คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



โลกแห่งเสียงเพลงอันไร้ขอบเขต เหนือกาลเวลาชั่วนิรันดร์”
ของ.... สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง เพลง “รักคุณเข้าแล้ว
รักคุณเข้าแล้วเป็นไร รักจนคลั่งไคล้จริงจัง
คุณรักใครหรือยังฉันใด
หวั่นใจว่าคงไม่แคล้ว เลยรักเข้าแล้วจนได้
บอกแล้วไม่วันไหน ต้องเผลอใจเข้าสักวัน
รักคุณเข้าแล้วเต็มทรวง แล้วคุณอย่าหวงสัมพันธ์
เราคิดมารักกันดีไหม
ก็ทีผมยังรักคุณ ก็คุณรักบ้างเป็นไร ของรักกันได้
อย่าคิดอะไรเลยคุณ

๑ ต.ค. นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้รับแจ้งว่า นายเกียรติพงศ์ กาญจนภี หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ผู้ประพันธ์) ปี ๒๕๔๙ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๕๖ น. เนื่องจากโรคลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นหัวใจ หลังจากเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กว่า 2 เดือน สิริรวมอายุ ๘๘ ปี

ในการนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีเงินสวัสดิการสำหรับศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีเงินในการสนับสนุนการจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท

โดยมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลา ๖ (ชวลิตธำรง) วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. และตั้งศพบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมศพ ๗ คืน ระหว่างวันที่ ๑-๗ ตุลาคม นี้ เวลา ๑๙.๐๐ น. และทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล ๑๐๐ วัน เพื่อรอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

นายชาย กล่าวว่า สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้ประกอบคุณงามความดีสร้างสรรค์ผลงานให้แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการเพลงไทยสากล จนได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ผู้ประพันธ์) พุทธศักราช ๒๕๔๙ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า ๘๐ ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ รางวัลนราธิป เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยชื่อรางวัล นำมาจากพระนามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นปีแรก เป็นปีครบรอบ ๑๑๐ ปี ชาตกาล และครบรอบ ๑๐ ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก


สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ ชื่อจริงคือ เกียรติพงศ์ กาญจนภี เป็นคนกรุงเทพฯ บิดา - มารดา ชื่อ หลวงพินิจดุลอัฏ (พุฒ กาญจนภี) และนางเกษม กาญจนภี เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จบชั้นมัธยมปีที่ ๖

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ก่อนจะไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสแต่งเพลงกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงแรกที่แต่งคือเพลงดอกโศก และปีเดียวกันนั้นเองก็ได้แต่งเพลงความรักเรียกหา ประกอบภาพยนตร์ให้กับจรี อมาตยกุล ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษจากอเวจี

ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๔ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานเป็นคนบอกบทละครให้คณะละครศิวารมณ์ของนาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ฑิฆัมพรซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่

ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ ๑๐๐ ปี เกษม พินิจดุลอัฎ ว่า "เมื่อจบการศึกษา จาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้เข้ามาช่วยงานในคณะละครศิวารมณ์ ซึ่งเป็นของ น.อ.สัวสดิ์ ฑิฆัมพร (ส.ฑิฆัมพร) ได้เริ่มแต่งเพลงกับครูสง่า อารัมภีร โดยร่วมแต่งคำร้องมีครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้ให้ทำนอง จนถึงประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก็หมดยุคละครเวที..."

นามปากกาสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ใช้ในการแต่งเพลงนั้น เนื่องมาจากในช่วงที่ท่านแต่งเพลงนั้น ท่านยังทำงานประจำอยู่ จึงคิดว่าคงไม่เหมาะนักถ้าจะใช้ชื่อจริงในการแต่งเพลง ฉะนั้นจึงได้ไปขอให้ นาวาอากาศเอก สวัสดิ์ ฑิฆัมพร ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตั้งให้ คำว่า สุนทรียะมาจากคำว่า aesthetic คือความรู้สึก อันรู้จักค่าของความงาม ทำให้ไพเราะอ่อนโยนน่ารัก ซึ่งตั้งให้ตามเค้าของนิสัย แต่คำว่าสุนทรียะ แล้วแปลงเป็นสุนทรียานั้นเพื่อให้ดูอ่อนโยนลง ส่วน ณ เวียงกาญจน์ หมายถึงแดนทองหรือเมืองทองนั้น ตั้งให้ตามเค้าของตระกูล

