที่สตูดิโอบ้านสวนพลู ในขณะเดียวกัน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ฝากฝังให้ทำงานที่สถานทูตฝรั่งเศส ในตำแหน่งเลขาของผู้แทนถาวรฝรั่งเศส ประจำองค์กร SEAMEO จากการที่เป็นครูสอนขับร้องคลาสสิก ดุษฎีได้รับเชิญจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ให้มาช่วยแนะนำเทคนิคการขับร้องพื้นฐานแก่นักร้องที่เข้ารอบรองชนะเลิศการประกวดของสยามกลการ ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน และได้รับเชิญไปสอนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งอาทิ
- พ.ศ. 2527 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2535 - 2550 ภาควิชาศิลปะนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. 2543 - 2546 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2542 - 2552 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับการทาบทามจากอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ให้มาบุกเบิกการสอนภาควิชาขับร้องคลาสสิกเป็นรุ่นแรก
ปัจจุบันดุษฎีเป็นอาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากการเป็นครูแล้วดุษฎียังจัดรายการวิทยุ "เพลงเพื่อการผ่อนคลาย" คลื่นความคิด เศรษฐกิจ และสังคม และยังจัดรายการ "Goodnight by Dusdi Banomyong" คืนดีๆที่ 96.5 ทางสถานีวิทยุ อสมท.อีกด้วย

ผลงานแสดง
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาดุษฎีมีผลงานแสดงเดี่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญมีอาทิ
- พ.ศ. 2514 ร้องนำในคณะนักร้องประสานเสียงสามชาติ ในงานมหกรรมดนตรี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- พ.ศ. 2527 แสดงนำในอุปรากรเรื่อง Hansel and Gretel จัดโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
- พ.ศ. 2539 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2540 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2543 นักร้องเดี่ยวในการแสดงรอบปฐมทัศน์ "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2545 แสดงขับร้องใน "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ร่วมกับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงแห่งชาติเวียดนาม ณ กรุงฮานอย
- พ.ศ. 2546 แสดงในอุปรากร "แม่นาก" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2547 แสดงขับร้องเดี่ยว "สัมผัสรัก...จากไทยสู่เวียดนาม" ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ณ โรงละครโอเปร่า กรุงฮานอย
- พ.ศ. 2549 แสดงขับร้องเดี่ยวงาน "Jazz Concert เฉลิมพระเกียรติ" ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สิริสมบัติครบ 60 ปี จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโล ณ โรงอุปรากร กรุงออสโล ประเทศนอรเวย์
- พ.ศ. 2550 ขับร้องเดี่ยวในงาน October Zone จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดุษฎี บุญทัศนกุล เป็นผู้รังสรรค์หลักสูตร "ลมหายใจ...คนตรี...ชีวิต" ดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นวิทยากรในโครงการดังกล่าวให้กับภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 14,000 คน ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน และยังเป็นกรรมการตัดสินประกวดร้องเพลงในระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ สยามกลการ, นิสสันอวอร์ด, เคพีเอ็นอวอร์ด, การประกวดขับร้อง 5 ภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์, กรรมการตัดสินการประกวดขับร้องชิงชนะเลิศเอเชีย Asia Music Festival 2000 และ 2001 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ China International Chorus Festival 2002 ณ กรุงเป่ยจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดนักร้องหน้าใหม่ชิงชนะเลิศเอเชีย Asia New Singer Competition 2004 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศ Pan Asia Music Festival 2010
นอกจากนี้ดุษฎียังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง สำหรับสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการประจำปี 2552 ของกระทรวงต่างประเทศ

ผลงานเกียรติยศ
- ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ พ.ศ. 2540
- รางวัล Bangkok Opera's Silver Rose Award 2007, Lifetime achievement for contribution to opera in Thailand พ.ศ. 2550
- ได้รับการตีพิมพ์ประวัติว่าเป็นหนึ่งใน "Divas of Asia" ในนิตยสาร Lifestyle Asia พ.ศ. 2532
- ได้รับการยกย่องเป็น "Who sang the brtiches role of the God Sudeva with profound musicianship" จาก- - หนังสือ Opera Now พ.ศ. 2544
- รางวัล Trinity Awards 2009 พ.ศ. 2552
ดุษฎีในฐานะเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้
- รางวัลเหรียญทองแดงและรางวัลขับร้องเพลงบังคับยอดเยี่ยม ในงานมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ 2002 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2545
- รางวัลเหรียญเงิน จากมหกรรมการประกวด Choir Olympics 2004 ณ เมืองเบรเมน สหพันธรัฐเยอรมนี พ.ศ. 2547
- รางวัลเหรียญทองแดง จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2006 ณ เมืองเซี๊ยะเมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2549
- รางวัลเหรียญเงินสองประเภท จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2008 ณ เมืองกราซ สาธารณรัฐออสเตรีย พ.ศ. 2551
ล่าสุดประสบความสำเร็จในการนำคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในฐานะตัวแทนประเทศไทย ไปเปิดแสดงในงานมหกรรมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนานาชาติ "The Third International Festival of Diversity 2010" ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
14 กรกฎาคม 2555

หมายเหตุ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เว็บไซต์ของสวนพลู คอรัส และ เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ โดยดุษฎี พนมยงค์ 2541