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนบอกไว้ว่า

"...ผมเริ่มแต่งเพลงร่วมกับหมานมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๑ แล้วก็แต่งด้วยกันเรื่อยมาแทบจะไม่ขาดตอน จะมีเว้นไปบ้างก็ช่วงที่ผมออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ แม้กระนั้นก็ดี หมานก็ยังอุตส่าห์ส่งทำนองตามไปให้แบบนานๆ ครั้ง โดยเขียนบอกไปว่า "ถ้ามีเวลาก็ลองขยับๆ ส่งไปให้ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวนายจะลืมเสียหมด"

พ.ศ.๒๔๙๘ เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตในระหว่างนั้น ก็ยังแต่งเพลงที่สมาน กาญจนะผลิน ส่งโน้ตข้ามทะเลไปให้อีกหลายเพลง เช่น เพลงคำคน ของ สุเทพ วงศ์กำแหง และเพลงรักเอ๋ยรักข้า ของ สวลี ผกาพันธุ์ ซึ่งก็ได้รับความนิยมเหมือนเพลงอื่นๆ หลังจากกลับจากอังกฤษ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เข้าทำงานฝ่ายวิชาการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ยังร่วมแต่งเพลงกับครูเพลง อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน, ครูเวส สุนทรจามร, ครูสมาน นภายน, ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์, และ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ และทำงานด้านการเงิน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารแห่งเอเชีย,ผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัทอิตาเลี่ยนไทย,หัวหน้าฝ่ายบัญชีเครือซิเมนต์ไทยและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารสหธนาคาร

เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์แต่งคู่กับครูสมาน กาญจนะผลิน ส่วนมากจะมอบให้ชาญ เย็นแข เป็นผู้ขับร้องในยุคละครเวทีสมัยแรก เช่น เพลงรักพี่นะ ฯลฯ เพลงนี้เป็นเพลงที่ชาญ เย็นแข ขับร้องบันทึกเสียงไว้เป็นคนแรก มีความไพเราะและเป็นอมตะอีกเพลงหนึ่งในแบบของสังคีตประยุกต์ คาดว่า เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๙๗

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มีผลงานประพันธ์ประมาณ ๑,๐๐๐ ที่มีชื่อเสียง อาทิ รักปักใจ, แน่หรือคุณขา,วิหคเหินลม,รักคุณเข้าแล้ว,เพียงคำเดียว, ความรักเจ้าขา, จำพราก, ที่รัก, ชีวิตเมื่อคิดไป, ใจพี่, เกิดมาอาภัพ, สัญญารัก, นกเขาคูรัก, อุทยานรักไทรโยค, รัก, วอนรัก และออเซาะรัก

เพลงที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งให้ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น เพลงคว้าลม เพลงฆ่าพี่เสียเถิด เพลงจำพราก เพลงชมนางนอน เพลงที่รัก ฯลฯ "เพลงที่รัก" นี้ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ นำแนวคิดมาจากวรรณคดีเก่าของไทย เรื่องจันทโครพ ที่ต่อว่านางโมรา ว่า "อย่าเหมือนน้ำค้าง พราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้" มาใช้อย่างเหมาะสมสอดคล้องได้ความหมาย ทั้งยังเล่นซ้ำคำไว้ได้อย่างไพเราะ คือ คำว่า "นานแล้ว" ถึง ๔ วรรค และคำว่า "ที่" คำว่า "น่ะ" ซ้ำกันถึง ๖ วรรคได้อย่างลงตัว ไม่ว่า "ที่รัก" "ที่ช้า" "ที่คิด" "ที่หลง" "ที่หวง" ในเนื้อเพลงท่อนที่ ๓ และท่อนที่ ๔

เพลงนี้ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๗

เพลง "วิหคเหิรลม" ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เพลง "รักคุณเข้าแล้ว" ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหงได้รับความนิยมแบบสุดๆ เพลงนี้เป็นเพลงแรกของวงการเพลงไทยสากล ที่ใช้สรรพนาม คุณ แทนคำว่า เธอ และใช้ ผม แทนคำว่า ฉัน

ส่วนผลงานรางวัลทรงเกียรติได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ชนะเลิศคำร้องเพลงประเภท ก. จากเพลงใจพี่,รางวัลรองชนะเลิศคำร้องเพลงวิหคเหิรลม งานประกวดแผ่นเสียงทองคำ ครั้งที่ ๑, รางวัลเสาอากาศทองคำ สถานีวิทยุเสียงสามยอด ในเพลงเพียงคำเดียว

ส.ท่าเกษม ตั้งใจที่จะเขียนถึง "คุณเกียรติ" มานานแล้วตั้งแต่เขียนถึงขุนพลนักแต่งเพลงรุ่นครูทั้งหลาย สู้เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ เวลาอ่านพบเรื่องราวของ "คุณเกียรติ" หรือ "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" เพราะจำท่านได้ตั้งแต่ตัวเราเองเป็นเด็กนักเรียนวิ่งเล่นอยู่ในบ้าน "ท่าเกษม" ได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเอ่ยถึงชื่อนี้บ่อยๆ จนฝังใจ

ได้เห็นท่าน....ในความทรงจำเป็นหนุ่มรูปหล่อ หน้าตาสะอาดสะอ้าน ใส่แว่นสายตา ผลัดวันประกันพรุ่งมาอยู่เรื่อยไม่ได้ฤกษ์ซักที จนกระทั่งเห็นข่าวคุณเกียรติได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ จะเขียนแสดงความยินดีพร้อมทั้งประวัติและผลงาน นี่ก็ผ่านพ้นมาหลายปีแล้ว หาข้อมูลไม่พบคงเก็บไว้อย่างดีแถวๆ นี้แหละ เลยต้องเริ่มต้นจากสแควร์ วัน ( Square One) กันใหม่ !

รูปที่นำมาลงเพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพ เป็นบริเวณส่วนหนึ่งของบ้านท่าเกษมพวกเราพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงชอบเดินเล่นเป็นกลุ่ม รอบบ้านหลังอาหารค่ำ ทางด้านซ้ายตรงมุมระหว่างเสา ๒ ต้นของเรือนมัจฉาสุวรรณ จะเห็นเรือนญาณวารี (เรือนเขียว)นิดหนึ่ง ส.ท่าเกษมเคยเขียนถึง "เรือนเขียว" มาแล้ว เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทาสีเขียว มีสนามหญ้าเขียวขจีและแปลงดอกไม้หลากสีหลากชนิดหน้าเรือน คุณพ่อหลวงหรือหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ อยู่กับภรรยาคุณรัตนา และบุตร-ธิดา พี่สุมน พี่ประเดิม และพี่จิ๋ว (สำเนา สุขุม) เท่าที่ทราบคุณเกียรติเป็นเพื่อนของพี่จิ๋ว พอได้ยินผู้ใหญ่เอ่ยว่าคุณเกียรติมา พวกเราจะเดินผ่านเรือนเขียวเพื่อแอบดูคุณเกียรติ ซึ่งสำหรับพวกเราแล้วเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะพี่จิ๋วเป็นรุ่นพี่

มานึกอีกทีคุณเกียรติอาจจะมาหาคุณพ่อหลวง เลยรู้จักพี่จิ๋วเพราะท่านแต่งเพลงกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้เป็นแขกประจำที่เรือนเขียว ครูเอื้อเคารพรักและนับถือคุณพ่อหลวงมาก เท่าที่อ่านตามหนังสือเวลาท่านเขียนถึงคุณพ่อหลวง อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ ท่านเป็นนักแต่งเพลงอมตะ เพราะผลงานเพลงต่างๆ ยังเป็นที่นิยมอยู่ในดวงใจของพวกเราที่แอล.เอ.มีนักร้องสมัครเล่นหลายต่อหลายคนที่ร้องเพลงของทั้งสามท่าน บางคนร้องเพลง "วอนรัก" อาจจะไม่ทราบว่าเป็นผลงานของคุณเกียรติ

ที่เขียนหัวข้อเรื่องว่า "รักแรกของสุนทรียาฯ" เพราะเพลงที่ท่านแต่งล้วนแต่เป็นเพลงรัก บ่งบอกว่าเป็นกวีเพลงที่แสนจะโรแมนติค ผลงานชิ้นแรกชื่อ "ดอกโศก" ทำนองโดยครูสมานฯ มี ศิลปินแห่งชาติ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง คุณเกียรติเพิ่งมีอายุได้ ๒๓ ปี ยังหนุ่มฟ้อ และเป็นเรื่องบังเอิญที่ในบ้านท่าเกษมมีต้นโศกอยู่หลายต้นทีเดียว ที่เห็นชัดๆ คือหน้าเรือนมัจฉาสุวรรณ ปลูกไว้ ๒ ต้นตรงเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คิดเอาเองว่าคุณเกียรติคงมีความประทับใจในตัวพี่จิ๋ว เพราะท่านเป็นสุภาพสตรีเต็มตัว สวยน่ารัก กริยามารยาทงามตามแบบฉบับกุลสตรี ตอนนั้น ส.ท่าเกษม เด็กเกินไปที่จะถามไถ่ถึงมิตรภาพระหว่างพี่จิ๋วและคุณเกียรติ ที่แน่นอนคือต่างคนต่างไปมีชีวิตของตัวเอง


"โอ้ดอกโศกเจ้าโศกใจไฉนกัน
หรือทุกๆ วันเจ้าครวญ
ชื่อดอกโศกช่างโศกใจไม่เย้ายวน
พารัญจวนคิดหวนไห้
...........ใครหนอให้ชื่อเอย!

พอทราบข่าวจากวิทยุศึกษาที่เมืองไทยว่าขุนพลเพลงอีกท่านหนึ่งเสียชีวิตลง ก็คิดว่าต้องเขียนไว้อาลัยท่าน เลยเข้าเวบฯ ค้นหารายละเอียด เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยง และเกิดไม่ทันเรื่องราวที่ไปที่มาของอีกหลายๆ เพลง ถึงทันก็อาจจะเด็กอยู่ไม่สนใจในเรื่องของเพลงรักอมตะ หาไปหามาพบเวบฯ ของไทยแอล.เอ. ที่ ส.ท่าเกษมเขียนถึงคุณเกียรติ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๐๑๓ และคอลัมน์ของเพื่อนสมัยเป็นนักเรียนด้วยกันทั้งคู่ วาทตะวัน สุพรรณเภษัช มีชื่อเล่นว่า “แป๊ด” เขียน “รักคุณเข้าแล้ว..นะจ๊ะ!” ให้ MANAGER ONLINE ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.ค. ๒๕๔๘ อ่านดูแล้วเข้ากับหัวข้อที่จะเขียนไว้อาลัยคุณเกียรติ เลยขออนุญาตกลางอากาศคนที่เคยชอบพอกันในกาลครั้งหนึ่ง คัดลอกข้อความบางตอนมาลงโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ในสไตล์การเขียนของ วาทตะวัน (นามปากกา) ถ้าอ่านแล้วมาเขียนเองมันจะกลายเป็นสำนวนของ ส.ท่าเกษม ไป สรุปแล้วในคอลัมน์นี้เลยมีผลงานของ ส.ท่าเกษม และ วาทตะวันฯ รวมกันอยู่ ! เราสองคนต่างชอบเพลงทั้งไทยและเทศ และนิยมชมชอบเสียงร้องเพลงของ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งกำลังเตรียมตัวเคลียร์งานที่ประเทศไทย เพื่อเดินทางมาเปิด คอนเสิร์ต “บ้านเรา” ที่ภัตตาคารจีน ๘๘๘ ในเมือง ROSEMEAD วันเสาร์ที่ ๘ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ การแสดงครั้งนี้นับว่าแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ คุณเกรียงศักดิ์ ไกรกิตติคุณ เจ้าของห้องอาหาร “ซันเซ็ท” ในเมืองฮอลลีวูด โทรฯ (๓๒๓) ๔๖๗-๘๙๓๕ ทุ่มเต็มที่เตรียมวงดนตรีครบเครื่อง SOUND OF BANGKOK ของคุณสมชาย (อ้วนกงสุล) วงศ์สกุณ และเพื่อนๆ มาให้ความสำราญกับคนรักเสียงเพลงและคนรักเต้นรำ ชมรมสุเทพแฟนคลับ ยู.เอส.เอ. ช่วยประสานงาน

ลองอ่านวาทะศิลป์การผูกเรื่องของ "วาทตะวัน" ดู ส.ท่าเกษมเคยเป็นแฟนคอลัมน์ “กาแฟขม ขนมหวาน” นานหลายปี มาเลิกอ่านตอนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

สำหรับ ‘รักคุณเข้าแล้ว’ ประพันธ์คำร้องโดย ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ส่วนทำนองนั้น ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสาน เพลงนี้ทำให้อดีตนักเรียนเพาะช่าง ชื่อสุเทพ วงศ์กำแหง โด่งดังเป็นพลุแตกบนท้องฟ้าเมืองไทย บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ.๒๔๙๘

ที่น่าแปลกคือตอนครูทั้งสองแต่งเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ไม่นาน คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น มีการนำเอาเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นมาใส่ไว้ในทำนองแทนเนื้อร้องไทย และคนญี่ปุ่นก็นิยมร้องกันพอสมควร เมื่อนำมาบันทึกเสียงก็เลยมีคนคิดว่าเป็นการนำเอาเพลงญี่ปุ่นมาใส่เนื้อร้องไทย เป็นอย่างนั้นไป

แล้วเสน่ห์ของเพลงนี้...อยู่ตรงไหนครับ ?

ในทัศนะของผม นอกจากทำนองที่เรียบง่ายฟังเข้าหูแล้ว คำร้องนี่แหละครับที่สำคัญเอามากๆ เพราะเปิดฉากขึ้นมาก็บอกเลยว่า “รักคุณเข้าแล้ว....” นะจ๊ะ

มันช่างตรงไปตรงมาอะไรอย่างนั้น เรียกว่ายิงเปรี้ยง ‘เข้าเป้า’ เลยทันที อย่างเปิดเผย

ไม่เห็นต้องมีอะไรปิดบังหรืออ้อมค้อมแต่อย่างใด แถมยังบอก ‘องศาของความรัก’ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ เช่น

“รักจนคลั่งไคล้...จริงจัง” หรือ “รักคุณเข้าแล้ว....เต็มทรวง”

ไม่ว่าจะ ‘คลั่งไคล้’ หรือ ‘เต็มทรวง’ ก็เป็นเข็มชี้วัดปรอทความรักทั้งนั้น

ดูเนื้อเพลงแล้วน่าจะเป็นลักษณะของเพลงลูกทุ่งด้วยซ้ำ แต่เมื่อเป็นเพลงไทยสากลหรือลูกกรุง เพลงนี้แหละครับที่แปลกในยุคนั้นก็เพราะ

ความตรงไปตรงมานี่แหละ !

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาตั้งแต่เริ่ม จะเห็นได้ว่าผมกล่าวเอาไว้หลายครั้งว่าเป็นคนชอบดูความเป็นไปของสังคม แล้วเอามาวิเคราะห์วิจารณ์ตามสมควร เคยถามผู้หญิงหลายคนว่าหากผู้ชายจู่ๆ มาบอกว่า “รักคุณเข้าแล้ว...นะจ๊ะ!” จะมีความรู้สึกอย่างไร ผู้ถูกถามหลายคนชะงักนิดหนึ่งแล้วตอบว่าคงพูดว่า “งง !” แต่สิ่งที่ติดตามมาก็คือ

‘ความภาคภูมิใจ’ เพราะมีผู้ชายมารัก ส่วนจะรักตอบหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างน้อยน่าจะโชคดีกว่าเกิดมาเป็นผู้หญิงทั้งที ...ไม่เคยมีใครมารักตอบเลยสักครั้ง !

เพลง “รักคุณเข้าแล้ว” นี้ ผมว่าขลังชมัด เพราะตอนตัวเองอยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ เพื่อนสนิทของผมหลงรักสาวน้อยเอ็นดู แต่ไม่กล้าบอกฝ่ายหญิงว่า “ผมรักคุณ !” มาวันหนึ่งที่บ้านเพื่อนอีกคนมีปาร์ตี้เล็กๆ มีดนตรีเล่นด้วย คนที่ตกหลุมรักนี้บอกให้ผมช่วยพูดอะไรก็ได้ ที่เป็นสื่อให้ฝ่ายหญิงทราบความในใจ ไอ้เรารึ...เป็นคนตามใจเพื่อนอยู่แล้ว

ประกาศโผงผางกลางงานเลยว่า เพื่อนผมที่กำลังตกหลุมรัก และขอเพลง ‘รักคุณเข้าแล้ว’ ให้สาวที่เขารัก แล้วผมร้องเพลงนี้ให้คนทั้งคู่ พูดแล้วไม่น่าเชื่อ ทั้งสองได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา !

เมื่อเดือนที่แล้ว (กันยายน) ศิลปินแห่งชาติล่วงลับดับสูญลง...เปรียบเสมือนขั้วสีน้ำตาลแก่ของใบไม้ที่ปลิดหลุดจากกิ่งก้านร่วงหล่นลงสู่พื้นดินเบื้องล่าง....ใบไม้ร่วง เริ่มจาก อ.ถวัลย์ ดัชนี (๓ ก.ย ) อ.ประหยัด พงษ์ดำ (๑๙ ก.ย.) และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ (๓๐ ก.ย.) ส.ท่าเกษม นับว่าเป็นคนโชคดีคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสพบเห็นทั้งสามท่าน ได้รับความสุขจากผลงานทางด้านศิลปะ ได้รับความสุขจากความใจดี หัวใจที่เต็มไปด้วยความรัก ได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิต ! ส.ท่าเกษมจึงขอกราบคารวะและไว้อาลัยมายังศิลปินแห่งชาติทั้งสามท่านด้วยความเคารพรักอย่างที่สุด !


หมายเหตุ ขอขอบคุณข้อมูลที่ได้มาจาก มติชนออนไลน์ MANAGERONLINE SUPER บันเทิงออนไลน์ โดยเฉพาะ คอลัมน์ “กาแฟขม ขนมหวาน” ของ วาทตะวัน สุพรรณเภษัช (๑๙ ก.ค. ๒๕๔๘)
ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๗